Categories
Uncategorized

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

    /    บทความ    /    กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ
เหมาะกับใครบ้าง?

กายภาพบำบัดคืออะไร ใครที่ควรทำกายภาพบำบัด? ทำความรู้จักกายภาพบำบัด ศาสตร์เป็นทั้งการรักษา ป้องกัน และฟื้นฟูส่งเสริมสุขภาพ

เมื่อได้ยินคำว่า ‘กายภาพบำบัด’ หลายคนอาจนึกถึงการรักษาอาการปวดหลังหรือการฟื้นฟูร่างกายหลังอาการบาดเจ็บเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วกายภาพบำบัดเป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพอีกหลากหลายด้าน มาดูกันว่าวิธีรักษาทางกายภาพบำบัดที่นอกเหนือจากการนวดนั้นมีอะไรบ้าง นักกายภาพบำบัดมีหน้าที่อะไร และใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากการทำกายภาพบำบัด

นิยามของคำว่า ‘กายภาพบำบัด’

กายภาพบำบัดคือศาสตร์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งในแง่ของการป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพด้วยวิธีการต่างๆ ทางกายภาพ เช่น การออกกำลังกาย การนวด การดัด ดึง และขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกระดูก การรักษาด้วยไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น การฝังเข็ม เป็นต้น 

นักกายภาพบำบัด ช่วยอะไรได้บ้าง?

กว่าจะเป็นนักกายภาพบำบัดได้นั้น ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างสูง ต้องมีความรู้และทักษะการฟื้นฟูร่างกายในระบบต่างๆ ตั้งแต่ระบบประสาท กล้ามเนื้อและกระดูก หัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงระบบทางเดินหายใจ 

เป้าหมายหลักของนักกายภาพบำบัดคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยจะช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพ บรรเทาความเจ็บปวด ฟื้นฟูร่างกายส่วนต่างๆ ให้กลับมาทำงานตามปกติ รวมถึงป้องกันการเสื่อมสภาพของร่างกายในผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่พิการถาวรจากอุบัติเหตุ ซึ่งในขั้นตอนการรักษาจะให้ความสำคัญกับภาพรวมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่งที่เกิดการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บเท่านั้น 

หากยังนึกภาพไม่ออกว่ากายภาพบำบัดจะส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร ลองดูตัวอย่างการทำงานหลักๆ ของนักกายภาพบำบัดต่อไปนี้

  • การให้ความรู้และคำแนะนำ โดยเน้นเกี่ยวกับการป้องกันอาการบาดเจ็บจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง เช่น สอนท่าทางการเดิน การนั่งทำงาน วิธีการยกของหนัก ท่ายืดกล้ามเนื้อและท่ากายบริหารที่ทำได้เองที่บ้าน รวมถึงการสอนเทคนิคเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา
  • การรักษาด้วยมือ เช่น การดัด ดึง ขยับข้อต่อ รวมถึงเทคนิคอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาความปวดเมื่อย ยืดคลายการตึงของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย การไหลเวียนของเลือด และการระบายน้ำเหลือง
  • การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย เป็นการแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพร่างกายและอาการเจ็บป่วยของแต่ละคน รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อหรือเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ
  • การใช้เครื่องมือหรือเทคนิคอื่นๆ ในการรักษา เช่น การบำบัดด้วยไฟฟ้า คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ การรักษาโดยใช้ความร้อนหรือความเย็น การใช้เครื่องดึงหลัง ดึงคอ การทำธาราบำบัด การฝังเข็ม เป็นต้น 

กายภาพบำบัด มีประโยชน์กับใคร?

บทบาทของกายภาพบำบัดไม่ได้จำกัดแค่การรักษาและฟื้นฟูร่างกายจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอย่างที่หลายคนคุ้นเคย แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การบริหารร่างกายเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ การแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เป็นต้น

นักกายภาพบำบัดนั้นดูแลผู้ป่วยทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ และเป็นการดูแลที่ครอบคลุมหลากหลายระบบในร่างกาย

  • ระบบกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดขา การป้องกันและรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ หรือการทำงาน รวมถึงผู้ป่วยที่กระดูกหัก ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด และผู้ที่มีความพิการจากการสูญเสียอวัยวะ
  • ระบบประสาทและสมอง เช่น ปัญหาการเคลื่อนไหวที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส โรคพาร์กินสัน ผู้ที่มีภาวะสมองพิการแต่กำเนิด และผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือไขสันหลัง 
  • ระบบหัวใจและการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคหัวใจ และการบำบัดรักษาหลังจากภาวะหัวใจวาย
  • ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

ขั้นตอนการพบนักกายภาพบำบัด

สำหรับการพบนักกายภาพบำบัด หากเป็นในโรงพยาบาลเรามักจะได้รับการส่งต่อจากแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ในกรณีที่เห็นว่ามีปัญหาที่ต้องได้รับการรักษาฟื้นฟู หรือรับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด แต่หากเป็นคลินิกทั่วไปหรือคลินิกกายภาพบำบัด ก็สามารถติดต่อรับการรักษากับนักกายภาพโดยตรงได้เลย

กายภาพบำบัดเรียกได้ว่าเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในทุกระยะของการรักษา ตั้งแต่การซักประวัติเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง การฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาสมบูรณ์ที่สุด ไปจนถึงการป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นซ้ำ

นอกจากนี้ในการหาสาเหตุและให้คำแนะนำการรักษา นักกายภาพบำบัดจะคำนึงถึงปัยจัยอื่นๆ ทั้งไลฟ์สไตล์ ลักษณะการงาน อารมณ์ ความคิด ไปจนถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย เพราะเชื่อว่าทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยและส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจของผู้ป่วยได้

ปวดเมื่อย ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม ให้ทีมกายภาพบำบัดพรีโมแคร์ช่วยค้นหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด รวดเร็ว ไม่ยื้อเวลาเจ็บป่วย คลิกดูบริการตรวจวิเคราะห์โครงสร้างร่างกาย และบริการกายภาพบำบัดที่หลากหลายได้ที่นี่ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ LINE @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

    /    บทความ    /    ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ประโยชน์ฟ้าทะลายโจร รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ประโยชน์ฟ้าทะลายโจร
รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? ไม่ป่วยกินได้ไหม?

ฟ้าทะลายโจรกับสรรพคุณรักษาโควิด คำแนะนำล่าสุดในการใช้ และข้อควรระวังที่ควรรู้ กินฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดได้หรือไม่?

เป็นที่สับสนกันไม่น้อยเกี่ยวกับประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรต่อการป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อโควิด-19 วันนี้พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19 ฉบับอัปเดตล่าสุดมาฝาก ทั้งด้านสรรพคุณ ขนาดการใช้ และข้อควรระวังในการใช้ ตอบทุกข้อสงสัยในบทความนี้

สรรพคุณฟ้าทะลายโจรต่อการรักษาโรค

คุณประโยชน์ทางยาของฟ้าทะลายโจรที่มีการศึกษาวิจัยในไทยและต่างประเทศรองรับมี 4 อย่างด้วยกัน

  • บรรเทาอาการหวัด มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานฟ้าทะลายโจรอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ต่างสามารถบรรเทาอาการไอและเจ็บคอในผู้ป่วยโรคหวัดได้ 
  • บรรเทาอาการอักเสบและแก้ปวด งานวิจัยบางงานพบว่าการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรทุกวันช่วยลดอาการเจ็บปวดและความฝืดของข้อเข่าในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการไม่รุนแรงไปถึงระดับปานกลาง
  • ลดการติดเชื้อในคอและต่อมทอนซิล การรับประทานฟ้าทะลายโจรวันละ 6 กรัมช่วยลดอาการไข้และอาการปวดจากต่อมทอนซิลอักเสบได้เทียบเท่ากับการใช้ยาพาราเซตามอล
  • ลดการอักเสบของลำไส้ มีงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าการรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ช่วยลดอาการของโรคลำไส้อักเสบได้พอๆ กับการใช้ยารักษาโรคลำไส้อักเสบอย่างเมซาลามีน (Mesalamine) เลยทีเดียว

ฟ้าทะลายโจร กับการรักษาโรคโควิด-19

ในประเทศไทยมีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรต่อโรคโควิด-19 มาได้ระยะหนึ่งแล้วโดยจากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงแบคทีเรียบางชนิด 

ด้านการศึกษาทางคลินิก มีการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงจำนวน 80 ราย ผลพบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-5 โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง มีเพียงอาการถ่ายเหลวเล็กน้อยเท่านั้น

เช่นเดียวกับการวิจัยอีกงานหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 304 รายที่มีอาการไม่รุนแรง รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide  180 มิลลิกรัม/วัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ผลพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง มีเพียงอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือถ่ายเหลวในระดับที่ไม่รุนแรงเท่านั้น

เมื่อวันที่ 4 มิถุยายน คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงได้ประกาศแนวทางการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ระบุว่าต้องเป็นการสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น โดยให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ในปริมาณ 180 มิลลกรัมต่อวัน แบ่งใช้ 3 ครั้ง และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการควบคุมปริมาณสาร Andrographolide ด้วย

ปริมาณการใช้ฟ้าทะลายโจร

  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 180 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 60 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น เป็นเวลานาน 5 วัน
  • เสริมภูมิคุ้มกัน
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 10 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 วัน เว้น 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 12 สัปดาห์ 
  • บรรเทาอาการหวัด เช่น ไอ เจ็บคอ
    • รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide วันละ 60-120 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-40 มิลลิกรัม แต่หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์

การใช้ฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสาร Andrographolide สูงและติดต่อนานเกินไปอาจทำให้ค่าการทำงานของเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้นได้ ปริมาณการใช้ที่เหมาะสมไม่ควรเกินวันละ 180 มิลลิกรัม และไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 วัน

ปริมาณการใช้ยาสำหรับฟ้าทะลายโจรแต่ละยี่ห้อ

ฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในตลาดมีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อมีปริมาณสาร Andrographolide ในปริมาณที่แตกต่างกันไป เพื่อการใช้ที่ถูกต้องปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงขนาดยาที่ควรใช้ หรือตรวจสอบปริมาณการใช้ยาฟ้าทะลายโจรเบื้องต้นได้ที่นี่ ตามข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนให้ระวังผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรปลอมที่แอบอ้างเลข อย. จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ โดยอาจใช้ชื่อการค้าใหม่หรือชื่อการค้าเดิม หรือหลอกลวงว่ามีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบสำคัญ ก่อนซื้อควรตรวจสอบเลขที่ผลิตภัณฑ์กับทางเว็บไซต์ของอย. เสมอ และสังเกตเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร จะต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G คลิกเพื่อตรวจเลขอย.ที่นี่

ฟ้าทะลายโจร ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 

การทดลองพบว่าฟ้าทะลายโจรไม่สามารถยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

ข้อควรระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายเป็นสมุนไพรที่ค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานอย่างเหมาะสม แต่ก็อาจทำให้มีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์บางอย่างเกิดขึ้นได้ เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน มีผื่นขึ้น ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ น้ำมูกไหล และรู้สึกอ่อนเพลีย นอกจากนี้หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต หรือส่งผลให้ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นได้

บุคคลต่อไปนี้ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร 

  • ห้ามใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หากมีอาการดังกล่าวควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์ทันที
  • ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคตับและไต

บุคคลต่อไปนี้ควรระมัดระวังการใช้ฟ้าทะลายโจร โดยปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

  • ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคเอ็มเอส โรคเอสแอลอีหรือลูปัส โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพราะอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้น
  • ผู้ที่มีโรคความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือฟกช้ำ เนื่องจากฟ้าทะลายโจรอาจชะลอการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เพราะอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลงและความดันโลหิตลดต่ำลงได้ในระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัดแล้ว 

สำหรับเด็ก การรับประทานฟ้าทะลายโจรในระยะสั้นๆ นั้นอาจปลอดภัย โดยมีงานวิจัยที่ให้เด็กอายุ 3-15 ปี ใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นเวลาไม่เกิน 1 เดือน

ข้อห้ามการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาอื่น

เพื่อความปลอดภัยก่อนใช้ฟ้าทะลายโจรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยารักษาโรค อาหารเสริม หรือสมุนไพรอื่นๆ 

ยาที่ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกัน เนื่องจากอาจทำปฏิกิริยากับฟ้าทะลายโจร ได้แก่

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและต้านเกล็ดเลือด อาจออกฤทธิ์เสริมกัน ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกและมีจ้ำเขียว เช่น Aspirin, Clopidogrel, Diclofenac, Ibuprofen, Naproxen, Dalteparin, Enoxaparin, Heparin, Warfarin
  • ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง อาจออกฤทธิ์เสริมกันจนทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำเกินไป เช่น Captopril, Enalapril, Losartan, Valsartan, Diltiazem, Amlodipine, Hydrochlorothiazide, Furosemide
  • ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน อาจออกฤทธิ์ต้านกันจนทำให้ลดประสิทธิภาพยากดภูมิคุ้มกัน เช่น Azathioprine, Basiliximab, Cyclosporine, Daclizumab, Muromonab-CD3, Mycophenolate, Tacrolimus, Sirolimus, Prednisone, Corticosteroids

พรีโมแคร์ ดูแลทุกเรื่องสุขภาพ คลิกดูบริการของเราที่นี่ ต้องการปรึกษาแพทย์หรือรับบริการสุขภาพ นัดหมายได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

    /    บทความ    /    Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน
ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาโควิด-19 ที่บ้าน ใครบ้างที่ทำได้ ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนเข้าระบบและแนวทางปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?

สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤตจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน ทำให้เริ่มมีการนำการรักษาในรูปแบบ Home Isolation หรือ Self Isolation ซึ่งเป็นการแยกตัวผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้รักษาตัวที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยอาการหนักมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น และลดปัญหาจำนวนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอรองรับจำนวนผู้ป่วย

Home Isolation ในประเทศไทยมีขั้นตอนการรับเข้าระบบอย่างไรบ้าง ใครสามารถทำได้ ใครที่ไม่ควรทำ และมีข้อปฏิบัติตัวอย่างไรในระหว่างที่แยกตัว คุณหมอพรีโมแคร์ชวนคุณมาหาคำตอบในบทความนี้

แยกตัวรักษา (Isolation) กับกักตัว (Quarantine) ต่างกันอย่างไร?

การกักตัวหลังมีความเสี่ยง (Quarantine) คือการแยกกักตัวเนื่องจากมีความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนการแยกตัวรักษา (Home Isolation) คือการรักษาผู้ที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าติดเชื้อ โดยให้แยกตัวจากคนอื่นในบ้าน อยู่ในพื้นที่ที่แยกจากกัน เพื่อไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ใครบ้างที่เหมาะกับการแยกรักษาตัวที่บ้าน? 

ปัจจุบันมีการแบ่งผู้ป่วยตามอาการเป็น 3 ระดับ คือ ผู้ป่วยอาการสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยจะแนะนำให้พักรักษาตัวและสังเกตอาการที่บ้านก็ต่อเมื่อประเมินว่าแล้วเป็นผู้ป่วยในระดับอาการสีเขียว คือ 

  • ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเหมือนไข้หวัดปกติ 
  • ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ 

ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับ Home Isolation?

  • ผู้ป่วยอาการสีเหลือง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 
    • มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอายุ 60 ปีขึ้น มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ภูมิคุ้มกันต่ำ มีเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000
    • มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกขณะทำกิจกรรม หายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ไอแล้วเหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปอดอักเสบ หรือถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
  • ผู้ป่วยอาการสีแดง คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย พูดแล้วเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค คำพูดไม่ปะติดปะต่อฟังไม่รู้เรื่อง แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จะต้องรีบเข้ารับการเอกซเรย์ปอด

ขั้นตอนการเข้าระบบ Home Isolation

  1. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อเข้าระบบ Home Isolation ในช่องทางต่อไปนี้ 
    1. ผู้มีสิทธิบัตรทอง โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14
    2. ผู้มีสิทธิประกันสังคม โทรสายด่วน 1506 กด 6 
    3. กรอกข้อมูลลงทะเบียนออนไลน์ทางเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/  
    4. ติดต่อทีมบุคลากรทางการแพทย์อาสาทางแอปพลิเคชัน Line @FammedCoCare
    5. แจ้งจิตอาสาในชุมชนที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชนตามอาการและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยจะส่งรายละเอียดของผู้ป่วยให้กับทีมแพทย์พยาบาล จากนั้นซักประวัติ คัดกรองข้อมูล และสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยผ่านระบบ Telehealth
  2. หากแพทย์ประเมินว่าอาการของผู้ป่วยอยู่ในระดับสีเขียว จะนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระบบ Home Isolation ต่อไป ส่วนในกรณีที่มีระดับอาการเป็นสีเหลือง (รอเตียง) หรือสีแดง (ต้องเข้ารับการรักษาทันที) จะมีทีมพยาบาลและจิตอาสาประสานงานจัดหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาจากหน่วยพยาบาลในเครือข่ายโดยเร็วที่สุด
  3. เมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้ว จะมีทีมพยาบาลให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและคอยติดตามอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE และมีการโทรสอบถามอาการในช่วงเช้า และเย็นทุกวัน เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
  4. ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation ทั้งในเครือข่ายชุมชนและสปสช. จะได้รับอาหาร 3 มื้อทุกวัน รวมทั้งถุงยังชีพและของใช้ที่จำเป็น ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ จนกว่าจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือหายป่วย
  5. หากมีอาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในระหว่างประสานรอเตียงผู้ป่วย
  6. ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ทีมงานจะส่งต่อข้อมูลและรายชื่อผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย โดยการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยต้องผ่านทางแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อได้รับยาแล้ว จะมีทีมพยาบาลไปด้วยเพื่ออธิบายการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย

แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในช่วง Home Isolation

  • อยู่แต่เฉพาะในบ้าน และงดให้คนอื่นมาเยี่ยม
  • อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา และปิดประตูไว้เสมอ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนอื่นในบ้านให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และเด็กเล็ก
  • เปิดหน้าต่างภายในห้องหากไม่ได้เชื่อมต่อกับห้องอื่นๆ ในบ้าน รวมถึงเปิดหน้าต่างภายในบ้านเพื่อเพิ่มการระบายอากาศและลดการสะสมของไวรัส
  • ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรรอใช้เป็นคนสุดท้าย รวมทั้งทำความสะอาดตามโถสุขภัณฑ์และพื้นผิวที่สัมผัสทุกครั้งหลังใช้ด้วยน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 5% ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:99 หรือน้ำยาเข้มข้น 0.5% ในอัตราส่วน 1:9
  • หากมีอาการไอ จาม ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้จะอยู่ในห้องส่วนตัว และควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แทนหน้ากากผ้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ภายในบ้านร่วมกับผู้อื่นในเวลาไล่เลี่ยกัน เว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตรและสวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อต้องเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ในห้องเดียวกัน 
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และห้ามรับอาหารจากผู้ส่งอาหารโดยตรง
  • หากไอจามขณะใส่หน้ากากอนามัย ไม่ต้องใช้มือปิดปากหรือถอดหน้ากาก เพราะอาจทำให้มือสัมผัสเชื้อ หากไม่ได้ใส่หน้ากากให้ใช้ทิชชู่ปิดปากแล้วทิ้งโดยมัดถุงทันที หรือยกต้นแขนด้านในขึ้นมาปิดปากและจมูกไว้ 
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% แทนในกรณีที่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก และดวงตาโดยไม่ได้ล้างมือก่อน
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หรือทำความสะอาดทุกอย่างที่ใช้ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดก่อน
  • เช็ดทำความสะอาดสิ่งของและบริเวณต่างๆ ในบ้านที่มีการสัมผัสร่วมกันเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู โซฟา โต๊ะกินข้าว
  • มารดาที่ต้องให้นมบุตร สามารถให้นมได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีรายงานการพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตรทุกครั้ง

ระหว่างนี้ อย่าลืมดูแลตัวเองโดยพักผ่อนให้มากและดื่มน้ำให้เพียงพอ และหากมีอาการแย่ลงควรโทรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที

เมื่อไรถึงจะหยุด Home Isolation ได้?

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การหยุด Home Isolation ควรปรึกษาและให้แพทย์ประเมินก่อนเสมอ เนื่องจากมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลัง Home Isolation ดังนี้

ในกรณีที่คาดว่าติดเชื้อ/ตรวจพบว่าติดเชื้อ/มีอาการโควิด-19 อาจออกจากการ Home Isolation หากเข้าเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • แยกตัวครบ 10 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และ
  • ไม่มีไข้ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และ
  • มีอาการดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย 

ทั้งนี้บางอาการอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายสัปดาห์แม้จะไม่มีเชื้อแล้วก็ตาม เช่น ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าปลอดภัยแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้หยุดแยกตัวรักษาได้

ส่วนคนที่ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ สามารถหยุด Home Isolation ได้ หากยังคงไม่มีอาการอย่างต่อเนื่อง และแยกตัวครบ 10 วันแล้วหลังทราบผลตรวจ

มีปัญหาสุขภาพหรือความกังวลใจเรื่องใด ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง