Categories
Uncategorized

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

    /    บทความ    /    กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?

กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ
เหมาะกับใครบ้าง?

เมื่อได้ยินคำว่า ‘กายภาพบำบัด’ หลายคนอาจนึกถึงการรักษาอาการปวดหลังหรือการฟื้นฟูร่างกายหลังอาการบาดเจ็บเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วกายภาพบำบัดเป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพอีกหลากหลายด้าน มาดูกันว่าวิธีรักษาทางกายภาพบำบัดที่นอกเหนือจากการนวดนั้นมีอะไรบ้าง นักกายภาพบำบัดมีหน้าที่อะไร และใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากการทำกายภาพบำบัด

นิยามของคำว่า ‘กายภาพบำบัด’

กายภาพบำบัดคือศาสตร์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งในแง่ของการป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพด้วยวิธีการต่างๆ ทางกายภาพ เช่น การออกกำลังกาย การนวด การดัด ดึง และขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกระดูก การรักษาด้วยไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น การฝังเข็ม เป็นต้น 

นักกายภาพบำบัด ช่วยอะไรได้บ้าง?

กว่าจะเป็นนักกายภาพบำบัดได้นั้น ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างสูง ต้องมีความรู้และทักษะการฟื้นฟูร่างกายในระบบต่างๆ ตั้งแต่ระบบประสาท กล้ามเนื้อและกระดูก หัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงระบบทางเดินหายใจ 

เป้าหมายหลักของนักกายภาพบำบัดคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยจะช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพ บรรเทาความเจ็บปวด ฟื้นฟูร่างกายส่วนต่างๆ ให้กลับมาทำงานตามปกติ รวมถึงป้องกันการเสื่อมสภาพของร่างกายในผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่พิการถาวรจากอุบัติเหตุ ซึ่งในขั้นตอนการรักษาจะให้ความสำคัญกับภาพรวมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่งที่เกิดการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บเท่านั้น 

หากยังนึกภาพไม่ออกว่ากายภาพบำบัดจะส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร ลองดูตัวอย่างการทำงานหลักๆ ของนักกายภาพบำบัดต่อไปนี้

  • การให้ความรู้และคำแนะนำ โดยเน้นเกี่ยวกับการป้องกันอาการบาดเจ็บจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง เช่น สอนท่าทางการเดิน การนั่งทำงาน วิธีการยกของหนัก ท่ายืดกล้ามเนื้อและท่ากายบริหารที่ทำได้เองที่บ้าน รวมถึงการสอนเทคนิคเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา
  • การรักษาด้วยมือ เช่น การดัด ดึง ขยับข้อต่อ รวมถึงเทคนิคอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาความปวดเมื่อย ยืดคลายการตึงของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย การไหลเวียนของเลือด และการระบายน้ำเหลือง
  • การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย เป็นการแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพร่างกายและอาการเจ็บป่วยของแต่ละคน รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อหรือเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ
  • การใช้เครื่องมือหรือเทคนิคอื่นๆ ในการรักษา เช่น การบำบัดด้วยไฟฟ้า คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ การรักษาโดยใช้ความร้อนหรือความเย็น การใช้เครื่องดึงหลัง ดึงคอ การทำธาราบำบัด การฝังเข็ม เป็นต้น 
กายภาพบำบัด มีประโยชน์กับใคร?

บทบาทของกายภาพบำบัดไม่ได้จำกัดแค่การรักษาและฟื้นฟูร่างกายจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอย่างที่หลายคนคุ้นเคย แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การบริหารร่างกายเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ การแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เป็นต้น

นักกายภาพบำบัดนั้นดูแลผู้ป่วยทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ และเป็นการดูแลที่ครอบคลุมหลากหลายระบบในร่างกาย

  • ระบบกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดขา การป้องกันและรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ หรือการทำงาน รวมถึงผู้ป่วยที่กระดูกหัก ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด และผู้ที่มีความพิการจากการสูญเสียอวัยวะ
  • ระบบประสาทและสมอง เช่น ปัญหาการเคลื่อนไหวที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส โรคพาร์กินสัน ผู้ที่มีภาวะสมองพิการแต่กำเนิด และผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือไขสันหลัง 
  • ระบบหัวใจและการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคหัวใจ และการบำบัดรักษาหลังจากภาวะหัวใจวาย
  • ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
ขั้นตอนการพบนักกายภาพบำบัด

สำหรับการพบนักกายภาพบำบัด หากเป็นในโรงพยาบาลเรามักจะได้รับการส่งต่อจากแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ในกรณีที่เห็นว่ามีปัญหาที่ต้องได้รับการรักษาฟื้นฟู หรือรับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด แต่หากเป็นคลินิกทั่วไปหรือคลินิกกายภาพบำบัด ก็สามารถติดต่อรับการรักษากับนักกายภาพโดยตรงได้เลย

กายภาพบำบัดเรียกได้ว่าเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในทุกระยะของการรักษา ตั้งแต่การซักประวัติเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง การฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาสมบูรณ์ที่สุด ไปจนถึงการป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นซ้ำ

นอกจากนี้ในการหาสาเหตุและให้คำแนะนำการรักษา นักกายภาพบำบัดจะคำนึงถึงปัยจัยอื่นๆ ทั้งไลฟ์สไตล์ ลักษณะการงาน อารมณ์ ความคิด ไปจนถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย เพราะเชื่อว่าทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยและส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจของผู้ป่วยได้

ปวดเมื่อย ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม ให้ทีมกายภาพบำบัดพรีโมแคร์ช่วยค้นหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด รวดเร็ว ไม่ยื้อเวลาเจ็บป่วย คลิกดูบริการตรวจวิเคราะห์โครงสร้างร่างกาย และบริการกายภาพบำบัดที่หลากหลายได้ที่นี่

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน ทำยังไงบ้าง?

    /    บทความ    /    Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน ทำยังไงบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาโควิด-19 ที่บ้าน ติดต่อที่ไหน ทำยังไงบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาโควิด-19 ที่บ้าน
ติดต่อที่ไหน ทำยังไงบ้าง?

Home Isolation แยกตัวรักษาโควิด-19 ที่บ้าน ใครบ้างที่ทำได้ ติดต่อที่ไหน มีขั้นตอนเข้าระบบและแนวทางปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?

สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤตจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน​ ทำให้เริ่มมีการนำการรักษาในรูปแบบ Home Isolation หรือ Self Isolation ซึ่งเป็นการแยกตัวผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้รักษาตัวที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยอาการหนักมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น และลดปัญหาจำนวนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอรองรับจำนวนผู้ป่วย

Home Isolation ในประเทศไทยมีขั้นตอนการรับเข้าระบบอย่างไรบ้าง ใครสามารถทำได้ ใครที่ไม่ควรทำ และมีข้อปฏิบัติตัวอย่างไรในระหว่างที่แยกตัว คุณหมอพรีโมแคร์ชวนคุณมาหาคำตอบในบทความนี้

แยกตัวรักษา (Isolation) กับกักตัว (Quarantine) ต่างกันอย่างไร?

การกักตัวหลังมีความเสี่ยง (Quarantine) คือการแยกกักตัวเนื่องจากมีความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนการแยกตัวรักษา (Home Isolation) คือการรักษาผู้ที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าติดเชื้อ โดยให้แยกตัวจากคนอื่นในบ้าน อยู่ในพื้นที่ที่แยกจากกัน เพื่อไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ใครบ้างที่เหมาะกับการแยกรักษาตัวที่บ้าน? 

ปัจจุบันมีการแบ่งผู้ป่วยตามอาการเป็น 3 ระดับ คือ ผู้ป่วยอาการสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยจะแนะนำให้พักรักษาตัวและสังเกตอาการที่บ้านก็ต่อเมื่อประเมินว่าแล้วเป็นผู้ป่วยในระดับอาการสีเขียว คือ 

  • ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเหมือนไข้หวัดปกติ 
  • ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ 
ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับ Home Isolation?
  • ผู้ป่วยอาการสีเหลือง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 
    • มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอายุ 60 ปีขึ้น มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ภูมิคุ้มกันต่ำ มีเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000
    • มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกขณะทำกิจกรรม หายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ไอแล้วเหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปอดอักเสบ หรือถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
  • ผู้ป่วยอาการสีแดง คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย พูดแล้วเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค คำพูดไม่ปะติดปะต่อฟังไม่รู้เรื่อง แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จะต้องรีบเข้ารับการเอกซเรย์ปอด
ขั้นตอนการเข้าระบบ Home Isolation
  1. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อเข้าระบบ Home Isolation ในช่องทางต่อไปนี้ 
    1. ผู้มีสิทธิบัตรทอง โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14
    2. ผู้มีสิทธิประกันสังคม โทรสายด่วน 1506 กด 6 
    3. กรอกข้อมูลลงทะเบียนออนไลน์ทางเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/  
    4. ติดต่อทีมบุคลากรทางการแพทย์อาสาทางแอปพลิเคชัน Line @FammedCoCare
    5. แจ้งจิตอาสาในชุมชนที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชนตามอาการและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยจะส่งรายละเอียดของผู้ป่วยให้กับทีมแพทย์พยาบาล จากนั้นซักประวัติ คัดกรองข้อมูล และสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยผ่านระบบ Telehealth
  2. หากแพทย์ประเมินว่าอาการของผู้ป่วยอยู่ในระดับสีเขียว จะนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระบบ Home Isolation ต่อไป ส่วนในกรณีที่มีระดับอาการเป็นสีเหลือง (รอเตียง) หรือสีแดง (ต้องเข้ารับการรักษาทันที) จะมีทีมพยาบาลและจิตอาสาประสานงานจัดหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาจากหน่วยพยาบาลในเครือข่ายโดยเร็วที่สุด
  3. เมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้ว จะมีทีมพยาบาลให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและคอยติดตามอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านทางแอปพลิเคชัน​ LINE และมีการโทรสอบถามอาการในช่วงเช้า และเย็นทุกวัน เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
  4. ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation ทั้งในเครือข่ายชุมชนและสปสช. จะได้รับอาหาร 3 มื้อทุกวัน รวมทั้งถุงยังชีพและของใช้ที่จำเป็น ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ จนกว่าจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือหายป่วย
  5. หากมีอาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในระหว่างประสานรอเตียงผู้ป่วย
  6. ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ทีมงานจะส่งต่อข้อมูลและรายชื่อผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย โดยการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยต้องผ่านทางแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อได้รับยาแล้ว จะมีทีมพยาบาลไปด้วยเพื่ออธิบายการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย
แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในช่วง Home Isolation
  • อยู่แต่เฉพาะในบ้าน และงดให้คนอื่นมาเยี่ยม
  • อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา และปิดประตูไว้เสมอ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนอื่นในบ้านให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และเด็กเล็ก
  • เปิดหน้าต่างภายในห้องหากไม่ได้เชื่อมต่อกับห้องอื่นๆ ในบ้าน รวมถึงเปิดหน้าต่างภายในบ้านเพื่อเพิ่มการระบายอากาศและลดการสะสมของไวรัส
  • ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรรอใช้เป็นคนสุดท้าย รวมทั้งทำความสะอาดตามโถสุขภัณฑ์และพื้นผิวที่สัมผัสทุกครั้งหลังใช้ด้วยน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 5% ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:99 หรือน้ำยาเข้มข้น 0.5% ในอัตราส่วน 1:9
  • หากมีอาการไอ จาม ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้จะอยู่ในห้องส่วนตัว และควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แทนหน้ากากผ้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ภายในบ้านร่วมกับผู้อื่นในเวลาไล่เลี่ยกัน เว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตรและสวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อต้องเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ในห้องเดียวกัน 
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และห้ามรับอาหารจากผู้ส่งอาหารโดยตรง
  • หากไอจามขณะใส่หน้ากากอนามัย ไม่ต้องใช้มือปิดปากหรือถอดหน้ากาก เพราะอาจทำให้มือสัมผัสเชื้อ หากไม่ได้ใส่หน้ากากให้ใช้ทิชชู่ปิดปากแล้วทิ้งโดยมัดถุงทันที หรือยกต้นแขนด้านในขึ้นมาปิดปากและจมูกไว้ 
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% แทนในกรณีที่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก และดวงตาโดยไม่ได้ล้างมือก่อน
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ จาน​ ชาม ช้อน ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หรือทำความสะอาดทุกอย่างที่ใช้ด้วยน้ำสบู่​หรือน้ำยาทำความสะอาดก่อน
  • เช็ดทำความสะอาดสิ่งของและบริเวณต่างๆ ในบ้านที่มีการสัมผัสร่วมกันเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู โซฟา โต๊ะกินข้าว
  • มารดาที่ต้องให้นมบุตร สามารถให้นมได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีรายงานการพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตรทุกครั้ง

ระหว่างนี้ อย่าลืมดูแลตัวเองโดยพักผ่อนให้มากและดื่มน้ำให้เพียงพอ และหากมีอาการแย่ลงควรโทรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที

เมื่อไหร่ถึงจะหยุด Home Isolation ได้?

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การหยุด Home Isolation ควรปรึกษาและให้แพทย์ประเมินก่อนเสมอ เนื่องจากมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลัง Home Isolation ดังนี้

ในกรณีที่​คาดว่าติดเชื้อ​/ตรวจพบว่าติดเชื้อ/มีอาการโควิด-19 อาจออกจากการ Home Isolation หากเข้าเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • แยกตัวครบ 10 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และ
  • ไม่มีไข้ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และ
  • มีอาการดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย 

ทั้งนี้บางอาการอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายสัปดาห์แม้จะไม่มีเชื้อแล้วก็ตาม เช่น ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าปลอดภัยแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้หยุดแยกตัวรักษาได้

ส่วนคนที่ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ สามารถหยุด Home Isolation ได้ หากยังคงไม่มีอาการอย่างต่อเนื่อง และแยกตัวครบ 10 วันแล้วหลังทราบผลตรวจ

มีปัญหาสุขภาพหรือความกังวลใจเรื่องใด ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้เลยที่ LINE @PrimoCare 

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว: จะเป็นอย่างไรเมื่อเรามีหมอประจำตัวดูแลตั้งแต่เกิด

    /    บทความ    /    แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว: จะเป็นอย่างไรเมื่อเรามีหมอประจำตัวดูแลตั้งแต่เกิด

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว: จะเป็นอย่างไรเมื่อเรามีหมอประจำตัวดูแลตั้งแต่เกิด

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว:
จะเป็นอย่างไรเมื่อเรามีหมอประจำตัวดูแลตั้งแต่เกิด

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คืออะไร มีบทบาทหน้าที่อะไร หมอครอบครัว หมอประจำตัว กับความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพตลอดช่วงชีวิต

งานวิจัยปี 2019 ในสหรัฐอเมริกา พบว่าประชาชนในระบบบริการสุขภาพแบบ Primary Care ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป คอยให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพในเบื้องต้นทุกๆ ด้านอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเสมือนมีหมอประจำตัว มีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่ขาดการสนับสนุนจากระบบนี้ 

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปคืออะไร ทำไมการมีหมอประจำตัวถึงมีความสำคัญต่อสุขภาพและอายุขัยของเรา วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก จะพาคุณไปหาคำตอบ

หน้าที่ของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

หลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นแนวคิดเดียวกับนโยบาย “หมอครอบครัว” ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังพยายามผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างอยู่ในตอนนี้ โดยมีเป้าหมายให้แต่ละครอบครัวมีหมอประจำตัว เป็นหมอคนเดิมที่รู้จักและเข้าใจเราเป็นอย่างดี ดูแลต่อเนื่องตั้งแต่เกิดจนโตในทุกมิติสุขภาพ ทั้งการดูแล รักษา ป้องกัน ฟื้นฟู รวมไปถึงการประสานงานส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางในกรณีที่จำเป็น 

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) เป็นแพทย์ที่มักอยู่ประจำคลินิกโรคทั่วไป หรือศูนย์สุขภาพใกล้บ้าน มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้เฉพาะทางในด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้กับคนทุกเพศทุกวัย จากความเชื่อมั่นที่ว่าสุขภาพที่ดีมีหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่สุขภาพกายและใจ หรือโรคที่เป็น แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเชื่อ ลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน

นอกจากนี้ เพื่อการดูแลอย่างครอบคลุมรอบด้านและต่อเนื่อง นอกจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแล้วยังมีแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practice: GP) ที่มีความเชี่ยวชาญในโรคทั่วไป สามารถให้การรักษาเบื้องต้นในทุกๆ โรค รวมถึงทีมสหวิชาชีพแขนงต่างๆ เช่น พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมในทุกความต้องการด้านสุขภาพ

เวชศาสตร์ครอบครัว กับการดูแลทุกช่วงชีวิต

โรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังมักไม่มีสัญญาณเตือนแต่เนิ่นๆ ทำให้เราไม่เคยเอะใจ หากละเลยกว่าจะรู้ตัวก็อาจเข้าสู่ระยะรุนแรงที่สายเกินแก้ การดูแลใส่ใจจากหมอที่รู้จักและเข้าใจเราอย่างดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการคัดกรองและป้องกันการเกิดโรคตลอดช่วงชีวิตของเรา รวมไปถึงการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเริ่มดูแลเราตั้งแต่วัยแรกเกิด และดูแลอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย

วัยแรกเกิด (0-2 ปี)
  • ตรวจเช็กความสมบูรณ์และดูแลป้องกันความเสี่ยงของทารกหลังคลอด
  • ตรวจพัฒนาการและการเจริญเติบโต รวมถึงการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุที่เหมาะสม
  • คุณพ่อคุณแม่รับคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกในแต่ละช่วงพัฒนาการอย่างสมวัยและปลอดภัยต่อเด็ก
วัยเด็ก (3-9 ปี)

เมื่ออายุเข้า 3 ขวบ เด็กควรได้รับการตรวจพัฒนาการเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม โดยพ่อแม่สามารถปรึกษาและสอบถามเกี่ยวการเลี้ยงดูให้เด็กมีพัฒนาการครบถ้วนสมวัย 

นอกจากนี้ในแต่ละปีอาจมีการตรวจและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กดังต่อไปนี้

  • ตรวจประเมินสุขภาพโดยรวม
  • ประเมินประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวเพื่อดูความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อเด็ก
  • ตรวจเช็กให้แน่ใจว่าเด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคแต่ละชนิดครบถ้วนตามเวลาที่เหมาะสม เช่น วัคซีนบาดทะยัก หัด คางทูม อีสุกอีใส ไอกรน และไข้หวัดใหญ่
  • ตรวจการมองเห็นและการได้ยิน
  • พูดคุยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กหรือความกังวลในการเลี้ยงดูของพ่อแม่
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารการกิน กิจกรรม และความปลอดภัยที่ควรคำนึงในการเลี้ยงดู
วัยรุ่น  (10-20 ปี)

ช่วงเวลาสำคัญในการสร้างรากฐานพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้ต่อเนื่องไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ 

  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธ์ุ
  • ให้ความรู้ด้านเพศศึกษาและสุขภาพทางเพศ รวมถึงการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ตรวจประเมินสุขภาพจิตและพฤติกรรมการกิน
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักและทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อรักษาสุขภาพที่ดี
  • พูดคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์
  • พูดคุยเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนและสอนวิธีการรับมือเมื่อถูกกลั่นแกล้ง
  • แนะนำให้เห็นความสำคัญของการป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การใส่หมวกกันน็อกเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์
วัยทำงาน (21-39 ปี)

ช่วงเวลาที่หลายคนทำงานหนักจนละเลยการดูแลสุขภาพ พฤติกรรมในช่วงเวลานี้อาจเป็นตัวกำหนดสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น 

  • ตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจความดันโลหิต ตรวจไขมันในเลือด ตรวจดัชนีมวลกาย (BMI)
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคอ้วน
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความเครียด การดูแลสุขภาพจิต และอันตรายของการใช้สารเสพติด 
  • ตรวจประเมินความเครียดและประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น
  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ุ เพื่อป้องกันโรคที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยากในอนาคต
  • ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยตรวจแปปสเมียร์ทุกปีตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป
  • ตรวจสุขภาพปากและฟันทุกปี และตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำ
วัยก่อนเกษียณ (40-60 ปี)
  • ควรรับการตรวจประเมินโรคมะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิต คอเลสเตอรอลสูงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจพบและรักษาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม 
  • ผู้หญิงควรตรวจแมมโมแกรมหามะเร็งเต้านมและตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ 
  • เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจมะเร็งลำไส้ แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจเร็วขึ้น 
  • เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้ชายควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีปัญหาเกี่ยวการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือความผิดปกติในการปัสสาวะที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งต่อมลูกหมาก
วัยสูงอายุ (อายุ 61 ปีขึ้นไป)
  • ตรวจโรคต่างๆ ที่ตรวจในวัยก่อนเกษียณและยังคงมีความเสี่ยงสูงในวัยสูงอายุอย่างต่อเนื่อง
  • ตรวจสุขภาพตาและการมองเห็นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคทางสายตาที่จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงเมื่อมีอายุมากขึ้น เช่น โรคต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น
  • ตรวจการได้ยิน
  • ตรวจกระดูกและข้อต่อ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการหกล้มกระดูกหัก
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคจากการติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคปอดบวม โรคงูสวัด

ในแต่ละช่วงชีวิตมีการดูแลสุขภาพที่ควรเน้นความสำคัญแตกต่างกันไป แต่คงไม่มีใครมาคอยนั่งบอกเรา ถ้าไม่ใช่หมอประจำตัวที่คุ้นเคยอย่างทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่เน้นสร้างความเข้าใจ เอาใส่ใจอย่างรอบด้าน เพื่อปรับการดูแลรักษาและป้องกันโรคให้เหมาะกับเราที่สุด

เรื่องสุขภาพ วางใจให้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ช่วยดูแลคุณในทุกช่วงของชีวิต ดูรายละเอียดบริการต่างๆ ของเราได้ที่นี่เลย

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง