Categories
Uncategorized

อยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้? ลอง 5 วิธีรับมือ เครียดแล้วกินเยอะ

    /    บทความ    /    อยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้? ลอง 5 วิธีรับมือ เครียดแล้วกินเยอะ

อยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้? ลอง 5 วิธีรับมือ Emotional Eating "เครียดแล้วกินเยอะ"

อยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้?
ลอง 5 วิธีรับมือ Emotional Eating "เครียดแล้วกินเยอะ"

ผู้หญิง 2 คนกินอาหารร่วมกัน โดยเน้นภาพอาหารบนโต๊ะที่มีเฟรนช์ฟรายส์ พิซซ่า และน้ำอัดลม

หลายคนที่อยากผอมลง อยากลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ประสบปัญหาหยุดกินไม่ได้ ถึงเวลาต้องเช็คตัวเองแล้วว่ากำลังมีภาวะ Emotional Eating หรือ ‘เครียดแล้วกินเยอะ’ อยู่หรือเปล่า เพราะเมื่อไม่ได้กินเพื่อความอิ่มท้อง แต่กินเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดและความรู้สึกแย่ๆ การหักห้ามใจให้หยุดกินก็ย่อมกลายเป็นเรื่องยาก และมีแต่จะยิ่งทำให้เป้าหมายการลดน้ำหนักของเราห่างไกลออกไป

Emotional Eating คืออะไร? 

ไม่ใช่แค่ความหิวเท่านั้นที่ทำให้รู้สึกอยากอาหารได้ มีหลายคนที่กินเพื่อคลายเครียดหรือให้รางวัลตัวเองหลังจากเจอเรื่องที่สร้างความเหนื่อยล้าทางใจ และยังมีแนวโน้มที่จะเลือกอาหารที่สร้างความสุขแต่ไม่เป็นมิตรกับสุขภาพ จำพวกอาหารฟาสต์ฟู้ด จังก์ฟู้ด ของหวาน และของทอดทั้งหลาย

เมื่ออาหารกลายมาเป็นตัวช่วยในการเยียวยาจิตใจ เราจึงไม่ได้ได้กินเพราะท้องบอกว่าหิว แต่กินเพื่อเติมเต็มความต้องการทางอารมณ์ หรือที่เรียกว่า Emotional Eating ยิ่งเครียด ยิ่งเศร้า ยิ่งรู้สึกแย่เท่าไรก็ยิ่งกินเยอะขึ้น และกลายเป็นการกินที่มากเกินกว่าความต้องการของร่างกายจนนำไปสู่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าการกินไม่ได้ช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหาทางอารมณ์และจิตใจที่กำลังเผชิญได้ ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้รู้สึกแย่และรู้สึกผิดต่อตัวเองที่หยุดกินไม่ได้ สุดท้ายก็จะวนกลับไปเป็นวงจรการกินมากขึ้น ตามมาด้วยน้้ำหนักที่มากขึ้น และความรู้สึกผิดต่อตัวเองไม่สิ้นสุด

ทำไมเครียดแล้วกินเยอะ หรือบางทีเครียดแล้วไม่อยากอาหาร?

การเผชิญความเครียดในระยะสั้นๆ สามารถทำให้หมดความรู้สึกอยากอาหาร เนื่องจากร่างกายจะผลิตฮอร์โมนอิพิเนฟรินที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาสู้หรือหนี (Fight-or-flight response) ซึ่งเป็นการตอบสนองตามกลไกทางธรรมชาติที่มีไว้เพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายต่างๆ และสามารถทำให้ความรู้สึกอยากอาหารหายไปชั่วคราว

แต่ในกรณีที่มีความเครียดสะสมระยะยาว ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อว่าคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะทำให้รู้สึกอยากกินอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะของหวาน ของทอด ของมัน และอาหารที่มีรสเค็มที่มีแคลอรี่สูง เนื่องจากสมองคิดว่าไปว่าร่างกายต้องการพลังงานเพื่อต่อสู้กับอะไรก็ตามที่เป็นสาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้น หากความเครียดนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระดับคอร์ติซอลก็จะยังคงสูง ส่งผลให้แม้จะอยากลดน้ำหนักแค่ไหนก็ยากจะห้ามใจให้หยุดกินได้

วิธีรับมือเมื่อเครียดแล้วกินเยอะ

ปัญหาของคนที่มีเป้าหมายในการลดน้ำหนักแต่หยุดกินไม่ได้ ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดและอารมณ์ที่เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งเมื่อทั้งความเครียดและความรู้สึกผิดที่กินเยอะผสมปนเปกัน ก็ยิ่งรู้สึกเหมือนทุกอย่างอยู่เหนือการควบคุม แต่ทั้งหมดนี้ใช่ว่าจะไม่มีวิธีแก้ โดยเบื้องต้นแนะนำให้ลองจัดการอารมณ์ที่มากระตุ้นความอยากอาหารตามเทคนิคต่อไปนี้

1. แยกความรู้สึกความหิว กับ Emotional Eating

บางครั้งการกินตามอารมณ์ก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเมื่อเราต้องการกินเพื่อคลายความเครียดหรือความรู้สึกแย่มากๆ จนทำให้อาจคิดไปว่านั่นคือความหิวจริงๆ อันดับแรกจึงต้องแยกให้ออกก่อนว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ Emotional Eating ไม่ใช่ความรู้สึกหิวจริงๆ 

Emotional Eating

ความหิว

เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรู้สึกว่าต้องกินทันที

ความหิวตามปกติจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย

มักอยากกินอาหารบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น อาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง รู้สึกว่าอาหารชนิดอื่นไม่สามารถทดแทนความอยากได้

รู้สึกว่ากินอะไรก็ได้ หลายอย่างน่ากินไปหมด เพราะหิวมาก

กินในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวก็กินมันฝรั่งจนหมดถุง หรือกินไอศครีมถ้วยใหญ่หมดอย่างรวดเร็ว

มีสติรู้ตัวขณะกินมากกว่า และไม่กินเยอะเกิน (Overeating)

แม้จะอิ่มแล้วก็ยังอยากกินต่อ และกินจนรู้สึกแน่นท้อง

หยุดกินได้เมื่อรู้สึกอิ่ม

รู้สึกผิดที่กินมากเกินไปหรือกินของที่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม

รู้สึกพอใจที่ได้กิน และไม่รู้สึกผิดหลังจากกิน

2. ค่อยๆ ฝึกรับมือ​ Emotional​ Eating

  • ลองถามตัวเองทุกครั้งหากไม่แน่ใจ​ว่าต้องการกินเพราะกำลังรู้สึกหิวจริงๆ หรือไม่ โดยให้คะแนนความรู้ส​ึกหิว 1-5 จากน้อยไปมาก​ โดย 1 คือไม่รู้สึกหิวเลย และ 5 คือหิวมากถึงขั้นสามารถกินอาหารที่ไม่ชอบที่สุดได้
  • ใช้เวลาทบทวนตัวเองก่อนกินสัก​ 1-5 นาทีว่ากำลัง​รู้สึก​อย่างไร​ และคิดถึงปัจจัย​ที่กระตุ้น​ Emotional​ Eating​ แม้สุดท้ายแล้วจะห้ามใจตัวเองไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็จะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นและยังเป็นการฝึกสติในการกินไปทีละน้อย
  • การกินตามอารมณ์มักเป็นการกินอย่างรวดเร็ว ลองกินให้ช้าลงและจดจ่อกับรสชาติ ความรู้สึกขณะเคี้ยว และกลิ่นของอาหารในแต่ละคำมากขึ้น จะช่วยลดพฤติกรรมกินมากเกินและทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมอื่นๆ ขณะกิน เช่น กินขณะขับรถ ดูทีวี หรือเล่นมือถือไปด้วย เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ลืมตัวเผลอกินมากเกินไป

3. พยายามเปลี่ยนอาหารที่กินเพราะเครียดให้เป็นอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น

  • เลือกอาหารหรือของทานเล่นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สุด เช่น ผักผลไม้ ถั่ว เมล็ดธัญพืช สมูทตี้แบบไม่แยกกากใย แทนขนมกรุบกรอบ ของหวาน เค้ก เบเกอรี่ และอาหารแปรรูปทั้งหลายที่จะยิ่งเพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและทำให้มีความรู้​สึกอยากกินมากขึ้น​ 
  • กินอาหารที่ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด เช่น ชาสมุนไพร ดาร์กช็อกโกแล็ต ธัญพืช ถั่วต่างๆ รวมถึงผักผลไม้ และปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น แซลมอน ทูน่า ซึ่งจะช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นและช่วยในการนอนหลับ

4. สังเกตและบันทึกเพื่อหาสาเหตุ

ความเครียดและความรู้สึกเชิงลบ เช่น โกรธ เศร้า หรือแม้แต่ความรู้สึกเบื่อ ไม่รู้จะทำอะไร มักเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการกิน นอกจากนี้ความรู้สึกหรืออารมณ์ในเชิงบวกก็อาจนำไปสู่ Emotional Eating ได้เช่นกัน เช่น การให้รางวัลตัวเองเมื่อทำตามเป้าหมายบางอย่างสำเร็จ การเฉลิมฉลองในวันหยุดหรือโอกาสพิเศษต่างๆ 

นอกจากนี้ บางคนอาจติดนิสัยหรือพฤติกรรมที่เคยชินในวัยเด็ก เช่น การที่พ่อแม่มักให้รางวัลหรือปลอบใจด้วยอาหารหรือของหวาน หรือบางรายก็อาจกินเพราะทำให้คิดถึงความทรงจำในวันเก่าๆ ก็ได้ การสำรวจตัวเองด้วยวิธีจดบันทึกสิ่งที่กินหรืออยากกิน สาเหตุที่กิน รวมถึงความรู้สึกระหว่างและหลังจากได้กิน จะช่วยในการวางแผนรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าการกิน

5. หาวิธีจัดการอารมณ์แบบไม่ทำร้ายสุขภาพและไม่เพิ่มน้ำหนัก

เมื่อรู้ตัวว่าอารมณ์หรือความรู้สึกแบบไหนที่กระตุ้นให้มีพฤติกรรมกินไม่หยุดแล้ว​ เราควรเลือกใช้วิธีรับมือที่ถูกต้อง​ เช่น​ พูด​คุยกับคนรอบข้าง​เมื่อรู้สึก​เหงาหรือเครียด​ หรือทำกิจกรรมต่างๆ​ ที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ​ เช่น​ เต้นตามเพลง​ เล่นกับสัตว์​เลี้ยง​ เล่นเกมฝึกสมาธิ​ จิบชาสมุนไพร​ แช่น้ำอุ่นๆ​ จุดเทียนหอม​ หรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ

หากลองวิธีต่างๆ ด้วยตัวเองแล้วยังคงควบคุมตัวเองให้หยุดกินไม่ได้ ควรปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการกินตามอารมณ์ของตัวเองให้มากขึ้นและฝึกทักษะการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม หรือในกรณีที่มีโรคการกินผิดปกติ (Eating disorders) แฝงมากับภาวะเครียดแล้วกินเยอะโดยไม่รู้ตัว ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถช่วยระบุได้เช่นกัน

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมดูแลและให้คำปรึกษาทุกเรื่องสุขภาพ สอบถามเพิ่มเติมหรือนัดหมายได้ผ่าน LINE @primoCare หรือโทร 02-038-5595 หรือ 082-527-9924

เปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์ 8-00.18.00 น.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ทำ IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins: อาหารลดน้ำหนัก กินแบบไหนดี?

    /    บทความ    /    ทำ IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins: อาหารลดน้ำหนัก กินแบบไหนดี?

ทำ IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins: อาหารเพื่อการลดน้ำหนัก เลือกกินแบบไหนดี?

ทำ IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins
อาหารเพื่อการลดน้ำหนัก เลือกกินแบบไหนดี?

รูปแบบการกินอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก: IF, คีโต, Paleo Diet, Atkins มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ส่องข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนเริ่มกิน

ปัจจุบันมีอาหารลดน้ำหนักหลากหลายรูปแบบให้เลือกสรร แต่การลดน้ำหนักอย่างสุขภาพดีนั้นไม่มีทางลัด เราจึงไม่ควรเชื่อคำอวดอ้างสรรพคุณของอาหารเหล่านี้ง่ายๆ บทความนี้พรีโมแคร์ชวนมารู้จักรูปแบบอาหารยอดฮิตสำหรับคนอยากลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นการทำ IF คีโต หรือ Paleo Diet และ Atkins เพื่อค้นหารูปแบบการกินอาหารลดน้ำหนักที่เหมาะกับตัวเองและมั่นใจว่าไม่ทำร้ายสุขภาพ

IF (Intermittent Fasting)

การกินแบบ IF ต่างจากอาหารลดน้ำหนักประเภทอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้เน้นที่ประเภทอาหารที่กิน แต่เป็นการกินแบบจำกัดช่วงเวลา โดยร่างกายของคนเรานั้นสามารถปรับตัวกับการอดอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมงได้ ซึ่งการทำ IF ก็คล้ายกับรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ในสมัยก่อนที่ไม่ได้มีกิจกรรมมากนักและสามารถอดอาหารได้เป็นเวลานาน โดยในช่วงที่อดอาหาร หลังจากร่างกายนำพลังงานจากน้ำตาลมาใช้หมดแล้วจะมีการดึงไขมันมาใช้แทน ทำให้เกิดการเผาผลาญไขมันมากขึ้น และส่งผลให้น้ำหนักลดลง

การทำ IF มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกช่วงเวลารับประทานและอดอาหารอย่างไร แต่รูปแบบการคุมอาหารแบบ IF ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ 

  • จำกัดการกินแบบ 24 ชั่วโมง เช่น การกินแบบ 16/8 ช่วงเวลาที่กินได้คือ 8 ชั่วโมง และงดอาหารใน 16 ชั่วโมงที่เหลือ ทั้งนี้จำนวนชั่วโมงที่จำกัดการกินสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการและเป้าหมายการลดน้ำหนักของแต่ละคนได้
  • จำกัดการกินแบบสัปดาห์ เช่น วิธี 5:2 ซึ่งเป็นการจำกัดการกิน 2 วันต่อสัปดาห์ โดยกินแบบปกติในวันอื่น แต่จำกัดการกินในวันอาทิตย์และวันพุธ วันละ 1 มื้อ หรือลดปริมาณแคลอรี่ให้เหลือวันละ 500-600 แคลอรี่ เป็นต้น

ประโยชน์ของการทำ IF: การจำกัดช่วงเวลากินอาหารให้น้อยลง หรือกินเพียงวันละ 1-2 มื้อ ช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับและเพิ่มการเผาผลาญไขมัน นอกจากนี้ยังมีการวิจัยชี้ว่าการลดน้ำหนักแบบ IF อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มทักษะการคิดและการจำ ลดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ  รวมถึงลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทตามอายุที่มากขึ้น และโรคมะเร็งหลายชนิด

ข้อควรระวังในการทำ IF

การอดอาหารในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น เช่น การอดอาหารนาน 1-3 วัน ไม่ได้ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น แต่กลับอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งยังอาจกระตุ้นให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อการอดอาหารด้วยการสะสมไขมันมากขึ้น แทนที่จะเกิดการเผาผลาญไขมัน

ความปลอดภัย: ก่อนการทำ IF เพื่อลดน้ำหนักหรือเพื่อจุดประสงค์อื่นใดก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพราะรูปแบบการกินแบบจำกัดช่วงเวลากินอาจไม่ได้เหมาะสมกับทุกคนและอาจมีผลข้างเคียงตามมา เช่น ปวดศีรษะ ไม่มีแรง หงุดหงิดง่าย คลื่นไส้ ท้องผูก และหากมีอาการเหล่านี้หลังจากทำ IF ควรปรึกษาแพทย์ทันที 

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารแบบ IF ได้แก่

  • เด็กและคนอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และผู้ที่มีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 
  • สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร 
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคการกินผิดปกติ (Eating Disorder) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มทำ

คีโต (Ketogenic Diet: Keto)

อาหารคีโตเป็นการกินแบบ Low Carb ประเภทหนึ่ง มีจุดเด่นที่เน้นกินอาหารไขมันสูงเป็นหลัก กินโปรตีนในปริมาณพอดี และกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณน้อยมาก น้อยกว่า 20-50 กรัมต่อวัน โดยกล้วยขนาดกลาง 1 ลูกนั้นเทียบเท่ากับคาร์โบไฮเดรตประมาณ 30 กรัมแล้ว

การกินคีโตที่แท้จริงอาจทำให้ร่างกายได้รับไขมันถึง 90% ของแคลอรี่จากอาหารทั้งหมด เนื่องจากปกติอาหารประเภทไขมันจะให้แคลอรี่และพลังงานสูงกว่าอาหารประเภทอื่นอยู่แล้ว สำหรับการกินคีโต ใน 1 วันอาจทำให้ได้รับไขมันถึง 165 กรัม โปรตีนประมาณ 75 กรัม และคาร์โบไฮเดรตประมาณ 40 กรัม 

ประโยชน์ของการกินแบบคีโต: การกินแบบคีโตส่งผลให้ร่างกายไม่มีน้ำตาลจากคาร์โบไฮเดรตให้เผาผลาญเป็นพลังงานได้เพียงพอ ร่างกายจึงเข้าสู่ภาวะเผาผลาญไขมันแทน เรียกว่าภาวะคีโตซิส (Ketosis) โดยในกระบวนการนี้จะทำให้เกิดสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่าคีโตน (Ketone) ซึ่งผลิตออกมาจากตับเพื่อสลายไขมันมาเป็นพลังงานให้กับร่างกายโดยเฉพาะ ทั้งนี้ในช่วงเริ่มแรกจะต้องใช้เวลา 2-3 วันร่างกายจึงจะเข้าสู่ภาวะคีโตซิส นอกจากนี้หากกินโปรตีนมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการกินคีโต: การกินคีโตเป็นรูปแบบการกินที่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาว่าการกินอาหารคีโตในระยะยาวจะส่งผลอย่างไรและมีความปลอดภัยหรือไม่

ผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้อาจมีอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการที่ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไปและพยายามปรับไปเผาผลาญไขมันแทน โดยเรียกว่าไข้คีโต (Keto flu) มีอาการที่พบได้ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะ และมีกลิ่นปาก

ความปลอดภัย: การกินแบบคีโตมีความเสี่ยงหลายอย่างด้วยกัน เนื่องจากการกินไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากนั้นอาจส่งผลให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มสูงขึ้นและมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ โดยปริมาณไขมันอิ่มตัวปกติที่แนะนำต่อวันคือ ไม่เกิน 7% ของแคลอรี่ทั้งหมดเท่านั้น 

อาหารคีโตยังมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารหากรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ รวมถึงโรคเกี่ยวกับตับและไต โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหานี้อยู่แล้ว เนื่องจากตับและไตจะต้องทำงานหนักจากกระบวนการเผาผลาญไขมันและโปรตีนที่มากขึ้น 

Paleo Diet หรือ Stone Age Diet อาหารมนุษย์ยุคหิน

เป็นอาหารที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการกินแบบมนุษย์ยุคหินเก่า ซึ่งเป็นอาหารที่ได้จากการล่าสัตว์และเก็บพืชผัก Paleo Diet เน้นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ผักผลไม้ และถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เฮเซลนัท พีแคน พิตาชิโอ รวมถึงเมล็ดพืชต่างๆ และจะจำกัดการกินอาหารที่เพิ่งมีขึ้นหลังจากมนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรรมแล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม มันฝรั่ง ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช น้ำตาลทรายขาว เกลือ และอาหารที่ผ่านการแปรรูปทั้งหลาย เนื่องจากเชื่อว่าร่างกายของเราไม่เหมาะกับอาหารที่ผลิตขึ้นจากการทำฟาร์มซึ่งไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจตามมา

อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งบางส่วนเกี่ยวกับสมมติฐานด้านการเปลี่ยนแปลงอาหารการกินของมนุษย์ที่อาจซับซ้อนมากกว่าที่รูปแบบการกินแบบ Paleo กล่าวอ้าง โดยชี้ว่าอาหารในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิอากาศมีความหลากหลายอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากการทำฟาร์ม อีกทั้งมนุษย์ยุคหินก็รู้จักเก็บธัญพืชป่ามาเป็นอาหารนานแล้ว 

ประโยชน์ของ Paleo Diet: Paleo Diet เป็นอาหารที่เหมาะกับการลดหรือควบคุมน้ำหนัก จากการศึกษาโดยเปรียบเทียบ Paleo Diet กับอาหารสุขภาพดีประเภทอื่นๆ ได้แก่ อาหารเมดิเตอร์เรเนียน และอาหารผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าการกินแบบ Paleo Diet มีประโยชน์ไม่ต่างจากอาหารทั้ง 2 ชนิด ด้วยการเน้นโปรตีนและผักผลไม้เป็นหลักจึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต รวมถึงไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ และทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น

ข้อควรระวังของ Paleo Diet: Paleo Diet มีประโยชน์ไม่แพ้อาหารเพื่อสุขภาพประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตามยังคงไม่มีผลการศึกษาถึงประโยชน์และความเสี่ยงในระยะยาวจากการกินอาหารในรูปแบบนี้ นอกจากนี้ อาหารบางชนิดที่ถูกจำกัดใน Paleo Diet เช่น ธัญพืชเต็ม นม ถั่วเมล็ดแห้ง ก็เป็นอาหารที่มีประโยชน์และอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร 

ความปลอดภัย: ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มกินแบบ Paleo Diet 

อาหารแอสกินต์ (Atkins Diet)

อีกหนึ่งในอาหารลดน้ำหนักประเภท Low Carb ที่งดการกินแป้งและเน้นโปรตีนและไขมันแทน โดยแบ่งวิธีกินเป็น 4 ระยะ ระยะแรกเริ่มจากการจำกัดการกินแป้งให้น้อยกว่าวันละ 20 กรัม โดยเป็นแป้งจากผักเป็นหลัก เพื่อให้ร่างกายเปลี่ยนจากการเผาผลาญแป้งและน้ำตาลมาเป็นเผาผลาญไขมัน หลังจากนั้นค่อยๆ เพิ่มปริมาณแป้งจากอาหารอื่นๆ เพิ่ม เช่น ผลไม้จำพวกเบอร์รี่ ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดพืช จนน้ำหนักลดลงตามเป้าหมายและคงการกินแบบนี้ไปตลอด ทั้งนี้ Atkins Diet ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่ยืดหยุ่นขึ้น โดยจะจำกัดแป้ง 40 กรัม ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่อยากกินให้หลากหลายกว่าเดิม

ประโยชน์ของ Atkins Diet: Atkins Diet ช่วยในการลดน้ำหนัก และการลดน้ำหนักก็มีส่วนช่วยให้สุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าการกินโปรตีนและไขมันในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกตินั้นจะส่งผลต่อภาวะสุขภาพในระยะยาวอย่างไร แต่มีการศึกษาชี้ว่าผู้ที่กินอาหารแบบ Atkins Diet โดยเลือกไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง จะมีสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่เลือกกินไขมันจากสัตว์

ข้อควรระวังของ Atkins Diet: เช่นเดียวกับอาหารเพื่อการลดน้ำหนักประเภทอื่นๆ ก่อนเริ่มกินตามอาหารแบบ Atkins ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หัวใจ โรคไต และคอเลสเตอรอลสูง ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ความปลอดภัย: การงดแป้งอาจมีความเสี่ยงให้เกิดภาวะขาดสารอาหารบางชนิดได้ และเป็นวิธีที่ควรหลีกเลี่ยงในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร 

ไม่มีอาหารลดน้ำหนักชนิดใดที่ดีที่สุด และอาหารชนิดหนึ่งอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน สิ่งสำคัญคือความชอบและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การกินของตัวเองมากที่สุด 

ตามหารูปแบบอาหารลดน้ำหนักที่ใช่และปลอดภัยต่อสุขภาพกับทีมแพทย์และนักโภชนาการพรีโมแคร์ เพิ่มแรงจูงให้ให้การกินเพื่อลดน้ำหนักอย่างต่อเนื่องที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก สอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง