/ บทความ / แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว: จะเป็นอย่างไรเมื่อเรามีหมอประจำตัวดูแลตั้งแต่เกิด
งานวิจัยปี 2019 ในสหรัฐอเมริกา พบว่าประชาชนในระบบบริการสุขภาพแบบ Primary Care ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป คอยให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพในเบื้องต้นทุกๆ ด้านอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเสมือนมีหมอประจำตัว มีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่ขาดการสนับสนุนจากระบบนี้
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปคืออะไร ทำไมการมีหมอประจำตัวถึงมีความสำคัญต่อสุขภาพและอายุขัยของเรา วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก จะพาคุณไปหาคำตอบ
หน้าที่ของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
หลักการของเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นแนวคิดเดียวกับนโยบาย “หมอครอบครัว” ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังพยายามผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างอยู่ในตอนนี้ โดยมีเป้าหมายให้แต่ละครอบครัวมีหมอประจำตัว เป็นหมอคนเดิมที่รู้จักและเข้าใจเราเป็นอย่างดี ดูแลต่อเนื่องตั้งแต่เกิดจนโตในทุกมิติสุขภาพ ทั้งการดูแล รักษา ป้องกัน ฟื้นฟู รวมไปถึงการประสานงานส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางในกรณีที่จำเป็น
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) เป็นแพทย์ที่มักอยู่ประจำคลินิกโรคทั่วไป หรือศูนย์สุขภาพใกล้บ้าน มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้เฉพาะทางในด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้กับคนทุกเพศทุกวัย จากความเชื่อมั่นที่ว่าสุขภาพที่ดีมีหลายปัจจัยประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่สุขภาพกายและใจ หรือโรคที่เป็น แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความเชื่อ ลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน
นอกจากนี้ เพื่อการดูแลอย่างครอบคลุมรอบด้านและต่อเนื่อง นอกจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแล้วยังมีแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practice: GP) ที่มีความเชี่ยวชาญในโรคทั่วไป สามารถให้การรักษาเบื้องต้นในทุกๆ โรค รวมถึงทีมสหวิชาชีพแขนงต่างๆ เช่น พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา เพื่อร่วมกันดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมในทุกความต้องการด้านสุขภาพ
เวชศาสตร์ครอบครัว กับการดูแลทุกช่วงชีวิต
โรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังมักไม่มีสัญญาณเตือนแต่เนิ่นๆ ทำให้เราไม่เคยเอะใจ หากละเลยกว่าจะรู้ตัวก็อาจเข้าสู่ระยะรุนแรงที่สายเกินแก้ การดูแลใส่ใจจากหมอที่รู้จักและเข้าใจเราอย่างดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการคัดกรองและป้องกันการเกิดโรคตลอดช่วงชีวิตของเรา รวมไปถึงการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเริ่มดูแลเราตั้งแต่วัยแรกเกิด และดูแลอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย
วัยแรกเกิด (0-2 ปี)
- ตรวจเช็กความสมบูรณ์และดูแลป้องกันความเสี่ยงของทารกหลังคลอด
- ตรวจพัฒนาการและการเจริญเติบโต รวมถึงการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุที่เหมาะสม
- คุณพ่อคุณแม่รับคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกในแต่ละช่วงพัฒนาการอย่างสมวัยและปลอดภัยต่อเด็ก
วัยเด็ก (3-9 ปี)
เมื่ออายุเข้า 3 ขวบ เด็กควรได้รับการตรวจพัฒนาการเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม โดยพ่อแม่สามารถปรึกษาและสอบถามเกี่ยวการเลี้ยงดูให้เด็กมีพัฒนาการครบถ้วนสมวัย
นอกจากนี้ในแต่ละปีอาจมีการตรวจและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กดังต่อไปนี้
- ตรวจประเมินสุขภาพโดยรวม
- ประเมินประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวเพื่อดูความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อเด็ก
- ตรวจเช็กให้แน่ใจว่าเด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคแต่ละชนิดครบถ้วนตามเวลาที่เหมาะสม เช่น วัคซีนบาดทะยัก หัด คางทูม อีสุกอีใส ไอกรน และไข้หวัดใหญ่
- ตรวจการมองเห็นและการได้ยิน
- พูดคุยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กหรือความกังวลในการเลี้ยงดูของพ่อแม่
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารการกิน กิจกรรม และความปลอดภัยที่ควรคำนึงในการเลี้ยงดู
วัยรุ่น (10-20 ปี)
ช่วงเวลาสำคัญในการสร้างรากฐานพฤติกรรมสุขภาพที่ดีให้ต่อเนื่องไปจนโตเป็นผู้ใหญ่
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธ์ุ
- ให้ความรู้ด้านเพศศึกษาและสุขภาพทางเพศ รวมถึงการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ตรวจประเมินสุขภาพจิตและพฤติกรรมการกิน
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักและทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อรักษาสุขภาพที่ดี
- พูดคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์
- พูดคุยเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนและสอนวิธีการรับมือเมื่อถูกกลั่นแกล้ง
- แนะนำให้เห็นความสำคัญของการป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การใส่หมวกกันน็อกเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์
วัยทำงาน (21-39 ปี)
ช่วงเวลาที่หลายคนทำงานหนักจนละเลยการดูแลสุขภาพ พฤติกรรมในช่วงเวลานี้อาจเป็นตัวกำหนดสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น
- ตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจความดันโลหิต ตรวจไขมันในเลือด ตรวจดัชนีมวลกาย (BMI)
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคอ้วน
- ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความเครียด การดูแลสุขภาพจิต และอันตรายของการใช้สารเสพติด
- ตรวจประเมินความเครียดและประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ุ เพื่อป้องกันโรคที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยากในอนาคต
- ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยตรวจแปปสเมียร์ทุกปีตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป
- ตรวจสุขภาพปากและฟันทุกปี และตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำ
วัยก่อนเกษียณ (40-60 ปี)
- ควรรับการตรวจประเมินโรคมะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิต คอเลสเตอรอลสูงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจพบและรักษาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม
- ผู้หญิงควรตรวจแมมโมแกรมหามะเร็งเต้านมและตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
- เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจมะเร็งลำไส้ แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจเร็วขึ้น
- เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้ชายควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีปัญหาเกี่ยวการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือความผิดปกติในการปัสสาวะที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งต่อมลูกหมาก
วัยสูงอายุ (อายุ 61 ปีขึ้นไป)
- ตรวจโรคต่างๆ ที่ตรวจในวัยก่อนเกษียณและยังคงมีความเสี่ยงสูงในวัยสูงอายุอย่างต่อเนื่อง
- ตรวจสุขภาพตาและการมองเห็นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคทางสายตาที่จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงเมื่อมีอายุมากขึ้น เช่น โรคต้อกระจก ต้อหิน เป็นต้น
- ตรวจการได้ยิน
- ตรวจกระดูกและข้อต่อ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการหกล้มกระดูกหัก
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคจากการติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคปอดบวม โรคงูสวัด
ในแต่ละช่วงชีวิตมีการดูแลสุขภาพที่ควรเน้นความสำคัญแตกต่างกันไป แต่คงไม่มีใครมาคอยนั่งบอกเรา ถ้าไม่ใช่หมอประจำตัวที่คุ้นเคยอย่างทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่เน้นสร้างความเข้าใจ เอาใส่ใจอย่างรอบด้าน เพื่อปรับการดูแลรักษาและป้องกันโรคให้เหมาะกับเราที่สุด
เรื่องสุขภาพ วางใจให้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ช่วยดูแลคุณในทุกช่วงของชีวิต ดูรายละเอียดบริการต่างๆ ของเราได้ที่นี่เลย
Reference
คลินิกหมอครอบครัว. (https://www.ylo.moph.go.th/webssjold/file2019/star/process_PCC.pdf)
Association of Primary Care Physician Supply With Population Mortality in the United States, 2005-2015. (https://jamanetwork.com/journals/jamainternalmedicine/fullarticle/2724393)
Why you need primary care in every stage of life. (https://scrubbing.in/why-you-need-primary-care-in-every-stage-of-life/)
Image: www.freepik.com