/    บทความ    /    ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ประโยชน์ฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ประโยชน์ฟ้าทะลายโจร
รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ฟ้าทะลายโจรกับสรรพคุณรักษาโควิด คำแนะนำล่าสุดในการใช้ และข้อควรระวังที่ควรรู้ กินฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดได้หรือไม่?

เป็นที่สับสนกันไม่น้อยเกี่ยวกับประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรต่อการป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19 ฉบับอัปเดตล่าสุดมาฝาก ทั้งด้านสรรพคุณ ขนาดการใช้ และข้อควรระวังในการใช้ ตอบทุกข้อสงสัยในบทความนี้

สรรพคุณฟ้าทะลายโจรต่อการรักษาโรค

คุณประโยชน์ทางยาของฟ้าทะลายโจรที่มีการศึกษาวิจัยในไทยและต่างประเทศรองรับมี 4 อย่างด้วยกัน

  • บรรเทาอาการหวัด มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานฟ้าทะลายโจรอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ต่างสามารถบรรเทาอาการไอและเจ็บคอในผู้ป่วยโรคหวัดได้ 
  • บรรเทาอาการอักเสบและแก้ปวด งานวิจัยบางงานพบว่าการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรทุกวันช่วยลดอาการเจ็บปวดและความฝืดของข้อเข่าในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการไม่รุนแรงไปถึงระดับปานกลาง
  • ลดการติดเชื้อในคอและต่อมทอนซิล การรับประทานฟ้าทะลายโจรวันละ 6 กรัมช่วยลดอาการไข้และอาการปวดจากต่อมทอนซิลอักเสบได้เทียบเท่ากับการใช้ยาพาราเซตามอล
  • ลดการอักเสบของลำไส้ มีงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ช่วยลดอาการของโรคลำไส้อักเสบได้พอๆ กับการใช้ยารักษาโรคลำไส้อักเสบอย่างเมซาลามีน (Mesalamine) เลยทีเดียว

ฟ้าทะลายโจร กับการรักษาโรคโควิด-19

ในประเทศไทยมีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรต่อโรคโควิด-19 มาได้ระยะหนึ่งแล้วโดยจากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงแบคทีเรียบางชนิด 

ด้านการศึกษาทางคลินิก มีการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงจำนวน 80 ราย ผลพบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-5 โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง มีเพียงอาการถ่ายเหลวเล็กน้อยเท่านั้น

เช่นเดียวกับการวิจัยอีกงานหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 304 รายที่มีอาการไม่รุนแรง รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide  180 มิลลิกรัม/วัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ผลพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง มีเพียงอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือถ่ายเหลวในระดับที่ไม่รุนแรงเท่านั้น

เมื่อวันที่ 4 มิถุยายน คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงได้ประกาศแนวทางการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ระบุว่าต้องเป็นการสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น โดยให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ในปริมาณ 180 มิลลกรัมต่อวัน แบ่งใช้ 3 ครั้ง และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการควบคุมปริมาณสาร Andrographolide ด้วย

ปริมาณการใช้ฟ้าทะลายโจร

  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 180 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 60 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น เป็นเวลานาน 5 วัน
  • เสริมภูมิคุ้มกัน
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 10 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน เว้น 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 12 สัปดาห์ 
  • บรรเทาอาการหวัด เช่น ไอ เจ็บคอ
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 60-120 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-40 มิลลิกรัม แต่หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์

การใช้ฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสาร Andrographolide สูงและติดต่อนานเกินไปอาจทำให้ค่าการทำงานของเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้นได้ ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมไม่ควรเกินวันละ 180 มิลลิกรัม และไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 วัน

ปริมาณการใช้ยาสำหรับฟ้าทะลายโจรแต่ละยี่ห้อ

ฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในตลาดมีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อมีปริมาณสาร Andrographolide ในปริมาณที่แตกต่างกันไป เพื่อการใช้ที่ถูกต้องปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงขนาดยาที่ควรใช้ หรือตรวจสอบปริมาณการใช้ยาฟ้าทะลายโจรเบื้องต้นได้ที่นี่ ตามข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนให้ระวังผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรปลอมที่แอบอ้างเลข อย. จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ โดยอาจใช้ชื่อการค้าใหม่หรือชื่อการค้าเดิม หรือหลอกลวงว่ามีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบสำคัญ ก่อนซื้อควรตรวจสอบเลขที่ผลิตภัณฑ์กับทางเว็บไซต์ของอย. เสมอ และสังเกตเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร จะต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G คลิกเพื่อตรวจเลขอย.ที่นี่

ฟ้าทะลายโจร ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 

การทดลองพบว่าฟ้าทะลายโจรไม่สามารถยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

ข้อควรระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานอย่างเหมาะสม แต่ก็อาจทำให้มีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์บางอย่างเกิดขึ้นได้ เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน มีผื่นขึ้น ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ น้ำมูกไหล และรู้สึกอ่อนเพลีย นอกจากนี้หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต หรือส่งผลให้ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นได้

บุคคลต่อไปนี้ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร 

  • ห้ามใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์ทันที
  • ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคตับและไต

บุคคลต่อไปนี้ควรระมัดระวังการใช้ฟ้าทะลายโจร โดยปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

  • ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคเอ็มเอส โรคเอสแอลอีหรือลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพราะอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้น
  • ผู้ที่มีโรคความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือฟกช้ำ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรอาจชะลอการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เพราะอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลงและความดันโลหิตลดต่ำลงได้ในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัดแล้ว 

สำหรับเด็ก การรับประทานฟ้าทะลายโจรในระยะสั้นๆ นั้นอาจปลอดภัย โดยมีงานวิจัยที่ให้เด็กอายุ 3-15 ปี ใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นเวลาไม่เกิน 1 เดือน

ข้อห้ามการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาอื่น

เพื่อความปลอดภัยก่อนใช้ฟ้าทะลายโจรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยารักษาโรค อาหารเสริม หรือสมุนไพรอื่นๆ 

ยาที่ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกัน เนื่องจากอาจทำปฏิกิริยากับฟ้าทะลายโจร ได้แก่

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและต้านเกล็ดเลือด อาจออกฤทธิ์เสริมกัน ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกและมีจ้ำเขียว เช่น Aspirin, Clopidogrel, Diclofenac, Ibuprofen, Naproxen, Dalteparin, Enoxaparin, Heparin, Warfarin
  • ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจออกฤทธิ์เสริมกันจนทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำเกินไป เช่น Captopril, Enalapril, Losartan, Valsartan, Diltiazem, Amlodipine, Hydrochlorothiazide, Furosemide
  • ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน อาจออกฤทธิ์ต้านกันจนทำให้ลดประสิทธิภาพยากดภูมิคุ้มกัน เช่น Azathioprine, Basiliximab, Cyclosporine, Daclizumab, Muromonab-CD3, Mycophenolate, Tacrolimus, Sirolimus, Prednisone, Corticosteroids

พรีโมแคร์ ดูแลทุกเรื่องสุขภาพ คลิกดูบริการของเราที่นี่ ต้องการปรึกษาแพทย์หรือรับบริการสุขภาพ นัดหมายได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference