Categories
Uncategorized

วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ก่อนตรวจต้องงดอะไรบ้าง?

    /    บทความ    /    วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ก่อนตรวจต้องงดอะไรบ้าง?

วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ก่อนตรวจต้องงดอะไรบ้าง?

วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี
ก่อนตรวจต้องงดอะไรบ้าง?

เตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปีอย่างไรให้ผลตรวจแม่นยำ? ต้องงดอะไรบ้าง? ก่อนตรวจสุขภาพออกกำลังกายได้ไหม? ต้องงดยาหรือไม่?

โรคบางโรคไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจน กว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเกินแก้ แต่หากเราตรวจเช็คเป็นประจำก็จะมีโอกาสตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลสุขภาพที่เราไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง 

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี ต้องงดอะไรบ้าง มีข้อห้ามทำหรือข้อควรระวังอะไรหรือเปล่า ถ้าอยากตรวจสุขภาพแบบราบรื่นผ่านฉลุย มาเช็คลิสต์ วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ 9 ข้อสั้นๆ ที่คุณหมอพรีโมแคร์นำมาฝากในวันนี้ได้เลย 

1 เตรียมข้อมูลสุขภาพให้พร้อม 

นอกจากการทดสอบต่างๆ แพทย์ยังต้องอาศัยข้อมูลประวัติสุขภาพของคนไข้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ผลด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และการตรวจที่รวดเร็ว เราควรจดรายการที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเผื่อไว้ล่วงหน้าด้วย 

  • ยารักษาโรคที่ใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่หาซื้อเองตามร้านขายยา สมุนไพร วิตามิน และอาหารเสริมต่างๆ
  • โรคประจำตัว อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ และประวัติการผ่าตัด
  • ผลการตรวจในครั้งก่อนหรือผลการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • รายการคำถามที่อยากถามแพทย์
  • หากมีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจหรือเครื่องกระตุกหัวใจ ควรนำบัตรประจำตัวผู้ป่วยหรือถ่ายรูปด้านหน้าและหลังของบัตรไปด้วย

2 พักผ่อนให้เพียงพอ

ในคืนก่อนตรวจสุขภาพควรเตรียมตัวด้วยการนอนหลับให้เต็มอิ่มหรือนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพราะการอดนอนอาจทำให้ผลการตรวจบางอย่างคลาดเคลื่อนหรือผิดปกติได้ เช่น ระดับความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย ส่งผลให้อาจแยกไม่ออกว่าเป็นความผิดปกติที่เกิดจากปัญหาสุขภาพหรือการนอนไม่พอกันแน่

3 งดอาหารและน้ำที่ไม่ใช่น้ำเปล่า 8-12 ชั่วโมงก่อนตรวจ

สำหรับการตรวจน้ำตาลในเลือด (ตรวจเบาหวาน) และการตรวจไขมันในเลือด ควรเตรียมตัวโดยงดอาหาร น้ำหวาน ชา กาแฟ รวมถึงน้ำอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำเปล่าอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง 

4 ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

การดื่มน้ำเปล่าก่อนตรวจสุขภาพไม่ได้มีผลกระทบต่อการตรวจ ตรงกันข้ามกลับเป็นผลดีต่อการตรวจเลือด เพราะจะทำให้เลือดไม่ข้น สามารถเก็บตัวอย่างเลือดได้ง่าย นอกจากนี้การดื่มน้ำก่อนตรวจปัสสาวะจะช่วยให้เก็บตัวอย่างได้เร็วขึ้น และหากปัสสาวะก่อนตรวจอัลตราซาวด์ก็จะทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

5 เลี่ยงการตรวจในช่วง 7 วันก่อนและหลังมีประจำเดือน

หากมีประจำเดือนในวันที่รับการตรวจสุขภาพ ควรแจ้งให้พยาบาลทราบตั้งแต่ก่อนเริ่มตรวจสุขภาพ โดยจะต้องเว้นการตรวจปัสสาวะ อุจจาระ และการตรวจแปบสเมียร์หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากอาจมีเลือดปะปนมาและส่งผลให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้

6 งดสูบบุหรี่ก่อนตรวจ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

บุหรี่ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มบำรุงกำลัง อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ จึงควรงดก่อนวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที แต่หากตรวจสมรรถภาพปอดจะต้องงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับแอลกอฮอล์ควรงดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจบางอย่างได้

7 งดอาหารรสจัด ไขมันสูง

การรับประทานอาหารรสเค็มจัดและอาหารที่มีไขมันสูงอาจส่งผลต่อระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันก่อนตรวจ

8 หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย

พยายามงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายทั้งในตอนกลางคืนและช่วงเช้าก่อนตรวจสุขภาพ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติได้

9 นัดตรวจสุขภาพตอนเช้าดีที่สุด

การนัดตรวจสุขภาพในตอนเช้าจะช่วยให้การอดอาหาร 8-12 ชั่วโมงไม่รู้สึกทรมานจนเกินไป เพราะถือเป็นการงดไปในตัวระหว่างนอนหลับ นอกจากนี้คนที่ต้องงดคาเฟอีนและบุหรี่ก็จะสามารถกลับมาดื่มกาแฟ ชา หรือสูบบุหรี่ตามปกติได้เร็วขึ้น

สำหรับใครที่ใช้ยารักษาโรคชนิดใดที่แพทย์สั่งอยู่ก็ตาม สามารถใช้ยาต่อไปได้ตามปกติโดยไม่ต้องหยุดยา เพียงแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบก่อนรับการตรวจสุขภาพก็พอแล้ว

ตรวจสุขภาพประจำปีนี้ ถ้าเตรียมตัวตาม 9 คำแนะนำเหล่านี้ได้ คุณก็พร้อมสำหรับการตรวจสุขภาพที่จะมาถึงโดยไม่ต้องกังวลอะไรแล้ว 

สนใจจองแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก สอบถามข้อมูลและนัดหมายล่วงหน้าได้เลยที่ Line@primoCare พร้อมรับข้อมูลการเตรียมตัวที่ครบถ้วนเหมาะสมกับรายการตรวจสุขภาพของคุณที่สุดจากคุณหมอพรีโมแคร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้สลับยี่ห้อ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจริงหรือ?

    /    บทความ    /    ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้สลับยี่ห้อ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจริงหรือ?

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้สลับยี่ห้อ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจริงหรือ?

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้สลับยี่ห้อ
ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจริงหรือ?

ส่องงานวิจัยต่างประเทศ ฉีดวัคซีนแบบไขว้ เพิ่มภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงไหม? มีผลข้างเคียง-อันตรายหรือไม่ หาคำตอบได้ที่นี่ "

ผลข้างเคียงอย่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีน Astrazeneca ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และประชาชนต่างเป็นกังวล ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนวัคซีน หลายประเทศจึงเริ่มหันมาทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ (Mix & Match) หรือการฉีดวัคซีน 2 เข็มที่ต่างยี่ห้อกัน ซึ่งแม้จะเป็นแผนการจำเป็นในสถานการณ์ที่บีบบังคับ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายังอาจช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าการฉีดวัคซีนตัวเดียวกันทั้ง 2 เข็มได้อีกด้วย

ฉีดวัคซีนโควิดแบบไขว้ ทำได้จริงหรือ?

การฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อในเข็มต่างกันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะได้เคยมีการทดลองกับวัคซีนชนิดอื่นๆ มาแล้ว เช่น วัคซีนโรคอีโบล่า มาลาเรีย วัณโรค โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นต้น โดยการฉีดแบบสลับนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Heterologous prime-boost

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสาเหตุที่การฉีดวัคซีนแบบไขว้อาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรค เนื่องจากวัคซีนแต่ละตัวจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในบางส่วนที่ต่างกัน หรือสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำเชื้อโรคในส่วนที่ต่างออกไป ซึ่งก็ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ 

การฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ เริ่มมีการทดสอบในหลายประเทศ ล่าสุดผลการทดลอง Com-Cov ของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดที่ลองสลับฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิดกัน โดยเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน พบว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนต่างชนิด ทั้ง Astrazeneca ตามด้วย Pfizer และ Pfizer ตามด้วย Astrazeneca มีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าการฉีด Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม

นอกจากนี้ ในกลุ่มที่ฉีด Astrazeneca เป็นเข็มแรก ตามด้วย Pfizer ยังพบการเพิ่มขึ้นของระดับ T-cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจจับและกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงที่สุด 

Astrazeneca + Pfizer

ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มที่ฉีด Astrazeneca 2 เข็ม

การตอบสนองของ T-cell สูงกว่ากลุ่มอื่น

Astrazeneca + Pfizer
/Pfizer + Astrazeneca

ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มที่ฉีด Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม

Pfizer + Pfizer 

ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มอื่น

ผลการทดลอง Com-Cov นี้ค่อนข้างสอดคล้องกับการทดลองของนักวิจัยสเปนก่อนหน้าที่เผยว่าคนที่ได้รับวัคซีน Astrazeneca ในเข็มแรก ตามด้วย Pfizer ในเข็มที่ 2 มีภูมิคุ้มกันต่อโรคที่แข็งแรงและมากกว่าการฉีดวัคซีน Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม ซึ่งนับเป็นหลักฐานอีกขั้นที่สนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนแบบไขว้นี้สามารถทำได้ในกรณีที่จำเป็น โดยยังคงประสิทธิภาพที่ดีไว้ แต่อาจยังไม่ใช่การทดลองที่ใหญ่พอจะยืนยันได้ว่าการฉีดวัคซีนสลับชนิดนั้นดีกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน

ทั้งนี้ การทดลองเกี่ยวกับวัคซีนตัวอื่นก็มีเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด เช่น งานวิจัยของรัสเซียที่ทดลองโดยการฉีดวัคซีนของตัวเองอย่าง Sputnik V กับ AstraZeneca ซึ่งปกติการฉีดวัคซีน Sputnik V นั้นก็ถือว่าเป็นวัคซีนเวกเตอร์ไวรัสอะดีโนที่ต่างชนิดกันใน 2 เข็มอยู่แล้ว

สำหรับประเทศไทย ทางคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เพิ่งเปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดระหว่าง Sinovac และ Astrazeneca โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ฉีด Sinovac เป็นเข็มแรก ตามด้วย Astrazenaca และกลุ่มที่ฉีด Astrazeneca ตามด้วย Sinovac เป็นเข็มที่ 2 ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป

ฉีดวัคซีนแบบไขว้ ปลอดภัยแค่ไหน?

ข้อมูลความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ของทางมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด สำหรับผลข้างเคียงในระยะสั้น พบว่าก่อให้เกิดผลข้างเคียงระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ ซึ่งไม่แน่ว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงนั่นเอง โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวนั้นยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป 

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ ทำได้หากแพ้รุนแรง

ปัจจุบันการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบสลับได้รับอนุญาตให้ใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นในหลายๆ ประเทศ เช่น เยอรมัน สวีเดน แคนาดา ฝรั่งเศส อีตาลี และสเปน อนุญาตให้ผู้ที่รับวัคซีน Astrazaneca เข็มแรกแล้วมีอาการที่เชื่อมโยงกับภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ตัวอื่นได้ 

ด้านเกาหลีใต้ที่เผชิญปัญหาการจัดส่งวัคซีน Astrazeneca ล่าช้าก็ได้ประกาศให้บุคลากรทางการแพทย์ที่รับเข็มแรกไปแล้ว รับวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 2 ไปก่อนเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้นมีคำแนะนำให้เปลี่ยนไปรับวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นในเข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงในเข็มแรก เช่น หากแพ้ Astrazeneca ก็ให้เปลี่ยนไปฉีด Sinovac ในเข็มที่ 2 เป็นต้น

มีคำถามข้องใจเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ กวนใจ ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ของเราได้เลยที่ Application LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

4 สายพันธุ์โควิด-19 ในไทยล่าสุด วัคซีนป้องกันได้หรือไม่?

    /    บทความ    /    4 สายพันธุ์โควิด-19 ในไทยล่าสุด วัคซีนป้องกันได้หรือไม่?

4 สายพันธุ์โควิด-19 ในไทยล่าสุด วัคซีนป้องกันได้หรือไม่?

4 สายพันธุ์โควิด-19 ในไทยล่าสุด
วัคซีนป้องกันได้หรือไม่?

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ บราซิล และอินเดีย รุนแรงต่างกันอย่างไร วัคซีนโควิด-19 แต่ละยี่ห้อป้องกันได้หรือไม่?

ข้อมูลการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดการกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์อินเดีย อังกฤษ แอฟริกาใต้ กำลังเป็นที่ตื่นตกใจในสังคม ซึ่งแม้จะคาดการณ์ว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ส่งผลให้เกิดโรคที่รุนแรงแบบฉับพลันทันที แต่ถึงอย่างนั้นในทางวิทยาศาสตร์ก็ยังมีเรื่องต้องศึกษาอีกมากมายเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้

มาดูกันว่าปัจจุบันเรามีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยตอนนี้มากแค่ไหน แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร จะส่งผลต่อความรุนแรงของโรค การรักษา และประสิทธิภาพของวัคซีนหรือไม่

ทำไมไวรัสโควิด-19 ถึงกลายพันธ์ุ?

ไวรัสทุกชนิดอยู่รอดด้วยการอาศัยอยู่ในโฮสต์และเพิ่มจำนวนโดยการคัดลอกรหัสพันธุกรรม ซึ่งในขั้นตอนการคัดลอกนี้เองที่อาจเกิดข้อผิดพลาด ทำให้บางส่วนของรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไปและกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในที่สุด

การกลายพันธุ์ในขั้นตอนการคัดลอกตัวเองของไวรัสนั้นเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแกร่งพอจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้น แต่ก็มีการกลายพันธุ์ในบางลักษณะที่ทำให้ไวรัสแพร่กระจายเร็วขึ้น ติดต่อกันง่ายขึ้น หรือมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม และกลายมาเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหนักแทนในที่สุด 

เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวลในไทย มีอะไรบ้าง?

เชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล หมายถึง สายพันธุ์ที่พบว่ามีอัตราการแพร่กระจายสูงขึ้น มีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเดิม หรือต่อต้านภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาและการป้องกันของวัคซีนลดน้อยลง

เชื้อโควิด 4 สายพันธุ์หลักที่ทั่วโลกวิตกกังวล และพบการแพร่ระบาดในประเทศไทย ได้แก่

สายพันธุ์อังกฤษ หรืออัลฟ่า (Alpha: B.1.1.7) พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและการเสียชีวิตมากขึ้น

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือเบต้า (Beta: B.1.351) พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ แพร่ระบาดง่ายขึ้น และสามารถต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือการติดเชื้อในครั้งก่อนได้มากขึ้น ส่งผลให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง

สายพันธุ์บราซิล หรือแกมม่า (Gamma: P.1) พบครั้งแรกในประเทศบราซิล สามารถต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งก่อนได้ ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง

สายพันธุ์อินเดีย หรือเดลต้า (Delta: B.1.617.2) พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย แพร่กระจายได้ง่าย และคาดว่าอาจต่อต้านภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดพบสายพันธุ์ย่อย เดลต้าพลัส (Delta Plus) ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในโปรตีนหนามของไวรัสที่ชื่อ K417N ที่พบเช่นเดียวกันในสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นลักษณะการกลายพันธุ์ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่าน่าวิตกกังวลเพราะจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายและติดต่อได้มากขึ้นถึง 60% 

วัคซีนช่วยป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?

เนื่องจากการพัฒนาวัคซีนมีขึ้นก่อนจะเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงทำให้วัคซีนโควิด-19 ที่มีในขณะนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาก็พบว่าวัคซีนบางชนิดยังคงป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ดี แม้จะมีประสิทธิภาพลดลงไปบ้างเล็กน้อยหรือทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงเร็วขึ้น เช่น Pfizer และ Moderna 

ด้านวัคซีน Astrazeneca ป้องกันสายพันธุ์อังกฤษได้เท่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และมีแนวโน้มป้องกันสายพันธุ์อื่นๆ ได้ ยกเว้นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่มีประสิทธิภาพลดลงพอสมควร แต่คาดว่ายังคงป้องกันอาการรุนแรงได้ ส่วนวัคซีน Sinovac นั้นพบว่าอาจป้องกันสายพันธุ์บราซิลและแอฟริกาใต้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งมีแนวโน้มมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อินเดียลดน้อยลง 

เทียบประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง การป้องกันต่อสายพันธุ์อินเดีย แอฟริกา บราซิล อังกฤษ ของวัคซีนโควิด-19 8 ยี่ห้อที่อาจมีในไทย

ทั้งนี้ทางผู้ผลิตวัคซีนหลายรายต่างก็กำลังเร่งผลิตวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster shot) และปรับปรุงวัคซีนที่มีอยู่ให้สามารถต่อกรกับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น

วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับสายพันธุ์กลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ คือการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดในระยะเวลาที่รวดเร็ว และยังจำเป็นต้องระมัดระวังโดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และล้างมือเสมอแม้จะได้รีบวัคซีนครบแล้วก็ตาม

พรีโมแคร์ ดูแลคุณด้วยหัวใจ ในทุกเรื่องสุขภาพ ต้องการปรึกษาแพทย์หรือสนใจรับบริการสุขภาพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางแอปพลิเคชัน Line @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

เจลล้างมือ​ สเปรย์แอลกอฮอล์ อันตรายใกล้ตัว หากใช้ไม่ถูกวิธี

    /    บทความ    /    เจลล้างมือ​ สเปรย์แอลกอฮอล์ อันตรายใกล้ตัว หากใช้ไม่ถูกวิธี

เจลล้างมือ​ สเปรย์แอลกอฮอล์ อันตรายใกล้ตัว หากใช้ไม่ถูกวิธี

เจลล้างมือ​ สเปรย์แอลกอฮอล์
อันตรายใกล้ตัว หากใช้ไม่ถูกวิธี

คุณกำลังใช้เจลล้างมือผิดวิธีอยู่หรือเปล่า? ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ดีกว่ากัน? ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด

คณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ออกมาเตือนถึงอันตรายจากการใช้เจลล้างมือไม่ถูกวิธี หลังพบรายงานผลข้างเคียงที่คาดว่าเกิดจากการสูดดมไอระเหยของเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแม้ส่วนมากจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ แต่ก็มีบางส่วนที่อาการรุนแรงจนต้องรับการรักษาจากแพทย์

ถึงจะใช้อยู่ทุกวัน แต่หลายคนอาจยังใช้ไม่ถูกวิธีและเสี่ยงอันตรายโดยไม่รู้ตัว วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ชวนคุณมารู้วิธีใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดจากการใช้ ตลอดจนหลักความปลอดภัยที่ควรคำนึงทุกครั้งที่ใช้เจลล้างมือหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ใดๆ ก็ตาม

ใช้เจลล้างมืออย่างไรให้มั่นใจว่าฆ่าเชื้อหมดจด 

  • เลือกใช้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เข้มข้นอย่างน้อย 70% ตามคำแนะนำขององค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย
  • ถูเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ให้ทั่วสองมือ ทั้งฝ่ามือ หลังมือ ง่ามนิ้ว และข้อมือ 
  • รอ 20-30 วินาทีจนแอลกอฮอล์แห้งดีก่อนจะไปหยิบจับสิ่งต่างๆ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้มีประสิทธิภาพลดลงได้
  • เจลล้างมือไม่ได้มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคทุกชนิด จึงควรใช้เมื่อไม่สามารถล้างมือด้วยสบู่ได้เท่านั้น
  • ไม่ควรใช้เจลล้างมือขณะมือสกปรกหรือหรือมีคราบมัน เพราะจะส่งผลให้มีประสิทธิภาพลดลง และอาจไม่ช่วยกำจัดสารเคมีอันตรายที่ตกค้างอยู่ เช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารตะกั่ว

คำเตือนในการใช้เจลล้างมือและสเปรย์แอลกอฮอล์

  • ควรใช้ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อป้องกันการได้รับไอระเหยของแอลกอฮอล์
  • หากใช้ในพื้นที่ปิด เช่น รถยนต์ หรือในห้อง ให้เปิดหน้าต่างระบายอากาศไว้จนกว่าตัวเจลบนมือจะแห้งหรือระเหยไปหมดแล้ว
  • เจลล้างมือบางชนิดอาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตราย หรือมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ถึง 70% เพื่อความปลอดภัยควรตรวจสอบเลขรับจดแจ้งก่อนซื้อทุกครั้ง โดยตรวจได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th ใต้หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” หรือดาวน์โหลด Oryor Smart Application หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโดยตรงที่สายด่วน อย.1556
  • เก็บเจลล้างมือ และสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกชนิดไว้ให้ห่างจากมือเด็ก 
  • เจลล้างมือสามารถติดไฟได้เนื่องจากมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จึงควรเก็บให้ไกลความร้อนและเปลวไฟ และก่อนทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสความร้อน ประกายไฟ หรือเปลวไฟ ควรรอให้เจลแห้งดีก่อนเสมอ
  • ควรสอดส่องดูแลขณะเด็กใช้เจลล้างมือทุกครั้ง กลิ่นน้ำหอมจากเจลล้างมืออาจทำให้เด็กต้องการสูดดมหรือเผลอนำมือเข้าปากได้
  • อย่าใช้เจลล้างมือ รวมถึงชนิดสเปรย์บริเวณใกล้ดวงตา เพราะอาจทำให้มีอาการแสบหรือเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ หากเผลอสัมผัสดวงตาให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาทันที

นอกจากนี้ หากมีอาการข้างเคียงจากการใช้เจลล้างมือที่รุนแรง เช่น หายใจติดขัด หมดสติ หรือเผลอกลืนเจลล้างมือเข้าไป ควรโทรเรียกรถโรงพยาบาลทันที

ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ดีกว่ากัน? 

ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) การล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที คือวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ และหลังจากไอจามหรือสั่งน้ำมูก

ทั้งนี้การล้างมือด้วยสบู่ไม่ได้เป็นการฆ่าเชื้อโรค แต่เป็นการทำลายโครงสร้างของเชื้อ ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเกาะบนผิวหนังได้อีกต่อไป จึงช่วยลดจำนวนเชื้อโรคได้ทุกชนิด รวมถึงสารพิษและสารปนเปื้อนต่างๆ

ส่วนเจลแอลกอฮอล์นั้นมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบนผิวหนังได้หลายชนิดหากใช้ถูกวิธี รวมทั้งเชื้อไวรัสโคโรน่า แต่จะมีประสิทธิภาพน้อยลงกับเชื้อคริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium) โนโรไวรัส (Norovirus) และคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล (Clostridium difficile) ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงท้องเสีย 

ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ใช้เจลล้างมือได้ในกรณีที่เร่งรีบ หรือไม่สะดวกล้างมือด้วยสบู่ แต่หากมือเปื้อนคราบมัน คราบสกปรก เช่น หลังการหยิบจับอาหาร การเล่นกีฬา การตั้งแคมป์ ควรล้างด้วยน้ำสบู่ให้แน่ใจว่าสะอาด เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาชี้ว่าคราบมันและสิ่งสกปรกนั้นส่งผลให้ประสิทธิภาพของเจลล้างมือลดลง และอาจไม่ได้ช่วยกำจัดสารเคมีหรือสารพิษที่เป็นอันตรายให้หมดไป

อ่านเคล็ดลับดีๆ ในการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงพร้อมรับมือโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

หากมีความกังวลเรื่องสุขภาพ สามารถนัดหมายกับทีมแพทย์พรีโมแคร์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE ที่ @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

6 โรคที่มากับหน้าฝนและน้ำท่วม รู้​ไว้​ก่อน ป้องกันได้

    /    บทความ    /    6 โรคที่มากับหน้าฝนและน้ำท่วม รู้​ไว้​ก่อน ป้องกันได้

6 โรคที่มากับหน้าฝนและน้ำท่วม รู้​ไว้​ก่อน ป้องกันได้

6 โรคที่มากับหน้าฝนและน้ำท่วม
รู้ไว้ก่อน ป้องกันได้

โรคที่มากับหน้าฝน มีอะไรบ้าง รู้จัก 6 โรคที่ต้องระวังในหน้าฝนนี้ แต่ละโรคมีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง

หน้าร้อนที่แสนอบอ้าวผ่านไปแล้ว เข้าสู่ความอึมครึมของฤดูฝนที่อากาศเย็นลงกว่าเดิม เป็นฤดูกาลที่หลายคนชื่นชอบ แต่รู้หรือไม่ว่าสายฝนที่ชุ่มฉ่ำอาจมาพร้อมโรคได้เช่นกัน มารู้จัก 6 โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมคำแนะนำในการป้องกันตัวเองให้สุขภาพดีตลอดฤดูฝนนี้ ที่คุณหมอพรีโมแคร์นำมาฝากกัน

1 ไข้หวัด 

โรคที่มักมาเยือนในฤดูฝนและฤดูหนาว เกิดขึ้นได้จากไวรัสหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งจะแพร่กระจายผ่านทางละอองสารคัดหลั่งเมื่อสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น การพูดคุย ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสหวัดจากผู้ป่วยแล้วนำมือมาสัมผัสตามดวงตา จมูก หรือปาก 

อาการจากการติดเชื้อหวัดมักจะปรากฏให้เห็นภายใน 1-3 วันหลังได้รับเชื้อ ที่มักพบบ่อย ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ จาม ปวดเมื่อยตามร่างกายเล็กน้อย ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ โดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้มักดีขึ้นเองภายใน 7-10 วัน

2 ไข้หวัดใหญ่ 

มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโรคหวัด แต่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางชนิด

อาการเริ่มแรกของไข้หวัดใหญ่อาจดูคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น มีน้ำมูก จาม เจ็บคอ แต่มักจะมีอาการแบบฉับพลันทันทีและมีความรุนแรงกว่าหวัดธรรมดา อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอแห้งอย่างต่อเนื่อง หายใจหอบ อ่อนเพลีย ในเด็กมักอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย

3 ไข้เลือดออก 

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) ที่มีพาหะเป็นยุงลายซึ่งจะวางไข่ตามภาชนะหรือแอ่งที่มีน้ำขังทั้งในและนอกบ้าน ความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เชื้อไวรัสเดงกีนั้นมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ หากติดเชื้อชนิดใดก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต

อาการของโรคไข้เลือดออกที่ไม่รุนแรงอาจทำให้สับสนกับอาการของโรคอื่นๆ ที่มักจะมีไข้ ปวดตามเนื้อตัว และมีผื่นขึ้น โดยบางคนอาจมีไข้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่บางคนอาจมีอาการอื่นร่วม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้น ปวดตามกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ ปวดบริเวณกระบอกตา ปวดศีรษะ เป็นต้น

4 ท้องเสีย ท้องร่วง 

มักเกิดจากการบริโภคน้ำและอาหารที่ปรุงไม่สุก ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือมีวิธีการปรุงที่ไม่สะอาดไม่ถูกสุขอนามัย รวมถึงอาหารค้างคืน หมดอายุ หรือมีการเก็บรักษาไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อจำพวกปรสิต ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียหรือโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น

นอกจากอาการถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้องแบบบีบๆ หรือเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ทั้งนี้หากถ่ายอุจจาระเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวันอาจเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ ระหว่างที่มีอาการจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอและอาจดื่มเกลือแร่ ORS สำหรับบรรเทาอาการท้องเสีย ที่จะช่วยชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

5 โรคฉี่หนู 

เป็นอีกโรคที่ระบาดมากในหน้าฝน เนื่องจากฝนที่ตกลงมาจะชะล้างเชื้อโรคต่างๆ ไหลมารวมกันบริเวณที่น้ำท่วมขัง โรคนี้มีตัวการเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน โดยจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผล รอยขีดข่วน หรือผิวหนังที่เปื่อยจากการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน รวมทั้งทางเยื่อบุตา จมูก และปาก

ผู้ที่ได้รับเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ ส่วนคนที่มีอาการก็มักค่อยไม่รุนแรง เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ตาแดง ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งจะหายไปได้เองใน 4-7 วัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการระยะที่สองซึ่งเป็นระยะที่รุนแรง โดยตอนแรกจะดูเหมือนไข้เริ่มลดลง แต่ก็กลับมามีไข้สูงอีกครั้ง และอาจตามมาด้วยอาการอันตรายอย่างเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับและไตทำงานผิดปกติหรือล้มเหลวได้

6 โรคตาแดง 

หรือเยื่อบุตาอักเสบ เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาที่เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่เยื่อบุตา มักระบาดมากในช่วงหน้าฝนเนื่องจากเชื้อกระจายตัวในอากาศได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังติดได้จากการว่ายน้ำในสระ และการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยแล้วนำมาสัมผัสตาตัวเอง

นอกจากอาการตาแดงที่ตาขาวหรือเปลือกตาด้านใน ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุการติดเชื้อ เช่น แสบตา คันตา ตาแฉะ น้ำตาไหล มีขี้ตาสีเหลืองที่เปลือกหรือขนตา ทำให้ลืมตายากในเวลาตื่นนอนตอนเช้า เป็นต้น

ป้องกันตัวเองและคนรอบข้างอย่างไร ห่างไกลโรคที่มากับหน้าฝน

โรคที่มากับหน้าฝนมักเป็นโรคที่มีน้ำเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อ และเป็นเชื้อที่กระจายตัวได้ดีในอากาศเย็นชื้น การป้องกันทำได้ด้วยการลดการแพร่กระจายและความเสี่ยงในการติดเชื้อของทั้งตัวคุณเองและคนรอบข้าง ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานหรือเตรียมอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และหลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก
  • หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวจับบันได
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน หูฟัง เครื่องสำอาง แว่นตา ยาหยอดตา
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่รับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ หลีกเลี่ยงอาหารที่ค้างคืนหรือมีการเก็บรักษาไม่เหมาะสม
  • ในขั้นตอนการปรุงหรือเก็บอาหารควรแยกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และไข่ไก่ ออกจากอาหารอื่นๆ และมีเขียงแยกสำหรับหั่นเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยคอยดูไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะทั้งในบ้านและบริเวณรอบบ้าน ควรมีฝาปิดภาชนะที่ใส่น้ำเพื่อป้องกันยุงลายวางไข่
  • สวมรองเท้าบู้ตทุกครั้งเมื่อต้องลุยน้ำขัง หรือรีบล้างมือล้างเท้าให้สะอาดหลังจากสัมผัสน้ำขังหรือสัตว์ที่เป็นพาหะ
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่ทีประโยชน์ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อสู้โรค 

นอกจากโรคโควิด-19 ที่ต้องระมัดระวังแล้ว ภัยสุขภาพที่มาพร้อมฝนเหล่านี้ก็ละเลยไม่ได้เช่นกัน หากใครมีอาการคล้ายๆ 6 โรคนี้หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่กังวลใจ คุณสามารถปรึกษาทีมแพทย์ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก โดยนัดหมายผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE ได้ที่ @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีทำงาน เมื่อ Multi-tasking ไม่ดีอย่างที่คิด

    /    บทความ    /    ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีทำงาน เมื่อ Multi-tasking ไม่ดีอย่างที่คิด

ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีทำงาน เมื่อ Multi-tasking ไม่ดีอย่างที่คิด

ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีทำงาน
เมื่อ Multi-tasking ไม่ดีอย่างที่คิด

Multi-tasking​ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือยิ่งทำให้พังกว่าเดิม​กันแน่? วิธีทำงานที่ถูกต้อง​คืออะไร? บทความนี้มีคำตอบ

ในยุคของการทำงานที่เร่งรีบและเน้น Productivity หลายคนคิดว่า Multi-tasking หรือการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน คือทักษะสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงาน 

แท้จริงแล้วมีงานวิจัยออกมาว่า คนประมาณ 2.5% เท่านั้นที่สามารถทำงานแบบ Multi-tasking ได้ดี เนื่องจากสมองของคนเราถูกออกแบบมาให้โฟกัสกับการทำงานทีละอย่างเท่านั้น นอกจากนี้เวลาส่วนใหญ่ที่เราคิดว่ากำลัง Multi-tasking นั้น ความจริงก็คือการทำทีละอย่างในอัตราที่เร็วขึ้น หรือสลับทำไปทีละอย่างนั่นเอง และไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้มากขึ้นแต่อย่างใด

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราทำงานแบบ Multi-tasking?

ความจำแย่ลง 

ลักษณะของการทำงานที่จดจ่อกับงานมากกว่าหนึ่งอย่างในเวลาเดียวกัน หรือการทำงานสลับไปมาระหว่างงาน 2 งานขึ้นไป ส่งผลให้เรามีสมาธิจดจ่อและมีประสิทธิภาพในการทำงานนั้นๆ น้อยลง ทั้งยังไม่สามารถรับข้อมูลต่างๆ ได้เท่าการทำงานเป็นอย่างๆ ไป ซึ่งสิ่งที่อาจตามมาก็คืออาการความจำสั้น หลงๆ ลืมๆ จำอะไรไม่ค่อยได้นั่นเอง

เกิดความเครียดสะสม 

สมองของคนเราต้องใช้เวลาและพลังงานอย่างมากในการปรับเปลี่ยนโฟกัสทุกครั้งที่สลับไปทำงานอย่างอื่น ทำให้ Multi-tasking กินเวลามากกว่าการเลือกจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งไปทีละอย่าง โดยมีงานวิจัยบางงานที่ชี้ว่าการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันทำให้เราทำงานได้น้อยลงถึง 40% และนี่อาจทำให้ชาว Multi-tasking หลายคนเสี่ยงเกิดความเครียดจากการต้องรับมือกับหลายงานพร้อมกัน รวมถึงความเครียดเรื้อรังสะสมจากการทำงานได้น้อยลงจนต้องชดเชยด้วยการทำงานล่วงเวลาในทุกๆ วัน

การจัดระเบียบความคิดปรวนแปร

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชี้ว่าคนที่ทำงานแบบ Multi-tasking จะมีทักษะในการแยกข้อมูลที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องออกจากกันได้น้อยลง ทั้งยังประสบปัญหาในการจัดระบบระเบียบความคิดหลังจากสลับไปทำงานอื่น ยิ่งไปกว่านั้นคนที่ทำงานในลักษณะนี้มาเป็นเวลานาน จะมีประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงแม้เมื่อจดจ่อกับงานเพียงงานเดียวก็ตาม

Multi-tasking ได้ แต่ต้องเลือกจับคู่สิ่งที่ทำให้ถูก

การการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันอาจทำได้ในกรณีที่เป็นการจับคู่งานที่ต้องอาศัยสมาธิจดจ่อ กับงานที่เน้นใช้กำลังมากกว่า เช่น 

  • การฟังเพลงหรือหนังสือเสียงไปพร้อมกับการออกกำลังกาย
  • การคุยโทรศัพท์ขณะทำงานบ้าน
  • การดูทีวีหรือฟังเพลงระหว่างพับผ้า

การเลือกทำงานที่ต้องใช้ความคิดเพียงงานเดียวจะทำให้ไม่ต้องสูญเสียเวลาและพลังงานในการสร้างสมาธิจดจ่อกับงานสลับไปมา แต่หากเราเลือกทำงาน 2 อย่างที่ต่างต้องใช้สมาธิทั้งคู่ เช่น ฟังเพลงระหว่างเขียนหรือพิมพ์งาน ทำงานอื่นระหว่างฟังประชุม คุยกับเพื่อนขณะทำการบ้าน หรือคุยโทรศัพท์ระหว่างขับรถ นั่นอาจทำให้เราไม่สามารถรับข้อมูลหรือจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งได้ดีพอ และยังเสี่ยงก่อให้เกิดความผิดพลาดได้สูงอีกด้วย

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยวิธีที่เห็นผลกว่า Multi-tasking

สำหรับคนที่ติดการทำงานแบบ Multi-tasking คุณหมอพรีโมแคร์มีทริคง่ายๆ ในการปรับการทำงานเพื่อโฟกัสทีละอย่าง ให้คุณกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง แถมบอกลาความเครียด มาฝากกัน

  • เลือกโฟกัสงานใดงานหนึ่งเป็นหลัก จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังเป็นอย่างๆ หากพะวงกับงานที่ 2 หรือ 3 ให้วางแผนจัดตารางการทำงานเพื่อบอกสมองว่าจะทำงานอื่นๆ ต่อหลังจากจบงานนี้
  • ใช้เทคนิค Chunking ซึ่งเป็นการจัดตารางในการทำงานใดงานหนึ่งโดยไม่วอกแวกไปทำงานอื่น และจัดกลุ่มงานที่คล้ายกันเข้าด้วยกันในเวลาเดียว เช่น กำหนดเวลาเช็กอีเมลในแต่ละวันแทนที่จะเช็กตลอดทั้งวัน เพื่อลดเวลาในการปรับโฟกัสไปทำงานอื่นไปมา และมีเวลาในการจดจ่อกับงานต่างๆ มากขึ้น
  • ใช้กฎ 20 นาที ใครที่ต้องทำงานสลับไปมาตลอดเวลา ลองจดจ่อกับแต่ละงานอย่างเต็มที่โดยไม่วอกแวกในเวลา 20 นาที ก่อนจะสลับไปทำงานอื่นต่อไป
  • ลองปรับลดงานที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ลองดูว่ามีงานไหนที่ไม่ได้สำคัญหรือมีแต่จะทำให้ตารางแน่นและรู้สึกว่าต้อง Multi-tasking เพื่อให้ได้งานมากขึ้นตลอดเวลา โดยที่แม้ตัดออกไปแล้วก็ไม่ได้มีผลกระทบในทางลบกับงานแต่อย่างใด หรืออาจต้องลองคุยกับหัวหน้าเพื่อหาแนวทางร่วมกันต่อไป

เมื่อวิทยาศาสตร์บอกเราว่า Multi-tasking ไม่ใช่สิ่งที่ส่งผลดีต่อการทำงานอีกต่อไป ครั้งหน้าที่ต้องเผชิญกับการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ให้ลองหยุด Multi-tasking แล้วพยายามโฟกัสงานใดงานหนึ่งไปทีละงานตามเคล็ดลับข้างต้น คุณอาจพบว่าตัวเองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เครียดน้อยลง และมีความสุขกับงานที่ทำมากกว่าเดิมก็เป็นได้

ต้องการเคล็ดลับการทำงานแบบสุขภาพดีและวิธีรับมือกับความเครียดจากการทำงาน หรือคำแนะนำเรื่องสุขภาพอื่นๆ เพิ่มเติม คลิกเลย

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง