/    บทความ    /    Eating Disorder โรคการกินผิดปกติที่มากับความเครียดในช่วงโควิด-19

Eating Disorder โรคการกินผิดปกติ ที่แฝงมากับความเครียดในช่วงโควิด-19

Eating Disorder โรคการกินผิดปกติ
ที่แฝงมากับความเครียดในช่วงโควิด-19

กลุ่มโรค Eating Disorder คืออะไร แต่ละโรคมีอาการยังไง อะไรคือปัจจัยเสี่ยง เรียนรู้วิธีสังเกตอาการ และวิธีช่วยเหลือคนรอบข้าง

ในช่วงเวลาที่เราทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำใจไม่ให้เครียดหรือวิตกกังวล เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นหลายคนกินตามใจปากมากขึ้น กินจุบจิบ หรือกินเพื่อปลอบใจตัวเองแม้ไม่ได้รู้สึกหิว ในขณะที่บางคนก็เครียดจนไม่อยากอาหารและกินน้อยลง ซึ่งหากเผลอติดกับดักของพฤติกรรมการกินที่มากหรือน้อยเกินไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็อาจทำให้ต้องเผชิญกับ Eating Disorder หรือโรคการกินผิดปกติโดยไม่รู้ตัว

Eating Disorder กับโควิด-19 เกี่ยวข้องกันอย่างไร? 

รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ความโดดเดี่ยวจากการต้องแยกตัวจากสังคม และรายได้ที่ลดลงในช่วงการแพร่ระบาด ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเครียดสูง เมื่อไม่รู้จะจัดการอย่างไร หลายคนจึงเลือกเยียวยาตัวเองด้วยการกิน 

บางคนกินเพื่อคลายความเครียดและความหดหู่ ในขณะที่บางคนก็หันไปจำกัดการกินอาหารให้น้อยลงเพราะต้องการให้รู้สึกเหมือนว่ายังสามารถควบคุมบางสิ่งบางอย่างได้ เพราะความวิตกกังวลและความเศร้านั้นจะทำให้รู้สึกเหมือนขาดสามารถในการควบคุมชีวิตตนเอง

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมข้อมูลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงพบผู้ป่วยในกลุ่มโรคความผิดปกติทางการกินพุ่งสูงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นถึง 25%

แม้จะชื่อว่าโรค Eating Disorder แต่ก็มีความสัมพันธ์กับอารมณ์ความคิดของผู้ป่วยอย่างมาก และอาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อทั้งร่างกาย จิตใจ การใช้ชีวิตในสังคม ทำให้กลุ่มโรคนี้ถูกจัดเป็นหนึ่งในปัญหาทางสุขภาพจิตที่มีความซับซ้อน ได้รับการบรรจุอยู่ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-5) ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางสำหรับแพทย์และนักจิตแพทย์ทั่วโลกเพื่อวินิจฉัยโรคทางจิตเวช 

เช็คลิสต์อาการ Eating Disorder 3 แบบ ที่พบได้บ่อย

Anorexia (อะนอเร็กเซีย)

โรคในกลุ่ม Eating Disorder ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยที่สุดและอาจเคยได้ยินในชื่อ ‘โรคคลั่งผอม’ ผู้ป่วยโรคนี้จะมองว่าตัวเองน้ำหนักมากเกินไป แม้ว่าจะลดน้ำหนักลงจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและอยู่ในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายแล้วก็ตาม 

อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย Anorexia

  • ร่างกายซูบผอม มีน้ำหนักต่ำกว่าคนที่มีอายุและส่วนสูงเท่ากันอย่างมาก
  • มีความกลัวและกังวลที่มากผิดปกติว่าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 
  • พยายามลดน้ำหนักให้ตัวเองดูผอมลงอย่างต่อเนื่อง  
  • จำกัดปริมาณอาหารที่รับประทานอย่างเข้มงวดและน้อยเกินไปมาก 
  • บางรายมีพฤติกรรมล้วงคอให้อาเจียนออกมาหลังจากรับประทานอาหาร หรือลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัย เช่น ใช้ยาลดน้ำหนักและยาระบาย อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินพอดี
  • มีการรับรู้ต่อรูปร่างของตัวเองที่บิดเบือน และปฏิเสธความจริงที่ว่าตัวเองมีน้ำหนักน้อยเกินไป

พฤติกรรมเหล่านี้ของผู้ป่วย Anorexia เมื่อนานไปอาจส่งผลต่อกระดูกทำให้มวลกระดูกลดลง เกิดภาวะมีบุตรยาก เส้นผมและเล็บแห้ง เปราะ แตกหักง่าย ในกรณีรุนแรงอาจทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว และอาจทำให้เสียชีวิตได้

Bulimia (บูลิเมีย)

‘โรคล้วงคอ’ เป็นอีกหนึ่งโรคในกลุ่ม Eating Disorder ที่พบได้บ่อย ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีพฤติกรรมกินมากผิดปกติเป็นช่วงๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดกินได้ และแม้ร่างกายจะบอกว่าอิ่มแล้ว จิตใจก็จะสั่งให้กินต่อไปกินจนกระทั่งรู้สึกอึดอัดหรือปวดแน่นท้อง

พฤติกรรมกินมากผิดปกติมักจะเกิดขึ้นกับอาหารที่ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับอาหารชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน

หลังจากช่วงการกินมาก ผู้ป่วยจะพยายามกำจัดอาหารที่กินเข้าไปเพื่อลดแคลอรี่และทำให้ความรู้สึกปวดแน่นท้องลดลง โดยมักจะใช้วิธีอาเจียนออกมา อดอาหาร ใช้ยาถ่ายมากเกินไป หรือออกกำลังกายแบบมากเกินพอดี

อาการของโรคนี้จะคล้ายกับโรค Anorexia ตรงที่ผู้ป่วยทั้ง 2 โรคต่างกลัวว่าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วย Anorexia จะพยายามลดน้ำหนักด้วยการจำกัดอาหาร ส่วนผู้ป่วย Bulimia นั้นจะกินเยอะและพยายามกำจัดอาหารที่กินเข้าไป ทำให้มักจะคงน้ำหนักในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติได้มากกว่า

ผู้ที่เป็นโรค Bulimia มักต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงต่างๆ ที่ตามมาจากการพยายามกำจัดอาหาร เช่น คออักเสบ เจ็บคอ ต่อมน้ำลายบวม ฟันผุ ฟันตกกระ กรดไหลย้อน ระคายเคืองในลำไส้ ภาวะขาดน้ำ และระดับฮอร์โมนไม่สมดุล รวมถึงภาวะเกลือแร่ไม่สมดุลที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองและภาวะหัวใจวาย

Binge eating disorder

‘โรคกินไม่หยุด’ คล้ายกับโรค Bulimia ตรงที่จะส่งผลให้กินมากผิดปกติ แต่จะกินอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กินแม้ไม่รู้สึกหิว และกินจนรู้สึกอิ่มแบบไม่สบายท้อง

ผู้ป่วยโรคนี้ไม่มีพฤติกรรมการจำกัดปริมาณอาหารหรือกำจัดอาหารที่กินเข้าไปอย่างการล้วงคอ อดอาหาร หรือออกกำลังกายมากเกินไป แต่จะรู้สึกละอาย เกลียดตัวเอง หรือรู้สึกผิดเมื่อคิดถึงพฤติกรรมกินมากผิดปกติของตัวเอง และมักจะกินอาหารเมื่ออยู่คนเดียวหรือปลอดจากสายตาผู้อื่น

พฤติกรรมการกินมากผิดปกติมักทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2

อะไรคือสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ Eating Disorder? 

สาเหตุของ Eatting disorder นั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้เกิดอาการของโรคนี้ขึ้น

  • ตัวผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน หรือมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
  • การทำงานที่ผิดปกติของสารเคมีในสมองและฮอร์โมนที่ควบคุมความรู้สึกหิวและพฤติกรรมการกิน
  • คิดหมกมุ่นกับเรื่องการมีรูปร่างผอมเพรียวและการลดน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับแรงกดดันจากวัฒนธรรมที่ยกย่องคนที่มีรูปร่างผอมบาง รวมถึงสื่อต่างๆ สังคมรอบข้าง และการทำงาน เช่น นักบัลเลต์ นางแบบ หรือนักกีฬาที่ต้องควบคุมรูปร่างและน้ำหนัก
  • เคยถูกวิจารณ์หรือถูกบุลลี่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน รูปร่าง และน้ำหนักอย่างรุนแรง
  • เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ถูกเลี้ยงดูในลักษณะที่ทำให้ขาดความมั่นใจและความเป็นตัวของตัวเอง
  • มีนิสัยยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไป พฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือเคยเผชิญความสัมพันธ์ที่มีแต่ปัญหาขัดแย้ง
  • ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น และพบได้มากที่สุดในวัยรุ่น

Eating Disorder ป้องกันได้ด้วยการสนับสนุนจากคนรอบข้าง

บรรดาคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคุณครู ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างพลังบวกและปกป้องคนที่คุณรักจากความเสี่ยงต่อ Eating Disorder 

สิ่งที่ควรทำคือการเน้นย้ำว่าร่างกายที่ผอมเพรียวไม่ได้ดูดีกว่า หมั่นชื่นชมว่าพวกเขาดูดีในแบบของตัวเองเพื่อสร้างความมั่นใจ และแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้คาดหวังความสมบูรณ์แบบของรูปร่างที่ไม่มีอยู่จริง 

สำหรับผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการกินและการลดน้ำหนักแบบสุขภาพดี สอนให้เด็กรู้เท่าทันอิทธิพลจากสื่อต่างๆ ระวังการถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่โรงเรียนเรื่องน้ำหนักและรูปร่าง และต้องชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ที่เลียนแบบได้ แต่เป็นโรคที่มีอันตรายต่อสุขภาพ

หากสังเกตพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณของคนรอบข้าง เช่น น้ำหนักลดลงมาก บ่นว่าอ้วนตลอดเวลา ไม่กินอาหาร กินอาหารปริมาณมากอย่างรวดเร็ว หรือออกกำลังกายแบบหักโหมเกินพอดี ควรบอกกับพวกเขาว่าคุณรู้สึกเป็นห่วงและกังวล และพร้อมให้ความช่วยเหลือในการพาไปตรวจรักษากับแพทย์ 

ช่วงโควิด-19 แบบนี้…อย่าลืมดูแลใจตัวเองให้ดี

ปัญหาหรือภาวะจำเป็นในช่วงโควิด-19 ทำให้หลายคนมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งภาวะสุขภาพจิตเหล่านี้เป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่โรคการกินผิดปกติ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าไม่สามารถรับมืออารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยตนเองได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือการขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ในช่วงที่ออกไปไหนมาไหนไม่สะดวกแบบนี้ ยิ่งทำให้หลายคนที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ เข้าถึงการวินิจฉัยโรคและการรักษาตามที่ควรเป็นน้อยลง พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีบริการปรึกษาทางไกลหรือ Telemedicine ที่เป็นหนึ่งทางเลือกที่ได้รับการพิสูจน์ในหลายประเทศแล้วว่ามีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ยุคดิจิทัล สามารถคลิกดูบริการที่นี่ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยที่ LINE @primoCare