/    บทความ    /    HPV กับเรื่องที่หญิง-ชาย ต้องรู้ ติดง่ายแค่ไหน รักษาได้ไหม?

HPV กับเรื่องที่หญิง-ชาย ต้องรู้ ติดง่ายแค่ไหน รักษาได้ไหม?

HPV กับเรื่องที่หญิง-ชาย ต้องรู้
ติดง่ายแค่ไหน รักษาได้ไหม?

ปกป้องคนที่รักด้วยวัคซีน HPV ปลอดภัยทั้งบ้าน พ่อแม่และลูกสาวพูดคุยใช้เวลาร่วมกันอย่างยิ้มแย้มมีความสุข

ปัจจุบันเชื้อไวรัส HPV (เอชพีวี) เป็นชื่อที่คุ้นเคยว่าคือสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง รวมถึงโรคหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งอีกหลายชนิดทั้งในเพศหญิงและชาย แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้​ก็คือการติดเชื้อ HPV นั้นใช่ว่าจะต้องเกิดโรคมะเร็งตามมาเสมอไป​ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เชื้อ HPV อันตรายหรือไม่กันแน่​​ วันนี้พรีโมแคร์จะพาไปรู้จักเชื้อไวรัสชนิดนี้ให้มากขึ้นกับ 7 ข้อเท็จจริงต่อไปนี้

1. คนส่วนใหญ่มีเชื้อ HPV แต่ไม่ใช่เชื้อ HPV ทุกสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

เชื้อไวรัส HPV (human papillomavirus) คือหนึ่งในสาเหตุของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย โดยกล่าวได้ว่าทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์จะเคยติดเชื้อ HPV อย่างน้อย 1 สายพันธุ์ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต นั่นก็เพราะไวรัสชนิดนี้มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เป็นอันตราย และร่างกายสามารถกำจัดเชื้อจนหายดีได้เองเมื่อเวลาผ่านไป

อย่างไรก็ตาม มีเชื้อ HPV บางสายพันธุ์ที่แฝงอยู่ในร่างกายได้นาน และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งต่างๆ ตามมา ซึ่งล้วนมีโอกาสเกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งที่อวัยวะเพศชาย และมะเร็งช่องปากและลำคอ 

HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในคน แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ

  1. สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอื่นๆ 
  2. สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11 สามารถก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ แต่จะไม่นำไปสู่มะเร็งหรือปัญหาร้ายแรงอื่นๆ เหมือนสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง 

2. ถึงมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สอดใส่ก็เสี่ยงติดเชื้อ​ HPV​ 

เชื้อ HPV สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งในเพศหญิงและชาย โดยจะได้รับเชื้อในบริเวณอวัยวะเพศที่สัมผัสเชื้อจากอีกฝ่าย เช่น อวัยเพศหญิง ช่องคลอด ปากช่องคลอด ทวารหนัก อวัยวะเพศชาย อัณฑะ รวมไปถึงช่องปากและลำคอในกรณีมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปากหรือออรัลเซ็กส์ (Oral Sex) นอกจากนี้แม้จะไม่มีการหลั่งทั้งคู่ และไม่ได้มีการสอดใส่อวัยวะเพศชายเข้าไปภายในช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก ก็ยังเสี่ยงติดเชื้อจากคู่ที่มีเชื้อไวรัสนี้ได้อยู่ดี รวมถึงกรณีที่ใส่ถุงยางแต่มีการสัมผัสผิวหนังตำแหน่งเสี่ยงอื่นๆ

3. ผู้ที่มีเชื้อ HPV ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ

การติดเชื้อ HPV เกิดขึ้นได้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีหลายคนที่ติดเชื้อและหายได้เองภายใน 2-3 ปีโดยอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าติดเชื้อ ทำให้สามารถส่งต่อเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจได้ง่าย นอกจากนี้ แม้จะป้องกันตัวเองและคู่เป็นอย่างดี หรือไม่เคยเปลี่ยนคู่นอนเลยก็ยังเสี่ยงได้ เนื่องจากเชื้อสามารถฝังตัวอยู่ในร่างกายได้นาน และอาจเริ่มมีอาการเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เช่น หากคบกับแฟนมา 10 ปี ก็เป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อจากแฟนตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่มีเพศสัมพันธ์ แต่เพิ่งมามีอาการในช่วงปีหลังๆ 

4. HPV ไม่มีวิธีรักษา

การติดเชื้อ HPV ไม่มีวิธีรักษาให้หายทันที ทำได้เพียงรอให้ร่างกายกำจัดเชื้อออกไปเองตามเวลา ส่วนเชื้อ HPV ชนิดที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศนั้นสามารถรักษาด้วยการตัดหูดออกไป แต่ก็ไม่ได้ช่วยกำจัดไวรัสที่แฝงตัวอยู่ 

ในกรณีที่ติดเชื้อสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีโอกาสรักษาและป้องกันได้ก่อนที่เซลล์จะกลายเป็นมะเร็ง ดังนั้น การหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำจึงเป็นสำคัญอย่างยิ่ง โดยผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป 

5. HPV สามารถป้องกันได้

ปัจจุบันมีวัคซีน HPV ที่สามารถป้องกันไวรัสมากถึง 9 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของหูดที่อวัยวะเพศและมะเร็งปากมดลูก รวมถึงวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ และ 2 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนตัวเก่าที่ยังมีใช้อยู่

  • วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Cervarix, 2vHPV) ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70%
  • วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil, 4vHPV) ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70% และสายพันธุ์ 6, 11 ที่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ 90% รวมทั้งป้องกันโรคและมะเร็งจาก HPV ในเพศชาย เช่น มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศชาย
  • วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil 9, 9vHPV) ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31,33, 45, 52, 58 ครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและโรคหูดหงอนไก่ 90% ทั้งยังมีผลการศึกษารับรองประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและมะเร็งจาก HPV ในเพศชาย

นอกจากนี้ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และใช้ Dental Dam หรือแผ่นยางอนามัยขณะออรัลเซ็กส์ ตลอดจนไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ก็เป็นอีกวิธีป้องกันที่ควรทำควบคู่กันไปเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV

6. อายุมากกว่า 26 ปี ก็ฉีดวัคซีน HPV ได้

ปัจจุบันวัคซีน HPV แนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย และเป็นวัคซีนสำคัญที่หลายประเทศเริ่มพิจารณาฉีดให้แก่เด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไปฟรีตั้งแต่ในปี 2017 เป็นต้นมา ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีนโยบายฉีดวัคซีน HPV ให้เด็กหญิง ป.5 ทุกคนฟรีเมื่อไม่กี่ปีมานี้เช่นกัน  

แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ตามช่วงอายุ

อายุ

จำนวนเข็มที่ฉีด

ระยะห่างการฉีด

9-14 ปี*

2 เข็ม**

เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด

เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 6-12 เดือน

3 เข็ม

เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด

เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน

เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน

15-45 ปี

3 เข็ม

เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด

เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน

เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน

*แพทย์จะพิจารณาจำนวนเข็มที่ต้องฉีดตามความเหมาะสม

**หากเว้นช่วงระหว่างวัคซีนเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 น้อยกว่า 5 เดือน จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพิ่ม โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 เดือน

7. ถึงฉีดวัคซีน HPV แล้วก็ยังต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ

ผู้หญิงที่ฉีดวัคซีน HPV แล้ว ยังคงต้องป้องกันด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบเซลล์ผิดปกติที่เกิดจากเชื้อ HPV และรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เนื่องจากวัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 100% อีกทั้งไม่สามารถป้องกันเชื้อที่ฝังอยู่ในร่างกายมาก่อน ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์และเกิดการติดเชื้อก่อนได้รับวัคซีน

ส่งความห่วงใยให้คนรอบข้าง ชวนกันฉีดวัคซีน HPV ป้องกันโรคร้าย โดยเฉพาะเด็กๆ ในครอบครัวที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป เพื่อการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ และประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะได้รับอย่างเต็มที่ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ล่วงหน้าที่ @primocare 
โทร 02-038-5595, 082-527-9924
คลิกดูหลากหลายบริการของเราที่นี่

Reference