Categories
Uncategorized

ตรวจสุขภาพประจําปี ตรวจอะไรบ้าง? รายการตรวจชาย-หญิงที่แนะนำ

    /    บทความ    /    ตรวจสุขภาพประจําปี ตรวจอะไรบ้าง? รายการตรวจชาย-หญิงที่แนะนำ

ตรวจสุขภาพประจําปี ตรวจอะไรบ้าง? รายการตรวจชาย-หญิงที่แนะนำ

ตรวจสุขภาพประจําปี ตรวจอะไรบ้าง?
รายการตรวจชาย-หญิงที่แนะนำ

เช็คลิสต์รายการตรวจสุขภาพประจำปี 2564 ตรวจอะไรบ้างดี? เจาะลึกรายการตรวจสุขภาพเบื้องต้นในเพศชายและเพศหญิงโดยคุณหมอพรีโมแคร์

การตรวจสุขภาพประจำปีมีส่วนช่วยในการระบุปัญหาสุขภาพตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม เพราะหลายโรคไม่มีสัญญาณเตือนก่อนมาเยือน ดังนั้นยิ่งตรวจเจอเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพแและทันท่วงทีมากขึ้น

หมดข้อสงสัยกับการตรวจสุขภาพประจำปี ต้องตรวจอะไรบ้าง พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก รวบรวมรายการตรวจสุขภาพประจำปีที่คุณอาจได้รับมาให้คุณลองเช็คลิสต์เพื่อเตรียมความพร้อมในบทความนี้ 

ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี?

  • ตรวจเช็กโรคที่เป็นอยู่และโรคที่ยังไม่แสดงอาการ
  • ประเมินความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ
  • รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคประจำปี
  • ประเมินพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อรับแนวทางปรับเปลี่ยนให้มีสุขภาพดียิ่งขึ้น
  • สร้างแรงผลักดันในการดูแลสุขภาพ

ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง? 

ซักประวัติสุขภาพ

ขั้นตอนเริ่มแรกของการตรวจสุขภาพคือการพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพ เช่น มีโรคประจำตัว เคยมีอาการเจ็บป่วย หรือได้รับการผ่าตัดมาก่อนหรือไม่ รวมไปถึงประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว พฤติกรรมการใช้ชีวิต น้ำหนัก รอบเอว ส่วนสูง พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหาร

หากประเมินว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น คนในครอบครัวมีโรคบางชนิดที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม แพทย์มักแนะนำให้รับการตรวจสุขภาพสำหรับโรคนั้นบ่อยขึ้นและเริ่มตรวจในวัยที่เร็วกว่าเกณฑ์การตรวจทั่วไป โดยในช่วงที่พูดคุยกับแพทย์นี้ เรายังสามารถสอบถามหากมีความกังวลเรื่องสุขภาพด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลป้องกันปัจจัยที่เสี่ยงต่อโรคต่างๆ

ตรวจวัดสัญญาณชีพ

  • ตรวจความดันโลหิต ค่าความดันปกติควรอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 120/80 หากเกินกว่า 130/80 จะเข้าข่ายภาวะความดันสูง
  • ควรตรวจทุก 2 ปี หากมีอายุต่ำกว่า 40 ปี และไม่มีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง 
  • ควรตรวจทุกปี หากอายุมากกว่า 40 ปี หรือเคยมีความดันโลหิตสูง หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจวาย 
  • ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ โดยปกติจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที แต่ก็เป็นไปได้ที่บางคนจะมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที โดยที่ไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ
  • ตรวจอัตราการหายใจ คนทั่วไปจะหายใจประมาณ 12-16 ครั้งต่อนาที อัตราการหายใจที่มากกว่า 20 ครั้งต่อนาทีอาจบ่งบอกถึงโรคหัวใจหรือโรคปอดได้
  • ตรวจอุณหภูมิร่างกาย อุณหภูมิปกติของคนเราอยู่ที่ประมาณ 37°c อาจต่ำหรือสูงกว่านี้ได้เล็กน้อย

ตรวจร่างกายภายนอก 

เป็นการสังเกตร่างกายส่วนต่างๆ ภายนอก ว่ามีสัญญาณของปัญหาสุขภาพใดๆ หรือไม่ ได้แก่ ศีรษะ ดวงตา หน้าอก ท้อง ผิวหนัง รวมทั้งประเมินการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกจากการสังเกตมือ ข้อมือ ตลอดจนการทำงานของระบบประสาท เช่น การพูด การเดิน

ตรวจเลือด

เป็นการเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูความผิดปกติของการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและตรวจสารเคมีในเม็ดเลือด เพื่อดูความผิดปกติของตับ ไต และระบบภูมิคุ้มกัน 
  • ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • ตรวจน้ำตาลในเลือดหาเบาหวาน
  • ตรวจไขมันในเลือด ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดในสมอง

ตรวจตามปัจจัยเสี่ยง

  • ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยใช้วิธีตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ มักเริ่มตรวจเมื่ออายุ 50 ปี หรือเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีในผู้ที่มีความเสี่ยงและมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ นอกจากนี้หากมีความเสี่ยงสูงอาจแนะนำให้ตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ปี
  • ตรวจมะเร็งปอด แนะนำให้ตรวจในผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน โดยมักเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป
  • ตรวจเบาหวาน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร หรือตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน น้ำหนักเกินมาตรฐาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คำแนะนำในการตรวจขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพทางเพศและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) ในผู้ที่มักมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และตรวจโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้มีความเสี่ยง
  • ตรวจประเมินภาวะซึมเศร้า ประเมินสุขภาพจิตว่ามีภาวะซึมเศร้าที่หลายคนอาจเป็นโดยไม่รู้ตัวหรือไม่
  • ตรวจสุขภาพตา คัดกรองโรคตาที่มีความเสี่ยงเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น เช่น ต้อหิน ต้อกระจก เบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาเสื่อม 
    • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปควรรับการตรวจตาทุกปี 
    • ผู้ที่มีสายตาปกติควรตรวจสายตาทุก 2 ปี ส่วนผู้ที่ใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ควรตรวจสายตาทุกปี เพื่อปรับเลนส์ให้เหมาะสมกับระดับความสั้นยาวของสายตา 

ตรวจสุขภาพเพศหญิง

  • ตรวจมะเร็งเต้านม โดยการตรวจแมมโมแกรม ควรตรวจทุก 2 ปี ในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงและมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมอาจเริ่มตรวจเร็วขึ้นและตรวจบ่อยขึ้น
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทำได้โดยการตรวจแปปสเมียร์ หรือ HPV DNA โดยหากเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป 
    • การตรวจแปบสเมียร์ เป็นการป้ายเซลล์จากมดลูกเพื่อส่งไปตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ ควรตรวจทุกๆ 2 ปี สามารถหยุดตรวจได้เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป หากไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 5 ครั้ง 
    • การตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจเจาะลึกระดับดีเอ็นเอที่สามารถค้นหาเชื้อเอชพีวี (HPV) ได้ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจทุก 5 ปี สามารถหยุดตรวจได้เมื่ออายุ 65 ปี หากไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 2 ครั้ง  
  • ตรวจภายใน แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี และตรวจเป็นประจำทุกปี เพื่อหาสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และความผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและช่องคลอด
  • ตรวจคอเลสเตอรอล ผู้หญิงควรเริ่มตรวจคอเลสเตอรอลเป็นประจำตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี
  • ตรวจภาวะกระดูกพรุน โดยการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือเร็วกว่านั้น หากมีโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อมวลกระดูก

ตรวจสุขภาพเพศชาย

  • ตรวจคอเลสเตอรอล ผู้ชายควรเริ่มตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 35 ปี แต่หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี
  • ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือเริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปี หากมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว
  • ตรวจอัณฑะ เป็นการตรวจโดยคลำหาก้อนเนื้อและความเปลี่ยนแปลงของขนาดลูกอัณฑะ ควรตรวจเป็นประจำทุกปี และสามารถตรวจเบื้องต้นด้วยตนเองทุกๆ เดือนได้
  • ตรวจการโป่งพองของหลอดเลือดแดง เป็นการตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ที่แนะนำในชายอายุ 65-75 ปี ที่มีประวัติการสูบบุหรี่

อัปเดตวัคซีนประจำปี

นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพ แพทย์อาจสอบถามประวัติการรับวัคซีนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมประจำปีด้วย เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ควรฉีดทุกปี วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน ที่ควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี รวมถึงวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น วัคซีนโรคปอดบวม งูสวัด เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การตรวจสุขภาพประจำปีก็คือการไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องสุขภาพหรือปัญหาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ โดยอาจเลือกหาหมอที่คลินิกใกล้บ้านเพื่อให้เดินทางได้สะดวก และมีเวลาพูดคุยกันมากขึ้น 

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ส่งผลให้แพทย์มองเห็นภาพรวมการดูแลสุขภาพและรู้รายละเอียดในการป้องกันโรคต่างๆ มากขึ้นด้วยข้อมูลที่ได้รับจากคนไข้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายการตรวจสุขภาพประจำปีที่จำเป็นและเหมาะสมกับอายุ ไลฟ์สไตล์ และภาวะสุขภาพของเราที่สุด

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก บริการสุขภาพใกล้บ้านที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิด ‘รู้จัก ก่อนรักษา’ เลือกคุณหมอพรีโมแคร์ เป็นหมอประจำตัวที่ช่วยประเมินความเสี่ยงและแนะนำรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะกับคุณในทุกปี ได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

    /    บทความ    /    กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ
เหมาะกับใครบ้าง?

กายภาพบำบัดคืออะไร ใครที่ควรทำกายภาพบำบัด? ทำความรู้จักกายภาพบำบัด ศาสตร์เป็นทั้งการรักษา ป้องกัน และฟื้นฟูส่งเสริมสุขภาพ

เมื่อได้ยินคำว่า ‘กายภาพบำบัด’ หลายคนอาจนึกถึงการรักษาอาการปวดหลังหรือการฟื้นฟูร่างกายหลังอาการบาดเจ็บเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วกายภาพบำบัดเป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพอีกหลากหลายด้าน มาดูกันว่าวิธีรักษาทางกายภาพบำบัดที่นอกเหนือจากการนวดนั้นมีอะไรบ้าง นักกายภาพบำบัดมีหน้าที่อะไร และใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากการทำกายภาพบำบัด

นิยามของคำว่า ‘กายภาพบำบัด’

กายภาพบำบัดคือศาสตร์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งในแง่ของการป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพด้วยวิธีการต่างๆ ทางกายภาพ เช่น การออกกำลังกาย การนวด การดัด ดึง และขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกระดูก การรักษาด้วยไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น การฝังเข็ม เป็นต้น 

นักกายภาพบำบัด ช่วยอะไรได้บ้าง?

กว่าจะเป็นนักกายภาพบำบัดได้นั้น ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างสูง ต้องมีความรู้และทักษะการฟื้นฟูร่างกายในระบบต่างๆ ตั้งแต่ระบบประสาท กล้ามเนื้อและกระดูก หัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงระบบทางเดินหายใจ 

เป้าหมายหลักของนักกายภาพบำบัดคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยจะช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพ บรรเทาความเจ็บปวด ฟื้นฟูร่างกายส่วนต่างๆ ให้กลับมาทำงานตามปกติ รวมถึงป้องกันการเสื่อมสภาพของร่างกายในผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่พิการถาวรจากอุบัติเหตุ ซึ่งในขั้นตอนการรักษาจะให้ความสำคัญกับภาพรวมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่งที่เกิดการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บเท่านั้น 

หากยังนึกภาพไม่ออกว่ากายภาพบำบัดจะส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร ลองดูตัวอย่างการทำงานหลักๆ ของนักกายภาพบำบัดต่อไปนี้

  • การให้ความรู้และคำแนะนำ โดยเน้นเกี่ยวกับการป้องกันอาการบาดเจ็บจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง เช่น สอนท่าทางการเดิน การนั่งทำงาน วิธีการยกของหนัก ท่ายืดกล้ามเนื้อและท่ากายบริหารที่ทำได้เองที่บ้าน รวมถึงการสอนเทคนิคเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา
  • การรักษาด้วยมือ เช่น การดัด ดึง ขยับข้อต่อ รวมถึงเทคนิคอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาความปวดเมื่อย ยืดคลายการตึงของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย การไหลเวียนของเลือด และการระบายน้ำเหลือง
  • การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย เป็นการแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพร่างกายและอาการเจ็บป่วยของแต่ละคน รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อหรือเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ
  • การใช้เครื่องมือหรือเทคนิคอื่นๆ ในการรักษา เช่น การบำบัดด้วยไฟฟ้า คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ การรักษาโดยใช้ความร้อนหรือความเย็น การใช้เครื่องดึงหลัง ดึงคอ การทำธาราบำบัด การฝังเข็ม เป็นต้น 

กายภาพบำบัด มีประโยชน์กับใคร?

บทบาทของกายภาพบำบัดไม่ได้จำกัดแค่การรักษาและฟื้นฟูร่างกายจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอย่างที่หลายคนคุ้นเคย แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การบริหารร่างกายเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ การแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เป็นต้น

นักกายภาพบำบัดนั้นดูแลผู้ป่วยทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ และเป็นการดูแลที่ครอบคลุมหลากหลายระบบในร่างกาย

  • ระบบกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดขา การป้องกันและรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ หรือการทำงาน รวมถึงผู้ป่วยที่กระดูกหัก ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด และผู้ที่มีความพิการจากการสูญเสียอวัยวะ
  • ระบบประสาทและสมอง เช่น ปัญหาการเคลื่อนไหวที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส โรคพาร์กินสัน ผู้ที่มีภาวะสมองพิการแต่กำเนิด และผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือไขสันหลัง 
  • ระบบหัวใจและการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคหัวใจ และการบำบัดรักษาหลังจากภาวะหัวใจวาย
  • ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

ขั้นตอนการพบนักกายภาพบำบัด

สำหรับการพบนักกายภาพบำบัด หากเป็นในโรงพยาบาลเรามักจะได้รับการส่งต่อจากแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ในกรณีที่เห็นว่ามีปัญหาที่ต้องได้รับการรักษาฟื้นฟู หรือรับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด แต่หากเป็นคลินิกทั่วไปหรือคลินิกกายภาพบำบัด ก็สามารถติดต่อรับการรักษากับนักกายภาพโดยตรงได้เลย

กายภาพบำบัดเรียกได้ว่าเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในทุกระยะของการรักษา ตั้งแต่การซักประวัติเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง การฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาสมบูรณ์ที่สุด ไปจนถึงการป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นซ้ำ

นอกจากนี้ในการหาสาเหตุและให้คำแนะนำการรักษา นักกายภาพบำบัดจะคำนึงถึงปัยจัยอื่นๆ ทั้งไลฟ์สไตล์ ลักษณะการงาน อารมณ์ ความคิด ไปจนถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย เพราะเชื่อว่าทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยและส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจของผู้ป่วยได้

ปวดเมื่อย ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม ให้ทีมกายภาพบำบัดพรีโมแคร์ช่วยค้นหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด รวดเร็ว ไม่ยื้อเวลาเจ็บป่วย คลิกดูบริการตรวจวิเคราะห์โครงสร้างร่างกาย และบริการกายภาพบำบัดที่หลากหลายได้ที่นี่ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ LINE @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

    /    บทความ    /    ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ประโยชน์ฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ประโยชน์ฟ้าทะลายโจร
รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ฟ้าทะลายโจรกับสรรพคุณรักษาโควิด คำแนะนำล่าสุดในการใช้ และข้อควรระวังที่ควรรู้ กินฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดได้หรือไม่?

เป็นที่สับสนกันไม่น้อยเกี่ยวกับประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรต่อการป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19 ฉบับอัปเดตล่าสุดมาฝาก ทั้งด้านสรรพคุณ ขนาดการใช้ และข้อควรระวังในการใช้ ตอบทุกข้อสงสัยในบทความนี้

สรรพคุณฟ้าทะลายโจรต่อการรักษาโรค

คุณประโยชน์ทางยาของฟ้าทะลายโจรที่มีการศึกษาวิจัยในไทยและต่างประเทศรองรับมี 4 อย่างด้วยกัน

  • บรรเทาอาการหวัด มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานฟ้าทะลายโจรอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ต่างสามารถบรรเทาอาการไอและเจ็บคอในผู้ป่วยโรคหวัดได้ 
  • บรรเทาอาการอักเสบและแก้ปวด งานวิจัยบางงานพบว่าการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรทุกวันช่วยลดอาการเจ็บปวดและความฝืดของข้อเข่าในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการไม่รุนแรงไปถึงระดับปานกลาง
  • ลดการติดเชื้อในคอและต่อมทอนซิล การรับประทานฟ้าทะลายโจรวันละ 6 กรัมช่วยลดอาการไข้และอาการปวดจากต่อมทอนซิลอักเสบได้เทียบเท่ากับการใช้ยาพาราเซตามอล
  • ลดการอักเสบของลำไส้ มีงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ช่วยลดอาการของโรคลำไส้อักเสบได้พอๆ กับการใช้ยารักษาโรคลำไส้อักเสบอย่างเมซาลามีน (Mesalamine) เลยทีเดียว

ฟ้าทะลายโจร กับการรักษาโรคโควิด-19

ในประเทศไทยมีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรต่อโรคโควิด-19 มาได้ระยะหนึ่งแล้วโดยจากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงแบคทีเรียบางชนิด 

ด้านการศึกษาทางคลินิก มีการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงจำนวน 80 ราย ผลพบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-5 โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง มีเพียงอาการถ่ายเหลวเล็กน้อยเท่านั้น

เช่นเดียวกับการวิจัยอีกงานหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 304 รายที่มีอาการไม่รุนแรง รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide  180 มิลลิกรัม/วัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ผลพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง มีเพียงอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือถ่ายเหลวในระดับที่ไม่รุนแรงเท่านั้น

เมื่อวันที่ 4 มิถุยายน คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงได้ประกาศแนวทางการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ระบุว่าต้องเป็นการสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น โดยให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ในปริมาณ 180 มิลลกรัมต่อวัน แบ่งใช้ 3 ครั้ง และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการควบคุมปริมาณสาร Andrographolide ด้วย

ปริมาณการใช้ฟ้าทะลายโจร

  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 180 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 60 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น เป็นเวลานาน 5 วัน
  • เสริมภูมิคุ้มกัน
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 10 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน เว้น 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 12 สัปดาห์ 
  • บรรเทาอาการหวัด เช่น ไอ เจ็บคอ
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 60-120 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-40 มิลลิกรัม แต่หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์

การใช้ฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสาร Andrographolide สูงและติดต่อนานเกินไปอาจทำให้ค่าการทำงานของเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้นได้ ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมไม่ควรเกินวันละ 180 มิลลิกรัม และไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 วัน

ปริมาณการใช้ยาสำหรับฟ้าทะลายโจรแต่ละยี่ห้อ

ฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในตลาดมีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อมีปริมาณสาร Andrographolide ในปริมาณที่แตกต่างกันไป เพื่อการใช้ที่ถูกต้องปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงขนาดยาที่ควรใช้ หรือตรวจสอบปริมาณการใช้ยาฟ้าทะลายโจรเบื้องต้นได้ที่นี่ ตามข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนให้ระวังผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรปลอมที่แอบอ้างเลข อย. จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ โดยอาจใช้ชื่อการค้าใหม่หรือชื่อการค้าเดิม หรือหลอกลวงว่ามีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบสำคัญ ก่อนซื้อควรตรวจสอบเลขที่ผลิตภัณฑ์กับทางเว็บไซต์ของอย. เสมอ และสังเกตเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร จะต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G คลิกเพื่อตรวจเลขอย.ที่นี่

ฟ้าทะลายโจร ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 

การทดลองพบว่าฟ้าทะลายโจรไม่สามารถยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

ข้อควรระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานอย่างเหมาะสม แต่ก็อาจทำให้มีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์บางอย่างเกิดขึ้นได้ เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน มีผื่นขึ้น ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ น้ำมูกไหล และรู้สึกอ่อนเพลีย นอกจากนี้หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต หรือส่งผลให้ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นได้

บุคคลต่อไปนี้ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร 

  • ห้ามใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์ทันที
  • ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคตับและไต

บุคคลต่อไปนี้ควรระมัดระวังการใช้ฟ้าทะลายโจร โดยปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

  • ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคเอ็มเอส โรคเอสแอลอีหรือลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพราะอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้น
  • ผู้ที่มีโรคความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือฟกช้ำ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรอาจชะลอการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เพราะอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลงและความดันโลหิตลดต่ำลงได้ในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัดแล้ว 

สำหรับเด็ก การรับประทานฟ้าทะลายโจรในระยะสั้นๆ นั้นอาจปลอดภัย โดยมีงานวิจัยที่ให้เด็กอายุ 3-15 ปี ใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นเวลาไม่เกิน 1 เดือน

ข้อห้ามการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาอื่น

เพื่อความปลอดภัยก่อนใช้ฟ้าทะลายโจรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยารักษาโรค อาหารเสริม หรือสมุนไพรอื่นๆ 

ยาที่ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกัน เนื่องจากอาจทำปฏิกิริยากับฟ้าทะลายโจร ได้แก่

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและต้านเกล็ดเลือด อาจออกฤทธิ์เสริมกัน ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกและมีจ้ำเขียว เช่น Aspirin, Clopidogrel, Diclofenac, Ibuprofen, Naproxen, Dalteparin, Enoxaparin, Heparin, Warfarin
  • ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจออกฤทธิ์เสริมกันจนทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำเกินไป เช่น Captopril, Enalapril, Losartan, Valsartan, Diltiazem, Amlodipine, Hydrochlorothiazide, Furosemide
  • ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน อาจออกฤทธิ์ต้านกันจนทำให้ลดประสิทธิภาพยากดภูมิคุ้มกัน เช่น Azathioprine, Basiliximab, Cyclosporine, Daclizumab, Muromonab-CD3, Mycophenolate, Tacrolimus, Sirolimus, Prednisone, Corticosteroids

พรีโมแคร์ ดูแลทุกเรื่องสุขภาพ คลิกดูบริการของเราที่นี่ ต้องการปรึกษาแพทย์หรือรับบริการสุขภาพ นัดหมายได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

    /    บทความ    /    Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน
ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาโควิด-19 ที่บ้าน ใครบ้างที่ทำได้ ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนเข้าระบบและแนวทางปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?

สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤตจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน ทำให้เริ่มมีการนำการรักษาในรูปแบบ Home Isolation หรือ Self Isolation ซึ่งเป็นการแยกตัวผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้รักษาตัวที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยอาการหนักมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น และลดปัญหาจำนวนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอรองรับจำนวนผู้ป่วย

Home Isolation ในประเทศไทยมีขั้นตอนการรับเข้าระบบอย่างไรบ้าง ใครสามารถทำได้ ใครที่ไม่ควรทำ และมีข้อปฏิบัติตัวอย่างไรในระหว่างที่แยกตัว คุณหมอพรีโมแคร์ชวนคุณมาหาคำตอบในบทความนี้

แยกตัวรักษา (Isolation) กับกักตัว (Quarantine) ต่างกันอย่างไร?

การกักตัวหลังมีความเสี่ยง (Quarantine) คือการแยกกักตัวเนื่องจากมีความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนการแยกตัวรักษา (Home Isolation) คือการรักษาผู้ที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าติดเชื้อ โดยให้แยกตัวจากคนอื่นในบ้าน อยู่ในพื้นที่ที่แยกจากกัน เพื่อไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ใครบ้างที่เหมาะกับการแยกรักษาตัวที่บ้าน? 

ปัจจุบันมีการแบ่งผู้ป่วยตามอาการเป็น 3 ระดับ คือ ผู้ป่วยอาการสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยจะแนะนำให้พักรักษาตัวและสังเกตอาการที่บ้านก็ต่อเมื่อประเมินว่าแล้วเป็นผู้ป่วยในระดับอาการสีเขียว คือ 

  • ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเหมือนไข้หวัดปกติ 
  • ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ 

ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับ Home Isolation?

  • ผู้ป่วยอาการสีเหลือง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 
    • มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอายุ 60 ปีขึ้น มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ภูมิคุ้มกันต่ำ มีเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000
    • มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกขณะทำกิจกรรม หายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ไอแล้วเหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปอดอักเสบ หรือถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
  • ผู้ป่วยอาการสีแดง คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย พูดแล้วเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค คำพูดไม่ปะติดปะต่อฟังไม่รู้เรื่อง แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จะต้องรีบเข้ารับการเอกซเรย์ปอด

ขั้นตอนการเข้าระบบ Home Isolation

  1. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อเข้าระบบ Home Isolation ในช่องทางต่อไปนี้ 
    1. ผู้มีสิทธิบัตรทอง โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14
    2. ผู้มีสิทธิประกันสังคม โทรสายด่วน 1506 กด 6 
    3. กรอกข้อมูลลงทะเบียนออนไลน์ทางเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/  
    4. ติดต่อทีมบุคลากรทางการแพทย์อาสาทางแอปพลิเคชัน Line @FammedCoCare
    5. แจ้งจิตอาสาในชุมชนที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชนตามอาการและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยจะส่งรายละเอียดของผู้ป่วยให้กับทีมแพทย์พยาบาล จากนั้นซักประวัติ คัดกรองข้อมูล และสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยผ่านระบบ Telehealth
  2. หากแพทย์ประเมินว่าอาการของผู้ป่วยอยู่ในระดับสีเขียว จะนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระบบ Home Isolation ต่อไป ส่วนในกรณีที่มีระดับอาการเป็นสีเหลือง (รอเตียง) หรือสีแดง (ต้องเข้ารับการรักษาทันที) จะมีทีมพยาบาลและจิตอาสาประสานงานจัดหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาจากหน่วยพยาบาลในเครือข่ายโดยเร็วที่สุด
  3. เมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้ว จะมีทีมพยาบาลให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและคอยติดตามอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE และมีการโทรสอบถามอาการในช่วงเช้า และเย็นทุกวัน เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
  4. ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation ทั้งในเครือข่ายชุมชนและสปสช. จะได้รับอาหาร 3 มื้อทุกวัน รวมทั้งถุงยังชีพและของใช้ที่จำเป็น ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ จนกว่าจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือหายป่วย
  5. หากมีอาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในระหว่างประสานรอเตียงผู้ป่วย
  6. ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ทีมงานจะส่งต่อข้อมูลและรายชื่อผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย โดยการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยต้องผ่านทางแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อได้รับยาแล้ว จะมีทีมพยาบาลไปด้วยเพื่ออธิบายการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย

แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในช่วง Home Isolation

  • อยู่แต่เฉพาะในบ้าน และงดให้คนอื่นมาเยี่ยม
  • อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา และปิดประตูไว้เสมอ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนอื่นในบ้านให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และเด็กเล็ก
  • เปิดหน้าต่างภายในห้องหากไม่ได้เชื่อมต่อกับห้องอื่นๆ ในบ้าน รวมถึงเปิดหน้าต่างภายในบ้านเพื่อเพิ่มการระบายอากาศและลดการสะสมของไวรัส
  • ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรรอใช้เป็นคนสุดท้าย รวมทั้งทำความสะอาดตามโถสุขภัณฑ์และพื้นผิวที่สัมผัสทุกครั้งหลังใช้ด้วยน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 5% ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:99 หรือน้ำยาเข้มข้น 0.5% ในอัตราส่วน 1:9
  • หากมีอาการไอ จาม ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้จะอยู่ในห้องส่วนตัว และควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แทนหน้ากากผ้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ภายในบ้านร่วมกับผู้อื่นในเวลาไล่เลี่ยกัน เว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตรและสวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อต้องเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ในห้องเดียวกัน 
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และห้ามรับอาหารจากผู้ส่งอาหารโดยตรง
  • หากไอจามขณะใส่หน้ากากอนามัย ไม่ต้องใช้มือปิดปากหรือถอดหน้ากาก เพราะอาจทำให้มือสัมผัสเชื้อ หากไม่ได้ใส่หน้ากากให้ใช้ทิชชู่ปิดปากแล้วทิ้งโดยมัดถุงทันที หรือยกต้นแขนด้านในขึ้นมาปิดปากและจมูกไว้ 
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% แทนในกรณีที่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก และดวงตาโดยไม่ได้ล้างมือก่อน
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หรือทำความสะอาดทุกอย่างที่ใช้ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดก่อน
  • เช็ดทำความสะอาดสิ่งของและบริเวณต่างๆ ในบ้านที่มีการสัมผัสร่วมกันเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู โซฟา โต๊ะกินข้าว
  • มารดาที่ต้องให้นมบุตร สามารถให้นมได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีรายงานการพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตรทุกครั้ง

ระหว่างนี้ อย่าลืมดูแลตัวเองโดยพักผ่อนให้มากและดื่มน้ำให้เพียงพอ และหากมีอาการแย่ลงควรโทรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที

เมื่อไรถึงจะหยุด Home Isolation ได้?

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การหยุด Home Isolation ควรปรึกษาและให้แพทย์ประเมินก่อนเสมอ เนื่องจากมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลัง Home Isolation ดังนี้

ในกรณีที่คาดว่าติดเชื้อ/ตรวจพบว่าติดเชื้อ/มีอาการโควิด-19 อาจออกจากการ Home Isolation หากเข้าเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • แยกตัวครบ 10 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และ
  • ไม่มีไข้ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และ
  • มีอาการดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย 

ทั้งนี้บางอาการอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายสัปดาห์แม้จะไม่มีเชื้อแล้วก็ตาม เช่น ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าปลอดภัยแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้หยุดแยกตัวรักษาได้

ส่วนคนที่ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ สามารถหยุด Home Isolation ได้ หากยังคงไม่มีอาการอย่างต่อเนื่อง และแยกตัวครบ 10 วันแล้วหลังทราบผลตรวจ

มีปัญหาสุขภาพหรือความกังวลใจเรื่องใด ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่ ยับยั้งโควิด-19 ได้จริงไหม?

    /    บทความ    /    Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่ ยับยั้งโควิด-19 ได้จริงไหม?

Herd Immunity ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ความหวังในการควบคุมโควิด-19

Herd Immunity ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’
ความหวังในการควบคุมโควิด-19

Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19​ คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร มีความเป็นไปได้แค่ไหน และต้องใช้เวลานานเท่าไรถึงจะเกิดขึ้น

Herd Immunity (เฮิร์ด อิมมูนิตี้) หรือ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ คือการที่ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากพอ จนทำให้อัตราการแพร่กระจายของโรคถูกจำกัดให้น้อยลงในระดับที่ควบคุมได้ และยังเป็นการปกป้องกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ในทางอ้อมไปพร้อมกันด้วย

แม้ Herd immunity คือความหวังที่เราทุกคนจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ ทว่าในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รวดเร็วและไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองก็ต่างตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนและต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19 จึงจะเกิดขึ้น

Herd Immunity สำคัญต่อการควบคุมโรคติดต่ออย่างไร?

โดยทั่วไปภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นมีมากกว่าจำนวนคนที่จะติดเชื้อ หรือเป็นอัตราของประชากรอย่างน้อยที่สุดที่ต้องมีภูมิคุ้มกัน (Herd immunity threshold) ถึงจะทำให้การติดต่อของโรคลดน้อยลงเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น หาก 80% ของประชากรมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส นั่นหมายความว่าในทุกๆ 5 คน จะมี 4 คนที่จะไม่เกิดการเจ็บป่วยและไม่แพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น ส่งผลให้อัตราคนที่ป่วยลดน้อยลงมาก 

ทำยังไงถึงจะเกิด Herd Immunity?

ภูมิคุ้มกันหมู่นั้นเกิดขึ้นได้จาก 2 ทาง คือการติดเชื้อโดยธรรมชาติ และการฉีดวัคซีน

การติดเชื้อโดยธรรมชาติ ทำให้ร่างกายจดจำโรคและสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อสู้เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เพื่อป้องกันการติดซ้ำอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อจำนวนมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นนั้นไม่ใช่วิธีที่ยอมรับได้ทางวิทยาศาสตร์และทางศีลธรรม เพราะจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอและเกิดภาวะล้มเหลวจนมีคนล้มตายจำนวนมาก

นอกจากนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติยังมีข้อกำจัดตรงที่ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำอีกครั้งหลังหายจากอาการป่วยได้

การฉีดวัคซีนป้องกันโรค สามารถสร้าง Herd Immunity ขึ้นได้เมื่อมีคนจำนวนมากพอได้รับวัคซีนโควิด-19 และเกิดภูมิคุ้มกันต่อสู้โรคโดยไม่จำเป็นต้องติดเชื้อจริงๆ โดยเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จในการช่วยควบคุมโรคติดต่อมาแล้วมากมายในอดีต เช่น โปลิโอ อีสุกอีใส หัดเยอรมัน และโรคคอตีบ

วัคซีนโควิด-19 จะนำไปสู่ Herd immunity ได้หรือไม่? 

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือทางเลือกที่ดีที่สุดในการสร้างภูมิคุ้มกันทางอ้อมให้คนที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ เช่น เด็กแรกเกิด หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทั้งยังเป็นการช่วยยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันหมู่นี้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นได้ในไม่เร็วก็ช้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่น่ากังวลหลายอย่าง เช่น ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของวัคซีนที่ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นจนปฏิเสธการรับวัคซีน การกลายพันธุ์ของเชื้อที่ส่งผลให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง และปัญหาการขาดแคลนวัคซีนและการกระจายวัคซีนที่ไม่ครอบคลุม 

นอกจากนี้ แม้ประชาชนในพื้นที่หนึ่งจะได้รับวัคซีนในอัตราที่สูง แต่หากบริเวณรอบข้างยังไม่ได้รับวัคซีน เมื่อเกิดการรวมกันของคนต่างพื้นที่ ก็ง่ายที่จะเกิดการแพร่กระจายขึ้นอีกครั้งได้

ต้องมีภูมิคุ้มกันร้อยละเท่าไรถึงจะเกิด Herd Immunity? 

ตามหลักการแล้ว ยิ่งเป็นโรคที่ติดต่อง่ายเท่าไรก็ยิ่งต้องมีสัดส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นเท่านั้น เช่น การระบาดของโรคหัดในอดีตที่คาดการณ์ว่าต้องสร้างภูมิคุ้มกันถึงร้อยละ 94 ของประชากรจึงจะยับยั้งการแพร่ระบาดได้

สำหรับเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกาคาดว่าจำนวนผู้มีภูมิคุ้มกันอย่างน้อยที่สุดที่เพียงพอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 80% แต่หากเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดง่ายขึ้นหรือส่งผลให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้วยังคงติดเชื้อและแพร่เชื้อได้อยู่ การคาดการณ์นี้ก็อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

คาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดกับภูมิคุ้มกันหมู่

ในภาวะที่ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และไม่มีการฉีดวัคซีนมากพอ เราอาจต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นเรื่อยๆ 

โดยนอกจากการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกสิ่งที่น่ากังวลก็คือการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนของผู้ติดเชื้อ ทำให้เราต้องรับมือกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดต่อกันได้ง่ายขึ้น มีอาการรุนแรงกว่าเดิม หรือลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ลงไป

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เราสามารถฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากโดยเร็ว ในขณะที่ก็ยังคงเว้นระยะห่างและปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันขั้นพื้นฐาน และมีระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ แม้ Herd Immunity จะไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อไปได้มาก และย่อมมีความหวังในการเข้าใกล้การควบคุมการระบาดครั้งนี้มากขึ้น

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมดูแลทุกเรื่องสุขภาพ อ่านเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ตลอดจนวิธีการป้องกันตัวคุณเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัย พร้อมก้าวผ่านวิกฤติด้วยสุขภาพกายและใจที่ดีได้ที่นี่

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

    /    บทความ    /    Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร?
ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อ ไม่ติดต่อ แต่ทำไมยังไม่หายดี? เช็คลิสต์อาการ Long Covid และวิธีรับมือด้วยตนเองในเบื้องต้น

ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแตกต่างกันไป ตั้งแต่หลักวันถึงหลักสัปดาห์ แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่พบอาการในลักษณะ ‘Long Covid’ ซึ่งทางการแพทย์ใช้นิยามอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนหลังจากพบการติดเชื้อ และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะคงอยู่นานแค่ไหน และอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดขึ้น

อาการของ Long Covid

จากรายงานพบว่าแม้ผู้ป่วยจะมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการใดๆ ในระหว่างที่ติดเชื้อ ก็ยังมีโอกาสเกิดอาการแบบ Long Covid ได้อยู่ดี โดยอาจเกิดขึ้นในทันทีหรือหลายสัปดาห์หลังจากติดเชื้อก็ได้ทั้งนั้น

อาการ Long Covid ของผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกันไปและกินเวลายาวนานไม่เท่ากัน โดยที่พบได้บ่อย คือ 

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • หายใจลำบาก หายใจถี่
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ
  • ไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ คิดอะไรไม่ค่อยออก
  • มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ
  • ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ปวดตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • ปวดหู หูอื้อ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร
  • มีไข้ ไอ เจ็บคอ การรับรู้รสและและกลิ่นบกพร่อง
  • ผื่นขึ้น มีอาการเหน็บชา

นอกจากนี้ มีรายงานชี้ว่าบางรายอาจมีอาการแย่ลงหลังจากทำกิจกรรมที่ใช้กำลังหรือใช้ความคิดได้

Long Covid พบได้บ่อยแค่ไหน?

ปัจจุบันมีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการ Long Covid มากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากสถิติผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2021 มีจำนวนประมาณ 1.1 ล้านคน ที่มีอาการนานกว่า 4 สัปดาห์ตั้งแต่พบการติดเชื้อ ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 2 ใน 3 มีอาการยาวนานกว่า 12 สัปดาห์

งานวิจัยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่ติดตามผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คนที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าผู้ป่วย 7 ใน 10 ยังมีอาการไม่ฟื้นตัวเต็มที่แม้จะออกจากโรงพยาบาลไปแล้วนานกว่า 5 เดือนด็ตาม

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ชี้แจงว่า อาการที่เกิดขึ้นระยะยาวนี้สามารถเกิดขึ้นในการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นได้เช่นกัน ไม่ได้เป็นอาการเฉพาะตัวของโควิด-19 และผู้ที่อาการเริ่มแรกรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มักจะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า 5 เดือนอยู่แล้ว แต่ก็มีอีกรายงานหนึ่งที่ชี้ว่าอาการ Long Covid อาจคงอยู่ได้นานกว่า 12 เดือน โดยพบได้ทั้งในกลุ่มที่อาการรุนแรงและไม่รุนแรงในระยะเริ่มแรก

ใครบ้างที่เสี่ยงมีอาการ Long Covid?

ข้อมูลจากงานวิจัยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2020 ที่เก็บข้อมูลจากแอปพลิเคชันศึกษาอาการโควิด-19 (COVID Symptom Study) และอีกงานวิจัยจากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ที่ชี้ว่าอาการแบบ Long Covid อาจมีความเสี่ยงในบุคคลต่อไปนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ 

  • ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-49 ปี พบเพียงประมาณ 10% ในขณะที่ 22% เป็นผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นตามตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้น 
  • ผู้หญิง พบได้มากกว่าผู้ชาย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหอบหืด โรคอ้วน  
  • ผู้ที่มีอาการรุนแรง โดยมีเกณฑ์วัดจากการมีอาการตั้งแต่ 5 อย่างขึ้นไปในสัปดาห์แรก 
  • กลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนที่เปราะบาง

รับมือกับ Long Covid อย่างไร?

Long Covid เป็นอาการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะรักษาตัวจนหายติดเชื้อและสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้วก็ตาม โดยอาการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะไม่ติดต่อไปสู่คนรอบข้าง เพราะไม่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแล้ว

สำหรับคนที่มีอาการใดๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ อารมณ์ไม่แจ่มใส สามารถบรรเทาอาการตามแนวทางต่อไปนี้

  • ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเพิ่งหักโหมทำสิ่งที่เกินกำลังตัวเอง
  • เลือกทำสิ่งต่างๆ ในช่วงเวลาที่รู้สึกมีพลังงานมากที่สุด และหมั่นหยุดพักเพื่อฟื้นพลังบ่อยๆ 
  • หากรู้สึกเหนื่อยง่าย ควรหากิจกรรมทำเป็นประจำและเพิ่มระดับการออกกำลังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อและคืนความแข็งแรงให้ร่างกาย
  • พยายามทำกิจวัตรประจำวันตามปกติเพื่อลดความเครียดหรือวิตกกังวลจากลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป และไม่ควรกดดันตัวเองว่าจะต้องฟื้นตัวหรือกลับไปทำกิจกรรมหนักๆ ตามปกติในเร็ววัน 
  • รักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพื่อเพิ่มกำลังใจที่ดี หากไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ ควรโทรหรือวิดีโอคอลคุยกันอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สมาธิ ควรหมั่นจดบันทึกเตือนสิ่งที่ต้องทำและพยายามกำจัดสิ่งรบกวนสมาธิทั้งหลายในระหว่างการทำงาน
  • บรรเทาอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อด้วยท่าบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อ หรือจะเล่นโยคะ ฝึกไทชิ (ไทเก๊ก) ก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าตัวเองมีอาการของ Long Covid หรือมีความกังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำก็คือการปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะกับอาการของตัวเองมากที่สุด 

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เป็นกำลังใจให้คุณผ่านทุกเรื่องราวไปได้ด้วยดี หากต้องการคำแนะนำการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ไม่ว่าสุขภาพกายหรือสุขภาพใจ สามารถนัดปรึกษาทีมแพทย์ของเราได้เลยที่ LINE @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

เดินเท้าเปล่า ธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน

    /    บทความ    /    เดินเท้าเปล่า ธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน

เดินเท้าเปล่า ธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน

เดินเท้าเปล่า
ธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน

ประโยชน์ของการเดินเท้าเปล่า ธรรมชาติบำบัดที่ทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน พร้อมเคล็ดลับเดินเท้าเปล่าสำหรับมือใหม่ให้ถูกวิธีและปลอดภัย

การปล่อยให้เด็กๆ ได้เดินเท้าเปล่าในบ้านเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะช่วยเพิ่มการทรงตัว เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ รวมถึงพัฒนาการรูปเท้าและท่าทางการเดินที่ดี แต่รู้หรือไม่ว่าแม้แต่ในผู้ใหญ่ การเดินเท้าเปล่าก็มีประโยชน์ไม่น้อยเช่นกัน 

วันนี้คุณหมอพรีโมแคร์พามาทำความรู้จักกับการเดินเท้าเปล่า อีกหนึ่งวิธีธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน ที่แค่ขยับตัวลุกขึ้นมาก็ทำได้ในทันที 

ประโยชน์ของการเดินเท้าเปล่า

การเดินที่เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์คือการเดินโดยไม่ต้องสวมใส่รองเท้าหรือถุงเท้า การเดินเท้าเปล่าจึงเท่ากับเป็นการฟื้นฟูลักษณะการเดินอย่างที่ควรเป็น กระตุ้นให้เราได้ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน ทำให้เดินได้อย่างแข็งแรงและมั่นคงมากขึ้น ต่างจากการใส่รองเท้าที่แม้จะมีแผ่นรองเท้าเพิ่มความนุ่มสบายในการเดิน แต่อาจขาดการใช้งานกล้ามเนื้อบางส่วนไป

ประโยชน์อื่นๆ ของการเดินเท้าเปล่า

  • สามารถควบคุมท่าทางและตำแหน่งของเท้าขณะเดินได้ดีขึ้น 
  • เพิ่มการทรงตัว การรับรู้ถึงตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ทำให้เดินได้อย่างคล่องตัวและลดความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ
  • เพิ่มกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรงและรองรับน้ำหนักจากหลังส่วนล่างได้มากขึ้น
  • ช่วยปรับกลไกการเคลื่อนไหวของเท้าให้สอดคล้องกับร่างกายส่วนอื่นๆ เช่น ลำตัว สะโพก และเข่าทั้ง 2 ข้าง
  • ปลดปล่อยเท้าจากการถูกบีบรัดในลักษณะเดิมตลอดเวลา ซึ่งเสี่ยงนำไปสู่ภาวะความผิดปกติของเท้า เช่น ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง หรือนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ

เคล็ดลับเดินเท้าเปล่าถูกวิธี เพิ่มประโยชน์ต่อสุขภาพ

หากไม่ค่อยได้เดินเท้าเปล่ามาก่อน อันดับแรกควรเริ่มต้นสร้างความคุ้นชินด้วยการเดินในระยะสั้นๆ ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้เท้าและข้อเท้าค่อยๆ ปรับตัว ก่อนจะเพิ่มเวลาในการเดินให้มากขึ้นทีละน้อยในครั้งถัดไป และทางที่ดีอย่าฝืน ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายเท้า 

สำหรับมือใหม่ที่สนใจธรรมชาติบำบัดด้วยการเดินเท้าเปล่า สามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้เลย

  • ฝึกทรงตัวเพิ่มความแข็งแรง คนที่ไม่ค่อยได้เดินเท้าเปล่าอาจรู้สึกเจ็บ ไม่สบายเท้า หรือไม่ชินในระยะแรก การฝึกยืนขาเดียวบนพื้นหรือยืนเขย่งเท้าขึ้นลงช้าๆ อาจช่วยได้
  • เริ่มจากการเดินในบ้าน ในช่วงแรกควรเริ่มจากการเดินภายในบ้านเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยจากเศษของมีคมหรือสิ่งสกปรก และเลี่ยงพื้นบริเวณที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม
  • เดินบนพื้นผิวที่ปลอดภัย เมื่อเคยชินกับการเดินในบ้านแล้ว เราก็พร้อมที่จะออกสัมผัสพื้นนอกบ้าน แต่ก็ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย แนะนำให้เดินบนหญ้า หาดทราย หรือพื้นสนามที่เป็นยาง และลงน้ำหนักอย่างใจเย็นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการเหยียบสิ่งของที่อาจมองไม่เห็น
  • หากิจกรรมที่ทำได้โดยไม่ใส่รองเท้า การใช้ชีวิตแบบเท้าเปล่าตามหลักธรรมชาติบำบัดไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเดินเสมอไป เราสามารถใช้ประโยชน์จากกิจกรรมอื่น เช่น การเล่นโยคะ การฝึกศิลปะป้องกันตัว หรือการออกกำลังกายแบบพิลาทิส เพื่อถือโอกาสผ่อนคลายเท้าไปในขณะเดียวกันได้
  • เลี่ยงกิจกรรมอันตรายและหมั่นตรวจดูสภาพเท้า ไม่ควรวิ่งปีนป่ายหรือทำกิจกรรมผาดโผนโดยไม่ใส่รองเท้าจนกว่าจะใช้ชีวิตด้วยเท้าเปล่าจนคุ้นชินมากพอ และควรสำรวจดูบริเวณฝ่าเท้าเสมอว่ามีรอยแผลหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการเดินเหยียบสิ่งของตามพื้นหรือไม่

ทั้งนี้ หากรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้าหลังจากการเดินเท้าเปล่า หรือมีอาการเจ็บขณะเดิน ก็อาจต้องกลับไปใส่รองเท้าที่รองรับการเดินได้ดีกว่า แล้วค่อยกลับมาฝึกเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกครั้ง

อันตรายจากการเดินเท้าเปล่า

การเดินเท้าเปล่านอกบ้านนั้นมีประโยชน์ในการให้เท้าได้สัมผัสธรรมชาติ แต่อาจเสี่ยงอันตรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ใส่รองเท้ามาตลอด ซึ่งมักจะไม่เคยชินกับพื้นผิวที่ขรุขระ ส่งผลต่อท่าทางการเดินที่ไม่คล่องตัวและเสี่ยงเกิดการบาดเจ็บ 

นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังสภาพพื้นที่ไม่เป็นใจ โดยเฉพาะมือใหม่ที่ควรหลีกเลี่ยงพื้นผิวที่ขรุขระ เปียกชื้น หรือร้อนเกินไป รวมถึงคอยสังเกตและหลีกเลี่ยงเศษแก้วหรือสิ่งของแหลมคมที่อาจปะปนอยู่ตามพื้น

สำหรับคนที่มีแผลหรือรอยขีดข่วนตามฝ่าเท้าไม่ควรเดินเท้าเปล่านอกบ้านจนกว่าจะหายดีเพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อโรค รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเท้าและผู้ป่วยโรคเบาหวานที่จะต้องระวังเป็นพิเศษ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เผื่อกรณีมีอาการปลายประสาทอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ไม่รู้ตัวเมื่อได้รับบาดเจ็บหรือมีบาดแผลบริเวณฝ่าเท้า

การเดินเท้าเปล่าถือเป็นวิธีการบำบัดด้วยธรรมชาติที่มีประโยชน์และทำได้ง่ายๆ ทั้งยังเพิ่มการขยับเคลื่อนไหวร่างกายไปในตัว อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญด้วย และไม่ควรหักโหมเดินเกินพอดีตั้งแต่ในครั้งแรกๆ 

ส่วนใครที่ฝึกเดินเท้าเปล่าแล้วเจ็บเท้า มีอาการปวดเมื่อยผิดปกติ หรือมีปัญหาฝ่าเท้าแบน ก็สามารถให้นักกายภาพบำบัดและทีมแพทย์พรีโมแคร์ช่วยแนะนำท่าทางที่ถูกต้องและรับการรักษาอย่างตรงจุด แอดไลน์ @primoCare หรือคลิกดูบริการของเราที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Eating Disorder โรคการกินผิดปกติที่มากับความเครียดในช่วงโควิด-19

    /    บทความ    /    Eating Disorder โรคการกินผิดปกติที่มากับความเครียดในช่วงโควิด-19

Eating Disorder โรคการกินผิดปกติ ที่แฝงมากับความเครียดในช่วงโควิด-19

Eating Disorder โรคการกินผิดปกติ
ที่แฝงมากับความเครียดในช่วงโควิด-19

กลุ่มโรค Eating Disorder คืออะไร แต่ละโรคมีอาการยังไง อะไรคือปัจจัยเสี่ยง เรียนรู้วิธีสังเกตอาการ และวิธีช่วยเหลือคนรอบข้าง

ในช่วงเวลาที่เราทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำใจไม่ให้เครียดหรือวิตกกังวล เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นหลายคนกินตามใจปากมากขึ้น กินจุบจิบ หรือกินเพื่อปลอบใจตัวเองแม้ไม่ได้รู้สึกหิว ในขณะที่บางคนก็เครียดจนไม่อยากอาหารและกินน้อยลง ซึ่งหากเผลอติดกับดักของพฤติกรรมการกินที่มากหรือน้อยเกินไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็อาจทำให้ต้องเผชิญกับ Eating Disorder หรือโรคการกินผิดปกติโดยไม่รู้ตัว

Eating Disorder กับโควิด-19 เกี่ยวข้องกันอย่างไร? 

รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ความโดดเดี่ยวจากการต้องแยกตัวจากสังคม และรายได้ที่ลดลงในช่วงการแพร่ระบาด ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเครียดสูง เมื่อไม่รู้จะจัดการอย่างไร หลายคนจึงเลือกเยียวยาตัวเองด้วยการกิน 

บางคนกินเพื่อคลายความเครียดและความหดหู่ ในขณะที่บางคนก็หันไปจำกัดการกินอาหารให้น้อยลงเพราะต้องการให้รู้สึกเหมือนว่ายังสามารถควบคุมบางสิ่งบางอย่างได้ เพราะความวิตกกังวลและความเศร้านั้นจะทำให้รู้สึกเหมือนขาดสามารถในการควบคุมชีวิตตนเอง

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมข้อมูลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงพบผู้ป่วยในกลุ่มโรคความผิดปกติทางการกินพุ่งสูงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นถึง 25%

แม้จะชื่อว่าโรค Eating Disorder แต่ก็มีความสัมพันธ์กับอารมณ์ความคิดของผู้ป่วยอย่างมาก และอาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อทั้งร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิตในสังคม ทำให้กลุ่มโรคนี้ถูกจัดเป็นหนึ่งในปัญหาทางสุขภาพจิตที่มีความซับซ้อน ได้รับการบรรจุอยู่ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางสำหรับแพทย์และนักจิตแพทย์ทั่วโลกเพื่อวินิจฉัยโรคทางจิตเวช 

เช็คลิสต์อาการ Eating Disorder 3 แบบ ที่พบได้บ่อย

Anorexia (อะนอเร็กเซีย)

โรคในกลุ่ม Eating Disorder ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยที่สุดและอาจเคยได้ยินในชื่อ ‘โรคคลั่งผอม’ ผู้ป่วยโรคนี้จะมองว่าตัวเองน้ำหนักมากเกินไป แม้ว่าจะลดน้ำหนักลงจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายแล้วก็ตาม 

อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย Anorexia

  • ร่างกายซูบผอม มีน้ำหนักต่ำกว่าคนที่มีอายุและส่วนสูงเท่ากันอย่างมาก
  • มีความกลัวและกังวลที่มากผิดปกติว่าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 
  • พยายามลดน้ำหนักให้ตัวเองดูผอมลงอย่างต่อเนื่อง  
  • จำกัดปริมาณอาหารที่รับประทานอย่างเข้มงวดและน้อยเกินไปมาก 
  • บางรายมีพฤติกรรมล้วงคอให้อาเจียนออกมาหลังจากรับประทานอาหาร หรือลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัย เช่น ใช้ยาลดน้ำหนักและยาระบาย อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินพอดี
  • มีการรับรู้ต่อรูปร่างของตัวเองที่บิดเบือน และปฏิเสธความจริงที่ว่าตัวเองมีน้ำหนักน้อยเกินไป

พฤติกรรมเหล่านี้ของผู้ป่วย Anorexia เมื่อนานไปอาจส่งผลต่อกระดูกทำให้มวลกระดูกลดลง เกิดภาวะมีบุตรยาก เส้นผมและเล็บแห้ง เปราะ แตกหักง่าย ในกรณีรุนแรงอาจทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว และอาจทำให้เสียชีวิตได้

Bulimia (บูลิเมีย)

‘โรคล้วงคอ’ เป็นอีกหนึ่งโรคในกลุ่ม Eating Disorder ที่พบได้บ่อย ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีพฤติกรรมกินมากผิดปกติเป็นช่วงๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดกินได้ และแม้ร่างกายจะบอกว่าอิ่มแล้ว จิตใจก็จะสั่งให้กินต่อไปกินจนกระทั่งรู้สึกอึดอัดหรือปวดแน่นท้อง

พฤติกรรมกินมากผิดปกติมักจะเกิดขึ้นกับอาหารที่ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับอาหารชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน

หลังจากช่วงการกินมาก ผู้ป่วยจะพยายามกำจัดอาหารที่กินเข้าไปเพื่อลดแคลอรี่และทำให้ความรู้สึกปวดแน่นท้องลดลง โดยมักจะใช้วิธีอาเจียนออกมา อดอาหาร ใช้ยาถ่ายมากเกินไป หรือออกกำลังกายแบบมากเกินพอดี

อาการของโรคนี้จะคล้ายกับโรค Anorexia ตรงที่ผู้ป่วยทั้ง 2 โรคต่างกลัวว่าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วย Anorexia จะพยายามลดน้ำหนักด้วยการจำกัดอาหาร ส่วนผู้ป่วย Bulimia นั้นจะกินเยอะและพยายามกำจัดอาหารที่กินเข้าไป ทำให้มักจะคงน้ำหนักในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติได้มากกว่า

ผู้ที่เป็นโรค Bulimia มักต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงต่างๆ ที่ตามมาจากการพยายามกำจัดอาหาร เช่น คออักเสบ เจ็บคอ ต่อมน้ำลายบวม ฟันผุ ฟันตกกระ กรดไหลย้อน ระคายเคืองในลำไส้ ภาวะขาดน้ำ และระดับฮอร์โมนไม่สมดุล รวมถึงภาวะเกลือแร่ไม่สมดุลที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองและภาวะหัวใจวาย

Binge eating disorder

‘โรคกินไม่หยุด’ คล้ายกับโรค Bulimia ตรงที่จะส่งผลให้กินมากผิดปกติ แต่จะกินอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กินแม้ไม่รู้สึกหิว และกินจนรู้สึกอิ่มแบบไม่สบายท้อง

ผู้ป่วยโรคนี้ไม่มีพฤติกรรมการจำกัดปริมาณอาหารหรือกำจัดอาหารที่กินเข้าไปอย่างการล้วงคอ อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินไป แต่จะรู้สึกละอาย เกลียดตัวเอง หรือรู้สึกผิดเมื่อคิดถึงพฤติกรรมกินมากผิดปกติของตัวเอง และมักจะกินอาหารเมื่ออยู่คนเดียวหรือปลอดจากสายตาผู้อื่น

พฤติกรรมการกินมากผิดปกติมักทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2

อะไรคือสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ Eating Disorder? 

สาเหตุของ Eatting disorder นั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้เกิดอาการของโรคนี้ขึ้น

  • ตัวผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน หรือมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
  • การทำงานที่ผิดปกติของสารเคมีในสมองและฮอร์โมนที่ควบคุมความรู้สึกหิวและพฤติกรรมการกิน
  • คิดหมกมุ่นกับเรื่องการมีรูปร่างผอมเพรียวและการลดน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับแรงกดดันจากวัฒนธรรมที่ยกย่องคนที่มีรูปร่างผอมบาง รวมถึงสื่อต่างๆ สังคมรอบข้าง และการทำงาน เช่น นักบัลเลต์ นางแบบ หรือนักกีฬาที่ต้องควบคุมรูปร่างและน้ำหนัก
  • เคยถูกวิจารณ์หรือถูกบุลลี่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน รูปร่าง และน้ำหนักอย่างรุนแรง
  • เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ถูกเลี้ยงดูในลักษณะที่ทำให้ขาดความมั่นใจและความเป็นตัวของตัวเอง
  • มีนิสัยยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไป พฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือเคยเผชิญความสัมพันธ์ที่มีแต่ปัญหาขัดแย้ง
  • ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น และพบได้มากที่สุดในวัยรุ่น

Eating Disorder ป้องกันได้ด้วยการสนับสนุนจากคนรอบข้าง

บรรดาคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคุณครู ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างพลังบวกและปกป้องคนที่คุณรักจากความเสี่ยงต่อ Eating Disorder 

สิ่งที่ควรทำคือการเน้นย้ำว่าร่างกายที่ผอมเพรียวไม่ได้ดูดีกว่า หมั่นชื่นชมว่าพวกเขาดูดีในแบบของตัวเองเพื่อสร้างความมั่นใจ และแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้คาดหวังความสมบูรณ์แบบของรูปร่างที่ไม่มีอยู่จริง 

สำหรับผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการกินและการลดน้ำหนักแบบสุขภาพดี สอนให้เด็กรู้เท่าทันอิทธิพลจากสื่อต่างๆ ระวังการถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่โรงเรียนเรื่องน้ำหนักและรูปร่าง และต้องชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ที่เลียนแบบได้ แต่เป็นโรคที่มีอันตรายต่อสุขภาพ

หากสังเกตพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณของคนรอบข้าง เช่น น้ำหนักลดลงมาก บ่นว่าอ้วนตลอดเวลา ไม่กินอาหาร กินอาหารปริมาณมากอย่างรวดเร็ว หรือออกกำลังกายแบบหักโหมเกินพอดี ควรบอกกับพวกเขาว่าคุณรู้สึกเป็นห่วงและกังวล และพร้อมให้ความช่วยเหลือในการพาไปตรวจรักษากับแพทย์ 

ช่วงโควิด-19 แบบนี้…อย่าลืมดูแลใจตัวเองให้ดี

ปัญหาหรือภาวะจำเป็นในช่วงโควิด-19 ทำให้หลายคนมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งภาวะสุขภาพจิตเหล่านี้เป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่โรคการกินผิดปกติ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าไม่สามารถรับมืออารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยตนเองได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือการขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ในช่วงที่ออกไปไหนมาไหนไม่สะดวกแบบนี้ ยิ่งทำให้หลายคนที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ เข้าถึงการวินิจฉัยโรคและการรักษาตามที่ควรเป็นน้อยลง พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีบริการปรึกษาทางไกลหรือ Telemedicine ที่เป็นหนึ่งทางเลือกที่ได้รับการพิสูจน์ในหลายประเทศแล้วว่ามีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ยุคดิจิทัล สามารถคลิกดูบริการที่นี่ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยที่ LINE @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ก่อนตรวจต้องงดอะไรบ้าง?

    /    บทความ    /    วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ก่อนตรวจต้องงดอะไรบ้าง?

วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ก่อนตรวจต้องงดอะไรบ้าง?

วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
ก่อนตรวจต้องงดอะไรบ้าง?

เตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปีอย่างไรให้ผลตรวจแม่นยำ? ต้องงดอะไรบ้าง? ก่อนตรวจสุขภาพออกกำลังกายได้ไหม? ต้องงดยาหรือไม่?

โรคบางโรคไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจน กว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเกินแก้ แต่หากเราตรวจเช็คเป็นประจำก็จะมีโอกาสตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลสุขภาพที่เราไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง 

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ต้องงดอะไรบ้าง มีข้อห้ามทำหรือข้อควรระวังอะไรหรือเปล่า ถ้าอยากตรวจสุขภาพแบบราบรื่นผ่านฉลุย มาเช็คลิสต์ วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ 9 ข้อสั้นๆ ที่คุณหมอพรีโมแคร์นำมาฝากในวันนี้ได้เลย 

1 เตรียมข้อมูลสุขภาพให้พร้อม 

นอกจากการทดสอบต่างๆ แพทย์ยังต้องอาศัยข้อมูลประวัติสุขภาพของคนไข้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ผลด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และการตรวจที่รวดเร็ว เราควรจดรายการที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเผื่อไว้ล่วงหน้าด้วย 

  • ยารักษาโรคที่ใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่หาซื้อเองตามร้านขายยา สมุนไพร วิตามิน และอาหารเสริมต่างๆ
  • โรคประจำตัว อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ และประวัติการผ่าตัด
  • ผลการตรวจในครั้งก่อนหรือผลการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • รายการคำถามที่อยากถามแพทย์
  • หากมีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจหรือเครื่องกระตุกหัวใจ ควรนำบัตรประจำตัวผู้ป่วยหรือถ่ายรูปด้านหน้าและหลังของบัตรไปด้วย

2 พักผ่อนให้เพียงพอ

ในคืนก่อนตรวจสุขภาพควรเตรียมตัวด้วยการนอนหลับให้เต็มอิ่มหรือนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพราะการอดนอนอาจทำให้ผลการตรวจบางอย่างคลาดเคลื่อนหรือผิดปกติได้ เช่น ระดับความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย ส่งผลให้อาจแยกไม่ออกว่าเป็นความผิดปกติที่เกิดจากปัญหาสุขภาพหรือการนอนไม่พอกันแน่

3 งดอาหารและน้ำที่ไม่ใช่น้ำเปล่า 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจ

สำหรับการตรวจน้ำตาลในเลือด (ตรวจเบาหวาน) และการตรวจไขมันในเลือด ควรเตรียมตัวโดยงดอาหาร น้ำหวาน ชา กาแฟ รวมถึงน้ำอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำเปล่าอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง 

4 ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

การดื่มน้ำเปล่าก่อนตรวจสุขภาพไม่ได้มีผลกระทบต่อการตรวจ ตรงกันข้ามกลับเป็นผลดีต่อการตรวจเลือด เพราะจะทำให้เลือดไม่ข้น สามารถเก็บตัวอย่างเลือดได้ง่าย นอกจากนี้การดื่มน้ำก่อนตรวจปัสสาวะจะช่วยให้เก็บตัวอย่างได้เร็วขึ้น และหากปัสสาวะก่อนตรวจอัลตราซาวด์ก็จะทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

5 เลี่ยงการตรวจในช่วง 7 วันก่อนและหลังมีประจำเดือน

หากมีประจำเดือนในวันที่รับการตรวจสุขภาพ ควรแจ้งให้พยาบาลทราบตั้งแต่ก่อนเริ่มตรวจสุขภาพ โดยจะต้องเว้นการตรวจปัสสาวะ อุจจาระ และการตรวจแปบสเมียร์หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากอาจมีเลือดปะปนมาและส่งผลให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้

6 งดสูบบุหรี่ก่อนตรวจ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

บุหรี่ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลัง อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ จึงควรงดก่อนวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที แต่หากตรวจสมรรถภาพปอดจะต้องงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับแอลกอฮอล์ควรงดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจบางอย่างได้

7 งดอาหารรสจัด ไขมันสูง

การรับประทานอาหารรสเค็มจัดและอาหารที่มีไขมันสูงอาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันก่อนตรวจ

8 หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย

พยายามงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายทั้งในตอนกลางคืนและช่วงเช้าก่อนตรวจสุขภาพ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติได้

9 นัดตรวจสุขภาพตอนเช้าดีที่สุด

การนัดตรวจสุขภาพในตอนเช้าจะช่วยให้การอดอาหาร 8-12 ชั่วโมงไม่รู้สึกทรมานจนเกินไป เพราะถือเป็นการงดไปในตัวระหว่างนอนหลับ นอกจากนี้คนที่ต้องงดคาเฟอีนและบุหรี่ก็จะสามารถกลับมาดื่มกาแฟ ชา หรือสูบบุหรี่ตามปกติได้เร็วขึ้น

สำหรับใครที่ใช้ยารักษาโรคชนิดใดที่แพทย์สั่งอยู่ก็ตาม สามารถใช้ยาต่อไปได้ตามปกติโดยไม่ต้องหยุดยา เพียงแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบก่อนรับการตรวจสุขภาพก็พอแล้ว

ตรวจสุขภาพประจำปีนี้ ถ้าเตรียมตัวตาม 9 คำแนะนำเหล่านี้ได้ คุณก็พร้อมสำหรับการตรวจสุขภาพที่จะมาถึงโดยไม่ต้องกังวลอะไรแล้ว 

สนใจจองแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก สอบถามข้อมูลและนัดหมายล่วงหน้าได้เลยที่ Line@primoCare พร้อมรับข้อมูลการเตรียมตัวที่ครบถ้วนเหมาะสมกับรายการตรวจสุขภาพของคุณที่สุดจากคุณหมอพรีโมแคร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้สลับยี่ห้อ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจริงหรือ?

    /    บทความ    /    ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้สลับยี่ห้อ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจริงหรือ?

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้สลับยี่ห้อ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจริงหรือ?

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้สลับยี่ห้อ
ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจริงหรือ?

ส่องงานวิจัยต่างประเทศ ฉีดวัคซีนแบบไขว้ เพิ่มภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงไหม? มีผลข้างเคียง-อันตรายหรือไม่ หาคำตอบได้ที่นี่ "

ผลข้างเคียงอย่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีน Astrazeneca ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และประชาชนต่างเป็นกังวล ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนวัคซีน หลายประเทศจึงเริ่มหันมาทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ (Mix & Match) หรือการฉีดวัคซีน 2 เข็มที่ต่างยี่ห้อกัน ซึ่งแม้จะเป็นแผนการจำเป็นในสถานการณ์ที่บีบบังคับ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายังอาจช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าการฉีดวัคซีนตัวเดียวกันทั้ง 2 เข็มได้อีกด้วย

ฉีดวัคซีนโควิดแบบไขว้ ทำได้จริงหรือ?

การฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อในเข็มต่างกันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะได้เคยมีการทดลองกับวัคซีนชนิดอื่นๆ มาแล้ว เช่น วัคซีนโรคอีโบล่า มาลาเรีย วัณโรค โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นต้น โดยการฉีดแบบสลับนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Heterologous prime-boost

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสาเหตุที่การฉีดวัคซีนแบบไขว้อาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรค เนื่องจากวัคซีนแต่ละตัวจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในบางส่วนที่ต่างกัน หรือสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำเชื้อโรคในส่วนที่ต่างออกไป ซึ่งก็ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ 

การฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ เริ่มมีการทดสอบในหลายประเทศ ล่าสุดผลการทดลอง Com-Cov ของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดที่ลองสลับฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิดกัน โดยเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน พบว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนต่างชนิด ทั้ง Astrazeneca ตามด้วย Pfizer และ Pfizer ตามด้วย Astrazeneca มีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าการฉีด Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม

นอกจากนี้ ในกลุ่มที่ฉีด Astrazeneca เป็นเข็มแรก ตามด้วย Pfizer ยังพบการเพิ่มขึ้นของระดับ T-cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจจับและกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงที่สุด 

Astrazeneca + Pfizer

ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มที่ฉีด Astrazeneca 2 เข็ม

การตอบสนองของ T-cell สูงกว่ากลุ่มอื่น

Astrazeneca + Pfizer
/Pfizer + Astrazeneca

ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มที่ฉีด Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม

Pfizer + Pfizer 

ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มอื่น

ผลการทดลอง Com-Cov นี้ค่อนข้างสอดคล้องกับการทดลองของนักวิจัยสเปนก่อนหน้าที่เผยว่าคนที่ได้รับวัคซีน Astrazeneca ในเข็มแรก ตามด้วย Pfizer ในเข็มที่ 2 มีภูมิคุ้มกันต่อโรคที่แข็งแรงและมากกว่าการฉีดวัคซีน Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม ซึ่งนับเป็นหลักฐานอีกขั้นที่สนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนแบบไขว้นี้สามารถทำได้ในกรณีที่จำเป็น โดยยังคงประสิทธิภาพที่ดีไว้ แต่อาจยังไม่ใช่การทดลองที่ใหญ่พอจะยืนยันได้ว่าการฉีดวัคซีนสลับชนิดนั้นดีกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน

ทั้งนี้ การทดลองเกี่ยวกับวัคซีนตัวอื่นก็มีเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด เช่น งานวิจัยของรัสเซียที่ทดลองโดยการฉีดวัคซีนของตัวเองอย่าง Sputnik V กับ AstraZeneca ซึ่งปกติการฉีดวัคซีน Sputnik V นั้นก็ถือว่าเป็นวัคซีนเวกเตอร์ไวรัสอะดีโนที่ต่างชนิดกันใน 2 เข็มอยู่แล้ว

สำหรับประเทศไทย ทางคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เพิ่งเปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดระหว่าง Sinovac และ Astrazeneca โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ฉีด Sinovac เป็นเข็มแรก ตามด้วย Astrazenaca และกลุ่มที่ฉีด Astrazeneca ตามด้วย Sinovac เป็นเข็มที่ 2 ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป

ฉีดวัคซีนแบบไขว้ ปลอดภัยแค่ไหน?

ข้อมูลความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ของทางมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด สำหรับผลข้างเคียงในระยะสั้น พบว่าก่อให้เกิดผลข้างเคียงระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ ซึ่งไม่แน่ว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงนั่นเอง โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวนั้นยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป 

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ ทำได้หากแพ้รุนแรง

ปัจจุบันการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบสลับได้รับอนุญาตให้ใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นในหลายๆ ประเทศ เช่น เยอรมัน สวีเดน แคนาดา ฝรั่งเศส อีตาลี และสเปน อนุญาตให้ผู้ที่รับวัคซีน Astrazaneca เข็มแรกแล้วมีอาการที่เชื่อมโยงกับภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ตัวอื่นได้ 

ด้านเกาหลีใต้ที่เผชิญปัญหาการจัดส่งวัคซีน Astrazeneca ล่าช้าก็ได้ประกาศให้บุคลากรทางการแพทย์ที่รับเข็มแรกไปแล้ว รับวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 2 ไปก่อนเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้นมีคำแนะนำให้เปลี่ยนไปรับวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นในเข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงในเข็มแรก เช่น หากแพ้ Astrazeneca ก็ให้เปลี่ยนไปฉีด Sinovac ในเข็มที่ 2 เป็นต้น

มีคำถามข้องใจเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ กวนใจ ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ของเราได้เลยที่ Application LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง