Categories
Uncategorized

ทำไมอากาศร้อนทำให้ปวดศีรษะไมเกรนมากขึ้น?

    /    บทความ    /    ทำไมอากาศร้อนทำให้ปวดศีรษะไมเกรนมากขึ้น?

ทำไมอากาศร้อนทำให้ปวดศีรษะไมเกรนมากขึ้น?

ทำไมอากาศร้อนทำให้
ปวดศีรษะไมเกรนมากขึ้น?

อาการปวดศีรษะไมเกรนนั้นเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการปวดศีรษะไมเกรนเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือดในสมอง หรือ ยีนของแต่ละบุคคล อากาศร้อน นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยภายนอก ที่ทำให้อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบได้ จากรายงานการวิจัยพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 12 องศาเซลเซียสจะเพิ่มความเสี่ยงในการปวดศีรษะขึ้นถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์

ไมเกรนคืออะไร

ไมเกรนคืออาการปวดศีรษะแบบตุบๆ เป็นจังหวะ มักเกิดข้างเดียวของศีรษะหรือสองข้างก็ได้ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเป็นอาการปวดแบบรุนแรง ซึ่งมักมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือไวต่อแสง และอาการนี้สามารถอยู่ได้นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน 

อาการของไมเกรน

อาการปวดศีรษะไมเกรนมีอาการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ในหลายๆคนจะมีอาการปวดแบ่งเป็น 4 ช่วงดังนี้

ช่วงที่ 1 : สัญญานเริ่มต้นของไมเกรน

ประมาณ 60% ของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน จะมีอาการเหล่านี้เกิดก่อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก่อนปวดศีรษะ 

  • ไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่น
  • รู้สึกเหนื่อยล้า
  • มีความอยากอาหารมากขึ้น หรือ ขาดความอยากอาหาร
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง
  • กระหายน้ำอย่างรุนแรง
  • ท้องอืด ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
ช่วงที่ 2 : อาการเตือนของไมเกรน

เนื่องจากอาการปวดศีรษะไมเกรน มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบประสาท จึงเชื่อมโยงกับการมองเห็น โดยปกติอาการต่างๆเหล่านี้จะเริ่มทีละน้อย ในช่วงระยะเวลา 5 ถึง 20 นาที ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง

เห็นจุดสีดำ เส้นคลื่น แสงแฟลช หรือเห็นภาพหลอน ภาพลวงตา

เบลอ มองภาพไม่ชัด หรือ มองไม่เห็น

เกิดอาการอ่อนแรง มีอาการชาที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย

ช่วงที่ 3 : อาการปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะไมเกรนมักเริ่มต้นจากอาการปวดศีรษะธรรมดา จนค่อยๆเพิ่มขึ้นจนปวดมาก มักจะแย่ลงระหว่างการออกกำลังกาย ความเจ็บปวดอาจเคลื่อนจากด้านหนึ่งของศีรษะไปอีกด้านหนึ่ง อาจอยู่ด้านหน้าศีรษะ หรือรู้สึกปวดทั้งศีรษะ

ประมาณ 80% ของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตัวซีด หรือเป็นลมได้ อาการปวดศีรษะไมเกรนส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง แต่หากเป็นอาการปวดที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นได้นานถึง 24 ชั่วโมงหรือมากกว่า 3 วัน 

ช่วงที่ 4 : ระยะที่หายจากการปวดศีรษะ

อาการของระยะนี้สามารถอยู่ได้นานเป็นวัน ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย หรือมีอาการสับสน อาจรู้สึกสดชื่นหรือมีความสุขผิดปกติ มีปวดกล้ามเนื้อ หรืออ่อนแรง บางรายอาจมีความอยากอาหาร หรือขาดความอยากอาหาร

ตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน

ตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรนรวมถึง ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาหาร เครื่องดื่ม รูปแบบการนอนหลับ แสงจ้า และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง 
ทำไมสภาพอากาศที่ร้อนสามารถทำให้ปวดศีรษะไมเกรนได้ อากาศร้อนไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดไมเกรนบ่อยขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมอีกด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อากาศร้อนแล้วเกิดอาการไมเกรนคือ เมื่ออากาศร้อน ร่างกายของเราต้องทำงานหนักเพื่อรักษาอุณหภูมิที่ปลอดภัย ซึ่งหมายความว่าอัตราการเต้นของหัวใจของเราจะเพิ่มขึ้นและทำให้ระบบในร่างกายทำงานมากกว่าปกติ
เช่น เหงื่อออกมากขึ้นในสภาพอากาศร้อนอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ หากคุณไม่เสี่ยงที่จะเป็นไมเกรน คุณอาจมีอาการปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ และคลื่นไส้ แต่ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการปวดศีรษะไมเกรน คุณจะมีอาการปวดมากกว่าปกติถึงสองเท่า 

วิธีรับมือกับอาการปวดศีรษะไมเกรนเมื่ออากาศร้อน

  • คอยสังเกตุการณ์สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หากคุณมักจะเป็นไมเกรนเมื่ออากาศร้อนแนะนำให้สังเกตุดูสภาพอากาศด้วยสมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นสภาพอากาศที่หาได้ง่ายในปัจจุบัน เมื่อคุณเห็นว่าอุณหภูมิกำลังเพิ่มขึ้น คุณจะสามารถเตรียมตัวในการปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ เครื่องเพิ่มความชื้น หรือเครื่องลดความชื้นเพื่อให้อุณหภูมิในบ้านหรือที่ทำงานของคุณไม่เปลี่ยนแปลง 
  • จัดการความร้อน เหงื่อ และความชุ่มชื้น เมื่ออุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น คุณต้องขยันเป็นพิเศษในการดื่มน้ำ ทำให้ร่างกายคงความชุ่มชื้นอยู่ตลอด ดื่มน้ำสะอาด และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้คุณขาดน้ำมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล แอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดที่จ้า หากต้องออกข้างนอกอาคารให้สวมหมวกเพื่อให้ศีรษะเย็นอยู่เสมอ สวมแว่นกันแดดคุณภาพสูงที่ป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้ ปัจจุบันมีแว่นตาสำหรับไมเกรนที่สามารถช่วยป้องกันอาการไวต่อแสงได้
  • ทำให้ร่างกายเย็น หากคุณรู้สึกว่าตัวเองร้อนเกินไป ให้พักในที่ร่มหรือคลายร้อนด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ พันรอบคอ นำถุงน้ำแข็งประคบที่ข้อมือ คอ และหน้าผาก เพื่อระบายความร้อนให้เร็วขึ้น 
  • นอกจากร่างกายแล้วยาแก้ปวดอาการไมเกรนของคุณก็ควรอยู่ในที่เย็น สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันให้ยาไมเกรนของคุณอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท เย็น และมืด ห้ามทิ้งไว้ในบริเวณที่อาจร้อนจัด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพของยา

หากทำครบตามที่แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรมาพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัย ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีบริการคุณหมอเวชศาสตร์ครอบครัว ที่จะคอยดูแลรักษา ลดอาการปวดศีรษะไมเกรนให้ท่าน สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่ 

Reference

  • What is migraine? (https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-headaches-migraines)
  • Warm Weather May Trigger Migraines (https://www.webmd.com/migraines-headaches/news/20090309/warm-weather-may-trigger-migraines)
  • Why your migraines are worse in hot weather (and how to cope in the heatwave) (https://metro.co.uk/2020/06/26/why-migraines-are-worse-hot-weather-how-deal-12906050/)
  • Get a Migraine When It’s Hot? How to Prevent It (https://www.migraineagain.com/get-a-migraine-when-its-hot-prevent/)

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ควบคุมน้ำหนักแบบยั่งยืน ด้วย Personal Weight Management

    /    บทความ    /    ควบคุมน้ำหนักแบบยั่งยืน ด้วย Personal Weight Management

ควบคุมน้ำหนักแบบยั่งยืนด้วย Personal Weight Management

ควบคุมน้ำหนักแบบยั่งยืน
ด้วย Personal Weight Management

เชื่อว่าหลายท่านคงเคยลองควบคุมน้ำหนักหลายวิธี แต่อย่างไรก็ยังไม่ได้ผล หรือได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น? หลายครั้งที่สามารถลดหนักน้ำได้จนถึงจุดที่พึงพอใจ แต่สุดท้ายน้ำหนักก็กลับขึ้นมาเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม

วิธีควบคุมน้ำหนักให้ได้ผล 

จะทำอย่างไร ให้ควบคุมน้ำหนักได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ดีต่อสุขภาพ และ ไม่โยโย่

วิธีควบคุมน้ำหนักมีมากมายหลายสิบวิธี ที่นิยมกันมากๆ คงหนีไม่พ้น Ketogenic, IF, Low-Carb, Low-Fat หรือ การนับแคล

หลายวิธีให้ผลลัพธ์การควบคุมน้ำหนักได้ดี แต่เนื่องจากเป็นวิธีที่ค่อนข้างเข้มงวด ทำให้ไม่สามารถทำต่อเนื่องในระยะยาว น้ำหนักที่เคยลดได้ พอกลับมารับประทานตามปกติ น้ำหนักก็ขึ้นมาเหมือนเดิม หรืออาจมากกว่าเดิม เช่น วิธีรับประทานอาหารแบบ คีโต หรือ Low-Carb ที่ต้องงดปริมาณแป้ง รวมไปถึงผักผลไม้ ทำให้ตัวเลือกอาหารมีไม่ได้มาก และ ถึงแม้จะดี ในด้านการควบคุมน้ำหนัก แต่อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาวได้

วิธีควบคุมน้ำหนักที่ดี 

วิธีควบคุมน้ำหนักที่ดีนั้นจึงควรสามารถทำต่อเนื่องในระยะยาว และไม่มีข้อจำกัดมากจนเกินไป ทำให้การควบคุมน้ำหนักเข้าได้กับการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นการนับพลังงานหรือแคลอรี่ ของอาหารแต่ละจาน อาจจะไม่จำเป็นด้วยซ้ำไป แค่เพียง

  • ทานผักให้ได้มากที่สุด
  • เลือกอาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง
  • ทำอาหารทานเองที่บ้านบ้าง
  • หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ น้ำตาลและแป้งขัดสี
  • เพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น การเดิน วิ่ง ทำสวน/งานบ้าน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าเป็นหลักการง่ายๆ มีข้อกำจัดเพียงเล็กน้อย แต่มีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้สุขภาพดี

เพราะวิธีควบคุมน้ำหนักที่ดีที่สุด คือวิธีที่สามารถปฏิบัติได้ตลอดชีวิต การควบคุมน้ำหนักไม่ใช่เพียงแค่การควบคุมอาหาร แต่คือการปรับเปลี่ยนไลฟสไตล์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ผลไม้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อะไรกินได้ อะไรควรเลี่ยง?

    /    บทความ    /    ผลไม้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อะไรกินได้ อะไรควรเลี่ยง?

ผลไม้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อะไรกินได้ อะไรควรเลี่ยง?

ผลไม้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
อะไรกินได้ อะไรควรเลี่ยง?

ผลไม้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานวางเรียงรายดูน่ารับประทาน กินแต่พอดี ครั้งละ 1 ส่วน: สตรอว์เบอร์รี่ ส้ม เบอร์รี กีวี กล้วย พีช

ผลไม้เป็นหนึ่งในอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่รู้หรือไม่ว่าผลไม้บางอย่างก็มีน้ำตาลสูงกว่าชนิดอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานแต่น้อย บทความนี้เรามาดูกันว่าผลไม้ที่เหมาะกับคนเป็นเบาหวานนั้นมีอะไรบ้าง ผลไม้ชนิดใดที่ควรลด และจะมีวิธีเลือกรับประทานอย่างไรให้เป็นมิตรต่อระดับน้ำตาลในเลือด

ใครว่าคนเป็นเบาหวานไม่ควรกินผลไม้

ผลไม้อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ กากใยอาหาร และสารอาหารที่จะช่วยต้านทานโรคแทรกซ้อนที่อาจตามมาจากโรคเบาหวาน เช่น โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมอง รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม ผลไม้นั้นมีน้ำตาลประมาณ 5-20 กรัม ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด และส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงได้ จึงต้องจำกัดการรับประทานเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินพอดีด้วย 

กินผลไม้อย่างไรให้ดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด?

ตามคำแนะนำทางโภชนาการ คนทั่วไปควรรับประทานผลไม้วันละ 3-5 ส่วน เพื่อเติมพลังงานและสารอาหารให้ครบถ้วน โดยผลไม้ 1 ส่วน หมายถึงปริมาณของผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม หรือให้พลังงานประมาณ 60 แคลอรี่ (คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลอรี่)

ทั้งนี้ สัดส่วนการรับประทานผลไม้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณแคลอรี่ที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งแปรผันตามเพศ อายุ ความหนักเบาของกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน รวมถึงเป้าหมายในการลดหรือเพิ่มน้ำหนัก

ปริมาณผลไม้ที่แนะนำให้รับประทานโดยทั่วไปสำหรับแต่ละกลุ่ม คือ

  • เด็ก ควรรับประทานผลไม้วันละ 3 ส่วน
  • วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ควรรับประทานผลไม้วันละ 3 ส่วน
  • ผู้ที่ทำงานต้องออกแรงหนัก เกษตรกร นักกีฬา ควรรับประทานผลไม้วันละ 5 ส่วน

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรรับประทานผลไม้วันละ 3-4 ส่วน ไม่ต่างจากผู้มีสุขภาพดีทั่วไป แต่แบ่งรับประทานครั้งละ 1 ส่วน และต้องเข้มงวดในการกำจัดปริมาณในแต่ละครั้งไม่ให้มากเกินไป เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูง โดยอาจรับประทานเป็นของว่างหรือแทนของหวานหลังมื้ออาหารก็ได้ 

ผลไม้ 1 ส่วน มีปริมาณเท่าไหน?

เนื่องจากผลไม้แต่ละชนิดมีคาร์โบไฮเดรตไม่เท่ากัน จึงทำให้ปริมาณการรับประทานผลไม้แต่ละชนิดใน 1 ส่วนอาจแตกต่างกันไป ผู้ป่วยเบาหวานควรแบ่งรับประทานครั้งละ 1 ส่วนในปริมาณที่แนะนำ วันละ 3-4 ส่วน

ปริมาณผลไม้แต่ละชนิดใน 1 ส่วน แบ่งง่ายๆ ตามขนาดดังนี้

  • ผลไม้ขนาดเล็ก เช่น ลำไย ลองกอง องุ่น ลิ้นจี่ สตรอว์เบอร์รี่ 5-8 ผล
  • ผลไม้ขนาดกลาง เช่น ส้ม ชมพู่ กล้วย แอปเปิลลูกเล็ก กีวี 1-2 ผล
  • ผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น มะม่วง ฝรั่ง แก้วมังกร 1/2 ผล
  • ผลไม้ขนาดใหญ่มาก เช่น มะละกอ สับปะรด แตงโม 6-8 ชิ้นพอดีคำ
  • ลูกเกด หรือผลไม้แห้ง 1/8 ถ้วย หรือ 2 ช้อนโต๊ะ

ค่าดัชนีน้ำตาล ตัวบ่งชี้ผลไม้ที่เสี่ยงทำน้ำตาลในเลือดสูง

นอกจากการกำหนดสัดส่วนเพื่อไม่ให้ได้รับน้ำตาลสูงเกินไป อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic index) หรือค่าจีไอ (GI) ของผลไม้แต่ละชนิด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าหลังรับประทานผลไม้ชนิดนั้นๆ ร่างกายจะมีอัตราการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดเร็วหรือช้า ผลไม้ที่มีค่า GI สูงจะส่งผลให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลเร็วกว่าและส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงกว่าผลไม้ที่มีค่า GI ต่ำ 

ค่าดัชนีน้ำตาลกำหนดเป็นตัวเลข 0-100 ใน 3 ระดับดังต่อไปนี้

  • ผลไม้ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือ มีค่า GI น้อยกว่าหรือเท่ากับ 55 เช่น แอปเปิล กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง แก้วมังกรเนื้อขาว ส้มโอ มะม่วงดิบ มะเฟือง ส้มสายน้ำผึ้ง ละมุด กีวี และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
  • ผลไม้ค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง คือ มีค่า GI 56-69 เช่น กล้วยหอม แก้วมังกรเนื้อสีแดง มะพร้าวน้ำหอม แตงโม มังคุด ลองกอง มะม่วงสุก มะละกอ ชมพู่
  • ผลไม้ค่าดัชนีน้ำตาลสูง คือ มีค่า GI ตั้งแต่ 70 ขึ้นไป เช่น สับปะรด ลิ้นจี่จักรพรรดิ์ ลูกเกด

ทั้งนี้ การรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานโดยดูจากค่าดัชนีน้ำตาลควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจใช้ไม่ได้เสมอไป เช่น ข้าวกล้อง 1 ทัพพีและช็อกโกแล็ต 1 แท่งอาจมีค่าดัชนีน้ำตาลเท่ากันได้ แต่สารอาหารที่ได้รับจากอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นักโภชนาการจึงอาจแนะนำให้ใช้ดัชนีไกลซีมิก (Glycemic load) หรือค่าวัดปริมาณน้ำตาลในอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ควบคู่ไปกับค่าดัชนีน้ำตาลที่วัดความเร็วในการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดด้วย

วิธีคำนวนค่า GL = ค่า GI x ปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่อ 1 ส่วน (กรัม) ÷ 100

เช่น แอปเปิล 1 ลูก (= 1 ส่วน) มีค่า GI 40 มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม 

ค่า GL ของแอปเปิล = 40 x 15/100 = 6 กรัม

ค่า Glycemic Load หรือค่า GL แบ่งได้เป็น 3 ระดับเช่นเดียวกับค่าดัชนีน้ำตาล

  • ค่า GL ต่ำ  คืออาหาร 1 ส่วน มีค่า GL ไม่เกิน 10 เช่น แอปเปิล ส้ม ชมพู่ แตงโม
  • ค่า GL ปานกลาง คืออาหาร 1 ส่วน มีค่า GL อยู่ที่ 11-19 เช่น กล้วย องุ่น อินทผาลัมอบแห้ง บ๊วย
  • ค่า GL สูง คืออาหาร 1 ส่วน มีค่า GL 20 ขึ้นไป เช่น ลูกเกด มันเทศ แยมผลไม้

ยกตัวอย่างการเลือกรับประทานอาหารโดยดูจากค่า GI และค่า GL:

ส้ม 1 ผล มีค่า GI 52 แต่มีค่า GL 4.4 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ช็อกโกแล็ต 1 แท่งมีค่า GI 55 แต่มีค่า GL หรือปริมาณน้ำตาลในอาหารถึง 22.1 ซึ่งถือว่าสูงมาก

เคล็ดลับเลือกกินผลไม้อย่างสุขภาพดี

ค่าดัชนีน้ำตาล (GI) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานผลไม้ โดยหลักการง่ายๆ คือการรับประทานผลไม้ที่มีค่า GI ต่ำถึงปานกลางเป็นหลัก โดยไม่ลืมควบคุมปริมาณและแบ่งรับประทานทีละ 1 ส่วนตลอดวันแทนการรับประทานครั้งเดียวในปริมาณมาก ส่วนผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลสูงนั้นควรรับประทานนานๆ ครั้ง หรือลดปริมาณให้เหลือ 1/2 ส่วนต่อครั้งเพื่อคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป

เทคนิคการเลือกผลไม้ง่ายๆ ต่อไปนี้จะช่วยให้สามารถรับประทานได้อย่างสบายใจมากขึ้น 

  • ควบคุมปริมาณอาหารต่อ 1 ส่วนให้ดี โดยเฉพาะผลไม้แห้งที่หลายคนมักเผลอรับประทานมากเกินไป เช่น ลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะนั้นนับเป็น 1 ส่วน และมีน้ำตาลเท่ากับแอปเปิล 1 ผลเล็ก
  • เลือกรับประทานผลไม้สดเป็นหลัก หลีกเลี่ยงผลไม้แห้ง ผลไม้แปรรูป และผลไม้กระป๋องในน้ำเชื่อมซึ่งมีน้ำตาลสูงและจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าผลไม้สด
  • อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้อผลไม้แปรรูปหรือผลไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์หลายอย่างมีน้ำตาลสูงแม้ไม่มีรสหวาน และ 1 ส่วนอาจเท่ากับปริมาณที่น้อยมาก ทำให้เผลอรับประทานมากเกินไปได้โดยไม่รู้ตัว
  • หลีกเลี่ยงน้ำผลไม้ เนื่องจากมีน้ำตาลและแคลอรี่สูง ทั้งยังไม่มีกากใยอาหารเหมือนผลไม้สด มีการศึกษาพบว่าการดื่มน้ำผลไม้มากๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

รับประทานอาหารที่ชอบอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องกังวล ปรึกษานักโภชนาการที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เพื่อรับแนวทางการจัดการเรื่องอาหารที่ลงตัวกับไลฟ์สไตล์และโรคประจำตัวที่นี่ 

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

9 วิธีรักษากรดไหลย้อนให้หายขาดแบบธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งยา

    /    บทความ    /    9 วิธีรักษากรดไหลย้อนให้หายขาดแบบธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งยา

9 วิธีรักษากรดไหลย้อนให้หายขาดแบบธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งยา

9 วิธีรักษากรดไหลย้อนให้หายขาดแบบธรรมชาติ
ไม่ต้องพึ่งยา

ผู้ชายกำลังกุมช่วงอกด้วยอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อน พร้อมบอกลาอาการเรอเปรี้ยวด้วยวิธีรักษากรดไหลย้อนแบบธรรมชาติ

อาการแสบร้อนกลางอก แน่นหน้าอก เรอเปรี้ยว รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอคือสัญญาณของกรดไหลย้อนที่มารบกวนใจได้ในบางครั้งบางคราว และก่อนที่อาการเหล่านี้จะเรื้อรังจนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการผ่าตัด เรามาดูวิธีรักษากรดไหลย้อนให้หายขาดง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้ยา ที่คุณหมอพรีโมแคร์แนะนำในบทความนี้กันเลย 

กรดไหลย้อนเกิดจากอะไร? 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเหตุใดกรดไหลย้อนจึงมากวนใจและบางครั้งก็ทรมานจนใช้ชีวิตลำบาก อาการกรดไหลย้อนนั้นเกิดจากการไหลย้อนกลับของสารคัดหลั่งในกระเพาะอาหาร โดยปกติแล้วเมื่อเรากลืนอาหารลงไป กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารจะคลายตัวลงเพื่อเปิดทางให้อาหารและน้ำไหลเข้าไปยังกระเพาะอาหาร จากนั้นกล้ามเนื้อหูรูดก็จะปิดลงอีกครั้ง แต่หากกล้ามเนื้อนี้หย่อนตัวผิดปกติหรืออ่อนแอลงจนปิดไม่สนิท กรดในกระเพาะอาหารก็จะไหลย้อนกลับไปที่บริเวณหลอดอาหารและมักทำให้หลอดอาหารมีอาการอักเสบ โดยผู้ที่มีกรดไหลย้อนเรื้อรังอาจเกิดแผลตามมาได้อีกด้วย

วิธีรักษากรดไหลย้อนให้หายขาดโดยไม่ต้องใช้ยา

พฤติกรรมหลายๆ อย่างเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนได้โดยไม่รู้ตัว ลองมาเช็คลิสต์กันดูว่าพฤติกรรมของเราไม่เข้าข่ายข้อไหนบ้าง จากนั้นให้ลองสังเกตว่าอาการกรดไหลย้อนลดน้อยลงหรือไม่หลังจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว

1. เลี่ยงพฤติกรรมกินแล้วนอน การยืนหรือการนั่งช่วยให้กรดที่ปล่อยออกมาย่อยอาหารอยู่ในกระเพาะอาหารตามแรงโน้มถ่วง แต่การนอนนั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนมากขึ้น หลังจากมื้ออาหารจึงควรเว้นระยะอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อนจะเข้านอน เพื่อให้เวลาร่างกายย่อยอาหารให้หมดเสียก่อน และควรหลีกเลี่ยงการงีบหลับหลังมื้ออาหารหรือการกินของว่างก่อนเข้านอน

2. กินทีละน้อย และกินให้ช้าลง กระเพาะที่อัดแน่นด้วยอาหารจะทำให้เกิดการไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะ สำหรับวิธีแก้ให้ลองแบ่งส่วนมื้ออาหารให้เล็กลง หรือแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ 4-5 มื้อต่อวัน แทนการกิน 3 มื้อ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน

3. เลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน เช่น หัวหอม กระเทียม สะระแหน่ (มินต์) มะเขือเทศ ช็อกโกแล็ต เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชา กาแฟ น้ำอัดลม ผลไม้และน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีรสเผ็ด หากกินอาหารเหล่านี้เป็นประจำ วิธีง่ายๆ คือให้ลองงดดูว่าอาการกรดไหลย้อนจะดีขึ้นหรือไม่ และกลับมากินทีละอย่างเพื่อระบุอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น

4. หลังกินอาหารไม่ควรออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวเร็วเกินไป การเดินเพื่อย่อยอาหารนั้นสามารถทำได้ตามปกติ แต่หากเป็นการออกกำลังกายหนักๆ ที่ต้องใช้แรงหรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว รวมถึงการโน้มตัว ก้มตัวต่ำ ให้รออย่างน้อย 2 ชั่วโมง และควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนและหลังออกกำลังกาย

5. อย่านอนราบมากเกินไป ควรให้ศีรษะและหน้าอกอยู่สูงกว่าเท้า 6-8 นิ้ว โดยอาจใช้หมอนรองหลังเมมโมรี่โฟมหรือเตียงปรับระดับที่ช่วยปรับยกลำตัวช่วงบนขึ้น แต่ไม่ควรใช้กองหมอนหลายๆ ใบหนุน เพราะอาจไม่ได้รูปแบบการนอนที่ถูกต้อง และทำให้เกิดแรงกดที่ท้องจนอาการกรดไหลย้อนแย่ลงกว่าเดิมได้

6. ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงทำให้เกิดแรงกดที่ท้อง แต่ยังส่งผลต่อโครงสร้างกล้ามเนื้อที่รองรับส่วนล่างของหลอดอาหาร ซึ่งจะทำให้แรงกดที่กล้ามเนื้อหูรูดลดลงและปิดไม่สนิท 

7. งดการสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่อาจเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารหย่อนตัวลงจนกรดและเศษอาหารในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นมา

8. ลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหาร และส่งผลต่อความสามารถในการกำจัดกรดในหลอดอาหาร ลองหันมาผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีอื่นแทน เช่น ออกกำลังกาย เดิน ฝึกสมาธิ เหยียดยืดร่างกาย หรือหายใจเข้าออกช้าๆ

9. ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่รัดบริเวณรอบเอว ซึ่งจะสร้างแรงกดต่อท้องและหลอดอาหารส่วนล่าง

นอกจากนี้ การใช้ยารักษาโรคบางอย่างก็อาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการกรดไหลย้อนตามมาได้ เช่น การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนรักษาภาวะหลังหมดประจำเดือน ยารักษาภาวะซึมเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก และยาแก้อักเสบที่มีฤทธิ์คลายตัวหูรูดหลอดอาหาร รวมถึงยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน และยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจก่อการระคายเคืองต่อหลอดอาหาร หากกำลังใช้ยาเหล่านี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่สั่งจ่ายยาเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

หากลองเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงตามวิธีเหล่านี้แล้วอาการกรดไหลย้อนยังมารบกวนใจอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการอักเสบจนรู้สึกเจ็บเมื่อกลืนอาหาร กลืนลำบาก มีอาการมากจนต้องใช้ยาลดกรดไหลย้อนตามร้านขายยามากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยารักษากรดไหลย้อนที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ไปพร้อมๆ กับการปรับพฤติกรรมเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ อาการกรดไหลย้อนอาจคล้ายคลึงภาวะหัวใจวายและสร้างความสับสน หากพบอาการที่บ่งชี้ภาวะหัวใจวาย เช่น เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ปวดบริเวณกรามหรือแขน ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด  

สุขภาพดีไม่มีคำว่ายาก เรียนรู้วิธีปรับไลฟ์สไตล์ สร้างเกราะป้องกันสุขภาพจากโรคเรื้อรัง กับ Lifestyle Coaching ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลและให้คำแนะนำการปรับพฤติกรรมแบบเฉพาะตัวทุกด้าน โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด และนักกำหนดอาหาร 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายล่วงหน้าที่ @primocare  
โทร 02-038-5595, 082-527-9924
คลิกดูหลากหลายบริการของเราที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

7 วิธีลดความดันสูงแบบธรรมชาติ ปรับไลฟ์สไตล์ ลดการใช้ยา

    /    บทความ    /    7 วิธีลดความดันสูงแบบธรรมชาติ ปรับไลฟ์สไตล์ ลดการใช้ยา

7 วิธีลดความดันสูงแบบธรรมชาติ ปรับไลฟ์สไตล์ ลดการใช้ยา

7 วิธีลดความดันสูงแบบธรรมชาติ
ปรับไลฟ์สไตล์ ลดการใช้ยา

แพทย์ใช้เครื่องวัดความดันโลหิตให้ผู้ป่วย เพื่อติดตามผลหลังจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยวิธีลดความดันสูงตามคำแนะนำ

โรคความดันโลหิตสูงควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เป็นหลัก ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วยที่กินยาลดความดันโลหิตเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเป็นวิธีลดความดันแบบธรรมชาติที่ได้ผลและจำเป็นสำหรับผู้ป่วยทุกคน ซึ่งอีกหนึ่งข้อดีก็คือแพทย์อาจให้หยุดหรือลดการใช้ยา หากประสบความสำเร็จในการควบคุมความดันโลหิตด้วยตนเอง

รู้จักโรคความดันโลหิตสูง

สาเหตุของความดันโลหิตสูงเกิดจากการที่มีแรงดันของเลือดสูงในระดับที่มีผลกระทบต่อหัวใจ หลอดเลือด และอวัยวะอื่นๆ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต

โรคความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ญาติสายตรงมีประวัติเป็นโรคนี้ มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย สูบบุหรี่ มีความเครียด รวมถึงการกินอาหารที่ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เช่น อาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูงมากเกิน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินพอดี หรืออาจมีสาเหตุมาจากการมีโรคเรื้อรังบางอย่างก็ได้เช่นกัน เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น

ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แม้ว่าค่าความดันโลหิตจะขึ้นสูงจนถึงขั้นที่เป็นอันตรายแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ภาวะความดันโลหิตสูงสามารถตรวจพบได้ง่ายๆ หากหมั่นไปพบแพทย์เมื่อมีปัญหาสุขภาพหรือได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

7 วิธีลดความดันโลหิตแบบธรรมชาติ 

ไลฟ์สไตล์สุขภาพดีต่อไปนี้นอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวมแล้ว ยังช่วยลดและควบคุมความดันโลหิตสูงให้อยู่หมัด และเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยหลายคนสามารถรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้โดยไม่ต้องพึ่งยาลดความดันเป็นหลัก

1. ลดน้ำหนักส่วนเกินและลดรอบเอว ในกรณีที่มีภาวะอ้วนหรือมีค่า BMI ≥ 25 การลดน้ำหนักส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้ โดยน้ำหนักที่ลดลงทุกๆ 10 กิโลกรัม จะช่วยลดความดันโลหิตตัวบนเฉลี่ย 5-20 มิลลิเมตรปรอท และในทางอ้อมยังช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่มีสาเหตุมาจากอาการหยุดหายใจขณะหลับจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปได้อีกด้วย

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงในผู้ที่เพิ่งเริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูง และช่วยให้ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วควบคุมความดันให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยการออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน สามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ถึงประมาณ 5-8 มิลลิเมตรปรอท

3. ลดโซเดียม อย่าลืมอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบปรุงรส สำหรับผู้มีสุขภาพดีทั่วไป ควรจำกัดปริมาณโซเดียมจากอาหารและเครื่องดื่มไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม ส่วนผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงควรจำกัดไม่เกินวันละ 1,500 มิลลิกรัม นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูงในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป เช่น แฮม เบคอน หมูยอ แหนม กุนเชียง ของตากแห้ง ของดอง อาหารที่ผ่านการอบ ขนมกรุบกรอบ รวมทั้งลดการเติมเกลือ ซอส และเครื่องปรุงต่างๆ หากทำได้ก็จะสามารถลดความดันโลหิตได้ถึง 5-6 มิลลิเมตรปรอท

4. กินอาหารลดความดันสูง อาหารแดช (DASH) เป็นรูปแบบการกินอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงโดยเฉพาะ โดยเป็นการเน้นกินธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต บัควีต ขนมปังโฮลวีต รวมถึงผักผลไม้และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ ซึ่งอุดมไปด้วยโพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม กากใย และโปรตีนที่มีส่วนช่วยในการควบคุมระดับความดันโลหิต รวมทั้งลดอาหารทอด อาหารมัน และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง จากการศึกษายังพบว่า DASH Diet สามารถช่วยลดความดันได้ถึง 11 มิลลิเมตรปรอท

5. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี การดื่มมากเกินไปไม่เพียงแต่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิต แต่ยังลดประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิตอีกด้วย แค่ดื่มแต่พอดีก็สามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ประมาณ 4 มิลลิเมตรปรอท โดยผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 ดื่มมาตรฐาน ส่วนผู้ชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ดื่มมาตรฐาน (1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับเบียร์ประมาณ 350 มิลลิลิตร, ไวน์ 150 มิลลิลิตร, หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 40% ประมาณ 45 มิลลิลิตร)

6. เลิกบุหรี่ การสูบบุหรี่ในแต่ละครั้งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายนาทีแม้หลังหยุดสูบ นอกจากนี้การเลิกบุหรี่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ช่วยให้มีสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้น และจากการศึกษาที่ผ่านมา คนที่เลิกบุหรี่มักมีอายุยืนกว่าคนที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง

7. ลดความเครียด ฮอร์โมนความเครียดส่งผลให้หลอดเลือดหดตัวแคบลงและอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว และหากมีความเครียดเรื้อรังก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น นอนไม่หลับ กินเยอะเกินไปเพราะเครียด หรือเลือกจัดการกับความเครียดโดยใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

วิธีคลายเครียดในเบื้องต้นให้ลองฝึกสมาธิและฝึกการหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ ควรหาต้นตอความเครียดให้เจอและจัดการอย่างเหมาะสม ลองลดความคาดหวังและโฟกัสในสิ่งที่ควบคุมได้หรือแก้ไขได้เป็นหลัก และอย่าลืมหาเวลาให้ตัวเองพักผ่อนหรือทำกิจกรรมผ่อนคลายในแต่ละวัน

ความดันสูง ไม่กินยาได้ไหม? ความดันสูงแค่ไหนถึงต้องกินยาลดความดัน

นอกจากการปรับไลฟ์สไตล์เพื่อลดความดันโลหิตแล้ว การใช้ยาก็เป็นอีกวิธีที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยหลายคนที่มีความเสี่ยงสูงหรือแค่ปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพื่อช่วยให้ควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาหรือปรับลดปริมาณยาด้วยตนเอง และควรไปพบแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำ 

บางคนคิดว่าการรับประทานยาลดความดันโลหิตส่งผลต่อการทำงานของตับและไต ทำให้พยายามลดหรือหยุดยาด้วยตนเอง ที่จริงแล้วการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอย่อมส่งผลดีผู้ป่วยมากกว่าการไม่รับประทานยา เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้อวัยวะต่างๆ เสียหายจากการมีความดันโลหิตสูง ซึ่งรวมถึงตับและไตด้วย นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีโรคตับหรือไต แพทย์จะเลือกยาที่ส่งผลกระทบต่อโรคดังกล่าวน้อยที่สุดอยู่แล้ว

มีผู้ป่วยหลายคนที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ตามคำแนะนำข้างต้น ทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงจนสามารถหยุดยาหรือลดปริมาณการใช้ยาลดความดันโลหิตได้ในที่สุด คุณเองก็เป็นหนึ่งในนั้นได้ ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์เพื่อรับคำแนะนำการปรับพฤติกรรมลดระดับความดันโลหิตตามไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคลได้เลยที่ @primocare  

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

เบาหวาน มีกี่ชนิด: สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษาเบาหวาน

    /    บทความ    /    เบาหวาน มีกี่ชนิด: สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษาเบาหวาน

เบาหวาน มีกี่ชนิด? สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษาเบาหวาน

เบาหวาน มีกี่ชนิด?
สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษาเบาหวาน

ผู้หญิงนั่งทำงานหน้าคอมพิเตอร์ มือหนึ่งจับเมาส์ อีกมือหยิบเยลลี่เคลือบน้ำตาลจากโหลขนมหวานที่อัดแน่นรับประทานไปพลาง

โรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ เบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้ใครหลายคน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งแม้จะส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ทั้งคู่ แต่ก็มีความแตกต่างกันในหลายด้าน 

เบาหวานชนิดที่ 1, 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต่างกันอย่างไร พรีโมแคร์จะพาไปหาคำตอบทุกเรื่อง ทั้งสาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกันในบทความนี้

กลไกการเกิดโรคเบาหวาน

เบาหวานจัดเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญอาหาร โดยปกติแล้วอาหารที่เรากินเข้าไปจะถูกเผาผลาญจนกลายเป็นน้ำตาลกลูโคสและปล่อยสู่กระแสเลือด ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นนี้จะเป็นตัวส่งสัญญาณให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อทำหน้าที่ส่งน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย

โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติที่ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้ตามปกติ จนเซลล์ต่างๆ ไม่ตอบสนองต่ออินซูลินอีกต่อไป ส่งผลให้มีน้ำตาลสะสมในเลือดมากเกินไป หรือที่เราเรียกกันว่า “ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง” ซึ่งจะเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคไต สูญเสียการมองเห็น และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาควบคุมให้น้ำตาลในเลือดกลับมาปกติ

เบาหวานมีกี่ชนิด แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร?

เบาหวานชนิดที่ 1 พบได้ไม่บ่อยเท่ากับเบาหวานชนิดที่ 2 โดยในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด จะพบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ประมาณ 5-10% เบาหวานชนิดนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้เกิดการทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อีกต่อไป ผู้ป่วยจึงต้องรักษาด้วยอินซูลินทุกวัน เบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถป้องกันได้ และมักตรวจเจอในเด็กและวัยรุ่น จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น

เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้อินซูลินที่ทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดทำงานได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้อย่างที่ควรและไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ กว่า 90-95% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะป่วยด้วยเบาหวานชนิดนี้ อาการของเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่จะค่อยเป็นค่อยไปและอาจไม่รู้ตัวแม้ผ่านไปหลายปี ทำให้มักตรวจเจอในวัยผู้ใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตาม เบาหวานชนิดที่ 2 มีแนวโน้มเกิดกับคนอายุน้อยมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมการกินและขาดการออกกำลังกายที่นำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกิน

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ที่ส่งผลให้เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง ทารกที่คุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ มากกว่าเด็กทั่วไป รวมทั้งมีแนวโน้มเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในภายหลัง และสำหรับตัวคุณแม่เอง แม้เบาหวานชนิดนี้มักจะหายไปหลังคลอดบุตรแล้วแต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาภายหลังได้เช่นกัน 

ภาวะก่อนเบาหวาน ระยะก่อนเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะก่อนเบาหวานนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมทางสุขภาพที่จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ควบคุมอาหาร เพิ่มการออกกำลังกาย และลดน้ำหนักที่มากเกิน แต่หากปล่อยไว้จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมองได้ 

ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวาน

เบาหวานชนิดที่ 1 คาดว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม การมีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือมียีนส์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง และมักตรวจพบในช่วงอายุ 4-7 ปีได้มากที่สุด รองลงมาคือช่วงอายุ 10-14 ปี

เบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเบาหวาน มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญเป็นน้ำหนัก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งทางด้านพันธุกรรมและพฤติกรรม ได้แก่ 

  • มีครอบครัวสายตรง เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 
  • มีอายุมากกว่า 45 ปี 
  • ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย 
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดนี้สูงขึ้นหากมีปัจจัยดังต่อไปนี้

  • มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน 
  • มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะน้ำหนักเกิน (BMI ≥ 27 กก./ม2)
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ครั้งก่อน 
  • เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป 
  • เคยมีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ครั้งก่อน

อาการของโรคเบาหวาน

อาการเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่อาการของเบาหวานชนิดที่ 1 จะปรากฏให้เห็นเร็วกว่าชนิดที่ 2 ในขณะที่เบาหวานชนิดที่ 2 นั้นจะเกิดขึ้นช้ากว่าและมักจะไม่มีอาการ โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก ส่วนเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นมักจะไม่มีอาการและมักทราบจากการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตามที่แนะนำในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนอยู่แล้ว

อาการของเบาหวานที่สังเกตุได้ มีดังนี้ 

  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
  • กระหายน้ำบ่อย
  • รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักลดลง
  • คันหรือเกิดเชื้อราที่อวัยวะเพศ
  • เป็นแผลแล้วหายช้ากว่าปกติ
  • ตาพร่ามัว 

การรักษาเบาหวาน

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยต้องรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยการฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนัง และจะต้องตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ทุก 3 เดือนเพื่อดูการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและประเมินว่ามีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์จะช่วยวางแผนอาหารการกิน รวมถึงแนะนำวิธีนับคาร์โบไฮเดรตในอาหารเพื่อคำนวนการฉีดอินซูลินด้วยตนเองอย่างเหมาะสม พร้อมกับการปรับพฤติกรรมเพิ่มการออกกำลังกายและเลือกกินอาหารที่ดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด

เบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยหลายครั้งที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถลดความรุนแรงของโรคไปได้มากจากการพยายามลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำตามคำแนะนำจากแพทย์และนักโภชนาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่ไปด้วยหากการปรับพฤติกรรมอย่างเดียวไม่ได้ผล และแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถลดความเสี่ยงของปัญหาต่อครรภ์ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น การปรับอาหารการกินและเพิ่มการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หากการปรับพฤติกรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือมีการฉีดอินซูลินช่วย นอกจากนี้จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในระหว่างตั้งครรภ์จนถึงช่วงคลอดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และอาจแนะนำให้คลอดก่อนกำหนดหากมีข้อกังวลที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาสุขภาพของเด็กหรือคุณแม่ รวมถึงในกรณีที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี

ภาวะก่อนเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานสามารถปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ หรืออย่างน้อยก็คงให้อยู่ในระดับที่ยังไม่จัดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อไป โดยเน้นการควบคุมหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี

เบาหวาน ป้องกันได้หรือไม่

สำหรับเบาหวานชนิดที่ 1 ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันหรือชะลอระยะของโรคให้ช้าลงด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกิน กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายบ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัว จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี 

โรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน

ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงสามารถส่งผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ รวมถึงเส้นเลือดเล็กตามบริเวณดวงตา เส้นประสาท และไตเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในสมองตามมา โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2

ส่วนเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ควบคุมได้ไม่ดีอาจทำให้ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่จนคุณแม่รู้สึกอึดอัด ไม่สบายครรภ์ นำไปสู่ปัญหาการคลอดลำบากและอาจต้องผ่าคลอด ซึ่งจะต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังคลอดนานกว่าการคลอดธรรมชาติ รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูงที่เสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งแม่และบุตรได้

เรียนรู้วิธีปรับไลฟ์สไตล์ ดูแลและให้คำแนะนำการปรับพฤติกรรมแบบเฉพาะตัวให้เข้ากับปัจจัยเสี่ยง โรคประจำตัว และความชอบส่วนบุคคล โดยการร่วมมือกันของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด และนักกำหนดอาหาร ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายล่วงหน้าได้เลยที่ @primocare 
โทร 02-038-5595, 082-527-9924
คลิกดูหลากหลายบริการของเราที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ท่านอนแก้โรค: ปวดหลัง​ ปวดคอ กรดไหลย้อน​ ภูมิแพ้ นอนกรน

    /    บทความ    /    ท่านอนแก้โรค: ปวดหลัง​ ปวดคอ กรดไหลย้อน​ ภูมิแพ้ นอนกรน

ท่านอนแก้โรค: ปวดหลัง​ ปวดคอ กรดไหลย้อน​ ภูมิแพ้ นอนกรน

ท่านอนแก้โรค
ปวดหลัง ปวดคอ กรดไหลย้อน ภูมิแพ้ นอนกรน

ผู้หญิงกำลังนอนห่มผ้าในท่านอนตะแคงขวา สีหน้ายิ้มแย้มหลับสบาย มือซ้ายวางบนหมอน

นอกจากท่านอนที่ถูกต้องจะช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ ทำให้ตื่นมารับเช้าวันใหม่ได้อย่างสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เชื่อหรือไม่ว่าการปรับเปลี่ยนท่านอนเพียงเล็กน้อยยังอาจช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพบางอย่างได้อีกด้วย 

สำหรับใครที่กำลังมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ออฟฟิศซินโดรม กรดไหลย้อน คัดจมูก ภูมิแพ้ หรือแม้กระทั่งนอนกรน วันนี้พรีโมแคร์จะพาไปดูกันว่า ต้องนอนท่าไหนถึงจะช่วยรับมืออาการเหล่านี้ให้อยู่หมัด

ท่านอนคนท้อง

ท่านอนที่เหมาะสมกับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ที่สุดคือท่านอนตะแคงงอเข่า เนื่องจากจะช่วยลดแรงกดจากขนาดท้องที่โตขึ้น และทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดี และถ้าจะให้ดีควรนอนตะแคงข้างซ้ายเพื่อป้องกันแรงกดทับต่อตับ ช่วยให้เลือดดีไปเลี้ยงตัวอ่อน มดลูก ไต และหัวใจได้มากขึ้น

หากนอนตะแคงข้างซ้ายแล้วรู้สึกไม่สบาย สามารถสลับนอนตะแคงข้างขวาเพื่อคลายการลงน้ำหนักที่สะโพกด้านซ้าย และอาจใช้หมอนรองบริเวณใต้ท้อง ระหว่างขา และหนุนบริเวณกระเบนเหน็บให้นอนสบายยิ่งขึ้น

ท่านอนแก้ปวดหลัง

ท่านอนตะแคงเป็นท่าที่ดีที่สุดสำหรับป้องกันหรือลดอาการปวดหลัง รองลงมาคือท่านอนหงาย โดยมีงานวิจัยที่ให้ผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดหลัง ฝึกนอนในท่าตะแคงหรือนอนหงาย ผลลัพธ์พบว่าต่างมีอาการดีขึ้นมากภายใน 4 สัปดาห์

สำหรับคนที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง แนะนำให้นอนตะแคงโดยใช้หมอนหรือผ้าห่มที่มีความหนาพอประมาณหนุนระหว่างเข่าทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการปวดคอและปวดบ่าไหล่จากท่านอนตะแคง ควรนอนหนุนหมอนที่มีความสูงพอดีกับช่องว่างระหว่างไหล่และคอ เพื่อให้กระดูกคอวางตัวในแนวเดียวกับกระดูกสันหลัง 

ท่านอนแก้ปวดคอ ปวดไหล่

หากมีอาการปวดคอควรนอนหงาย เนื่องจากเป็นท่าที่ช่วยป้องกันท่าทางที่ผิดตำแหน่งของคอที่อาจเกิดจากการนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ โดยแนะนำให้ใช้หมอนที่ช่วยรองรับคอและมีความนุ่ม นอนแล้วศีรษะอยู่ต่ำลงไป อาจใช้หมอนยางพาราหรือหมอนเมมโมรีโฟมที่มีลักษณะโค้งเป็นรูปตัว S ซึ่งจะช่วยรองรับให้ศีรษะอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง หรือจะหนุนหมอนแบนๆ แล้วม้วนผ้าเช็ดตัวรองบริเวณคอขณะนอนหลับก็ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ระหว่างที่นอนควรให้แขนทั้งสองข้างอยู่ในท่าเดียวกัน เช่น วางไว้ข้างลำตัวทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันการวางตัวของกระดูกสันหลังที่ไม่เป็นแนวเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดไหล่หรือปวดคอได้เช่นกัน 

ท่านอนลดอาการคัดจมูก ภูมิแพ้

สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือผู้ที่มีอาการคัดจมูก ควรใช้หมอนหนุนบริเวณหลังส่วนบน เพื่อยกระดับศีรษะให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดออกและหายใจคล่อง ควรหลีกเลี่ยงการนอนราบระดับเดียวกับที่นอนเพราะจะทำให้ยิ่งคัดจมูกมากกว่าเดิม

ท่านอนลดกรดไหลย้อน

ควรนอนตะแคงซ้ายโดยใช้หมอนหนุนศีรษะและลำตัวส่วนบนให้ยกขึ้นสูงกว่าช่วงเท้า อาจใช้หมอนเมมโมรี่โฟมทรงเอียงหรือเตียงปรับระดับที่ช่วยยกลำตัวช่วงบนขึ้นป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะมาสู่หลอดอาหาร และไม่ควรนอนตะแคงขวาเพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง

ท่านอนแก้อาการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่ส่งผลให้ทางเดินหายใจหดตัวลงในระหว่างหลับ มักเกิดร่วมกับปัญหาการนอนกรน การนอนตะแคงหรือนอนคว่ำจะช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ลดอาการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่รุนแรง ควรหลีกเลี่ยงท่านอนหงายเพราะอาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้

ท่านอนผู้ป่วยโควิด-19

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 บางรายอาจมีอาการหายใจลำบากเนื่องจากเชื้อไวรัสส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอด ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ท่านอนคว่ำโดยตะแคงศีรษะไปด้านข้างจะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น เนื่องจากช่วยลดแรงกดของหัวใจและท้องที่กระทำต่อปอด และในกรณีฉุกเฉินสามารถยื้อเวลาเพื่อรอการช่วยเหลือด้วยเครื่องช่วยหายใจ

ขณะนอนคว่ำ ผู้ป่วยควรอยู่ในท่าที่รู้สึกสบายที่สุด เพราะจะต้องนอนในท่านี้เป็นเวลานาน โดยสามารถขยับตัวเปลี่ยนท่าคลายเมื่อยทุก 1-2 ชั่วโมง ตัวอย่างท่านอนคว่ำที่สามารถทำตามได้ มีดังนี้

  • ท่าที่ 1 นอนคว่ำ ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง หดมือสองข้างเก็บใต้หน้าอกหรือหัวไหล่ อาจใช้หมอนเตี้ยๆ หนุนใต้คางเพื่อลดแรงกดต่อต้นขาและปลายเท้า
  • ท่าที่ 2 นอนคว่ำ ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง กางมือสองข้างออกมาวางระดับศีรษะ และใช้หมอนเตี้ยหนุนหน้าท้อง
  • ท่าที่ 3 นอนคว่ำ ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง ยกขาข้างเดียวกับฝั่งที่ตะแคงศีรษะขึ้นมาประมาณ 90 องศา และใช้หมอนรองใต้ขาข้างดังกล่าว
  • ท่าที่ 4 นอนคว่ำกึ่งตะแคงโดยใช้หมอนช่วยรองบริเวณลำตัว และสอดหมอนระหว่างเข่า 2 ข้างให้ขนานกัน

หากปรับได้ ปัญหาสุขภาพก็ไม่ใช่อุปสรรคการนอนหลับพักผ่อนอีกต่อไป แต่ถ้ารู้สึกไม่คุ้นเคยกับท่านอนเหล่านี้ ในช่วงแรกแนะนำให้ใช้หมอนวางรอบตัวเพื่อจัดตำแหน่งท่านอนที่ถูกต้อง เมื่อนานไปก็จะทำได้อย่างเคยชิน และอาจกลายมาเป็นท่านอนที่ดีและตอบโจทย์สุขภาพของเราที่สุดก็เป็นได้

พรีโมแคร์ ดูแลทุกเรื่องสุขภาพโดยมีคนไข้เป็นศูนย์รวมความใส่ใจ คลิกดูบริการของเราที่นี่ หรือสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมายรับบริการล่วงหน้าที่ @primocare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ท่าบริหารข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ขยับนิด พิชิตข้อเข่าเสื่อม

    /    บทความ    /    ท่าบริหารข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ขยับนิด พิชิตข้อเข่าเสื่อม

ท่าบริหารข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ขยับนิด พิชิตข้อเข่าเสื่อม

ท่าบริหารข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ
ขยับนิด พิชิตข้อเข่าเสื่อม

ผู้สูงอายุทำท่าบริหารข้อเข่าเสื่อม ด้วยท่าเหยียดขาตรงบนพื้น ปลายเท้าแยกจากกัน มือขวาเอื้อมแตะปลายเท้าซ้าย

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดและฝืดตึงข้อจากโรคข้อเข่าเสื่อมมักเป็นกังวลว่าการออกกำลังกายจะส่งผลเสียต่อข้อเข่าและทำให้รู้สึกปวดมากกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วท่าบริหารข้อเข่าเสื่อมที่ถูกต้องคือหนึ่งในวิธีรักษา​ชะลอโรคและป้องกันข้อเข่าเสื่อมที่รุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าและทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น  

เข้าใจสาเหตุและอาการของข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เกิดจากการเสื่อมตัวของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า ซึ่งเป็นส่วนที่หุ้มปลายกระดูก ทำหน้าที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดแรงเสียดทานระหว่างข้อต่อที่เกิดขึ้นขณะทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเดิน วิ่ง กระโดด หรือเคลื่อนไหวไปมา เมื่อขาดตัวช่วยลดแรงกระแทกนี้ไป จึงนำมาซึ่งอาการปวดเสียว ข้อเข่าอ่อนแอลง และอาจมีการอักเสบร่วมด้วย

อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม โรคนี้จึงพบได้ในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังอาจเกิดปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ได้เช่นกัน 

  • ภาวะน้ำหนักเกิน ทำให้ข้อเข่าต้องแบกรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • อาการบาดเจ็บจากการทำงานที่ใช้ข้อเข่าซ้ำๆ เช่น นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ สควอท ยกของหนัก
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากบุคคลในครอบครัวที่เป็นโรคนี้

ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอาจมีอาการปวดหนักๆ สลับเบา บางครั้งปวดจี๊ด บางครั้งปวดหน่วงๆ อาการปวดข้อเข่าจะกำเริบเมื่อมีการเคลื่อนไหวที่มีแรงกระแทกต่อข้อเข่าสูง และดีขึ้นเมื่อหยุดพักหรือประคบเย็น นอกจากนี้ยังรวมถึงอาการฝืดตึงข้อต่อที่มักเกิดขึ้นหลังจากนั่งหรือนอนเป็นเวลานาน ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก และกรณีที่อาการเริ่มรุนแรงมักมีข้อบวมจนสังเกตได้ จับดูรู้สึกอุ่นๆ หรือแสบร้อน

ท่าบริหารข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ

การเคลื่อนไหวน้อยและขาดการออกกำลังกายจะยิ่งทำให้อาการเหล่านี้แย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากจะส่งผลให้อาการฝืดตึงที่ข้อเข่าสะสมมากขึ้นทุกวัน วันนี้คุณหมอพรีโมแคร์มี 3 ประเภทท่าบริหาร-ออกกำลังกายที่อยากแนะนำให้ทำเป็นประจำ ซึ่งจะได้ประโยชน์ครบถ้วนในการเสริมความแข็งแรงของข้อเข่า​และสุขภาพโดยรวมไปในตัว

1. ท่าบริหารข้อเข่าเสื่อมแบบแอโรบิก หรือคาร์ดิโอ 

เป็นการออกกำลังกายแบบเป็นจังหวะที่ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ทำให้สุขภาพหัวใจและปอดแข็งแรง แถมยังเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี่และช่วยในการควบคุมน้ำหนักซึ่งจะส่งผลดีต่อข้อเข่า 

ท่านั่งแยกขา

  • นั่งบนเก้าอี้ ขาสองข้างชิดกัน
  • ยกขาข้างขวาออกไปด้านข้าง แล้วกลับท่าเดิม 
  • ทำสลับกับขาขวา ทั้งหมด 20 ครั้ง

ท่านั่งเตะขา

  • นั่งบนเก้าอี้ เหยียดขาตรงทั้ง 2 ข้าง
  • เตะขาสลับข้าง เกร็งขาให้เท้าลอยพื้นตลอดเวลา 
  • ลองเตะไล่ระดับให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งต่อๆ ไปเพื่อเพิ่มระดับความยาก

ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมสามารถเพิ่มการออกกำลังกายแบบแอโรบิกชนิดอื่นๆ ที่มีแรงกระแทกต่ำได้เช่นกัน ได้แก่ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน รวมถึงการออกกำลังกายในน้ำ (Aquatic exercise) ที่อาจเป็นการเดิน ยกดัมเบล หรือเหยียดยืดแขนขาในน้ำ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายหรือผู้มีน้ำหนักเกิน เพราะจะช่วยลดน้ำหนักของร่างกายที่ข้อต่อต้องรองรับ ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดข้อได้ดี

2. ท่าบริหารฝึกกล้ามเนื้อรอบเข่า 

มีประโยชน์ในการช่วยสร้างกล้ามเนื้อและฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ หัวเข่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถขยับเคลื่อนไหวข้อเข่าได้อย่างมั่นคงและคล่องตัวมากกว่าเดิม

ท่านั่งเหยียดเข่า

  • นั่งชิดเก้าอี้ เหยียดขาขวาตรง กระดกปลายเท้าขึ้น
  • เกร็งต้นขายกค้างไว้ 3-5 วินาที แล้วเอาลง
  • ทำสลับกับขาอีกข้าง ทั้งหมด 20 ครั้ง

ท่านั่งยืดขา

  • นั่งบนเก้าอี้ ยืดขา 2 ข้างให้สุด จิกฝ่าเท้ากับพื้น
  • ค่อยๆ ลากขาเข้าหาตัวช้าๆ จนกลับมาอยู่ในท่านั่งปกติ
  • ทำทั้งหมด 20 ครั้ง

3. ท่าบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 

ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อเข่า และถือเป็นการยืดคลายกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายไปในตัว

ท่ายืดกล้ามเนื้อแฮมสตริง หรือต้นขาด้านหลัง

  • ยืนจับเก้าอี้หรือโต๊ะเพื่อทรงตัว
  • ยกปลายเท้าข้างหนึ่งไปด้านหลัง ใช้มือยึดปลายเท้าไว้
  • ค่อยๆ โน้มตัวไปข้างหน้า ดึงเข่าลงไปทางพื้น ให้ต้นขาเอียงไปด้านหลัง 
  • ค้างไว้ 3-5 วินาที ทำสลับกับขาอีกข้าง 5-10 ครั้ง

ท่านอนกระดกปลายเท้า

  • นอนหงาย ขาเหยียดตรง
  • กระดกปลายเท้าขวาขึ้น ปลายเท้าซ้ายกระดกลง 
  • เกร็งค้างครั้งละ 3-5 วินาที สลับทั้ง 2 ข้าง 5-10 ครั้ง

ท่านอนเหยียดขาขึ้น

  • นอนหงาย ใช้หมอนรองใต้เข่าขวา
  • เหยียดเข่าซ้าย ยกขาขึ้นสูงจากพื้นเล็กน้อย
  • เกร็งค้างไว้ 3-5 วินาที ทำสลับกับอีกข้างประมาณ 5-10 ครั้ง

ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ไม่ควรออกกำลังกายแบบไหน?

ท่าออกกำลังกายบริหารข้อเข่าเสื่อมไม่มีข้อห้ามตายตัว แม้แต่การวิ่งที่หลายคนเชื่อกันว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาสุขภาพหัวเข่าตามมาภายหลัง รวมถึงโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งจากการศึกษาหลายงาน ยังไม่พบหลักฐานว่าการวิ่งนั้นส่งผลเสียต่อข้อเข่า และตรงกันข้ามอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพเข่าเพราะมีส่วนช่วยลดและควบคุมน้ำหนักได้ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีโรคข้อเข่าเสื่อม การออกกำลังกายที่เกิดแรงกระแทกค่อนข้างสูง เช่น การวิ่ง การเล่นบาสเก็ตบอล และฟุตบอลนั้นควรทำอย่างระมัดระวัง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัดเพื่อวางโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับโรคมากที่สุด
  • ฟังเสียงร่างกายตัวเองและปรับการออกกำลังให้อยู่ในระดับที่พอประมาณ 
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบนพื้นคอนกรีตแข็งๆ ที่จะเพิ่มแรงกระแทกต่อเข่า
  • ไม่ควรออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทกสูงบ่อยเกินไป 
  • หยุดพักทันทีหากมีอาการปวดที่เป็นสัญญาณว่าหักโหมมากไป เช่น ความรู้สึกปวดที่มากกว่าอาการปวดเข่าตามปกติ 

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลรอบด้าน ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์สุขภาพ เราเชื่อมั่นว่าการดูแลบนพื้นฐานความชอบและไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคลลที่แตกต่างจะผลักดันให้คุณมีสุขภาพดีและมีความสุขที่สุด

สอบถามข้อมูลหรือนัดหมายล่วงหน้าที่ @primocare
โทร 02-038-5595, 082-527-9924
คลิกดูหลากหลายบริการของเราที่นี่

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ผิวแห้ง คัน ตกสะเก็ด เกิดจากอะไร? รวมทริคดูแลผิวในหน้าหนาว

    /    บทความ    /    ผิวแห้ง คัน ตกสะเก็ด เกิดจากอะไร? รวมทริคดูแลผิวในหน้าหนาว

ผิวแห้ง คัน ตกสะเก็ด เกิดจากอะไร? รวมทริคดูแลผิวในหน้าหนาว

ผิวแห้ง คัน ตกสะเก็ด เกิดจากอะไร?
รวมทริคดูแลผิวในหน้าหนาว

หญิงสาวบำรุงมือที่มีผิวแห้ง คัน และตกสะเก็ดด้วยโลชันมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ทั่วทั้งสองมือ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวในหน้าหนาว

ปัญหาผิวแห้ง ผิวแตกที่อาจมาพร้อมอาการคัน ผิวลอกตกสะเก็ด มักมารบกวนใจในฤดูหนาวที่อุณหภูมิเปลี่ยน อากาศแห้ง ทำให้ผิวหน้าและผิวกายของเราเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายขึ้น สำหรับใครที่กำลังกลุ้มใจกับปัญหานี้ วันนี้คุณหมอพรีโมแคร์จะพาไปเจาะลึกสาเหตุและวิธีดูแลผิวให้นุ่มชุ่มชื้น สร้างเกราะป้องกันผิวให้กลับมาแข็งแรงไม่แห้งกร้านอีกต่อไป

สังเกตุอาการผิวแห้ง

อาการผิวแห้งของแต่ละคนอาจมีลักษณะแตกต่างกันไป โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ผิวแห้ง รวมถึงภาวะสุขภาพและอายุที่จะส่งผลให้มีอาการมากน้อยไม่เหมือนกัน 

อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ผิวแตกเป็นร่อง เห็นเป็นรอยเส้นๆ
  • ผิวลอก ตกสะเก็ด เป็นขุย
  • มีอาการคัน แดง
  • รู้สึกผิวหยาบกร้าน ไม่ชุ่มชื้น
  • ผิวตึงผิดปกติ โดยเฉพาะหลังจากอาบน้ำหรือว่ายน้ำ

ผิวแห้ง เกิดจากอะไร?

  • อายุ ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันใต้ผิวหนังจะทำงานลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ประกอบกับไขมันและความยืดหยุ่นของผิวหนังที่ลดลง ทำให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุมีผิวบางและเกิดผิวแห้งได้ง่ายขึ้น
  • สภาพอากาศ อากาศที่เย็นและมีความชื้นต่ำจะดูดความชุ่มชื้นออกจากผิวหนังออกไปด้วย ทำให้เรามักมีอาการผิวแห้งผิวแตกในช่วงหน้าหนาว และยิ่งรุนแรงขึ้นหากมีลมหนาวพัดแรง
  • อาชีพ การทำงานที่ผิวหนังต้องสัมผัสน้ำตลอดเวลา เช่น ครูสอนว่ายน้ำ ช่างสระผม รวมถึงงานที่สัมผัสความร้อนจากเตาไฟซึ่งจะทำให้ความชื้นในห้องลดลง
  • พันธุกรรม ลองสังเกตุว่าในครอบครัวมีใครที่ผิวแห้งหรือมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ผิวแห้งหรือไม่ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) เบาหวาน โรคไต ไทรอยด์ 
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ที่อาจทำให้มีผิวแห้งและมีอาการคันตามผิวหนัง
  • ปัจจัยอื่นๆ ผิวแห้งอาจเกิดจากการแพ้สารในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางอย่างที่มีคุณสมบัติกำจัดน้ำมันในผิวหนัง เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า รวมถึงการอาบหรือแช่น้ำอุ่นนานเกินไป และการว่ายน้ำในสระที่มีคลอรีน

วิธีดูแลผิวแห้งให้กลับมาชุ่มชื้น

การบำรุงผิวด้วยมอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ป้องกันการระคายเคืองและอาการคันจากผิวแห้ง โดยควรเลือกครีมหรือโลชั่นที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม และมองหาส่วนประกอบที่ชื่อว่ากรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic acid) และเซราไมด์ (Ceramide) ที่มีคุณสมบัติคงความชุ่มชื้นและสร้างปราการปกป้องผิว 

เคล็ดลับผิวชุ่มชื้น บอกลาปัญหาผิวแห้งไม่ว่าฤดูไหนๆ

  • ไม่อาบน้ำอุ่นนานหรือบ่อยเกินไป ควรใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที และปรับอุณหภูมิให้อุ่นแต่พอดี เพราะน้ำที่ร้อนจะยิ่งดึงน้ำมันออกจากผิวและทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • ทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวทันทีหลังจากอาบน้ำเช็ดตัวเสร็จ เพื่อคงความชุ่มชื้นของผิวให้มากที่สุด
  • เลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าและผิวกาย โรลออน โลชั่น และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ
  • ลดครีมบำรุงผิวที่มีสารก่อการระคายเคือง เช่น ยาแต้มสิวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) และเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) รวมถึง AHA (Alpha Hydroxy Acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) และเรตินอล (Retinol) ที่มีคุณสมบัติผลัดเซลล์ผิวอันจะทำให้ผิวแห้งและผิวหน้าลอกง่ายขึ้น โดยควรจำกัดการใช้ในช่วงหน้าหนาวหรือช่วงที่รู้สึกว่าผิวค่อนข้างแห้งอยู่แล้ว
  • ใช้น้ำยาซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรสำหรับผิวแพ้ง่าย ป้องกันการระคายเคืองจากสารเคมีหรือน้ำหอมที่จะสัมผัสกับผิวหนังของเราตลอดเวลาที่สวมใส่เสื้อผ้า
  • ดื่มน้ำให้มาก เพื่อป้องกันผิวขาดน้ำและคงความชุ่มชื้นให้ผิวตลอดเวลา
  • ทำกิจกรรมผักผ่อนหรือใช้เวลากับคนรอบข้าง เป็นการคลายความเครียดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบและปัญหาผิวหนังอื่นๆ
  • เลิกสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่เป็นตัวการที่ทำให้เลือดไหลเวียนไม่เต็มที่และทำให้ผิวแห้งกร้าน

วิธีบรรเทาอาการคันจากผิวแห้ง

  • ทาโลชั่นหรือครีมบำรุงที่ช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นเป็นประจำ
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย เพื่อลดการระคายเคืองของผิว
  • ใช้มือลูบหรือแตะผิวแทนการเกาเพื่อป้องกันผิวหนังถลอกและติดเชื้อ
  • ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นแล้วประคบไว้ที่ผิวหนังบริเวณที่คันเพื่อลดการเกา
  • ตัดเล็บให้สะอาดและตะไบให้ไม่บาดผิวหากเผลอเกาขณะนอนหลับ

อาการผิวแห้งคัน ต้องรักษาหรือไม่?

บางครั้งอาการที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่แค่ผิวแห้งจากอากาศหนาว แต่เป็นปัญหาโรคผิวหนังอื่นๆ หรือโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคไต ซึ่งกรณีหลังนี้พบได้น้อย 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผิวแห้งรุนแรง คันเรื้อรัง หากปล่อยไว้อาจทำให้ผิวแตกจนมีเลือดออก ผิวอักเสบจากการเกา และเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง ดังนั้น หากมีอาการต่อไปนี้แนะนำให้มาพบแพทย์

  • มีอาการคันอย่างต่อเนื่อง คันมากจนนอนไม่หลับ หรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีสัญญาณการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ผิวแดง จับดูอุ่นๆ หรือบวมขึ้น
  • รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส หรือมีผื่นขึ้น

การรักษาผิวแห้งในเบื้องต้นมักแนะนำให้ใช้มอยซ์เจอไรเซอร์ในรูปแบบครีม ขี้ผึ้ง หรือโลชั่นเป็นหลัก และหากมีผิวแห้งและคันอย่างรุนแรง แพทย์จะสั่งจ่ายยาสเตียรอยด์ชนิดทาเพื่อลดอาการอักเสบของผิวหนังบริเวณที่มีผื่นคัน และอาจใช้ยาหรือการรักษาวิธีอื่นๆ ร่วมด้วยตามการวินิจฉัยโรค

พรีโมแคร์ ดูแลทุกเรื่องสุขภาพโดยมีคนไข้เป็นศูนย์รวมความใส่ใจ 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายล่วงหน้าที่ LINE @primocare  
คลิกดูบริการของเราที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

HPV กับเรื่องที่หญิง-ชาย ต้องรู้ ติดง่ายแค่ไหน รักษาได้ไหม?

    /    บทความ    /    HPV กับเรื่องที่หญิง-ชาย ต้องรู้ ติดง่ายแค่ไหน รักษาได้ไหม?

HPV กับเรื่องที่หญิง-ชาย ต้องรู้ ติดง่ายแค่ไหน รักษาได้ไหม?

HPV กับเรื่องที่หญิง-ชาย ต้องรู้
ติดง่ายแค่ไหน รักษาได้ไหม?

ปกป้องคนที่รักด้วยวัคซีน HPV ปลอดภัยทั้งบ้าน พ่อแม่และลูกสาวพูดคุยใช้เวลาร่วมกันอย่างยิ้มแย้มมีความสุข

ปัจจุบันเชื้อไวรัส HPV (เอชพีวี) เป็นชื่อที่คุ้นเคยว่าคือสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง รวมถึงโรคหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งอีกหลายชนิดทั้งในเพศหญิงและชาย แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้​ก็คือการติดเชื้อ HPV นั้นใช่ว่าจะต้องเกิดโรคมะเร็งตามมาเสมอไป​ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เชื้อ HPV อันตรายหรือไม่กันแน่​​ วันนี้พรีโมแคร์จะพาไปรู้จักเชื้อไวรัสชนิดนี้ให้มากขึ้นกับ 7 ข้อเท็จจริงต่อไปนี้

1. คนส่วนใหญ่มีเชื้อ HPV แต่ไม่ใช่เชื้อ HPV ทุกสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

เชื้อไวรัส HPV (human papillomavirus) คือหนึ่งในสาเหตุของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย โดยกล่าวได้ว่าทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์จะเคยติดเชื้อ HPV อย่างน้อย 1 สายพันธุ์ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต นั่นก็เพราะไวรัสชนิดนี้มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เป็นอันตราย และร่างกายสามารถกำจัดเชื้อจนหายดีได้เองเมื่อเวลาผ่านไป

อย่างไรก็ตาม มีเชื้อ HPV บางสายพันธุ์ที่แฝงอยู่ในร่างกายได้นาน และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งต่างๆ ตามมา ซึ่งล้วนมีโอกาสเกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งที่อวัยวะเพศชาย และมะเร็งช่องปากและลำคอ 

HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในคน แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ

  1. สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอื่นๆ 
  2. สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11 สามารถก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ แต่จะไม่นำไปสู่มะเร็งหรือปัญหาร้ายแรงอื่นๆ เหมือนสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 

2. ถึงมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สอดใส่ก็เสี่ยงติดเชื้อ​ HPV​ 

เชื้อ HPV สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งในเพศหญิงและชาย โดยจะได้รับเชื้อในบริเวณอวัยวะเพศที่สัมผัสเชื้อจากอีกฝ่าย เช่น อวัยเพศหญิง ช่องคลอด ปากช่องคลอด ทวารหนัก อวัยวะเพศชาย อัณฑะ รวมไปถึงช่องปากและลำคอในกรณีมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปากหรือออรัลเซ็กส์ (Oral Sex) นอกจากนี้แม้จะไม่มีการหลั่งทั้งคู่ และไม่ได้มีการสอดใส่อวัยวะเพศชายเข้าไปภายในช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก ก็ยังเสี่ยงติดเชื้อจากคู่ที่มีเชื้อไวรัสนี้ได้อยู่ดี รวมถึงกรณีที่ใส่ถุงยางแต่มีการสัมผัสผิวหนังตำแหน่งเสี่ยงอื่นๆ

3. ผู้ที่มีเชื้อ HPV ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ

การติดเชื้อ HPV เกิดขึ้นได้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีหลายคนที่ติดเชื้อและหายได้เองภายใน 2-3 ปีโดยอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าติดเชื้อ ทำให้สามารถส่งต่อเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจได้ง่าย นอกจากนี้ แม้จะป้องกันตัวเองและคู่เป็นอย่างดี หรือไม่เคยเปลี่ยนคู่นอนเลยก็ยังเสี่ยงได้ เนื่องจากเชื้อสามารถฝังตัวอยู่ในร่างกายได้นาน และอาจเริ่มมีอาการเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เช่น หากคบกับแฟนมา 10 ปี ก็เป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อจากแฟนตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่มีเพศสัมพันธ์ แต่เพิ่งมามีอาการในช่วงปีหลังๆ 

4. HPV ไม่มีวิธีรักษา

การติดเชื้อ HPV ไม่มีวิธีรักษาให้หายทันที ทำได้เพียงรอให้ร่างกายกำจัดเชื้อออกไปเองตามเวลา ส่วนเชื้อ HPV ชนิดที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศนั้นสามารถรักษาด้วยการตัดหูดออกไป แต่ก็ไม่ได้ช่วยกำจัดไวรัสที่แฝงตัวอยู่ 

ในกรณีที่ติดเชื้อสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีโอกาสรักษาและป้องกันได้ก่อนที่เซลล์จะกลายเป็นมะเร็ง ดังนั้น การหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำจึงเป็นสำคัญอย่างยิ่ง โดยผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป 

5. HPV สามารถป้องกันได้

ปัจจุบันมีวัคซีน HPV ที่สามารถป้องกันไวรัสมากถึง 9 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของหูดที่อวัยวะเพศและมะเร็งปากมดลูก รวมถึงวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ และ 2 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนตัวเก่าที่ยังมีใช้อยู่

  • วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Cervarix, 2vHPV) ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70%
  • วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil, 4vHPV) ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70% และสายพันธุ์ 6, 11 ที่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ 90% รวมทั้งป้องกันโรคและมะเร็งจาก HPV ในเพศชาย เช่น มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศชาย
  • วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil 9, 9vHPV) ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31,33, 45, 52, 58 ครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและโรคหูดหงอนไก่ 90% ทั้งยังมีผลการศึกษารับรองประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและมะเร็งจาก HPV ในเพศชาย

นอกจากนี้ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และใช้ Dental Dam หรือแผ่นยางอนามัยขณะออรัลเซ็กส์ ตลอดจนไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ก็เป็นอีกวิธีป้องกันที่ควรทำควบคู่กันไปเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV

6. อายุมากกว่า 26 ปี ก็ฉีดวัคซีน HPV ได้

ปัจจุบันวัคซีน HPV แนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย และเป็นวัคซีนสำคัญที่หลายประเทศเริ่มพิจารณาฉีดให้แก่เด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไปฟรีตั้งแต่ในปี 2017 เป็นต้นมา ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีนโยบายฉีดวัคซีน HPV ให้เด็กหญิง ป.5 ทุกคนฟรีเมื่อไม่กี่ปีมานี้เช่นกัน  

แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ตามช่วงอายุ

อายุ

จำนวนเข็มที่ฉีด

ระยะห่างการฉีด

9-14 ปี*

2 เข็ม**

เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด

เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 6-12 เดือน

3 เข็ม

เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด

เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน

เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน

15-45 ปี

3 เข็ม

เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด

เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน

เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน

*แพทย์จะพิจารณาจำนวนเข็มที่ต้องฉีดตามความเหมาะสม

**หากเว้นช่วงระหว่างวัคซีนเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 น้อยกว่า 5 เดือน จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพิ่ม โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 เดือน

7. ถึงฉีดวัคซีน HPV แล้วก็ยังต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ

ผู้หญิงที่ฉีดวัคซีน HPV แล้ว ยังคงต้องป้องกันด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบเซลล์ผิดปกติที่เกิดจากเชื้อ HPV และรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เนื่องจากวัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 100% อีกทั้งไม่สามารถป้องกันเชื้อที่ฝังอยู่ในร่างกายมาก่อน ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์และเกิดการติดเชื้อก่อนได้รับวัคซีน

ส่งความห่วงใยให้คนรอบข้าง ชวนกันฉีดวัคซีน HPV ป้องกันโรคร้าย โดยเฉพาะเด็กๆ ในครอบครัวที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป เพื่อการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ และประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะได้รับอย่างเต็มที่ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ล่วงหน้าที่ @primocare 
โทร 02-038-5595, 082-527-9924
คลิกดูหลากหลายบริการของเราที่นี่

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง