/ บทความ / กายภาพบำบัด ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูสุขภาพ เหมาะกับใครบ้าง?
เมื่อได้ยินคำว่า ‘กายภาพบำบัด’ หลายคนอาจนึกถึงการรักษาอาการปวดหลังหรือการฟื้นฟูร่างกายหลังอาการบาดเจ็บเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วกายภาพบำบัดเป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพอีกหลากหลายด้าน มาดูกันว่าวิธีรักษาทางกายภาพบำบัดที่นอกเหนือจากการนวดนั้นมีอะไรบ้าง นักกายภาพบำบัดมีหน้าที่อะไร และใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากการทำกายภาพบำบัด
นิยามของคำว่า ‘กายภาพบำบัด’
กายภาพบำบัดคือศาสตร์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งในแง่ของการป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพด้วยวิธีการต่างๆ ทางกายภาพ เช่น การออกกำลังกาย การนวด การดัด ดึง และขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกระดูก การรักษาด้วยไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น การฝังเข็ม เป็นต้น
นักกายภาพบำบัด ช่วยอะไรได้บ้าง?
กว่าจะเป็นนักกายภาพบำบัดได้นั้น ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างสูง ต้องมีความรู้และทักษะการฟื้นฟูร่างกายในระบบต่างๆ ตั้งแต่ระบบประสาท กล้ามเนื้อและกระดูก หัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงระบบทางเดินหายใจ
เป้าหมายหลักของนักกายภาพบำบัดคือการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยจะช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพ บรรเทาความเจ็บปวด ฟื้นฟูร่างกายส่วนต่างๆ ให้กลับมาทำงานตามปกติ รวมถึงป้องกันการเสื่อมสภาพของร่างกายในผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่พิการถาวรจากอุบัติเหตุ ซึ่งในขั้นตอนการรักษาจะให้ความสำคัญกับภาพรวมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่งที่เกิดการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บเท่านั้น
หากยังนึกภาพไม่ออกว่ากายภาพบำบัดจะส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร ลองดูตัวอย่างการทำงานหลักๆ ของนักกายภาพบำบัดต่อไปนี้
- การให้ความรู้และคำแนะนำ โดยเน้นเกี่ยวกับการป้องกันอาการบาดเจ็บจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง เช่น สอนท่าทางการเดิน การนั่งทำงาน วิธีการยกของหนัก ท่ายืดกล้ามเนื้อและท่ากายบริหารที่ทำได้เองที่บ้าน รวมถึงการสอนเทคนิคเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา
- การรักษาด้วยมือ เช่น การดัด ดึง ขยับข้อต่อ รวมถึงเทคนิคอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาความปวดเมื่อย ยืดคลายการตึงของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย การไหลเวียนของเลือด และการระบายน้ำเหลือง
- การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย เป็นการแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพร่างกายและอาการเจ็บป่วยของแต่ละคน รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อหรือเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ
- การใช้เครื่องมือหรือเทคนิคอื่นๆ ในการรักษา เช่น การบำบัดด้วยไฟฟ้า คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ การรักษาโดยใช้ความร้อนหรือความเย็น การใช้เครื่องดึงหลัง ดึงคอ การทำธาราบำบัด การฝังเข็ม เป็นต้น
กายภาพบำบัด มีประโยชน์กับใคร?
บทบาทของกายภาพบำบัดไม่ได้จำกัดแค่การรักษาและฟื้นฟูร่างกายจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอย่างที่หลายคนคุ้นเคย แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การบริหารร่างกายเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ การแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เป็นต้น
นักกายภาพบำบัดนั้นดูแลผู้ป่วยทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ และเป็นการดูแลที่ครอบคลุมหลากหลายระบบในร่างกาย
- ระบบกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดขา การป้องกันและรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ หรือการทำงาน รวมถึงผู้ป่วยที่กระดูกหัก ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด และผู้ที่มีความพิการจากการสูญเสียอวัยวะ
- ระบบประสาทและสมอง เช่น ปัญหาการเคลื่อนไหวที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส โรคพาร์กินสัน ผู้ที่มีภาวะสมองพิการแต่กำเนิด และผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือไขสันหลัง
- ระบบหัวใจและการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคหัวใจ และการบำบัดรักษาหลังจากภาวะหัวใจวาย
- ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
ขั้นตอนการพบนักกายภาพบำบัด
สำหรับการพบนักกายภาพบำบัด หากเป็นในโรงพยาบาลเรามักจะได้รับการส่งต่อจากแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ในกรณีที่เห็นว่ามีปัญหาที่ต้องได้รับการรักษาฟื้นฟู หรือรับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด แต่หากเป็นคลินิกทั่วไปหรือคลินิกกายภาพบำบัด ก็สามารถติดต่อรับการรักษากับนักกายภาพโดยตรงได้เลย
กายภาพบำบัดเรียกได้ว่าเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในทุกระยะของการรักษา ตั้งแต่การซักประวัติเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง การฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาสมบูรณ์ที่สุด ไปจนถึงการป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นซ้ำ
นอกจากนี้ในการหาสาเหตุและให้คำแนะนำการรักษา นักกายภาพบำบัดจะคำนึงถึงปัยจัยอื่นๆ ทั้งไลฟ์สไตล์ ลักษณะการงาน อารมณ์ ความคิด ไปจนถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย เพราะเชื่อว่าทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยและส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจของผู้ป่วยได้
ปวดเมื่อย ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม ให้ทีมกายภาพบำบัดพรีโมแคร์ช่วยค้นหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด รวดเร็ว ไม่ยื้อเวลาเจ็บป่วย คลิกดูบริการตรวจวิเคราะห์โครงสร้างร่างกาย และบริการกายภาพบำบัดที่หลากหลายได้ที่นี่
Reference
What Is a Physiotherapist? (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-a-physiotherapist)
Physiotherapy. (https://www.nhs.uk/conditions/physiotherapy/)
กายภาพบำบัดคืออะไร. (https://srth.moph.go.th/health_rcn/pt/whatPT.htm)
Image: www.freepik.com