Categories
Uncategorized

9 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ แบบธรรมชาติ ตามหลักจิตวิทยา

    /    บทความ    /    9 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ แบบธรรมชาติ ตามหลักจิตวิทยา

9 วิธีลดน้ำหนักแบบธรรมชาติ ใช้หลักจิตวิทยา ไม่เน้นออกกำลังกาย

9 วิธีลดน้ำหนักแบบธรรมชาติ
ใช้หลักจิตวิทยา ไม่เน้นออกกำลังกาย

ผู้ชายถือคู่มือการลดน้ำหนัก เห็นเพียงส่วนแขน บนโต๊ะเต็มไปด้วยจานอาหารหน้าตาน่าอร่อย สลัดผลไม้ธัญพืช อะโวคาโด บราซิลนัท

วิธีลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารหรือทำตามสูตรลดน้ำหนักต่างๆ อาจช่วยให้น้ำหนักลงรวดเร็วทันใจในช่วงแรก ทว่าการทรมานตัวเองมากเกินไปอาจทำให้อดทนต่อไม่ไหว และลงเอยด้วยโยโย่เอฟเฟ็กต์ แถมบางวิธีอาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ บทความนี้พรีโมแคร์ มีวิธีลดน้ำหนักง่ายๆ แบบธรรมชาติ และดีต่อใจคนที่กำลังตามหาวิธีลดน้ำหนักแบบไม่ต้องออกกำลังกายมาฝากกัน

พร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย กับ 9 วิธีลดน้ำหนักให้ได้ผลจริง เห็นผลนาน และถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างยอมรับ เพียงแค่เริ่มปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างก็ทำได้ทันที

1. ใช้จาน ชาม และทัพพีขนาดเล็กลง

ขนาดของภาชนะที่ใช้ใส่และตักอาหารส่งผลให้เรากินมากขึ้นหรือน้อยลงได้ โดยมีงานวิจัยชี้ว่าผู้ที่ใช้จานและทัพพีตักอาหารขนาดใหญ่จะกินมากขึ้นกว่าปกติ และการใช้จานที่มีกรอบจานกว้างจะทำให้ความรู้สึกว่าอาหารมีปริมาณมากขึ้นกว่าจานที่มีกรอบแคบ การกินอาหารด้วยจานที่มีขนาดเล็กและมีกรอบจานกว้างจึงเป็นวิธีที่จะช่วยฝึกความเคยชินให้กินอาหารในปริมาณที่น้อยลงโดยไม่รู้สึกว่ากินน้อยกว่าปกติ และไม่รู้สึกหิวในภายหลังเท่าการกินอาหารน้อยลงในจานขนาดใหญ่ 

เคล็ดลับ: 

  • ใช้จานที่มีขนาดใหญ่ใส่อาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้
  • ใช้จานหรือถ้วยขนาดเล็กสำหรับอาหารอื่นๆ ที่ควรจำกัดปริมาณในการกิน เช่น อาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง ขนมขบเคี้ยว ของหวาน ของทอด และเบเกอรี่

2. เคี้ยวให้ละเอียด กินให้ช้าลง 

สมองของคนเราต้องใช้เวลาประมวลผลประมาณ 20 นาทีถึงจะรู้ว่าท้องอิ่มแล้ว การค่อยๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยให้กินช้าลงและรู้สึกอิ่มด้วยปริมาณอาหารและแคลอรี่ที่น้อยลงกว่าเดิม

เคล็ดลับ: ลองนับจำนวนครั้งการเคี้ยวอาหารแต่ละคำก่อนกลืนเพื่อฝึกให้ตัวเองเคี้ยวช้าจนเป็นนิสัย

3. เก็บอาหารที่เพิ่มน้ำหนักให้พ้นสายตา

การมองเห็นอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และแคลอรี่สูงตลอดเวลา กระตุ้นความอยากและง่ายต่อการหยิบกินเมื่อไรก็ได้ โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ที่เก็บของอ้วนไว้ในที่ที่มองเห็นง่าย เช่น บนโต๊ะทำงาน ห้องครัว หรือในตู้เย็นที่เปิดไปเจอพอดี มีแนวโน้มน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่มีผักผลไม้และอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าวางไว้ในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย

เคล็ดลับ: เก็บอาหารที่ควรกินแบบจำกัดปริมาณในที่ที่มองเห็นยาก เช่น ตู้ หรือชั้นวางที่มีประตูปิด และเก็บอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามโต๊ะทำงานหรือในตู้เย็น โดยวางไว้ให้เด่นชัดที่สุด

4. อิ่มเร็วขึ้นด้วยอาหารที่มีกากใยสูง

อาหารที่ช่วยให้อิ่มเร็วและอิ่มนานส่งผลให้รับประทานน้อยลง ทั้งยังช่วยในการขับถ่าย ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจึงควรเน้นกินผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ขนมปังแบบโฮลวีต และถั่วเมล็ดแห้งซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายรูปไต เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น

5. ดื่มน้ำเยอะช่วยให้กินน้อยลง

การดื่มน้ำเป็นอีกเคล็ดลับที่ช่วยในการลดน้ำหนัก โดยเฉพาะการดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร มีการศึกษาพบว่าผู้ที่ดื่มน้ำ 500 มิลลิลิตรก่อนรับประทานอาหารประมาณ 30 นาทีจะรู้สึกหิวน้อยลง และกินน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกงานหนึ่งที่ผู้ที่ดื่มน้ำก่อนมื้ออาหารและกินอาหารแคลอรี่ต่ำสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าผู้ที่กินอาหารแคลอรี่ต่ำอย่างเดียวแต่ไม่ได้เพิ่มการดื่มน้ำ ถึง 44% ในช่วง 3 เดือน

เคล็ดลับ: 

  • ลดแคลอรี่ด้วยการเลือกดื่มน้ำเปล่า ชาสมุนไพร นมจืด รวมถึงน้ำผลไม้และผักคั้นสดที่ไม่แยกกากใยและไม่เติมน้ำตาล 
  • เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

6. จดจ่อกับการกินให้มากขึ้น 

ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ ดูทีวี ดูซีรี่ส์ หรือเล่นเกมไปพร้อมๆ กับกินอาหาร เพราะจะทำให้เผลอกินในปริมาณมากเกินไปโดยไม่รู้ตัวได้ รู้อย่างนี้แล้วก็ต้องมีสติจดจ่อกับการกินมากขึ้น และถามตัวเองให้แน่ใจทุกครั้งว่ากินเพราะหิวจริงๆ ไม่ใช่แค่กินแก้เบื่อหรือกินแก้เครียด 

7. พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมความเครียด

คุณภาพการนอนหลับและความเครียดจากเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอในแต่ละวันเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความอยากอาหารและการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักอย่างมาก โดยความอ่อนเพลียจากการอดนอนจะทำให้เราเลือกกินของหวานและของอ้วนมากขึ้น ส่วนฮอร์โมนความเครียดจะทำให้อยากกินของทอดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดและความรู้สึกต่างๆ ทั้งยังกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันน้อยลงจนเกิดการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น ความเครียดและการอดนอนเรื้อรังยังเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน และเบาหวานชนิดที่ 2 อีกด้วย 

8. เพิ่มโปรตีนให้เพียงพอในแต่ละมื้อ

การเพิ่มอาหารประเภทโปรตีนในมื้อหลักและมื้อว่างช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้นและมีแนวโน้มกินน้อยลง เนื่องจากโปรตีนส่งผลต่อฮอร์โมนหลายชนิดที่มีบทบาทในการควบคุมความรู้สึกหิวและความรู้สึกอิ่ม โดยเราสามารถค่อยๆ เพิ่มอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ เนื้อไก่และเนื้อเป็ดไม่ติดหนัง ปลา ไข่ โยเกิร์ต ถั่วเมล็ดแห้ง และเพิ่มถั่วเปลือกแข็งในปริมาณเล็กน้อย เช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะการรับประทานโปรตีนมากเกินไปอาจกระทบต่อโรคได้

9. ไม่จำเป็นต้องงดอาหารที่ชอบตลอดไป

เราต่างรู้ดีว่าของทอด ของมัน ของหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงทั้งหลายนั้นมีแคลอรี่สูงและเป็นตัวการให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น แต่บางครั้งยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ การบอกตัวเองให้งดอาหารเหล่านี้ตลอดไปจะยิ่งเป็นการสะกดจิตตัวเองให้นึกถึงและรู้สึกอยากกินมากกว่าเดิม ดังนั้น ควรมี Cheat Day เป็นรางวัลให้ตัวเองได้กินตามใจบ้างเป็นครั้งคราว โดยที่ยังควบคุมแคลอรี่ที่ได้รับต่อวันให้เหมาะสมต่อไป

วิธีการลดน้ำหนักเหล่านี้คำนึงถึงปัจจัยทางด้านจิตวิทยาการกินและค่อนข้างมีการพิสูจน์ผลลัพธ์ในกลุ่มผู้ทดลองจริง แถมยังทำได้ง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา หากฝึกทำทุกวันจนเคยชินได้ เป้าหมายการลดน้ำหนักก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน

ลดน้ำหนักถูกวิธี แบบไม่ทรมานตัวเอง เห็นผลลัพธ์ยาวนาน กับ Weight Management Program ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลและแนะนำการปรับพฤติกรรมแบบเฉพาะตัวในทุกด้าน โดยการร่วมมือกันของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด และนักกำหนดอาหาร สอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าได้เลยที่ @primocare 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ท่ายืน-เดิน-นั่ง ท่ายกของที่ถูกต้อง หายปวดหลัง แค่ปรับท่าทาง

    /    บทความ    /    ท่ายืน-เดิน-นั่ง ท่ายกของที่ถูกต้อง หายปวดหลัง แค่ปรับท่าทาง

ท่ายืน-เดิน-นั่ง ท่ายกของที่ถูกต้อง หายปวดหลัง แค่ปรับท่าทาง

ท่ายืน-เดิน-นั่ง ท่ายกของที่ถูกต้อง
หายปวดหลัง แค่ปรับท่าทาง

สาวออฟฟิศวัยกลางคนกับท่าเดินที่ถูกต้อง ตัวตรง ปรับท่าเดิน ท่ายืน ท่านั่ง และท่ายกของที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี

รู้ไหมว่าท่าทางที่เราติดนิสัยทำเป็นประจำอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังที่ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่ายกของหนัก หรือแม้แต่ท่านั่งขับรถ ซึ่งท่าที่ถูกต้องนั้นใช่ว่าจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หากแต่ต้องฝึกและคอยบังคับร่างกายให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมจนเกิดเป็นความเคยชิน 

ท่าทางผิดๆ ที่แลกความรู้สึกสบายชั่วคราวด้วยอาการปวดหลังและออฟฟิศซินโดรม นานไปจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง ท่ายกของหนัก และท่าขับรถที่ถูกต้องควรทำแบบไหน มาหาคำตอบกับคุณหมอพรีโมแคร์กันในบทความนี้

ท่าทางที่ถูกต้องส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?

ท่าทางที่ถูกต้อง (Good Posture) คือการจัดตำแหน่งร่างกายในอิริยาบถต่างๆ ให้เกิดการตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นน้อยที่สุด รวมทั้งเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่อไปนี้

  • ป้องกันและบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ
  • ลดความตึงและเพิ่มความยืดหยุ่นของแนวกระดูกสันหลัง
  • เพิ่มความคล่องตัวของข้อต่อ รวมถึงคงกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง 
  • ลดความเหนื่อยล้าทางร่างกายจากการที่กล้ามเนื้อถูกใช้ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง
  • ชะลอการเสื่อมของผิวข้อต่อ ป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคข้ออักเสบ
  • เพิ่มการทรงตัว ลดอุบัติเหตุ การหกล้ม และอาการบาดเจ็บ

ท่ายืนที่ถูกต้อง

  • ยืนตัวตรง หลังตรง ไม่ห่อไหล่
  • ยืดตัวเก็บพุงขณะยืน ไม่แอ่นท้องและสะโพก
  • ขณะยืน ควรลงน้ำหนักส่วนใหญ่ไปที่ส้นเท้าทั้ง 2 ข้าง
  • เท้าทั้ง 2 ข้างแยกออกจากกันในระดับเดียวกับหัวไหล่
  • ปล่อยแขนข้างลำตัวตามธรรมชาติ

ท่ายืนที่ไม่ถูกต้อง บ่งบอกปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง?

  • ท่ายืนแอ่นสะโพกไปด้านหลัง อาจมีสาเหตุจากภาวะกระดูกเชิงกรานคว่ำไปข้างหน้า (Hyperlordosis) ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกายโดยฝึกเวทเทรนนิ่งเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณลำตัว สะโพก ต้นขา และกล้ามเนื้อส่วนสะโพกที่ทำหน้าที่งอสะโพกมาด้านหน้า
  • ท่ายืนหลังแบน ท่ายืนที่กระดูกเชิงกรานงอตัวไปด้านหน้าและหลังส่วนล่างอยู่ในท่าตรง แทนที่จะเป็นแนวโค้งตามที่ควร ส่งผลให้ลำตัวส่วนบนงอ ศีรษะและคอยื่นไปด้านหน้า คนที่ยืนท่านี้มักมีอาการปวดเมื่อยง่ายเมื่อยืนเป็นเวลานาน โดยสาเหตุอาจเกิดจากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากนิสัยนั่งนานก็ได้ วิธีแก้ไขทำได้ด้วยการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของสะโพก คอ และกล้ามเนื้อสะบัก
  • ท่ายืนทิ้งสะโพกพักขา เป็นท่าที่อาจช่วยคลายเมื่อยหลังจากยืนเป็นเวลานาน แต่ควรหลีกเลี่ยงการยืนท่านี้จนติดเป็นนิสัย เพราะจะทำให้เกิดการลงน้ำหนักที่หลังส่วนล่างและสะโพกเพียงข้างเดียว แทนที่จะใช้ลำตัวและสะโพกทั้ง 2 ข้างอย่างท่ายืนที่ถูกต้อง เมื่อนานไปอาจส่งผลให้ต่อความสมดุลของกล้ามเนื้อเชิงกราน และรู้สึกตึงกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกและหลังส่วนล่าง 

ท่าเดินที่ถูกต้อง

  • มองตรงไปข้างหน้า ศีรษะและลำตัวตรง ไม่เอนไปด้านหน้าหรือด้านหลัง
  • ไหล่ตรง อยู่ในท่าสบาย ไม่เกร็ง ไม่ห่อไหล่
  • ยืดตัวเก็บพุงให้เชิงกรานอยู่ในท่าธรรมชาติ 
  • ไม่แอ่นท้องไปด้านหน้าหรือแอ่นสะโพกไปด้านหลัง
  • เดินลงน้ำหนักจากส้นเท้าไปฝ่าเท้า ไม่ควรเริ่มด้วยการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้า
  • ก้าวเดินในระยะพอดี ไม่กว้างหรือสั้นเกินไป
  • เดินแกว่งแขนไปข้างหน้าและหลังโดยใช้หัวไหล่ ไม่ใช้ข้อศอก

ท่าเดินที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการตึงของข้อต่อในกระดูกสันหลัง เพิ่มแรงกดต่อข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลัง รวมทั้งส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ เช่น 

  • ท่าเดินที่แอ่นท้องหรือสะโพก อาจทำให้กล้ามเนื้อข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากเกินไป
  • ท่าเดินหลังค่อม ส่งผลให้ร่างกายส่วนหน้าอกยื่นไปข้างหน้าจนเกิดแรงตึงบริเวณท้องและกล้ามเนื้อลำตัว
  • ท่าเดินหลังแบน ทำให้กระดูกสันหลังส่วนบนและล่างไม่อยู่ในรูปโค้งเว้าตามที่ควรเป็น ทำให้เกิดอาการตึง รวมทั้งมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง สะโพก ก้น และต้นขาไม่แข็งแรง
  • ท่าเดินแอ่นเชิงกรานไปด้านหน้า จะทำให้กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างตึงและทำงานมากเกินไป

ท่านั่งที่ถูกต้อง

  • นั่งหลังตรง ไหล่ตรงอยู่ในท่าสบาย ไม่ห่อไหล่หรือยืดไหล่ 
  • สะโพกและหลังชิดพนักเก้าอี้ หากมีช่องว่างระหว่างหลังกับเก้าอี้ควรหาหมอนหรือเบาะมารองเพื่อให้หลังได้รับการรองรับอย่างเต็มที่
  • เท้าติดพื้น ไม่นั่งไขว่ห้าง หากเท้าลอยควรหาที่รองเท้ามาวาง
  • หากนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ แขนและข้อศอกควรชิดลำตัว ท้องแขนขนานกับโต๊ะและทำมุมรูปตัว L 
  • สะโพกและต้นขาควรขนานกับพื้น หรือให้เข่าต่ำกว่าสะโพกเล็กน้อย และเว้นช่องว่างระหว่างข้อพับขากับเบาะนั่งของเก้าอี้เล็กน้อย
  • หากต้องการเอนหลัง ควรนั่งให้เต็มก้นและเอนทั้งช่วงหลัง 
  • หมั่นเตือนตัวเองให้นั่งหลังตรงเมื่อเผลอนั่งหลังค่อม และอย่านั่งนาน ให้ขยับตัวหรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ่อยๆ

ท่านั่งก้มตัวขณะพิมพ์งานหรือใช้โทรศัพท์มือถืออาจบ่งบอกถึงกล้ามเนื้อหน้าอกที่ยึดตึงและหลังส่วนล่างที่ไม่แข็งแรง ซึ่งนอกจากจะเสียบุคลิกภาพแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปยังอาจทำให้ไหล่ห่อและหลังค่อม และมีอาการปวดตึงไหล่ สะบัก และหลังส่วนบนได้ ผู้ที่มีปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกายฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังส่วนบนและสะบัก รวมไปถึงการออกกำลังกายที่ได้ความแข็งแรงของหน้าอกและคอ 

อ่านเคล็ดลับปรับท่านั่งทำงานและวิธีเลือกอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมที่นี่

ท่ายกของหนักที่ถูกต้อง

  • ไม่ควร​พยายาม​ยกของที่มีน้ำหนัก​มากเกินไปคนเดียว​ 
  • ยืนทรงตัวให้มั่นคงก่อนเริ่มยกของที่มีน้ำหนักมาก
  • หากยกของที่วางอยู่ที่พื้นหรือต่ำกว่าเอว​ ท่าที่ถูกต้อง​คือการย่อตัวโดยงอเข่าและลดสะโพก​ โดยที่หลังยังเหยียด​ตรง คล้ายๆ กับท่าสควอท (Squat)
  • ขณะเริ่มยก​ ให้ยืนแยกเท้ากว้าง​ ทรงตัวให้มั่นคง​ และอยู่​ห่างจากของในระยะที่จะยกได้สะดวก​ ​จากนั้นให้เกร็งกล้ามเนื้อท้องและยกของขึ้นช้าๆ โดยใช้กล้ามเนื้อขารับน้ำหนัก​ ขยับเท้าก้าวไปข้างหน้าเล็กน้อย​ ก่อนจะค่อยๆ​ เคลื่อนตัว​ไป
  • หากยกของ​หนัก​จากโต๊ะ​ ให้เลื่อนไปที่ขอบโต๊ะ​และย่อเข่าลงเพื่อยกของขึ้นมาในท่าชิดลำตัว​ ลงน้ำหนัก​ไปที่ขาทั้ง​สองข้างแล้วยืดตัวขึ้นในท่ายืนตัวตรง
  • ควรหลีกเลี่ยง​การยกของหนักที่อยู่​ในระดับเหนือ​เอว
  • เมื่อต้องการวางของลงให้ทำซ้ำขั้นตอนยก​ โดยแยกเท้ากว้าง​ เกร็งกล้ามเนื้อ​ท้อง​ แล้วงอเข่าและสะโพกลง

ท่ายกของที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อบริเวณหลังส่วนล่างที่แม้จะเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยก็อาจรู้สึกปวดมาก รวมถึงอาการหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประทับที่จะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและต้องรับการรักษาโดยแพทย์กระดูก

ท่านั่งขับรถที่ถูกต้อง

  • ใช้เบาะหรือหมอนรองบริเวณ​ส่วนเว้าของกระดูก​สันหลัง​ส่วนล่าง
  • ปรับที่นั่งให้เข่าอยู่ในระดับเดียวกับสะโพกหรืออยู่เหนือสะโพกเล็กน้อย
  • ปรับระยะห่างระหว่างที่นั่งกับพวงมาลัยให้มีพื้นที่ให้งอเข่าได้​ เท้าแตะเบรคและคันเร่งได้สะดวก

ท่านั่งขับรถที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อขับรถนานๆ จะทำให้มีอาการปวดเมื่อยหลังและไหล่ ปวดเกร็งตามมือและเท้า ซึ่งยังอาจส่งผลต่อการยืนและการนั่งในกิจกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ การนั่งเอนหลังขณะขับรถยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากทำให้รู้สึกง่วงได้ง่ายอีกด้วย

การปรับท่าทางผิดๆ​ ที่ทำจนเคยชินแล้วในช่วงแรกอาจลำบากสักนิด​ กว่าจะปรับได้ก็ต้องใช้เวลาและต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ​ แต่เมื่อนานไปร่างกายก็จะเคยชินและทำท่าทางที่ถูกต้อง​โดยอัตโนมัติได้เอง

สำหรับคนที่มีปัญหา​ปวดหลังหรือปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ จากท่าทางที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้เป็นประจำ​ การปรับท่าทางจะช่วยคลายความตึงและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ​ เส้นเอ็น และข้อต่อ และส่งผลให้อาการปวดบรรเทาลงได้ 

อย่างไรก็ตาม หากต้องการเช็คว่ามีปัญหาสุขภาพใดที่เป็นสาเหตุของท่าทางที่ผิดปกติ หรือรักษาอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุด ควรปรึกษาแพทย์​และนักกายภาพบำบัดโดยตรง เพื่อค้นหาต้นตอและรับคำแนะนำการรักษาเฉพาะบุคคล รวมทั้งจะมีการสอนท่าออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงเพื่อเป็นเส้นทางไปสู่การมีท่าทางที่ถูกหลักสุขภาพ​

พรีโมแคร์ ดูแลทุกเรื่องสุขภาพ สนใจคลิกดูบริการที่นี่ หรือปรึกษาทีมแพทย์โดยตรงที่ LINE @primoCare

เปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-18.00 น.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Self-Compassion: วิธีการรักตัวเอง เริ่มต้นที่รู้จักให้อภัยตัวเอง

    /    บทความ    /    Self-Compassion: วิธีการรักตัวเอง เริ่มต้นที่รู้จักให้อภัยตัวเอง

Self-Compassion เมื่อวิธีรักตัวเองที่ดีที่สุดคือการให้อภัยตัวเอง

Self-Compassion
เมื่อวิธีรักตัวเองที่ดีที่สุดคือการให้อภัยตัวเอง

เพิ่มความสุขให้ชีวิตด้วย Self-compassion ผู้หญิงกำลังกอดตัวเองด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม หลับตารับความรู้สึกดีๆ จากการรักตัวเอง

แทนที่จะตัดสินและเอาแต่ตำหนิตัวเองว่ายังดีไม่พอ Self-Compassion จะบอกให้เราให้อภัยและใจดีตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับความล้มเหลว ด้วยพื้นฐานความเข้าใจที่ว่า ‘ไม่มีใครบนโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง’

คำว่า Compassion หมายถึงความเห็นใจ และการเศร้าไปกับความทุกข์ของผู้อื่น ‘Self-Compassion’ ก็คือสิ่งเดียวกัน แต่เป็นการนำความรู้สึกดังกล่าวมาใช้กับตัวเอง ใจดีกับตัวเอง ให้อภัยตัวเองเมื่อเกิดข้อผิดพลาด และเข้าใจว่าความเจ็บปวด ความล้มเหลว และความไม่สมบูรณ์แบบคือเรื่องธรรมดาของมนุษย์ทุกคน เหมือนที่หลายครั้งเรามักใจดีและให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายๆ โดยยิ่งเปิดใจรับความจริงข้อนี้ได้มากเท่าไร เราก็จะยิ่งเข้าใจและรู้จักตัวเอง และทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

Self-Compassion มีความสำคัญอย่างไร?

บางครั้งค่านิยมหรือวัฒนธรรมในสังคมก็ทำให้หลายคนคิดว่าการต่อว่าหรือกล่าวโทษคือแรงผลักดันที่ดี ไม่ใช่แค่การกล่าวโทษตัวเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิบัติต่อลูกหลาน หรือบางครั้งก็เป็นคุณครูที่ปฏิบัติต่อนักเรียนนักศึกษา หารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นใจในตัวเอง ส่งผลให้หลายคนกลัวความล้มเหลวและเกิดแรงกดดันต่อตัวเองมากเกินไปได้ 

ในทางกลับกัน การมี Self-Compassion รู้จักให้อภัยตนเอง มีความยืดหยุ่นกับตัวเอง มีช่องว่างให้กับความล้มเหลว คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยกำจัดความรู้สึกที่ว่าเรายังดีไม่พอ และช่วยดึงประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในตัวเองออกมาเพื่อไปถึงเป้าหมายได้อย่างดีที่สุด นอกจากนี้มีงานวิจัยชี้ว่าการเรียนรู้ในการยอมรับความผิดพลาดอย่างเมตตาต่อตัวเองยังส่งผลให้บุคคลนั้นมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองมากกว่า ทั้งยังมีความใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้นอีกด้วย

เริ่มรักตัวเอง กับ 3 องค์ประกอบของการมี Self-Compassion 

คริสติน เนฟฟ์ (Kristin Neff) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาและผู้บุกเบิกด้านการรักตัวเองด้วย Self-Compassion กำหนด 3 องค์ประกอบของทฤษฎี Self-Compassion ไว้ดังนี้

  1. ใจดีกับตัวเอง และรู้จักให้อภัยตัวเอง มีจุดเริ่มต้นจากการเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบ ความผิดพลาด และเรื่องยากๆ ในชีวิตล้วนเกิดขึ้นได้เสมอ และไม่มีใครสามารถได้มาซึ่งทุกอย่างตามที่ต้องการ หากเข้าใจและยอมรับความจริงข้อนี้ได้ ความรู้สึกโกรธหรือโทษตัวเองเมื่อบางอย่างไม่เป็นไปตามที่หวัง ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ ใส่ใจความรู้สึก และใจเย็นกับตัวเองมากขึ้น
  2. จุดร่วมของทุกคนคือความไม่สมบูรณ์แบบ มนุษย์ทุกคนมีขีดจำกัดในตัวเอง ทุกคนต่างมีประสบการณ์ที่ผ่านความเจ็บปวด ความผิดหวังและเสียใจ การเข้าใจความเป็นจริงข้อนี้ช่วยลบความคิดที่ว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่เจอปัญหาหรือก่อแต่ความผิดพลาดได้
  3. จดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ไม่จมจ่อม Self-Compassion คือการจัดการกับอารมณ์ด้านลบอย่างสมดุล โดยใช้การสำรวจความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามจริง ไม่พยายามสะกดกลั้นหรือปฏิเสธว่ากำลังรู้สึกแบบไหน ไม่เพิกเฉยต่อความเจ็บปวดของตัวเอง และขณะเดียวกันก็พยายามไม่จับสังเกตอารมณ์หรือจมกับความคิดของตัวเองมากเกินเหตุจนดึงตัวเองออกมาไม่ได้

วิธีการรักตัวเองและให้อภัยตัวเองด้วย Self-Compassion

คริสติน เนฟฟ์ ได้จัดทำคู่มือแบบฝึกหัดเพื่อสร้าง Self-Compassion ในวิธีต่างๆ ที่ทุกคนสามารถทำตามได้ ดังต่อไปนี้

แบบฝึกหัดที่ 1 สมมติว่าตัวเราเองเป็นเพื่อนเรา เราจะปฏิบัติอย่างไร

  • ให้นึกถึงช่วงเวลาที่เพื่อนสนิทของเรารู้สึกแย่กับตัวเองมากๆ ตอนนั้นเราปฏิบัติกับเพื่อนอย่างไร และพูดกับเพื่อนว่าอะไร ด้วยน้ำเสียงแบบไหน
  • คราวนี้ลองนึกถึงเวลาที่เรารู้สึกแย่หรือผิดหวังในตัวเองบ้างว่าเราปฏิบัติกับตัวเองแบบไหน เหมือนที่ทำกับเพื่อนหรือไม่
  • ถ้าสิ่งที่เราทำหรือบอกกับตัวเองต่างจากที่เคยบอกกับเพื่อน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ลองลิสต์ว่าอะไรคือสาเหตุ และจะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เราปฏิบัติกับตัวเองแบบเดียวกับที่ปฏิบัติต่อเพื่อน

แบบฝึกหัดที่ 2 คิดถึงสถานการณ์ที่ยากและเครียด แล้วบอกตัวเองว่านี่คือส่วนหนึ่งของชีวิต

  • จินตนาการว่าเรากำลังเผชิญเรื่องราวที่หนักหน่วง เต็มไปด้วยความเครียด และลองใช้เทคนิคการทำสมาธิแบบจดจ่อ สังเกตุความรู้สึกเครียดหรืออารมณ์ลบที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและความรู้สึกอย่างพินิจพิจารณา 
  • บอกกับตัวเองตามที่รู้สึก ‘นี่คือความเครียด ความเจ็บปวด รู้สึกเจ็บ เหนื่อย กดดัน’ ตามด้วยการบอกว่า ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ ‘ทุกคนก็รู้สึกแบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่เราคนเดียว ชีวิตของทุกคนล้วนมีเรื่องที่ต้องดิ้นรนหรือต่อสู้’
  • ใช้มือกุมที่หน้าอกเหนือหัวใจ ให้รู้สึกถึงความอบอุ่นและสัมผัสที่อ่อนโยนจากมือ หรือใช้สัมผัสอื่นๆ ที่ทำแล้วรู้สึกดี เช่น ใช้มือกุมแก้ม ลูบแขนตัวเองเบาๆ หรือกอดตัวเอง แล้วกล่าวคำที่คิดว่าจะทำให้เราใจดีกับตัวเองมากขึ้น เช่น ‘ฉันจะอ่อนโยนกับตัวเอง’, ‘ฉันจะให้อภัยตัวเอง’, ‘ฉันจะเข้มแข็ง’, ‘ฉันจะเรียนรู้เพื่อยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น’

แบบฝึกหัดที่ 3 ทำความเข้าใจตัวเองและเรียนรู้การใจดีกับตัวเองผ่านการเขียน

สำรวจตัวเองว่าไม่ชอบตัวเองด้านไหน ทำไมถึงรู้สึกไม่ดีกับตัวเองหรือไม่มั่นใจในตัวเอง ทำไมรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านตัวอักษร

  • ส่วนแรก – เขียนถึงสิ่งที่ไม่ชอบเกี่ยวกับตัวเอง อะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือไม่มั่นใจในตัวเอง ทำไมเราถึงรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ
  • ส่วนที่สอง – เขียนถึงตัวเองจากมุมมองของเพื่อนในจินตนาการที่เข้าใจ เห็นใจ และรักเราโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นเพื่อนที่ยอมรับทุกอย่างในแบบที่เราเป็น โดยลองนึกว่าเพื่อนคนนี้คือคนที่เห็นทั้งด้านที่เข้มแข็งและอ่อนแอของเรา รวมถึงด้านที่เราเขียนไปในส่วนแรก แต่เขาจะเขียนอย่างไรเพื่อเตือนเราว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ และจะแนะนำให้เปลี่ยนมารักตัวเองให้มากขึ้นอย่างไร
  • หลังจากเขียนจบแล้วให้พักช่วงสักระยะ แล้วกลับมาอ่านสิ่งที่เขียนไว้อีกครั้งเพื่อให้ความเข้าใจและเห็นใจตัวเองในจดหมายเข้ามาซึมซับและปลอบโยนจิตใจ จนเกิดความรู้สึกว่าเราคู่ควรกับความรักและการยอมรับจากตัวเอง

แบบฝึกหัดที่ 4 พูดคุยกับตัวเอง หากไม่ถนัดเขียน

  • คอยสังเกตเมื่อเริ่มตำหนิหรือโทษตัวเอง โดยทุกครั้งที่เริ่มรู้สึกแย่ ให้สำรวจว่าเราคิดหรือพูดกับตัวเองว่าอะไรบ้างและมีน้ำเสียงแบบไหน เช่น โกรธ เย็นชา หรือใช้คำรุนแรง
  • เมื่อรู้ตัวว่าเราพูดกับตัวเองอย่างไรแล้ว ให้พยายามลดความรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองในครั้งต่อไป และปรับให้เป็นไปในเชิงให้อภัยตัวเอง ไม่ใช่การโทษตัวเอง
  • คิดทบทวนการวิจารณ์ตัวเองที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างอ่อนโยนและเป็นในเชิงบวก หากนึกไม่ออกว่าควรพูดกับตัวเองว่าอะไร ให้จินตนาการว่าหากเป็นเพื่อนที่เข้าใจและเห็นใจเรามากที่สุด เขาจะพูดปลอบใจเราอย่างไรบ้าง

Self-Compassion ที่แท้จริงไม่ควรโฟกัสที่การพยายามรักตัวเองเพราะอยากให้ความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นหายไป แต่ควรเป็นการรักตัวเองที่เกิดจากความเข้าใจว่าเราคือมนุษย์คนหนึ่ง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่มีชีวิตของใครราบรื่นไปทุกอย่าง โดยให้ลองถามตัวเองง่ายๆ ว่า “ตอนนี้เราต้องการอะไร?” เพื่อเป็นการดึงตัวเองกลับมาสู่ Self-compassion ในช่วงสั้นๆ และอนุญาตให้ตัวเองได้คิดหรือทำอย่างที่ต้องการ แม้ขณะนั้นเราจะตอบตัวเองไม่ได้ว่าต้องการอะไรหรือไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการก็ตาม

บางครั้งชีวิตก็ยากเหมือนต้องการท้าทายว่าเราจะยังใจดีกับตัวเองได้ไหม พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมดูแลเคียงข้างเสมอ ลองมาคุยกับนักจิตวิทยาเพื่อหาทางออก และเรียนรู้เทคนิค Self-Compassion ที่เหมาะกับตัวเองที่สุด 

สามารถนัดหมายผ่าน LINE @primocare หรือโทร 02-038-5595, 082-527-9924 

เปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-18.00 น.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

รู้จัก คอเลสเตอรอล: LDL, HDL, ไตรกลีเซอไรด์ ต่างกันอย่างไร?

    /    บทความ    /    รู้จัก คอเลสเตอรอล: LDL, HDL, ไตรกลีเซอไรด์ ต่างกันอย่างไร?

คอเลสเตอรอล ไม่ได้มีแต่โทษ: LDL, HDL, ไตรกลีเซอไรด์ ต่างกันอย่างไร?

คอเลสเตอรอล ไม่ได้มีแต่โทษ
LDL, HDL, ไตรกลีเซอไรด์ ต่างกันอย่างไร?

“คอเลสเตอรอล” ที่เราเคยรู้จักหรือเคยได้ยินอาจมีหลายชื่อหลายชนิด สร้างความสับสนให้ใครหลายคน บทความนี้คุณหมอพรีโมแคร์ชวนมาทำความรู้จักคอเลสเตอรอลว่าคืออะไรกันแน่ พร้อมตอบทุกคำถามที่ค้างคาใจ

  • คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และชนิดไม่ดี (LDL) คืออะไร เกิดจากอะไร?
  • ไตรกลีเซอไรด์ กับ คอเลสเตอรอล ต่างกันอย่างไร?
  • ทำไมระดับไขมันในเลือดที่สูงถึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 
  • วิธีอ่านค่าคอเลสเตอรอลในเลือดที่ถูกต้อง และวิธีลดไขมันในเลือดง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้

คอเลสเตอรอล คืออะไร?

คอเลสเตอรอลเป็นสารประเภทไขมันชนิดหนึ่งที่มีลักษณะกึ่งของแข็งกึ่งของเหลวคล้ายขี้ผึ้ง ที่จริงแล้วคอเลสเตอรอลเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกายในการสร้างเซลล์ รวมถึงการผลิตวิตามิน ฮอร์โมน และสารต่างๆ ออกมาใช้ แต่เมื่อมีมากเกินไป คอเลสเตอรอลก็อาจกลายมาเป็นตัวการที่ทำร้ายสุขภาพของเราได้

คอเลสเตอรอลเกิดจากอะไร?

โดยปกติร่างกายสามารถสร้างคอเลสเตอรอลที่ต้องการใช้ได้เองจากตับ ส่วนคอเลสเตอรอลที่เหลือนั้นมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวัน โดยจะพบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้น เช่น นม ไข่ และเครื่องในสัตว์ อาหารเหล่านี้ยังมีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตับยิ่งผลิตคอเลสเตอรอลออกมามากเกินความจำเป็น จนทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงตามมา

คอเลสเตอรอลส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?

ระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นโรคเรื้อรังอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายในแต่ละปี เนื่องจากคอเลสเตอรอลจะไปจับตัวกับสารอื่นๆ จนมีขนาดใหญ่และเกาะตามหลอดเลือดแดงที่นำเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายและสมอง ทำให้หลอดเลือดตีบแคบและแข็งตัวขึ้น เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองในที่สุด

คอเลสเตอรอล ไม่ได้มีแต่โทษเสมอไป

คอเลสเตอรอลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL Cholesterol) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) โดยทั้งคู่ต่างเกิดจากการรวมตัวกันของคอเลสเตอรอลกับโปรตีน กลายเป็นสารที่ชื่อว่า “ไลโพโปรตีน” เพื่อให้ไขมันหรือคอเลสเตอรอลสามารถเคลื่อนตัวไปในหลอดเลือดได้

  • HDL (High-density Lipoprotein) คือคอเลสเตอรอลชนิดดีที่มีประโยชน์ เพราะจะช่วยพาคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จากส่วนต่างๆ ในร่างกายกลับไปที่ตับเพื่อขจัดออกจากร่างกาย ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลง นอกจากนี้ยังมีส่วนในการยับยั้งการเกิดออกซิเดชัน และการแข็งตัวของเลือด ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • LDL (Low-density Lipoprotein) คือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เป็นคอเลสเตอรอลที่ก่อให้เกิดการการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา

ทั้งนี้ HDL ไม่สามารถช่วยกำจัด LDL ได้ทั้งหมด แต่จะช่วยกำจัดได้เพียง 1/3 หรือ 1/4 ส่วน เท่านั้น

ไตรกลีเซอไรด์ กับ คอเลสเตอรอล ต่างกันอย่างไร?

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันอีกรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในเลือด เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายได้รับน้ำตาลและแคลอรี่จากการรับประทานอาหารมากเกินกว่าที่ต้องใช้ จึงถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นไตรกลีเซอไรด์ที่อยู่ตามเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไตรกลีเซอไรด์มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย แต่การมีระดับไขมันชนิดนี้สูงเกินไปก็เป็นปัจจัยให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นเดียวกัน การรับประทานอาหารในปริมาณแต่พอดีจะช่วยควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ไม่ให้สูงเกินไปได้

ค่า HDL, LDL, ไตรกลีเซอไรด์ ไม่ควรเกินเท่าไร?

การตรวจระดับคอเลสเตอรอล หรือค่า HDL, LDL และไตรกลีเซอไรด์ทำได้โดยการตรวจเลือด โดยจะมีหน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) 

  • ผู้ชายควรเริ่มตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 35 ปี แต่หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี
  • ผู้หญิงควรเริ่มตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี

ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่ถือว่าปกติและดีต่อสุขภาพ แบ่งได้ดังนี้

ประเภทคอเลสเตอรอล

ระดับคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม

คอเลสเตอรอลทั้งหมด (Total Cholesterol)

น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

LDL

– ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง ควรควบคุม LDL ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

– ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดปานกลาง ควรควบคุม LDL ให้น้อยกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

– ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำ ควรควบคุม LDL ให้น้อยกว่า 160 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

HDL

ผู้ชายมากกว่า 45 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

น้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

วิธีลดและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือด

ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงที่ปกติในช่วงก่อนวัยหมดประจำเดือนจะมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อภาวะคอเลสเตอรอลสูงยังสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลและเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ โดยมีวิธีเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • จำกัดปริมาณอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น 
    • เนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ รวมถึงหนังสัตว์ น้ำมันหมู เครื่องในต่างๆ 
    • ไขมันจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ เป็นต้น 
    • เนย ชีส ไอศกรีม คุกกี้ 
    • อาหารฟาสต์ฟู้ดและเนื้อแปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม
  • เพิ่มการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยไขมันดีซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดไขมันในเลือด เน้นผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนจากแหล่งที่หลากหลาย โดยเฉพาะปลาและถั่วต่างๆ 
  • ใช้น้ำมันจากพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์พิเศษ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงา เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ DASH Diet และอาหารเมดิเตอร์เรเนียน รูปแบบการกินแบบสุขภาพดี ลดไขมันในเลือด)
  • ควบคุมหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) คอเลสเตอรอลโดยรวม และระดับไตรกลีเซอไรด์ได้
  • เพิ่มการออกกำลังกาย วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน การออกกำลังกายเป็นประจำไม่เพียงแต่ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก แต่ยังลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และมีส่วนช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้ด้วย
  • เลิกสูบบุหรี่ สาเหตุที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ที่มีหน้าที่กำจัดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลดลง
  • หมั่นตรวจเช็คระดับคอเลสเตอรอลเป็นประจำทุกๆ 5 ปี

สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่ามีไขมันในเลือดสูง เบื้องต้นมักแนะนำให้เริ่มจากการควบคุมตามปัจจัยต่างๆ ข้างต้น แต่ในบางคนที่การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์สุขภาพอาจไม่เพียงพอให้ลดระดับคอเลสเตอรอลลงได้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดคอเลสเตอรอลให้รับประทานเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น และเพื่อการควบคุมที่เห็นผลและความต่อเนื่องของการดูแลรักษา อย่าลืมเข้ารับการตรวจระดับคอเลสเตอรอลเป็นระยะและติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ให้คุณหมอพรีโมแคร์เป็นหมอประจำตัวช่วยดูแลทุกเรื่องสุขภาพอย่างต่อเนื่อง คลิกเพื่อสอบถามข้อมูล หรือดูรายละเอียดบริการของเราเพิ่มเติมได้เลยที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

4 ประเภทของการออกกำลังกายที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าดีที่สุด

    /    บทความ    /    4 ประเภทของการออกกำลังกายที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าดีที่สุด

4 ประเภทของการออกกำลังกาย
ตอบโจทย์สุขภาพดีแบบครบเครื่อง

4 ประเภทของการออกกำลังกาย
ตอบโจทย์สุขภาพดีแบบครบเครื่อง

ออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์เต็มร้อยด้วยการผสม 4 ประเภทของการออกกำลังกาย ผู้ชายวิ่งในชุดออกกำลังกายสลับกระโดด มีแสงกระทบจากดวงอาทิตย์

คนส่วนใหญ่มักเลือกประเภทของการออกกำลังกายเพียงหนึ่งหรือสองอย่างตามเป้าหมายสุขภาพและความชอบที่ต่างกันไป แต่รู้หรือไม่ว่าตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัด เราควรออกกำลังกายสลับกันไปให้ครบทุกรูปแบบ เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์ครบทุกส่วนและตอบโจทย์ทุกฟังก์ชันการทำงาน 

การออกกำลังกายที่ควรทำเป็นประจำ แบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก คือ 

  • การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise) หรือการฝึกความทนทาน (Endurance Exercise)
  • การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Strength Training)
  • การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching)
  • การฝึกการทรงตัว (Balance exercise)

การออกกำลังกายแบบแอโรบิก 

มีอีกชื่อหนึ่งว่าการฝึกความทนทานของกล้ามเนื้อ เป็นการออกกำลังกายที่ทำให้ปอดและหัวใจแข็งแรง เพิ่มการสูบฉีดของเลือด อัตราการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ช่วยให้เราทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินระยะไกล หรือการเดินขึ้นบันได โดยไม่รู้สึกเหนื่อยง่าย 

การออกกำลังกายแบบแอโรบิกช่วยให้ผนังหลอดเลือดคลายตัว ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดการอักเสบ เผาผลาญไขมัน และเพิ่มระดับคอเลสเรสเตอรอลชนิดดีในเลือด นอกจากนี้ยังช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น และในระยะยาวมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม รวมถึงภาวะซึมเศร้า 

ตัวอย่างการออกกำลังกายที่จัดอยู่ในประเภทแอโรบิก ได้แก่

  • เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ หรือเดินย่ำอยู่กับที่
  • ว่ายน้ำ
  • เต้น
  • ปั่นจักรยาน
  • เดินขึ้นบันไดหรือขึ้นเนิน
  • ดายหญ้า กวาดใบไม้
  • เล่นเทนนิส บาสเก็ตบอล

เคล็ดลับการออกกำลังกายแบบแอโรบิก

  • เคลื่อนไหวเบาๆ หรือเดินไปมาก่อนและหลังออกกำลังกาย เพื่อวอร์มอัพและคูลดาวน์ร่างกาย
  • หากรู้สึกวิงเวียน แน่นหน้าอก หรือรู้สึกเหมือนกรดไหลย้อน ควรหยุดพักทันที
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อชดเชยการเสียเหงื่อ 
  • หากออกกำลังกายข้างนอก ควรคอยสังเกตสภาพแวดล้อมว่าปลอดภัยหรือไม่ 
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เช่น ใส่หมวกกันน็อคขณะปั่นจักรยานตลอดเวลา 
  • หากต้องการทราบว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ทำอยู่เป็นระดับหนักปานกลางหรือหนักมาก ให้ลองพูดขณะออกกำลัง หากรู้สึกเหนื่อยแต่ยังพูดสนทนาเป็นประโยคได้อยู่ แสดงว่าหนักปานกลาง หากพูดได้ไม่กี่คำแล้วต้องหยุดหายใจ แสดงว่าเป็นการออกกำลังกายแบบหนัก

การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

มวลกล้ามเนื้อในร่างกายของเราจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น การฝึกความแข็งแรง (Strength Training) เป็นวิธีที่จะช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้กลับคืนมา ทำให้รู้สึกแข็งแรง สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องตัว ทั้งการถือของ การยกของหนัก และการทำสวน รวมไปถึงการลุกขึ้นยืนจากพื้นหรือเก้าอี้อย่างมั่นคง

นอกจากนี้ การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก เพิ่มการทรงตัวและปรับท่าทางของร่างกาย ป้องกันการบาดเจ็บจากหกล้ม ทั้งยังลดความตึงและอาการเจ็บปวดบริเวณหลังและข้อต่อต่างๆ ได้

การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงมักอาศัยน้ำหนักจากอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดแรงต้าน เช่น ดัมเบลล์ บาร์เบล ยางยืด หรือจะใช้น้ำหนักตัวของเราเองออกกำลังโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ก็ได้ เช่น การแพลงก์ และการสควอซ

ตัวอย่างการออกกำลังกายประเภทฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ได้แก่

  • ถือของ ยกของ
  • ยกน้ำหนัก ยกเวท ยกดัมเบลล์
  • วิดพื้น วิดพื้นกับผนัง
  • ท่าออกกำลังกายโดยใช้ยางยืดเพิ่มแรงต้านทาน

เคล็ดลับการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

  • หลายคนมักเผลอกลั้นหายใจขณะออกแรงต้านหรือยกน้ำหนัก วิธีที่ถูกต้องในการเวทเทรนนิ่งคือพยายามกลับมาหายใจเข้าออกให้เป็นปกติ
  • หายใจออกขณะออกแรงต้าน (ยกเวท หรือยกดัมเบลล์) และหายใจเข้าเมื่อคลายกล้ามเนื้อกลับท่าเดิม
  • การออกกำลังโดยใช้ยางยืดหรือดัมเบลล์ ควรเริ่มจากใช้แรงต้านน้อยหรือน้ำหนักน้อย ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มระดับเมื่อคุ้นชินแล้ว
  • หากไม่แน่ใจในวิธีการฝึกกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง หรือมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลกระทบ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

รูปแบบของการออกกำลังกายที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกกำลังกายอื่นๆ เพราะจะช่วยคงความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดขึ้นในวัยผู้ใหญ่เมื่อร่างกายมีความยืดหยุ่นน้อยลงและยืดเหยียดได้ไม่เต็มที่ ความยืดหยุ่นที่ลดลงนี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการตะคริว อาการปวดหรือบาดเจ็บตามกล้ามเนื้อ ข้อต่อ มีอาการข้อฝืด ข้อยึดตามมาบ่อยๆ ทั้งยังเป็นอุปสรรคในการทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน เช่น การก้มตัวหยิบของหรือผูกเชือกรองเท้า การหันคอไปด้านหลังเพื่อถอยรถ เป็นต้น

ตัวอย่างการออกกำลังกายประเภทยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ได้แก่ ท่าบริหารหรือท่ายืดคลายกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ เช่น หลัง ต้นขา คอ ไหล่ ข้อมือ 

เคล็ดลับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

  • ก่อนยืดกล้ามเนื้อทุกครั้ง ให้วอร์มอัพร่างกายโดยการวิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว หรือกระโดดตบ 
  • ควรยืดกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือการฝึกกล้ามเนื้อ
  • หากยืดกล้ามเนื้อแล้วรู้สึกเจ็บควรหยุดทันที ไม่เช่นนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อตึง และส่งผลเสียมากกว่า
  • เตือนตัวเองให้หายใจเข้าออกตามปกติขณะออกแรงยืดกล้ามเนื้อ 
  • หากไม่มั่นใจในท่ายืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง หรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อน

การฝึกการทรงตัว

การออกกำลังกายแบบฝึกการทรงตัวช่วยในการยืนและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมั่นคง ป้องกันการหกล้มง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยสูงอายุที่ระบบอวัยวะที่ช่วยในการทรงตัวอย่างสายตา หูชั้นใน กล้ามเนื้อขา และข้อต่อต่างๆ เริ่มเสื่อมตัวลงไป 

การฝึกการทรงตัวไม่มีจำกัดอายุและสามารถเริ่มฝึกได้แม้จะไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาด้านการทรงตัว นอกจากนี้ หากมีความเสี่ยงต่อการหกล้มหรือมีความกังวลก็สามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อรับการประเมินทักษะการทรงตัว และรับคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายโดยเน้นจุดที่อ่อนแอของร่างกายเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

ตัวอย่างการออกกำลังกายประเภทการฝึกการทรงตัว ได้แก่

  • การยืนขาเดียวหรือเดินเขย่งเท้า โดยอาจหลับตาไปด้วย
  • การทำไทชิ ซึ่งเป็นการทำสมาธิพร้อมๆ กับเคลื่อนไหวร่างกายไปช้าๆ และฝึกการหายใจเข้าออกลึกๆ
  • การเดินทรงตัว การฝึกเดินเท้าเปล่าบนพื้นผิวที่ไม่เรีบย
  • การฝึกลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้ในตำแหน่งเดิม

เคล็ดลับการฝึกการทรงตัว

  • หากทรงตัวได้ไม่ดี ควรมีคนคอยช่วยพยุงป้องกันการหกล้ม
  • หากเป็นการฝึกลุกยืนกับเก้าอี้ ควรเลือกเก้าอี้ที่มั่นคง
  • ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดหากไม่แน่ใจในวิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง

การออกกำลังกายให้ครบทั้ง 4 ประเภทนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของสุขภาพในทุกด้านและลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเพิ่มการออกกำลังกายเป็น 4 เท่า หรือใช้เวลานานขึ้น เพียงแค่เพิ่มการออกกำลังกายอื่นๆ เข้ามาเสริม ในขณะที่ยังเน้นการออกกำลังกายที่ชื่นชอบเป็นหลักต่อไป 

ออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะกับตัวเองและได้ประโยชน์เต็มที่กับทีมแพทย์และนักกายภาพบำบัดพีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก แอดไลน์ @primocare เพื่อสอบถามและนัดหมายล่วงหน้า หรือดูบริการอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน: รูปแบบการกินต้านโรคหัวใจและโรคเรื้อรัง

    /    บทความ    /    อาหารเมดิเตอร์เรเนียน: รูปแบบการกินต้านโรคหัวใจและโรคเรื้อรัง

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน รูปแบบการกินต้านโรคหัวใจและโรคเรื้อรัง

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน
รูปแบบการกินต้านโรคหัวใจและโรคเรื้อรัง

รายการอาหารเมดิเตอร์เรเนียนจัดวางอย่างสวยงาม แซลมอน กุ้ง มะกอก น้ำมันมะกอก อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผักหลากสี และเครื่องเทศ

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Diet) คือรูปแบบการกินอาหารของคนในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากกว่า 16 ประเทศ เช่น กรีซ ฝรั่งเศส สเปน และตอนใต้ของอิตาลี ซึ่งแม้ว่าอาหารในแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะเฉพาะตัวต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันและเป็นที่มาของรูปแบบการกินเพื่อสุขภาพนี้ก็คือการกินโดยเน้นผักผลไม้ ธัญพืช ถั่ว น้ำมันมะกอก และเลือกกินโปรตีนจากปลาและเนื้อสัตว์ไม่ติดมันในปริมาณที่น้อยลง

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน มีอะไรบ้าง?

  • เน้นอาหารจากพืช เช่น ผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี มันฝรั่ง ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง และปรุงอาหารโดยผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด
  • รับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา สัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • ลดไขมันอิ่มตัวจากเนื้อแดงและอาหารแปรรูปให้น้อย
  • ใช้ไขมันดีจากน้ำมันมะกอกในการทำอาหาร
  • เน้นรับประทานผลไม้เป็นของว่างแทนของหวาน
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณแต่พอดี

ตัวอย่างรายการอาหารเมดิเตอร์เรเนียนในมื้อประจำวัน

วันที่ 1 

เช้า: กรีกโยเกิร์ตโรยเมล็ดเจีย กับสตอร์วเบอร์รี

กลางวัน: แซนวิชโฮลวีตหรือแซนวิชธัญพืช ใส่ผักสดและชีส

เย็น: ทูน่าสลัดผักใส่น้ำมันมะกอก หรือสลัดผลไม้

วันที่ 2

เช้า: ไข่เจียวใส่เห็ด มะเขือเทศ หัวหอม หรือผักอื่นๆ ที่หลากหลาย

กลางวัน: สลัดควินัวโรยด้วยถั่วหัวช้าง

เย็น: แซลมอนย่าง พร้อมข้าวกล้องและผักเคียง

วันที่ 3

เช้า: โยเกิร์ตใส่ผลไม้หั่นชิ้น หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่างๆ โรยด้วยถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พิตาชิโอ

กลางวัน: สลัดผักร็อกเก็ต กับขนมปังกระเทียมกุ้ง

เย็น: ไก่ย่าง เสิร์ฟพร้อมผัก มันเทศทอด และผลไม้สด

ประโยชน์ของอาหารเมดิเตอร์เรเนียน

นักวิจัยเริ่มศึกษาถึงประโยชน์ของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนหลังพบว่าผู้คนในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีอัตราการเป็นโรคหัวใจและโรคเรื้อรังต่างๆ น้อยกว่าคนในประเทศอื่น ทั้งยังมีอายุขัยยืนยาวกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป 

โดยผลการศึกษามากมายชี้ว่าการกินอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนของคนแถบนี้มีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง รวมทั้งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยังช่วยลดโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง เนื่องจากคุณค่าสารอาหารที่หลากหลายและการจำกัดอาหารแปรรูป ตลอดจนอาหารที่มีน้ำตาลและแคลอรี่สูงนั่นเอง

อาหารเมดิเตอร์เรเนียนยังเป็นข้อพิสูจน์ที่ลบความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยงโรคหัวใจนั้นควรรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำเท่านั้น หลังค้นพบว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าการจำกัดไขมันก็คือประเภทของไขมันที่เลือกกิน โดยการศึกษาชี้ว่าอาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่เพิ่มไขมันดีอย่างไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก และถั่วเปลือกแข็ง สามารถช่วยลดอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้

ปรับเมนูประจำวันเป็นเมนูอาหารเมดิเตอร์เรเนียนง่ายๆ

อาหารเมดิเตอร์เรเนียนเป็นรูปแบบการกินที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับได้ตามความชอบ ทั้งยังทำตามได้ไม่ยากเพราะเป็นลักษณะอาหารสุขภาพดีที่แนะนำให้รับประทานกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว เบื้องต้นเราสามารถลองปรับเมนูประจำวันโดยเน้นอาหารประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้ และอาจกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจนหากจะช่วยให้ทำตามได้ง่ายยิ่งขึ้น

  • เน้นผักและผลไม้ อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน เลือกกินให้หลากหลายชนิด หลากสีสัน เพื่อคุณประโยชน์ทางสารอาหารที่ครบถ้วน โดยอาจแบ่งเป็นผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน
    • ผักสุก 1/2 ถ้วย หรือผักดิบ 1 ถ้วย = 1 ส่วน 
    • ผลไม้ลูกใหญ่ เช่น กล้วยหอม ฝรั่ง มะม่วงสุก แก้วมังกร 1/2 ผล = 1 ส่วน
    • ผลไม้ลูกเล็ก เช่น แอปเปิลผลเล็ก ส้มผลใหญ่ กล้วยน้ำว้า 1 ผล = 1 ส่วน 
  • เน้นแป้งจากธัญพืชไม่ขัดสีเป็นหลัก วันละ 3-6 ส่วน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เส้นก๋วยเตี๋ยว/พาสต้าที่ไม่ขัดสี ควินัว หรือผักที่มีแป้งสูงอย่างมันฝรั่ง มันเทศ 
    • ข้าว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว 1 ทัพพี = 1 ส่วน
    • ข้าวเหนียว 1/2 ทัพพี = 1 ส่วน
    • ขนมปัง 1 แผ่น = 1 ส่วน
  • เพิ่มถั่วเมล็ดแห้ง สัปดาห์ละ 3 ส่วน เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง หรือใส่ในเมนูอาหารต่างๆ เพื่อรับประทานเพิ่มไปในตัว
    • ถั่วเมล็ดแห้ง 1/2 ถ้วย = 1 ส่วน
  • เพิ่มถั่วเปลือกแข็ง สัปดาห์ละ 3 ส่วน เช่น อัลมอนด์ เฮเซลนัท วอลนัท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พิตาชิโอ อาจเพิ่มในเมนูสลัด โยเกิร์ต หรือเป็นของกินเล่นในยามว่างก็ได้
    • ถั่วเปลือกแข็ง 1/3 ถ้วย = 1 ส่วน
    • เนยถั่ว 2 ช้อนโต๊ะ = 1 ส่วน
  • เน้นโปรตีนจากปลาเนื้อขาวและปลาที่มีไขมันดีและกรดโอเมก้า 3 สูง สัปดาห์ละ 2-3 ส่วน 
    • แซลมอน ทูน่า ปลาจะละเม็ดขาว ปลากะพงขาว ปลาดุก ปลาช่อน 90 กรัม = 1 ส่วน
  • เสริมโปรตีนจากเนื้อไก่ เนื้อสัตว์ปีกอื่นๆ แทนเนื้อแดงที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น หมู วัว แกะ  
  • เลือกรับประทานไข่ นม และชีสที่มีไขมันต่ำในปริมาณปานกลาง ไม่ควรรับประทานไข่แดงเกินวันละ 1 ฟอง
  • ใช้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์พิเศษปรุงอาหาร (Extra virgin olive oil) แทนน้ำมันพืชหรือน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู เนย มายองเนส ซาวครีม และใช้น้ำมันมะกอกแทนน้ำสลัดเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า โดยรับประทานอย่างน้อยวันละ 1 ช้อนโต๊ะ แต่ไม่เกิน 4 ช้อนโต๊ะ
  • ลดขนมเบเกอรี่และของหวานต่างๆ ให้น้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เลือกรับประทานโยเกิร์ตกรีกและผลไม้แทน

อยากสุขภาพดีกับอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดหรือฝืนตัวเองทุกมื้อ อาจเตรียมอาหารเมดิเตอร์เรเนียนตามนี้วันละมื้อ หรือจะสัปดาห์ละครั้งก็ได้ตามสะดวก โดยการเพิ่มอาหารที่มีประโยชน์ และลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือน้ำตาลสูงตามหลักของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนโดยไม่ต้องกังวลกับสัดส่วนมากนักก็ส่งผลดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน

รูปแบบการกินอาหารชนิดอื่นๆ ดีเหมือนกันไหม?

ปัจจุบันมีเทรนด์รูปแบบการกินอาหารมากมายเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกันไป ทั้งการลดน้ำหนัก หรือสร้างกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่รูปแบบการกินทุกชนิดที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพ ก่อนเลือกรับประทานอาหารรูปแบบใดๆ จึงควรศึกษาและสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่หรือมีข้อกังวลด้านสุขภาพ

รูปแบบการกินอาหารอีกชนิดที่ช่วยต้านความดันโลหิตสูงและมีประโยชน์ในการบำรุงหัวใจก็คือ DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension) หรืออาหารแดช รวมถึงอาหารมังสวิรัติที่เน้นการรับประทานพืชผักเป็นหลักเองก็ดีต่อสุขภาพไม่น้อย ตามคำอ้างอิงจากคำแนะนำของทางสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association: AHA) 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเลือกอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนหลากหลาย เช่น ผักผลไม้ ถั่วต่างๆ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และจำกัดการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงแต่ให้คุณค่าทางสารอาหารน้อย

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลสุขภาพรอบด้าน ปรึกษานักโภชนาการพรีโมแคร์เพื่อวางแผนการกินอาหารให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และภาวะสุขภาพของคุณ แอดไลน์ @primocare เพื่อสอบถามหรือนัดหมายทีมแพทย์พรีโมแคร์ล่วงหน้าได้เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

DASH Diet อาหารลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคหัวใจ

    /    บทความ    /    DASH Diet อาหารลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคหัวใจ

DASH Diet อาหารลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคหัวใจ

DASH Diet
อาหารลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคหัวใจ

อาหาร DASH Diet มีผักผลไม้ มะเขือเทศ แครอท วอเตอร์เครส เป็นส่วนใหญ่ของจาน เพิ่มโปรตีนจากเนื้อไก่ไม่ติดมันและไข่ โรยเมล็ดเจีย

DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension) หรืออาหารแดช คือแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อลดหรือควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง โดยจะเน้นอาหารที่มีโซเดียมต่ำ ลดไขมันอิ่มตัวและน้ำตาล ควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม ซึ่งล้วนเป็นสารอาหารที่ช่วยต้านทานการเกิดความดันโลหิตสูง

ประโยชน์ของการกินอาหารแบบ DASH Diet

ผลลัพธ์ด้านการช่วยลดความดันโลหิตของ DASH Diet ได้รับการพิสูจน์ในการศึกษาหลายงานว่าสามารถลดความดันโลหิตได้อย่างรวดเร็วใน 2 สัปดาห์ ทั้งยังช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงและการมีคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีสูงนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในสมองตามมาได้ ด้วยเหตุนี้อาหารในรูปแบบ DASH Diet จึงขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตไปพร้อมกัน

เริ่มต้นรับประทานแบบ DASH Diet อย่างไรดี?

การรับประทานอาหาร DASH Diet ทำได้ไม่ยาก เพราะสามารถปรับเมนูให้เหมาะกับความสะดวกและความต้องการส่วนตัวได้ ไม่ใช่สูตรอาหารที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัดทุกอย่าง

DASH Diet เน้นการเลือกรับประทานอาหารสุขภาพดีอย่างผักผลไม้และธัญพืชไม่ขัดสีเป็นหลัก รวมถึงเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น ไก่ เป็ด ปลา และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ ซึ่งเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม กากใย และโปรตีนที่มีส่วนช่วยในการควบคุมระดับความดันโลหิต

ในขณะเดียวกัน DASH Diet ก็จำกัดการรับประทานอาหารที่จะส่งผลเสียต่อระดับความดันโลหิตและสุขภาพหัวใจ ได้แก่ 

สูตรอาหาร DASH Diet และสัดส่วนที่แนะนำต่อวัน

สัดส่วนการรับประทานอาหารในรูปแบบ DASH Diet สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการพลังงาน 2,000 แคลอรี่ต่อวัน แนะนำดังต่อไปนี้

  • ข้าว แป้ง ธัญพืชไม่ขัดสี วันละ 6-8 ส่วน 
    • ข้าว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว 1 ทัพพี = 1 ส่วน
    • ข้าวเหนียว 1/2 ทัพพี = 1 ส่วน
      • ขนมปัง 1 แผ่น = 1 ส่วน
  • ผัก วันละ 4-5 ส่วน
    • ผักสุก 1/2 ถ้วย = 1 ส่วน
    • ผักดิบ 1 ถ้วย = 1 ส่วน
  • ผลไม้ วันละ 4-5 ส่วน 
    • ผลไม้ลูกใหญ่ครึ่งลูก เช่น กล้วยหอม ฝรั่ง มะม่วงสุก แก้วมังกร = 1 ส่วน
    • ผลไม้ลูกเล็กทั้งลูก เช่น แอปเปิลผลเล็ก ส้มผลใหญ่ กล้วยน้ำว้า 1 ผล = 1 ส่วน
    • ผลไม้ที่หั่นเป็นคำ เช่น สับปะรด แตงโม แคนตาลูป 6-8 ชิ้น = 1 ส่วน
  • ผลิตภัณฑ์จากนม วันละ 2-3 ส่วน  
    • นมหรือโยเกิร์ต 1 แก้ว หรือชีส 1 ก้อนเล็ก (40 กรัม) = 1 ส่วน
  • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ไก่ วันละ 6 ส่วน 
    • เนื้อสุก 30 กรัม หรือ 2 ช้อนโต๊ะ = 1 ส่วน
    • ไข่ 1 ฟอง = 1 ส่วน
  • ถั่ว และเมล็ดพืช สัปดาห์ละ 4-5 ส่วน
    • ถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พิตาชิโอ 1/3 ถ้วย = 1 ส่วน
    • ถั่วเมล็ดแห้งสุก เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว 1/2 ถ้วย = 1 ส่วน
    • เมล็ดพืช เช่น เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย งา เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน 2 ช้อนโต๊ะ = 1 ส่วน
  • ไขมัน วันละ 2-3 ส่วน
    • น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ  = 1 ส่วน
    • มายองเนส 1 ช้อนโต๊ะ  = 1 ส่วน
    • น้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ  = 1 ส่วน
  • จำกัดของหวานและน้ำตาล สัปดาห์ละไม่เกิน 5 ส่วน
    • 1 ส่วนเท่ากับ น้ำตาล หรือแยม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ลดปริมาณโซเดียมให้ไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม หรือเท่ากับ เกลือ 1 ช้อนชา 
    • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มีภาวะก่อนความดันโลหิตสูง หรือต้องการลดโซเดียมลงอีก อาจกำจัดโซเดียมที่ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน

การกินอาหาร DASH Diet เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงในการควบคุมความดัน และถ้าจะให้ดีที่สุดควรทำควบคู่ไปกับการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น

รับแนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพดีที่ตอบโจทย์ความต้องการทางไลฟ์สไตล์สุขภาพและภาวะสุขภาพของคุณ ตลอดจนคำแนะนำในการออกกำลังกายและลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดโรค คลิกดูบริการเพิ่มเติม หรือสอบถามเรื่องการนัดหมายทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้ที่นี

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

วิธีลด ‘อาหารที่มีโซเดียมสูง​’ ลดความดันโลหิต เลี่ยงโรคไต

    /    บทความ    /    วิธีลด ‘อาหารที่มีโซเดียมสูง​’ ลดความดันโลหิต เลี่ยงโรคไต

วิธีลด ‘อาหารที่มีโซเดียมสูง’
ลดความดันโลหิต เลี่ยงโรคไต

วิธีลด ‘อาหารที่มีโซเดียมสูง’
ลดความดันโลหิต เลี่ยงโรคไต

ส้มตำปลาร้า เมนูโปรดของใครหลายคนที่จัดเป็นหนึ่งในอาหารที่มีโซเดียมสูง

ไม่ต้องเป็นคนชอบกินเค็มก็มีสิทธิได้รับโซเดียมสูงเกินไปโดยไม่รู้ตัว เพราะมากกว่า 70% ของโซเดียมมาจากอาหารสำเร็จรูปและร้านอาหารนอกบ้านที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีลดหรือเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง วันนี้พรีโมแคร์นำเทคนิคดีๆ ในการลดโซเดียม ลดเสี่ยงความดันโลหิตสูง สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดในสมองมาฝากกัน

โซเดียมคืออะไร? 

โซเดียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายต้องการในปริมาณเล็กน้อย ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมสมดุลน้ำและของเหลวในร่างกาย รวมถึงระบบกล้ามเนื้อ ประสาท และระบบความดันโลหิต แต่หากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดการกักเก็บน้ำไว้มากเกินไป ทำให้อวัยวะต่างๆ ต้องทำงานหนักขึ้นในการกำจัดน้ำ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง และอาจตามมาด้วยโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด

ปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้รับประทานต่อวันโดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 6 มิลลิกรัมเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะก่อนความดันโลหิตสูงนั้นควรจำกัดโซเดียมที่ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อช่วยในการลดและควบคุมระดับความดันโลหิตให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

แหล่งอาหารที่มีโซเดียมสูง มีอะไรบ้าง?

แม้แต่อาหารที่ไม่ได้มีรสเค็มก็อาจมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงได้ อาหารที่มักมีโซเดียมสูงและควรรับประทานแต่น้อย ได้แก่

  • เกลือ ซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ รวมถึงน้ำสลัด
  • อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป และเนื้อแปรรูป เช่น แฮม เบคอน หมูยอ แหนม กุนเชียง 
  • ของตากแห้ง ของดอง และซุป 
  • อาหารที่ผ่านการอบ และขนมกรุบกรอบ เช่น มันฝรั่งทอดหรอบ แคร็กเกอร์ บิสกิต

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณปานกลาง แต่รับประทานบ่อย หรือรับประทานในปริมาณมาก เช่น ขนมปังหรือธัญพืชที่ปรุงรสหรือเติมเกลือ ก็เป็นตัวแปรที่ทำให้ได้รับโซเดียมในปริมาณสูงได้เช่นกัน 

ตารางปริมาณโซเดียมในอาหารในชีวิตประจำวัน

เมนูอาหาร

ปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม)

สุกี้น้ำ 1 ชาม

1,560

บะหมี่หมูแดง 1 ชาม 

1,480

เส้นใหญ่เย็นตาโฟ 1 ชาม

1,417

ผัดซีอิ๊ว 1 จาน

1,352

แกงส้มผักรวม 1 ชาม

1,130

ส้มตำอีสาน 1 จาน

1,006

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ

977

ผัดผักบุ้งไฟแดง 1 จาน

894

ข้าวหมูกรอบ 1 จาน

700

ปอเปี๊ยะสด 1 จาน

562

ข้าวไข่เจียว 1 จาน

362

ไส้กรอกหมูสุก 1 ชิ้น (30 กรัม)

388

หมูแฮมสุก 1 ชิ้น (30 กรัม)

356

ปลาทูทอด 1 ตัวเล็ก (50 กรัม)

305

หมูยอสุก 30 กรัม

227

ขนมปังสังขยา 

322

น้ำมะเขือเทศ 200 มิลลิลิตร

280

โดนัทน้ำตาล 1 ชิ้น

246

แซนวิชทูน่า 1 ชิ้น

221

เครื่องปรุง

ปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม)

เกลือป่น 1 ช้อนชา

2,000

น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ

1,350

ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ

1,190

ซอสถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ

1,187

ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ

518

น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะ

385

ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะ

149

ที่มา: สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมความดันสูงแห่งประเทศไทย

เทคนิคการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และอาหาร

  • อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้งเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์แต่ละยี่ห้อ และเลือกที่มีโซเดียมต่ำที่สุด
  • เช็กปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และจำนวนหน่วยบริโภคของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อจำกัดการรับประทานให้พอดี และไม่เผลอรับประทานโซเดียมมากเกินไป เรียนรู้วิธีอ่านฉลากโภชนาการเพิ่มเติมที่นี่
  • เลือกซื้อซอสและเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมน้อยหรือผลิตมาสำหรับคนที่ต้องการลดโซเดียมโดยเฉพาะ โดยเครื่องปรุงรสต่างๆ นั้นแม้จะไม่ได้มีรสชาติเค็ม แต่ก็มีโซเดียมสูงได้ เช่น น้ำสลัด ซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด ซอสถั่วเหลือง และของดองทั้งหลาย
  • หากซื้ออาหารปรุงสำเร็จ ควรเลือกที่มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ ซึ่งเป็นปริมาณโซเดียมสำหรับอาหารมื้อหลักที่ถือว่าดีต่อสุขภาพ ตามคำแนะนำขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา
  • สำหรับผักกระป๋องควรเลือกที่ระบุว่า ‘ไม่มีเกลือ’ หรือ ‘ไม่เติมเกลือเพิ่ม’ 
  • รับประทานผักและผลไม้เปล่าๆ ที่ไม่คลุกเกลือหรือไม่จิ้มพริกเกลือดีที่สุด   

เทคนิคการเตรียมอาหารแบบลดโซเดียม

  • เติมรสชาติให้อาหารด้วยเครื่องเทศและสมุนไพร เช่น กระเทียม อบเชย หอมแดง หอมหัวใหญ่ น้ำมะนาว น้ำสมสายชู และเครื่องปรุงที่ไม่มีเกลือ แทนการใช้เกลือ 
  • หากรับประทานถั่วหรือผักในรูปแบบกระป๋อง ควรเทน้ำออกให้หมด เพื่อลดปริมาณโซเดียม
  • หากยังปรับตัวให้รับประทานอาหารที่ลดเกลือหรืออาหารโซเดียมต่ำไม่ได้ แนะนำให้แบ่งครึ่งอาหารชนิดเดียวกันที่มีโซเดียมปกติ และอาหารที่ลดโซเดียม แล้วนำมารับประทานรวมกัน วิธีนี้จะช่วยลดโซเดียมไปได้ครึ่งหนึ่ง และยังคงให้รสชาติที่คุ้นชินโดยไม่รู้สึกถึงความต่างมากนัก
  • เลือกวิธีการทำอาหารที่ดึงรสชาติตามธรรมชาติของวัตถุดิบออกมาให้มากที่สุด เช่น ย่าง ปิ้ง ตุ๋น  เพื่อลดการเติมเกลือ 
  • เพิ่มวัตถุดิบที่มีโพแทสเซียม เช่น มันเทศ มันฝรั่ง มะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศโซเดียมต่ำ ถั่วแดง ส้ม กล้วย แคนตาลูป และกรีกโยเกิร์ต ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดปฏิกิริยาของร่างกายจากการได้รับโซเดียม และยังช่วยความดันโลหิตได้ด้วย
  • จำกัดการใช้เครื่องปรุงและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในการทำอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวปรุงรส เป็นต้น

เคล็ดลับลดโซเดียมเมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน 

  • ขอให้พนักงานช่วยปรุงอาหารโดยใช้เกลือในปริมาณน้อย
  • ชิมอาหารก่อนปรุง หากยังไม่ได้รสชาติที่พอใจ ลองเพิ่มเครื่องปรุงอื่นๆ ก่อนเป็นอันดับแรก เช่น พริกไทย และมะนาว ก็อาจช่วยเพิ่มรสชาติที่ถูกใจได้
  • มองหาคีย์เวิร์ดอาหารที่มีโซเดียมสูง และหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น หรือสั่งให้น้อยที่สุด เช่น ของดอง คั่วเกลือ หมักเกลือ รมควัน บาร์บีคิว ซุป ซอสถั่วเหลือง ซอสมิโซะ ซอสเทอริยากิ
  • เลือกอาหารที่ปรุงด้วยการลวก นึ่ง ต้ม ย่าง ปิ้ง อบ ที่มีโซเดียมน้อยกว่า
  • จำกัดปริมาณอาหารเพื่อลดแคลอรี่ ซึ่งจะช่วยลดโซเดียมไปพร้อมๆ กัน อาจสั่งแบบลดปริมาณ แบ่งรับประทานกับเพื่อน หรือห่ออีกครึ่งหนึ่งกลับบ้านไว้สำหรับรับประทานทีหลังก็ได้

ไม่อยากลดเค็ม ใช้ ‘เกลือลดโซเดียม’ ได้ไหม?

เกลือลดโซเดียมและเครื่องปรุงต่างๆ ในสูตรลดโซเดียม เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณโซเดียมจากอาหารได้ โดยเป็นเกลือหรือเครื่องปรุงที่ใช้โพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบแทนโซเดียมในบางส่วนหรือแทนโซเดียมทั้งหมด แต่มีข้อควรระวังการใช้ในผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม เช่น ผู้ป่วยโรคไต ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ นักโภชนาการ หรือนักกำหนดอาหารให้แน่ใจว่าการเลือกใช้เกลือโซเดียมนั้นคือทางเลือกที่ดีสำหรับตัวคุณจริงๆ หรือไม่

การปรับลดอาหารที่มีโซเดียมสูง และเลือกรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำแทนอาจไม่ถูกปากในช่วงแรก แต่นานไปก็จะกลายเป็นความคุ้นชินและกินได้อย่างมีความสุข โดยมีงานวิจัยชี้ว่าผู้ที่ลดการรับประทานอาหารโซเดียมสูงจะเริ่มชอบรสชาติที่มีโซเดียมต่ำมากกว่า และเมื่อได้กลับไปกินอาหารโซเดียมสูงดังเดิมก็จะรู้สึกว่าเค็มเกินไป

เริ่มต้นปรับการกินอย่างสุขภาพดีวันนี้ก็ยังไม่สาย ปรึกษานักโภชนาการพรีโมแคร์เพื่อวางแผนการกินอาหารให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และภาวะสุขภาพของคุณได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

อยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้? ลอง 5 วิธีรับมือ เครียดแล้วกินเยอะ

    /    บทความ    /    อยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้? ลอง 5 วิธีรับมือ เครียดแล้วกินเยอะ

อยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้? ลอง 5 วิธีรับมือ Emotional Eating "เครียดแล้วกินเยอะ"

อยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้?
ลอง 5 วิธีรับมือ Emotional Eating "เครียดแล้วกินเยอะ"

ผู้หญิง 2 คนกินอาหารร่วมกัน โดยเน้นภาพอาหารบนโต๊ะที่มีเฟรนช์ฟรายส์ พิซซ่า และน้ำอัดลม

หลายคนที่อยากผอมลง อยากลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ประสบปัญหาหยุดกินไม่ได้ ถึงเวลาต้องเช็คตัวเองแล้วว่ากำลังมีภาวะ Emotional Eating หรือ ‘เครียดแล้วกินเยอะ’ อยู่หรือเปล่า เพราะเมื่อไม่ได้กินเพื่อความอิ่มท้อง แต่กินเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดและความรู้สึกแย่ๆ การหักห้ามใจให้หยุดกินก็ย่อมกลายเป็นเรื่องยาก และมีแต่จะยิ่งทำให้เป้าหมายการลดน้ำหนักของเราห่างไกลออกไป

Emotional Eating คืออะไร? 

ไม่ใช่แค่ความหิวเท่านั้นที่ทำให้รู้สึกอยากอาหารได้ มีหลายคนที่กินเพื่อคลายเครียดหรือให้รางวัลตัวเองหลังจากเจอเรื่องที่สร้างความเหนื่อยล้าทางใจ และยังมีแนวโน้มที่จะเลือกอาหารที่สร้างความสุขแต่ไม่เป็นมิตรกับสุขภาพ จำพวกอาหารฟาสต์ฟู้ด จังก์ฟู้ด ของหวาน และของทอดทั้งหลาย

เมื่ออาหารกลายมาเป็นตัวช่วยในการเยียวยาจิตใจ เราจึงไม่ได้ได้กินเพราะท้องบอกว่าหิว แต่กินเพื่อเติมเต็มความต้องการทางอารมณ์ หรือที่เรียกว่า Emotional Eating ยิ่งเครียด ยิ่งเศร้า ยิ่งรู้สึกแย่เท่าไรก็ยิ่งกินเยอะขึ้น และกลายเป็นการกินที่มากเกินกว่าความต้องการของร่างกายจนนำไปสู่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าการกินไม่ได้ช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหาทางอารมณ์และจิตใจที่กำลังเผชิญได้ ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้รู้สึกแย่และรู้สึกผิดต่อตัวเองที่หยุดกินไม่ได้ สุดท้ายก็จะวนกลับไปเป็นวงจรการกินมากขึ้น ตามมาด้วยน้้ำหนักที่มากขึ้น และความรู้สึกผิดต่อตัวเองไม่สิ้นสุด

ทำไมเครียดแล้วกินเยอะ หรือบางทีเครียดแล้วไม่อยากอาหาร?

การเผชิญความเครียดในระยะสั้นๆ สามารถทำให้หมดความรู้สึกอยากอาหาร เนื่องจากร่างกายจะผลิตฮอร์โมนอิพิเนฟรินที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาสู้หรือหนี (Fight-or-flight response) ซึ่งเป็นการตอบสนองตามกลไกทางธรรมชาติที่มีไว้เพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายต่างๆ และสามารถทำให้ความรู้สึกอยากอาหารหายไปชั่วคราว

แต่ในกรณีที่มีความเครียดสะสมระยะยาว ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อว่าคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะทำให้รู้สึกอยากกินอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะของหวาน ของทอด ของมัน และอาหารที่มีรสเค็มที่มีแคลอรี่สูง เนื่องจากสมองคิดว่าไปว่าร่างกายต้องการพลังงานเพื่อต่อสู้กับอะไรก็ตามที่เป็นสาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้น หากความเครียดนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระดับคอร์ติซอลก็จะยังคงสูง ส่งผลให้แม้จะอยากลดน้ำหนักแค่ไหนก็ยากจะห้ามใจให้หยุดกินได้

วิธีรับมือเมื่อเครียดแล้วกินเยอะ

ปัญหาของคนที่มีเป้าหมายในการลดน้ำหนักแต่หยุดกินไม่ได้ ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดและอารมณ์ที่เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งเมื่อทั้งความเครียดและความรู้สึกผิดที่กินเยอะผสมปนเปกัน ก็ยิ่งรู้สึกเหมือนทุกอย่างอยู่เหนือการควบคุม แต่ทั้งหมดนี้ใช่ว่าจะไม่มีวิธีแก้ โดยเบื้องต้นแนะนำให้ลองจัดการอารมณ์ที่มากระตุ้นความอยากอาหารตามเทคนิคต่อไปนี้

1. แยกความรู้สึกความหิว กับ Emotional Eating

บางครั้งการกินตามอารมณ์ก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเมื่อเราต้องการกินเพื่อคลายความเครียดหรือความรู้สึกแย่มากๆ จนทำให้อาจคิดไปว่านั่นคือความหิวจริงๆ อันดับแรกจึงต้องแยกให้ออกก่อนว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ Emotional Eating ไม่ใช่ความรู้สึกหิวจริงๆ 

Emotional Eating

ความหิว

เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรู้สึกว่าต้องกินทันที

ความหิวตามปกติจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย

มักอยากกินอาหารบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น อาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง รู้สึกว่าอาหารชนิดอื่นไม่สามารถทดแทนความอยากได้

รู้สึกว่ากินอะไรก็ได้ หลายอย่างน่ากินไปหมด เพราะหิวมาก

กินในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็กินมันฝรั่งจนหมดถุง หรือกินไอศครีมถ้วยใหญ่หมดอย่างรวดเร็ว

มีสติรู้ตัวขณะกินมากกว่า และไม่กินเยอะเกิน (Overeating)

แม้จะอิ่มแล้วก็ยังอยากกินต่อ และกินจนรู้สึกแน่นท้อง

หยุดกินได้เมื่อรู้สึกอิ่ม

รู้สึกผิดที่กินมากเกินไปหรือกินของที่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม

รู้สึกพอใจที่ได้กิน และไม่รู้สึกผิดหลังจากกิน

2. ค่อยๆ ฝึกรับมือ​ Emotional​ Eating

  • ลองถามตัวเองทุกครั้งหากไม่แน่ใจ​ว่าต้องการกินเพราะกำลังรู้สึกหิวจริงๆ หรือไม่ โดยให้คะแนนความรู้ส​ึกหิว 1-5 จากน้อยไปมาก​ โดย 1 คือไม่รู้สึกหิวเลย และ 5 คือหิวมากถึงขั้นสามารถกินอาหารที่ไม่ชอบที่สุดได้
  • ใช้เวลาทบทวนตัวเองก่อนกินสัก​ 1-5 นาทีว่ากำลัง​รู้สึก​อย่างไร​ และคิดถึงปัจจัย​ที่กระตุ้น​ Emotional​ Eating​ แม้สุดท้ายแล้วจะห้ามใจตัวเองไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็จะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นและยังเป็นการฝึกสติในการกินไปทีละน้อย
  • การกินตามอารมณ์มักเป็นการกินอย่างรวดเร็ว ลองกินให้ช้าลงและจดจ่อกับรสชาติ ความรู้สึกขณะเคี้ยว และกลิ่นของอาหารในแต่ละคำมากขึ้น จะช่วยลดพฤติกรรมกินมากเกินและทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมอื่นๆ ขณะกิน เช่น กินขณะขับรถ ดูทีวี หรือเล่นมือถือไปด้วย เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ลืมตัวเผลอกินมากเกินไป

3. พยายามเปลี่ยนอาหารที่กินเพราะเครียดให้เป็นอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น

  • เลือกอาหารหรือของทานเล่นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สุด เช่น ผักผลไม้ ถั่ว เมล็ดธัญพืช สมูทตี้แบบไม่แยกกากใย แทนขนมกรุบกรอบ ของหวาน เค้ก เบเกอรี่ และอาหารแปรรูปทั้งหลายที่จะยิ่งเพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและทำให้มีความรู้​สึกอยากกินมากขึ้น​ 
  • กินอาหารที่ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด เช่น ชาสมุนไพร ดาร์กช็อกโกแล็ต ธัญพืช ถั่วต่างๆ รวมถึงผักผลไม้ และปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น แซลมอน ทูน่า ซึ่งจะช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นและช่วยในการนอนหลับ

4. สังเกตและบันทึกเพื่อหาสาเหตุ

ความเครียดและความรู้สึกเชิงลบ เช่น โกรธ เศร้า หรือแม้แต่ความรู้สึกเบื่อ ไม่รู้จะทำอะไร มักเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการกิน นอกจากนี้ความรู้สึกหรืออารมณ์ในเชิงบวกก็อาจนำไปสู่ Emotional Eating ได้เช่นกัน เช่น การให้รางวัลตัวเองเมื่อทำตามเป้าหมายบางอย่างสำเร็จ การเฉลิมฉลองในวันหยุดหรือโอกาสพิเศษต่างๆ 

นอกจากนี้ บางคนอาจติดนิสัยหรือพฤติกรรมที่เคยชินในวัยเด็ก เช่น การที่พ่อแม่มักให้รางวัลหรือปลอบใจด้วยอาหารหรือของหวาน หรือบางรายก็อาจกินเพราะทำให้คิดถึงความทรงจำในวันเก่าๆ ก็ได้ การสำรวจตัวเองด้วยวิธีจดบันทึกสิ่งที่กินหรืออยากกิน สาเหตุที่กิน รวมถึงความรู้สึกระหว่างและหลังจากได้กิน จะช่วยในการวางแผนรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าการกิน

5. หาวิธีจัดการอารมณ์แบบไม่ทำร้ายสุขภาพและไม่เพิ่มน้ำหนัก

เมื่อรู้ตัวว่าอารมณ์หรือความรู้สึกแบบไหนที่กระตุ้นให้มีพฤติกรรมกินไม่หยุดแล้ว​ เราควรเลือกใช้วิธีรับมือที่ถูกต้อง​ เช่น​ พูด​คุยกับคนรอบข้าง​เมื่อรู้สึก​เหงาหรือเครียด​ หรือทำกิจกรรมต่างๆ​ ที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ​ เช่น​ เต้นตามเพลง​ เล่นกับสัตว์​เลี้ยง​ เล่นเกมฝึกสมาธิ​ จิบชาสมุนไพร​ แช่น้ำอุ่นๆ​ จุดเทียนหอม​ หรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ

หากลองวิธีต่างๆ ด้วยตัวเองแล้วยังคงควบคุมตัวเองให้หยุดกินไม่ได้ ควรปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการกินตามอารมณ์ของตัวเองให้มากขึ้นและฝึกทักษะการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม หรือในกรณีที่มีโรคการกินผิดปกติ (Eating disorders) แฝงมากับภาวะเครียดแล้วกินเยอะโดยไม่รู้ตัว ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถช่วยระบุได้เช่นกัน

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมดูแลและให้คำปรึกษาทุกเรื่องสุขภาพ สอบถามเพิ่มเติมหรือนัดหมายได้ผ่าน LINE @primoCare หรือโทร 02-038-5595 หรือ 082-527-9924

เปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์ 8-00.18.00 น.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ทำ IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins: อาหารลดน้ำหนัก กินแบบไหนดี?

    /    บทความ    /    ทำ IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins: อาหารลดน้ำหนัก กินแบบไหนดี?

ทำ IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins: อาหารเพื่อการลดน้ำหนัก เลือกกินแบบไหนดี?

ทำ IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins
อาหารเพื่อการลดน้ำหนัก เลือกกินแบบไหนดี?

รูปแบบการกินอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก: IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ส่องข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนเริ่มกิน

ปัจจุบันมีอาหารลดน้ำหนักหลากหลายรูปแบบให้เลือกสรร แต่การลดน้ำหนักอย่างสุขภาพดีนั้นไม่มีทางลัด เราจึงไม่ควรเชื่อคำอวดอ้างสรรพคุณของอาหารเหล่านี้ง่ายๆ บทความนี้พรีโมแคร์ชวนมารู้จักรูปแบบอาหารยอดฮิตสำหรับคนอยากลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นการทำ IF คีโต หรือ Paleo Diet และ Atkins เพื่อค้นหารูปแบบการกินอาหารลดน้ำหนักที่เหมาะกับตัวเองและมั่นใจว่าไม่ทำร้ายสุขภาพ

IF (Intermittent Fasting)

การกินแบบ IF ต่างจากอาหารลดน้ำหนักประเภทอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้เน้นที่ประเภทอาหารที่กิน แต่เป็นการกินแบบจำกัดช่วงเวลา โดยร่างกายของคนเรานั้นสามารถปรับตัวกับการอดอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมงได้ ซึ่งการทำ IF ก็คล้ายกับรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ในสมัยก่อนที่ไม่ได้มีกิจกรรมมากนักและสามารถอดอาหารได้เป็นเวลานาน โดยในช่วงที่อดอาหาร หลังจากร่างกายนำพลังงานจากน้ำตาลมาใช้หมดแล้วจะมีการดึงไขมันมาใช้แทน ทำให้เกิดการเผาผลาญไขมันมากขึ้น และส่งผลให้น้ำหนักลดลง

การทำ IF มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกช่วงเวลารับประทานและอดอาหารอย่างไร แต่รูปแบบการคุมอาหารแบบ IF ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ 

  • จำกัดการกินแบบ 24 ชั่วโมง เช่น การกินแบบ 16/8 ช่วงเวลาที่กินได้คือ 8 ชั่วโมง และงดอาหารใน 16 ชั่วโมงที่เหลือ ทั้งนี้จำนวนชั่วโมงที่จำกัดการกินสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการและเป้าหมายการลดน้ำหนักของแต่ละคนได้
  • จำกัดการกินแบบสัปดาห์ เช่น วิธี 5:2 ซึ่งเป็นการจำกัดการกิน 2 วันต่อสัปดาห์ โดยกินแบบปกติในวันอื่น แต่จำกัดการกินในวันอาทิตย์และวันพุธ วันละ 1 มื้อ หรือลดปริมาณแคลอรี่ให้เหลือวันละ 500-600 แคลอรี่ เป็นต้น

ประโยชน์ของการทำ IF: การจำกัดช่วงเวลากินอาหารให้น้อยลง หรือกินเพียงวันละ 1-2 มื้อ ช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับและเพิ่มการเผาผลาญไขมัน นอกจากนี้ยังมีการวิจัยชี้ว่าการลดน้ำหนักแบบ IF อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มทักษะการคิดและการจำ ลดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ  รวมถึงลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทตามอายุที่มากขึ้น และโรคมะเร็งหลายชนิด

ข้อควรระวังในการทำ IF

การอดอาหารในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น เช่น การอดอาหารนาน 1-3 วัน ไม่ได้ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น แต่กลับอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งยังอาจกระตุ้นให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อการอดอาหารด้วยการสะสมไขมันมากขึ้น แทนที่จะเกิดการเผาผลาญไขมัน

ความปลอดภัย: ก่อนการทำ IF เพื่อลดน้ำหนักหรือเพื่อจุดประสงค์อื่นใดก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพราะรูปแบบการกินแบบจำกัดช่วงเวลากินอาจไม่ได้เหมาะสมกับทุกคนและอาจมีผลข้างเคียงตามมา เช่น ปวดศีรษะ ไม่มีแรง หงุดหงิดง่าย คลื่นไส้ ท้องผูก และหากมีอาการเหล่านี้หลังจากทำ IF ควรปรึกษาแพทย์ทันที 

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารแบบ IF ได้แก่

  • เด็กและคนอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ที่มีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 
  • สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร 
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคการกินผิดปกติ (Eating Disorder) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มทำ

คีโต (Ketogenic Diet: Keto)

อาหารคีโตเป็นการกินแบบ Low Carb ประเภทหนึ่ง มีจุดเด่นที่เน้นกินอาหารไขมันสูงเป็นหลัก กินโปรตีนในปริมาณพอดี และกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณน้อยมาก น้อยกว่า 20-50 กรัมต่อวัน โดยกล้วยขนาดกลาง 1 ลูกนั้นเทียบเท่ากับคาร์โบไฮเดรตประมาณ 30 กรัมแล้ว

การกินคีโตที่แท้จริงอาจทำให้ร่างกายได้รับไขมันถึง 90% ของแคลอรี่จากอาหารทั้งหมด เนื่องจากปกติอาหารประเภทไขมันจะให้แคลอรี่และพลังงานสูงกว่าอาหารประเภทอื่นอยู่แล้ว สำหรับการกินคีโต ใน 1 วันอาจทำให้ได้รับไขมันถึง 165 กรัม โปรตีนประมาณ 75 กรัม และคาร์โบไฮเดรตประมาณ 40 กรัม 

ประโยชน์ของการกินแบบคีโต: การกินแบบคีโตส่งผลให้ร่างกายไม่มีน้ำตาลจากคาร์โบไฮเดรตให้เผาผลาญเป็นพลังงานได้เพียงพอ ร่างกายจึงเข้าสู่ภาวะเผาผลาญไขมันแทน เรียกว่าภาวะคีโตซิส (Ketosis) โดยในกระบวนการนี้จะทำให้เกิดสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่าคีโตน (Ketone) ซึ่งผลิตออกมาจากตับเพื่อสลายไขมันมาเป็นพลังงานให้กับร่างกายโดยเฉพาะ ทั้งนี้ในช่วงเริ่มแรกจะต้องใช้เวลา 2-3 วันร่างกายจึงจะเข้าสู่ภาวะคีโตซิส นอกจากนี้หากกินโปรตีนมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการกินคีโต: การกินคีโตเป็นรูปแบบการกินที่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาว่าการกินอาหารคีโตในระยะยาวจะส่งผลอย่างไรและมีความปลอดภัยหรือไม่

ผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้อาจมีอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการที่ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไปและพยายามปรับไปเผาผลาญไขมันแทน โดยเรียกว่าไข้คีโต (Keto flu) มีอาการที่พบได้ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะ และมีกลิ่นปาก

ความปลอดภัย: การกินแบบคีโตมีความเสี่ยงหลายอย่างด้วยกัน เนื่องจากการกินไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากนั้นอาจส่งผลให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มสูงขึ้นและมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ โดยปริมาณไขมันอิ่มตัวปกติที่แนะนำต่อวันคือ ไม่เกิน 7% ของแคลอรี่ทั้งหมดเท่านั้น 

อาหารคีโตยังมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารหากรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ รวมถึงโรคเกี่ยวกับตับและไต โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหานี้อยู่แล้ว เนื่องจากตับและไตจะต้องทำงานหนักจากกระบวนการเผาผลาญไขมันและโปรตีนที่มากขึ้น 

Paleo Diet หรือ Stone Age Diet อาหารมนุษย์ยุคหิน

เป็นอาหารที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการกินแบบมนุษย์ยุคหินเก่า ซึ่งเป็นอาหารที่ได้จากการล่าสัตว์และเก็บพืชผัก Paleo Diet เน้นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ผักผลไม้ และถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เฮเซลนัท พีแคน พิตาชิโอ รวมถึงเมล็ดพืชต่างๆ และจะจำกัดการกินอาหารที่เพิ่งมีขึ้นหลังจากมนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรรมแล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม มันฝรั่ง ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช น้ำตาลทรายขาว เกลือ และอาหารที่ผ่านการแปรรูปทั้งหลาย เนื่องจากเชื่อว่าร่างกายของเราไม่เหมาะกับอาหารที่ผลิตขึ้นจากการทำฟาร์มซึ่งไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจตามมา

อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งบางส่วนเกี่ยวกับสมมติฐานด้านการเปลี่ยนแปลงอาหารการกินของมนุษย์ที่อาจซับซ้อนมากกว่าที่รูปแบบการกินแบบ Paleo กล่าวอ้าง โดยชี้ว่าอาหารในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิอากาศมีความหลากหลายอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากการทำฟาร์ม อีกทั้งมนุษย์ยุคหินก็รู้จักเก็บธัญพืชป่ามาเป็นอาหารนานแล้ว 

ประโยชน์ของ Paleo Diet: Paleo Diet เป็นอาหารที่เหมาะกับการลดหรือควบคุมน้ำหนัก จากการศึกษาโดยเปรียบเทียบ Paleo Diet กับอาหารสุขภาพดีประเภทอื่นๆ ได้แก่ อาหารเมดิเตอร์เรเนียน และอาหารผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าการกินแบบ Paleo Diet มีประโยชน์ไม่ต่างจากอาหารทั้ง 2 ชนิด ด้วยการเน้นโปรตีนและผักผลไม้เป็นหลักจึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต รวมถึงไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ และทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น

ข้อควรระวังของ Paleo Diet: Paleo Diet มีประโยชน์ไม่แพ้อาหารเพื่อสุขภาพประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตามยังคงไม่มีผลการศึกษาถึงประโยชน์และความเสี่ยงในระยะยาวจากการกินอาหารในรูปแบบนี้ นอกจากนี้ อาหารบางชนิดที่ถูกจำกัดใน Paleo Diet เช่น ธัญพืชเต็ม นม ถั่วเมล็ดแห้ง ก็เป็นอาหารที่มีประโยชน์และอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร 

ความปลอดภัย: ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มกินแบบ Paleo Diet 

อาหารแอสกินต์ (Atkins Diet)

อีกหนึ่งในอาหารลดน้ำหนักประเภท Low Carb ที่งดการกินแป้งและเน้นโปรตีนและไขมันแทน โดยแบ่งวิธีกินเป็น 4 ระยะ ระยะแรกเริ่มจากการจำกัดการกินแป้งให้น้อยกว่าวันละ 20 กรัม โดยเป็นแป้งจากผักเป็นหลัก เพื่อให้ร่างกายเปลี่ยนจากการเผาผลาญแป้งและน้ำตาลมาเป็นเผาผลาญไขมัน หลังจากนั้นค่อยๆ เพิ่มปริมาณแป้งจากอาหารอื่นๆ เพิ่ม เช่น ผลไม้จำพวกเบอร์รี่ ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดพืช จนน้ำหนักลดลงตามเป้าหมายและคงการกินแบบนี้ไปตลอด ทั้งนี้ Atkins Diet ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่ยืดหยุ่นขึ้น โดยจะจำกัดแป้ง 40 กรัม ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่อยากกินให้หลากหลายกว่าเดิม

ประโยชน์ของ Atkins Diet: Atkins Diet ช่วยในการลดน้ำหนัก และการลดน้ำหนักก็มีส่วนช่วยให้สุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าการกินโปรตีนและไขมันในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกตินั้นจะส่งผลต่อภาวะสุขภาพในระยะยาวอย่างไร แต่มีการศึกษาชี้ว่าผู้ที่กินอาหารแบบ Atkins Diet โดยเลือกไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง จะมีสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่เลือกกินไขมันจากสัตว์

ข้อควรระวังของ Atkins Diet: เช่นเดียวกับอาหารเพื่อการลดน้ำหนักประเภทอื่นๆ ก่อนเริ่มกินตามอาหารแบบ Atkins ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หัวใจ โรคไต และคอเลสเตอรอลสูง ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ความปลอดภัย: การงดแป้งอาจมีความเสี่ยงให้เกิดภาวะขาดสารอาหารบางชนิดได้ และเป็นวิธีที่ควรหลีกเลี่ยงในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร 

ไม่มีอาหารลดน้ำหนักชนิดใดที่ดีที่สุด และอาหารชนิดหนึ่งอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน สิ่งสำคัญคือความชอบและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การกินของตัวเองมากที่สุด 

ตามหารูปแบบอาหารลดน้ำหนักที่ใช่และปลอดภัยต่อสุขภาพกับทีมแพทย์และนักโภชนาการพรีโมแคร์ เพิ่มแรงจูงให้ให้การกินเพื่อลดน้ำหนักอย่างต่อเนื่องที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก สอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง