Categories
Uncategorized

คลินิก VS โรงพยาบาล เลือกใช้บริการแบบไหนตอบโจทย์ที่สุด?

    /    บทความ    /    คลินิก VS โรงพยาบาล เลือกใช้บริการแบบไหนตอบโจทย์ที่สุด?

June 2021

คลินิก กับ โรงพยาบาล ต่างกันอย่างไร อาการแบบไหนควรไปคลินิก อาการแบบไหนควรไปโรงพยาบาล?​ คลินิกและโรงพยาบาล​ทำงานร่วมกันอย่างไร?

เมื่อต้องเลือกรับบริการสุขภาพระหว่างคลินิกกับโรงพยาบาล เราจะเลือกอะไร? บางคนเลือกไปโรงพยาบาลเพราะคิดว่าดูแลรักษาได้ครอบคลุมกว่า บางคนเลือกคลินิกเพราะไม่อยากต้องไปนั่งรอคิวนานๆ ที่โรงพยาบาล แต่ความจริงแล้วเราควรพิจารณาตามอาการและความจำเป็นทางสุขภาพเป็นอย่างแรก มาดูกันให้ชัดๆ ว่าเมื่อไหร่ที่เราควรตัดสินใจเข้าคลินิก และเมื่อไหร่ที่ควรไปโรงพยาบาล

ทำความรู้จัก “คลินิก” 

คลินิก หมายถึง สถานพยาบาลที่เน้นบริการผู้ป่วยนอก โดยส่วนมากมักเป็นคลินิกโดยแพทย์ทั่วไปที่สามารถให้การรักษาเบื้องต้นในทุกๆ โรค แต่ก็มีคลินิกจำนวนไม่น้อยที่เป็นคลินิกที่ให้บริการเฉพาะทาง เช่น คลินิกผิวหนัง คลินิกโรคหู คอ จมูก คลินิกกายภาพ คลินิกกระดูก และยังมีคลินิกที่จัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น คลินิกสุขภาพทางเพศชายและหญิง คลินิกวางแผนครอบครัว คลินิกบำบัดยาเสพติด คลินิกสุขภาพจิต เป็นต้น

ข้อแตกต่างระหว่างคลินิก กับ โรงพยาบาล

ในบทความนี้จะเน้นเปรียบเทียบระหว่างคลินิกโดยหมอเวชศาสตร์ครอบครัวและหมอเวชปฏิบัติทั่วไป กับโรงพยาบาลในภาพรวมกว้างๆ เพราะทั้งคลินิกและโรงพยาบาลต่างก็มีทั้งประเภทที่ให้การรักษาทั่วไปและรักษาเฉพาะทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนในการเปรียบเทียบ

  • ประเภทของผู้ป่วย คลินิกเน้นให้บริการผู้ป่วยนอกที่สามารถกลับบ้านได้เลยหลังรับการตรวจรักษา ในขณะที่โรงพยาบาลจะเน้นบริการผู้ป่วยในที่ต้องนอนค้างเพื่อดูอาการหรือรักษาตัวในระยะยาว 
  • ประเภทของการรักษา บริการสุขภาพโดยคลินิกมุ่งไปที่การดูแลอย่างรอบด้าน ทั้งการให้คำแนะนำในการส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรง การตรวจเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยง และให้การรักษาชั้นต้นสำหรับทุกๆ อาการที่ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ส่วนในโรงพยาบาลมักเป็นการตรวจรักษาโรคที่ต้องอาศัยความชำนาญจากแพทย์เฉพาะทาง ต้องมีการผ่าตัดหรือใช้เครื่องมือเฉพาะ หรือในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะฉุกเฉิน
  • ขนาด คลินิกเป็นสถานพยาบาลขนาดเล็กและมีบุคลากรน้อยกว่าในโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ และมีผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพหลากหลาย 
  • ราคา การตรวจรักษาในโรงพยาบาลโดยแพทย์เฉพาะทางและมีบุคลากรทางการแพทย์ในขั้นตอนต่างๆ มากกว่า มักมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการไปคลินิก

อาการแบบไหนควรไปคลินิก?

  • การตรวจป้องกันและประเมินความเสี่ยง ได้แก่ การตรวจสุขภาพประจำปี การรับวัคซีน และการตรวจคัดกรองโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งชนิดต่างๆ
  • การตรวจดูแลที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตามรักษาอาการโรคประจำตัว การทำกายภาพบำบัด การทำจิตบำบัด ซึ่งหมอที่ตรวจรักษามักเป็นหมอคนเดิมที่เข้าใจและคุ้นเคยกับผู้ป่วยเป็นอย่างดี
  • การรักษาอาการที่ไม่เร่งด่วนฉุกเฉิน อาการทั่วๆ ไปที่สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องถึงมือหมอเฉพาะทาง เช่น ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดหู เป็นต้น
  • อุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ตะคริว แผลถูกของมีคมบาดขนาดเล็ก แผลน้ำร้อนลวก โดยอาการจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงเหล่านี้ไม่นับเป็นกรณีฉุกเฉิน และมักไม่มีความจำเป็นต้องไปห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล

อาการแบบไหนควรไปโรงพยาบาล?

  • การตรวจรักษาที่ต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทาง หรือมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง
  • เมื่อจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดที่ฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน มักต้องทำในโรงพยาบาลเนื่องจากมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ครบครันมากกว่าคลินิก 
  • อาการหรือภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ภาวะหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดในสมอง 
  • อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดบาดแผลรุนแรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกรุนแรง ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง แผลถูกบาดโดยของมีคมที่ลึกหรือมีขนาดใหญ่
  • ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพจิต เช่น ผู้ป่วยมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองหรือคนรอบข้าง ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อรับการประเมินและรักษาเพื่อป้องกันอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง

คลินิกและโรงพยาบาล ทำงานร่วมกันอย่างไร?

คลินิกนั้นทำงานโดยประสานงานกับโรงพยาบาล ในกรณีที่แพทย์ประจำคลินิกประเมินว่าต้องส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือมีการรักษาที่ต้องนอนค้าง จะมีการประสานงานส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางทันที ดังนั้น วางใจได้ว่าคุณจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามขั้นตอนที่ควรไม่ว่าจะเลือกไปคลินิกหรือโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม เรามักติดภาพจำว่าโรงพยาบาลมีบริการกว้างขวางครอบคลุม มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีคุณภาพดีกว่า ซึ่งแท้จริงแล้วการเลือกไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการที่ไม่รุนแรงหรือไม่ฉุกเฉินมีแต่จะทำให้ต้องรอคิวนานโดยไม่จำเป็น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลรัฐที่ปัจจุบันมีคนไข้ล้น เมื่อพบหมอก็ได้คุยสั้นๆ ยังไม่ทันได้ถามให้ละเอียด เพราะคนไข้ที่เยอะเกินไปจนหมอต้องทำงานแข่งกับเวลา ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเนื่องจากมีเพียงแพทย์เฉพาะทาง และมีต้นทุนการบริหารจัดการที่สูง อีกทั้งยังเข้าถึงได้ยากกว่าการไปคลินิก

นอกจากนี้การไปโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยยังผิดจุดประสงค์ เพราะหมอเฉพาะทางนั้นมีหน้าที่รักษาผู้ป่วยที่หมอทั่วไปส่งต่อมาให้ หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น 

ถ้าเลือกให้เหมาะสมตามอาการ ไม่ว่าคลินิกหรือโรงพยาบาล คุณก็จะได้รับบริการที่น่าพึงพอใจและคุ้มค่ากับเงินและเวลาที่เสียไปอย่างแน่นอน 

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมให้บริการด้วยหัวใจ ปรึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพกายและใจ ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค หรือรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไปกับคุณหมอของเรา คลิกดูบริการได้เลยที่นี่

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

แนวทางฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ ฉีดได้เลย หรือต้องรอ?

    /    บทความ    /    แนวทางฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ ฉีดได้เลย หรือต้องรอ?

June 2021

ผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เลยหรือไม่? เช็กกลุ่มเสี่ยงที่ควรและไม่ควรฉีด พร้อมคำแนะนำก่อนหลังฉีดวัคซีน

เป็นที่ทราบกันว่าผู้สูงอายุจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยจากสถิติการเสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา พบว่า 8 ใน 10 เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไป และยิ่งอายุมากเท่าไรก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงสวนทางกับอายุที่มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มักจะมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวที่ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงด้วย

นอกจากการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันผู้สูงอายุจากเชื้อโควิด-19 ที่ตัวผู้สูงอายุเองและคนรอบข้างพอจะทำได้ในเบื้องต้นแล้ว การฉีดวัคซีนคือหัวใจสำคัญที่จะขาดไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นที่สับสนกันมากว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ ควรฉีดหรือไม่ควรฉีด วันนี้คุณหมอพรีโมแคร์เลยมีแนวทางการปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุมาฝากกัน

ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่? ให้ดูตามกลุ่มเสี่ยง

สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทยได้ให้แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้

1.  ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว/โรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ ควรได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้มาก มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดน้อย ไม่ต่างจากวัยอื่น เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ ซึ่งมักจะหายไปเองภายใน 1-2 วัน นอกจากนี้วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ฉีดให้ผู้สูงอายุในไทยขณะนี้ก็มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการฉีดในคนวัยหนุ่มสาว 

 

กลุ่มผู้ป่วยที่ควรฉีดวัคซีนหากมีอาการของโรคคงที่ ได้แก่

  • ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคในทางเดินอาหารและตับ
  • โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • โรคข้ออักเสบ แพ้ภูมิตัวเอง
  • สะเก็ดเงิน
  • ภาวะสมองเสื่อม
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคหิด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • โรคไขกระดูกฝ่อ โรคไขกระดูกทำงานผิดปกติ
  • มะเร็งเม็ดเลือด และโรคมะเร็งอื่นๆ
  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง คือมีความเสื่อมถอยหรืออ่อนแอทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

2. ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว/โรคเรื้อรังที่ยังควบคุมอาการไม่ได้/อาการไม่คงที่/ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลตามโรคและอาการ

3. ผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิตและคาดว่าจะเสียชีวิตในไม่กี่เดือน ต้องพิจารณาว่าควรฉีดหรือไม่ฉีดตามกรณี เนื่องจากคำแนะนำการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในตอนนี้ต้องฉีด 2 ครั้งโดยเว้นระยะห่าง 10-12 สัปดาห์ หรืออย่างน้อยที่สุด 4 สัปดาห์ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มนี้มากนัก

ข้อควรปฏิบัติก่อน-หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุ

  • ก่อนฉีดควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว หรือเคยมีประวัติแพ้วัคซีนโควิด-19 หรือวัคซีนอื่นๆ อย่างรุนแรงมาก่อน
  • สามารถทำกิจวัตรต่างๆ ได้ตามปกติทั้งก่อนและหลังฉีด แต่ไม่ควรหักโหมทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการพักผ่อนน้อยในช่วง 1-2 วันก่อนและหลังฉีดวัคซีน
  • กรณีที่ต้องรับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ งูสวัด แนะนำให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อน-หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนวัคซีนที่มีความเร่งด่วน เช่น บาดทะยัก พิษสุนัขบ้า สามารถฉีดได้ทันทีในตำแหน่งที่ต่างกันโดยไม่ต้องเว้นระยะ หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 สัปดาห์

การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันผู้สูงอายุจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และช่วยลดความรุนแรงหากติดเชื้อ ในทางกลับกัน หากผู้สูงอายุมีภาวะที่ควบคุมอาการไม่ได้หรือไม่สามารถรับวัคซีนได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่ควรทำก็คือการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายุและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับครอบครัว

พรีโมแคร์เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 สามารถนัดหมายปรึกษาคุณหมอพรีโมแคร์ หรือดูบริการอื่นๆ ของเราได้ที่นี่ 

Reference

  • คำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้สูงอายุ (ฉบับปรับปรุง) (http://www.thaigeron.or.th/)

  • แนวปฏิบัติการ ‘ฉีดวัคซีนโควิด 19’ ให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย
    https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/941124 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

5 ภัยสุขภาพช่วง Work from home ที่อาจถามหาโดยไม่รู้ตัว

    /    บทความ    /    5 ภัยสุขภาพช่วง Work from home ที่อาจถามหาโดยไม่รู้ตัว

June 2021

รู้ทันภัยสุขภาพที่มากับ Work from home มีโรคอะไรบ้าง? และจะจัดการและแก้ไขอย่างไรให้ทำงานที่บ้านอย่างสุขภาพดี ไม่มีโรคกวนใจ

ในช่วงนี้หลายๆ คน โดยเฉพาะชาวมนุษย์ออฟฟิศ ต่างก็ Work from home กันมากขึ้นตามมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งแม้การทำงานที่บ้านจะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็อาจตามมาด้วยปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้เช่นกัน 

วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ชวนคุณมาทำความรู้จัก 6 ภัยสุขภาพที่อาจมาเยือนโดยไม่รู้ตัวในระหว่าง Work from home รวมถึงวิธีป้องกันและแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้กลับมามีสุขภาพเต็มร้อย และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนตอนอยู่ในออฟฟิศ

 

1. ออฟฟิศซินโดรม อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อหรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายที่รบกวนใจใครหลายๆ คน เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง ข้อมือ นิ้วมือ บางครั้งมีอาการชาหรืออ่อนแรงตามแขน มือ นิ้ว และปวดหัว ปวดตา ตาพร่า ร่วมด้วย โดยสาเหตุมักเกิดจากท่าทางการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง และการนั่งทำงานติดต่อเป็นเวลานานโดยไม่ได้ลุกเคลื่อนไหวหรือยืดคลายกล้ามเนื้อนั่นเอง 

วิธีป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมแก้ได้ที่สาเหตุ โดยแนะนำให้ปรับท่าทางในการทำงานให้เหมาะสมและหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ 

  • นั่งหลังตรง ไม่ห่อไหล่ ไม่ไขว่ห้าง และนั่งให้เต็มก้น
  • ให้หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระยะห่าง 1 ช่วงแขน และอยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย 
  • วางแขนอยู่ในระดับเดียวกับแป้นพิมพ์ ทำมุมตั้งฉาก 90° กับไหล่ และแนบกับลำตัว
  • นั่งให้หัวเข่าอยู่ระดับเดียวกับสะโพกหรือต่ำกว่าเล็กน้อย และหาอะไรมารองเท้าหากเก้าอี้สูงเกินไป
  • ไม่ควรทำงานโดยวางแล็ปท็อปไว้บนตัก เพราะจะทำให้ต้องก้มมองจอตลอดเวลา หากจำเป็นจริงๆ ควรหาเบาะหรือกระเป๋ามาวางเสริมให้จออยู่สูงขึ้นจนคออยู่ในท่าที่สบาย
  • หากทำงานโดยใช้แล็ปท็อป แนะนำให้ใช้คีย์บอร์ดและเมาส์แยกต่างหาก เพื่อปรับระยะหน้าจอให้พอดีกับระดับสายตา หรือใช้จอคอมพิวเตอร์เสริมเพื่อให้ไหล่และแขนอยู่ในท่าธรรมชาติขณะพิมพ์งาน
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั่งนาน โดยเฉพาะการนั่งทำงานบนโซฟาหรือบนเตียงที่มักทำให้สรีระร่างกายอยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง 
  • เปลี่ยนอิริยาบถด้วยการบิดขี้เกียจบ่อยๆ หรือนั่งสลับยืนทำงานโดยวางคอมพิวเตอร์บนโต๊ะสูงหรือชั้นวางของ
  • หมั่นลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายทุกๆ ชั่วโมง และทำท่ากายบริหารเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อเป็นประจำ

2. ปัญหาตาแห้ง ตาล้า จอคอมพิวเตอร์นั้นจะปล่อยแสงสีฟ้า หรือ Blue light ออกมารบกวนการมองเห็นและทำให้ดวงตาต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น นอกจากนี้การจ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานยังทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาทำงานหนัก เป็นสาเหตุของอาการตาพร่า ตาล้า และอาจพลอยทำให้มีอาการปวดศีรษะไปด้วย 

อาการตาล้าเป็นปัญหาสุขภาพที่คนทำงานต้องเผชิญมากขึ้นเมื่อ Work from home เนื่องจากลักษณะการทำงานที่ทุกอย่างทำผ่านทางออนไลน์ ทั้งการประชุมและการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ไหนจะช่วงเวลาพักกลางวันที่หลายคนมักรับประทานอาหารไปพร้อมๆ กับจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ จนแทบไม่มีเวลาได้พักสายตาอย่างแท้จริง

หากต้องการถนอมสายตา ลดการทำงานหนักของดวงตา สามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ปรับความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไปและมีความสมดุลกับแสงภายในห้อง 
  • อาจหาแว่นตัดแสงสีฟ้ามาใส่หรือใช้ฟิล์มติดหน้าจอที่อาจช่วยให้รู้สึกสบายตาขึ้น 
  • คอยเตือนตัวเองให้พักสายตาจากหน้าจอโดยลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสาย ไปเข้าห้องน้ำ หรือลุกไปดื่มน้ำบ่อยๆ 
  • หมั่นกระพริบตา และทำตามเทคนิคพักสายตา 20-20-20 ที่แพทย์แนะนำ โดยให้พักสายตาจากหน้าจอทุกๆ 20 นาที และมองไกลออกไปในระยะประมาณ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที 

3. โรคอ้วน การนั่งทำงานนานๆ โดยไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากจะทำให้มีอาการของออฟฟิศซินโดรม ยังอาจนำไปสู่ปัญหาโรคอ้วนหรือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งการ Work from home ที่แทบไม่มีเหตุให้ต้องเคลื่อนไหว ไม่ต้องลุกไปคุยกับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีพักเบรก แถมหลายคนยังมีอาหารและขนมใกล้มือพร้อมหยิบกินเมื่อไรก็ได้ 

ในการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้นจนเกินมาตรฐานหรือเสี่ยงเป็นโรคอ้วน เราควรลดปัจจัยที่กระตุ้นให้อยากกินอาหารที่อ้วนง่าย เช่น พยายามหาวิธีผ่อนคลายในแต่ละวันไม่ให้เกิดความเครียดมากเกินไป เพราะยิ่งเครียดก็ยิ่งทำให้รู้สึกอยากกินอาหารที่มีไขมันและมีน้ำตาลสูง รวมทั้งเก็บขนมขบเคี้ยวต่างๆ ในที่ลับสายตา หันมาตุนผักผลไม้ ของกินเล่นที่มีแคลอรี่ต่ำแทน และวางไว้ในที่ที่เห็นชัดเจน รวมทั้งไม่ลืมขยับร่างกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย

 

4. ภาวะเครียด วิตกกังวล เมื่อต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านทุกวัน ไม่สามารถออกไปเที่ยวพักผ่อนได้ตามปกติ ความกลัวที่จะติดเชื้อ ประกอบกับความเครียดที่เกิดจากการ Work from home เช่น อุปกรณ์และสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ลักษณะการทำงานที่ไม่มีเส้นแบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนอย่างชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ก้าวผ่านไปได้ ซึ่งความเครียดและความวิตกกังวลที่สะสมขึ้นทุกวันนี้อาจนำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับ และโรคซึมเศร้าได้

ทันทีที่เริ่มรู้ตัวว่าเครียดหรือวิตกกังวล แนะนำให้ลองวิธีง่ายๆ อย่างการหายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ เพื่อผ่อนคลายร่างกายจากความเครียดและปรับระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายให้กลับสู่ภาวะปกติ และควรฝึกทำทุกวันจนเคยชิน 

พยายามไม่วิตกกับเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงจนเกินไป ให้คิดเสียว่าเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้และอยู่กับปัจจุบันเข้าไว้ ที่สำคัญควรจัดสรรเวลาทำงานอย่าให้กินเวลาพักผ่อน เพื่อป้องกันความเครียดและความรู้สึกเหนื่อยล้าสะสม และหากิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายหรือหัวเราะได้ในแต่ละวัน

 

5. Burnout Syndrome การทำงานที่บ้านส่งผลให้หลายคนใช้เวลาในการทำงานยาวนานขึ้น ด้วยสิ่งเร้ามากมายที่ทำให้ว่อกแว่กเสียสมาธิง่าย ทำให้ทำงานเสร็จช้า ไหนจะเจ้านายที่คิดไปเองว่าการเพิ่มเวลางานหรือสั่งงานตอนไหนก็ได้เพราะลูกน้องไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับที่ทำงานและบ้านนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เมื่อเผชิญกับความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงานเหล่านี้นานเข้าจึงทำให้เกิดอาการหมดเรี่ยวแรงและกำลังใจในการทำงานอย่างภาวะหมดไฟขึ้น

การรับมือกับภาวะ Burnout Syndrome นั้นก็คล้ายๆ กับภาวะเครียดและวิตกกังวล โดยแนะนำให้ลองปรับเวลาการทำงานให้เป็นเวลาทุกวัน ไม่หักโหมเกินไป และมีเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ งานไหนที่เกินขอบเขตความรับผิดชอบมากไปก็ควรพูดคุยกับหัวหน้าให้ชัดเจน หากวันไหนรู้สึกเหนื่อยล้าเกินไปก็ควรลาพักผ่อนเพื่อผ่อนคลายและใช้เวลากับคนรอบข้างบ้าง

าจัดระบบระเบียบการทำงานได้ดี การ Work from home ก็มีประโยชน์ได้เหมือนกัน โดยจากผลสำรวจพบว่าคนทำงานบางคนก็มีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในช่วงเวลานี้ เนื่องจากประหยัดเงินและเวลาในการเดินทาง ทั้งยังมีเวลาทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น เช่น ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ กินตรงเวลา และกินครบทุกมื้อ ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกๆ และครอบครัว นอกจากนี้บางคนก็รู้สึกว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ชาว Work from home คนไหนที่เริ่มรู้สึกถึงปัญหาสุขภาพกวนใจ พรีโมแคร์ เมดิคอล มีทีมแพทย์ พยาบาล ไปจนถึงนักกายภายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา สแตนด์บายพร้อมดูแลคุณเสมอ คลิกดูบริการเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

จิตแพทย์ VS นักจิตวิทยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

    /    บทความ    /    จิตแพทย์ VS นักจิตวิทยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

June 2021

นักจิตวิทยา กับ จิตแพทย์ ทำงานต่างกันอย่างไร? หาคำตอบว่าใครที่เหมาะจะช่วยแนะนำวิธีจัดการกับปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ของคุณที่สุด

เมื่อมีเรื่องให้เครียดหรือกังวลใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในครอบครัว ความเครียดจากการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้าง เรามักมองหาคนใกล้ตัวที่จะคอยรับฟังเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ลงไปบ้าง แต่บางครั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็ท่วมท้นเกินกว่าจะจัดการด้วยตัวเองได้ หรือมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายใจที่จะระบายกับคนใกล้ตัว การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจึงดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตนั้นมีหลากหลายสาขาและมีชื่อเรียกที่คล้ายกันจนทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตวิทยาบำบัด หรือนักจิตวิทยาการปรึกษา โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญสาขาหลักอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นดูจะเป็นเรื่องที่มีความคลุมเครืออยู่มาก วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เลยจะพาไปรู้จักกับทั้งสองวิชาชีพนี้ให้ชัดขึ้น ว่าทำงานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร พร้อมทั้งคำแนะนำเบื้องต้นในขั้นตอนการเริ่มปรึกษา

จิตแพทย์ และ นักจิตวิทยา ทำงานต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์และนักจิตวิทยาต่างก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสมอง รวมถึงการเกิดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกต่างๆ และมีทักษะการรักษาทางจิตวิทยาด้วยการพูดคุย เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจในความคิดและพฤติกรรมของตนเอง นอกจากนี้เป้าหมายของทั้งคู่คือการช่วยให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยดีขึ้น 

สิ่งที่แยกนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ออกจากกัน มีดังต่อไปนี้

การศึกษาและความเชี่ยวชาญ

  • จิตแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางแขนงหนึ่ง เส้นทางการเป็นจิตแพทย์จึงต้องเริ่มจากการเรียนแพทย์ทั่วไปในคณะแพทยศาสตร์ 6 ปี และต่อแพทย์เฉพาะทางในภาควิชาจิตเวชศาสตร์อีก 3 ปี ใช้เวลาทั้งหมดอย่างน้อย 9 ปี มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคทางจิต รวมถึงความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม โดยในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตจะพิจารณาความผิดปกติจากปัจจัยทางด้านประสาทและสมอง พันธุกรรม รวมถึงโรคอื่นๆ ร่วมด้วย
  • นักจิตวิทยา ไม่ใช่แพทย์ แต่จบจากคณะต่างๆ เช่น จิตวิทยา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ในหลักสูตรสาขาจิตวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ กระบวนความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจัยแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ใช้เวลาเรียน 4 ปีในระดับปริญญาตรี และหากต้องการเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชจะต้องต่อหลักสูตรอบรม 6 เดือนเพื่อสอบใบประกอบโรคศิลป์สาขาจิตวิทยาคลินิก

วิธีการรักษา

  • จิตแพทย์ สามารถตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตต่างๆ และให้การรักษาที่ครอบคลุมมากกว่านักจิตวิทยา โดยจะเน้นรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด ซึ่งบางครั้งในส่วนของการทำจิตบำบัดจะส่งต่อไปให้นักจิตวิทยาเป็นผู้ดูแล นอกจากนี้จิตแพทย์ยังอาจใช้การรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า รวมทั้งมีหน้าที่ในการตรวจสุขภาพกายและประเมินประสิทธิภาพของยาที่ผู้ป่วยใช้ 
  • นักจิตวิทยา ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ แต่สามารถใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อประกอบการวางแผนการบำบัดทางจิต การรักษาของนักจิตวิทยาจะเน้นวิธีการบำบัดทางจิต ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมโดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นหลัก เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและร่วมหาแนวทางการแก้ไข รวมถึงให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความคิดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือคาดว่าการใช้ยาอาจช่วยได้ นักจิตวิทยาจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังจิตแพทย์ พร้อมผลการประเมินสภาพจิตเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม 

โรคที่ให้การรักษา

  • จิตแพทย์ จะเน้นรักษาโรคที่ต้องใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน ทั้งการใช้ยา การบำบัดทางจิต และการใช้จิตสังคมบำบัด โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ผู้ป่วยที่มีโรคที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น โรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลชนิดรุนแรง โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท ภาวะออทิสติก มักต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ รวมไปถึงกรณีที่มีพฤติกรรมทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง
  • นักจิตวิทยา มักดูแลปัญหาทางสภาวะจิตใจที่สามารถรักษาได้ด้วยการทำจิตบำบัด ปัญหาทั่วไปที่หลายคนพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่ไม่สามารถหาทางออกด้วยตัวเอง หรือไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ล้วนแล้วแต่ปรึกษานักจิตวิทยาได้ เช่น ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ความวิตกกังวลต่อเรื่องต่างๆ ที่รู้สึกว่ามีมากเกินไป และปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อน หรือคนในที่ทำงาน รวมไปถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลที่ยังไม่รุนแรง ปัญหาอื่นๆ ในด้านพฤติกรรม การเรียนรู้ และการปรับตัวเข้ากับสังคม 

เริ่มต้นพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างไรดี?

การเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและการรักษาที่เหมาะสมกับภาวะทางจิตที่กำลังเผชิญไม่ต่างจากการหาหมอให้ถูกโรค เบื้องต้นแนะนำให้โทรสอบถามสถานพยาบาลและอาจอธิบายสาเหตุที่อยากขอคำปรึกษาเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมว่าควรพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ในการพบกันครั้งแรก จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะพูดคุยถึงสาเหตุที่คุณคิดว่าตนเองต้องการรับการบำบัด และสอบถามว่ามีอาการอย่างไร รู้สึกอย่างไร เป็นมานานแค่ไหน หลังจากนั้นจะเริ่มพูดคุยในเรื่องต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจผู้ป่วยให้มากขึ้น เช่น ครอบครัว การทำงาน งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่ชอบทำ และอาจมีการทำแบบประเมินสุขภาพจิตร่วมด้วย เมื่อรู้จักกันมากขึ้นแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นการวางแผนการรักษาและเปิดโอกาสให้ถามคำถามที่คุณยังสงสัยหรือข้องใจเกี่ยวกับการรักษา 

คุณอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะคุ้นเคยกับการบำบัดจิตกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา หากผ่านไป 2-3 สัปดาห์แล้วยังรู้สึกว่าการรักษาไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ควรบอกให้ผู้ที่ให้การรักษาทราบเพื่อปรับวิธีการบำบัดให้เหมาะกับตัวเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการรักษา ไม่ควรฝืนทำต่อไปโดยที่รู้สึกไม่ใช่ เพราะนั่นเท่ากับผิดวัตถุประสงค์การรักษาของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ที่ต้องการช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ป่วยและส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดี

สุขภาพใจมีความสำคัญและต้องการการดูแลไม่ต่างจากสุขภาพกาย หมั่นสังเกตอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของตัวเอง ถ้าไม่ไหวก็ไม่ต้องฝืน ให้พรีโมแคร์ช่วยรับฟังและหาทางรับมือปัญหา นัดหมายปรึกษานักจิตวิทยาของเราได้ที่นี่ 

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

กายภาพบำบัด กับ นวด ต่างกันอย่างไร? เลือกรักษาแบบไหนดี?

    /    บทความ    /    กายภาพบำบัด กับ นวด ต่างกันอย่างไร? เลือกรักษาแบบไหนดี?

June 2021

กายภาพบำบัด หรือ นวด อาการแบบนี้ถ้าจะให้ดีควรเลือกอย่างไหน? นักกายภาพบำบัดกับหมอนวดต่างกันยังไง? เช็กให้รู้ เลือกการรักษาที่ใช่

การกายภาพบำบัดและการนวดบำบัดต่างเป็นศาสตร์แห่งการฟื้นฟูร่างกายที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ โดยการทำกายภาพบำบัดนั้นจัดเป็นการรักษาทางการแพทย์ ส่วนการนวดบำบัดทั่วไปจะอยู่ในหมวดแพทย์ทางเลือก ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็ยังเป็นที่สับสนกันมากว่าการนวดและการทำกายภาพบำบัดนั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร บทความนี้เราจะมาดูกันชัดๆ ว่าอาการแบบไหนควรรักษาอย่างไรถึงจะดีที่สุด 

อาการแบบนี้ นวดบำบัดทั่วไปช่วยได้

การนวดบำบัดทั่วไป มีจุดประสงค์ในการช่วยคลายกล้ามเนื้อ โดยอาจใช้เทคนิคการนวดคลึง การกดเน้นตามจุด และการเหยียดยืดกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดเมื่อยและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้รู้สึกดีขึ้นในขณะที่เคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตในด้านการลดความเครียดและความวิตกกังวลได้อีกด้วย

ในกรณีต่อไปนี้ การนวดบำบัดทั่วไปถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์

  • มีอาการตึงหรือปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย
  • มีอาการปวดเมื่อยที่ไม่เรื้อรังจากการทำงานหรือกิจวัตรประจำวันอื่นๆ 
  • ต้องการผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวล
  • ต้องการฟื้นฟูร่างกายหลังจากออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา

อาการแบบนี้ ให้กายภาพบำบัดช่วยดีกว่า

การทำกายภาพบำบัด มีจุดประสงค์เพื่อทำการรักษาอาการบาดเจ็บ รวมถึงความเจ็บป่วยรุนแรงหรือเรื้อรัง โดยเป็นหน้าที่ของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดในการตรวจร่างกาย วินิจฉัย และออกแบบการรักษาตามอาการและสาเหตุการเจ็บป่วย

สำหรับกรณีต่อไปนี้ การรักษาด้วยกายภาพบำบัดจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่าการนวดบำบัดทั่วไป

  • มีอาการปวดเรื้อรังหรือปวดรุนแรงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลต่อการทำงานและการทำกิจกรรมต่างๆ 
  • มีอาการที่เคยรักษาด้วยการนวดบำบัดมาก่อน แต่อาการไม่ดีขึ้นหรือยังคงเป็นอย่างต่อเนื่อง
  • มีอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา เช่น ข้อเท้าพลิก แล้วต้องการตรวจประเมินและรับคำแนะนำในการรักษา รวมถึงวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง 
  • ได้รับคำแนะนำส่งต่อจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอื่นๆ ให้รับการรักษาโดยทำกายภาพบำบัด

หลายครั้งที่เรามักละเลยการพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพราะคิดว่าอาการจะดีขึ้นเองในไม่ช้า แต่กลายเป็นว่าอาการกลับยิ่งเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นตามคำแนะนำที่ถูกต้อง เราควรรับการตรวจรักษาทันทีที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการปวดตามร่างกายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

การทำงานของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด

ในการรักษาทางกายภาพบำบัด เราจะพบกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของร่างกาย รวมถึงทางด้านระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่สามารถส่งผลถึงระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะทำหน้าที่ตรวจประเมิน วินิจฉัย และรักษา ไปจนถึงการตรวจรักษาสุขภาพโดยรวมและโรคประจำตัวอื่นๆ ของคนไข้

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูทำงานร่วมกับนักกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะเกี่ยวกับการป้องกันรักษาและจัดการการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติที่เกิดขึ้น สามารถตรวจประเมินการเคลื่อนไหว อาการบาดเจ็บ ช่วงมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ความแข็งแรงและความยาวของกล้ามเนื้อ รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บหรืออาการจากโรคที่เกิดขึ้น เช่น ท่าทางในการนั่ง การทำงาน (ออฟฟิศซินโดรม) หรือการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่องช็อคเวฟ เป็นต้น 

โดยหลังจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูส่งต่อผู้ป่วยมาทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ตรวจประเมิน และทำการรักษาผู้ป่วยจนสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ หรือสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น การกลับไปเล่นกีฬา รวมถึงให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการกลับไปเป็นซ้ำ

ทั้งนี้ ในคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกำกับ การรักษาของนักกายภาพบำบัดจะรวมถึงการวินิจฉัยประเมินอาการ และพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อซักประวัติอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว อาการ และพฤติกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้มีอาการดังกล่าว 

ในด้านขั้นตอนการรักษา นักกายภาพบำบัดจะใช้เทคนิคที่หลากหลายตามความเหมาะสม เช่น การบำบัดด้วยมือ ซึ่งรวมถึงเทคนิคการดัด ดึง และขยับข้อต่อ การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย การใช้เครื่องช็อคเวฟ คลื่นอัลตราซาวด์ ความร้อน และความเย็น เป็นต้น

การนวดนั้นเหมาะสำหรับอาการปวดนิดตึงหน่อยหรือในวันที่เครียดและต้องการผ่อนคลาย แต่หากมีอาการที่เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ที่รบกวนใจหรือขัดขวางการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างราบรื่น การกายภาพบำบัดคือคำตอบของคุณ 

สนใจคลิกดูรายละเอียดบริการกายภาพบำบัดที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Sick Building Syndrome โรคแปลกของชาวออฟฟิศ คือโรคอะไรกันแน่?

    /    บทความ    /    Sick Building Syndrome โรคแปลกของชาวออฟฟิศ คือโรคอะไรกันแน่?

June 2021

ไปออฟฟิศทีไรอาการไม่ดีตลอด แต่พอกลับถึงบ้านก็ดีขึ้น คุณกำลังมีภาวะ Sick Building Syndrome อยู่หรือเปล่า? เช็กตัวเองได้ที่นี่

Sick Building Syndrome (SBS) เป็นภาวะความเจ็บป่วยที่เชื่อว่าอาจเกิดจากการทำงานภายในอาคารและสถานที่ปิด ซึ่งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร อาการของภาวะนี้ค่อนข้างกว้างและอาจดูคล้ายโรคอื่น ทำให้การตรวจวินิจฉัยทำได้ยาก โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นในห้องใดห้องหนึ่งหรือกินบริเวณกว้างทั้งอาคารก็ได้

หากคุณมีอาการผิดปกติที่หาสาเหตุไม่ได้บ่อยครั้งในที่ทำงานหรือที่พักอาศัย พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก อยากชวนคุณมาทำความรู้จักโรคนี้เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบอาการและสภาพแวดล้อมของอาคารที่ใช้ชีวิตเป็นประจำ ว่าเข้าข่าย Sick Building Syndrome หรือไม่

วิธีสังเกตอาการ Sick Building Syndrome

อาการของ Sick Building Syndrome ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง หรือระบบประสาทก็ได้ และมักทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคอื่น เช่น หวัด หรือภูมิแพ้ วิธีสังเกตเบื้องต้นให้ดูว่าอาการต่อไปนี้ดีขึ้นหรือหายไปเมื่อออกจากอาคารหรือไม่ และมีอาการอย่างไรเมื่อกลับไปอยู่ภายในอาคารอีกครั้ง

  • ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล 
  • ระคายเคืองตา ตาแห้ง
  • เจ็บคอ ระคายเคืองคอ ไอ 
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังหวีด
  • ผิวหนังแห้ง คัน มีผื่นขึ้น
  • อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิทำงาน สมองล้า
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ อาการของ Sick Building Syndrome อาจรุนแรงขึ้นได้หากเกิดขึ้นพร้อมกับอาการภูมิแพ้หรือโรคทางระบบทางเดินหายใจ และอาจส่งผลให้อาการของโรคอื่นกำเริบได้เช่นกัน นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่บางคนอาจมีอาการหลังจากออกจากอาคารไปแล้ว เนื่องจากภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการอยู่ในอาคารนั้นเป็นประจำหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน

อะไรคือสาเหตุของ Sick Building Syndrome?

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไรกันแน่ แต่คาดว่าสภาพแวดล้อมภายในอาคารต่อไปนี้อาจเป็นปัจจัยที่ให้เกิดอาการของ Sick Building Syndrome ตามมาได้

  • การถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมของมลพิษ ฝุ่นควัน สารพิษ และเชื้อโรคต่างๆ ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพ
  • มลพิษจากภายนอก เช่น ฝุ่น ผง ควันบุหรี่ หรือควันจากรถยนต์ที่ลอยเข้ามาในอาคาร
  • มลพิษ สารพิษ และสารเคมีต่างๆ จากภายในอาคาร ได้แก่
    • เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรียที่สะสม
    • ควันบุหรี่ ควันจากเตาอาหาร 
    • น้ำยาทำความสะอาด สีทาผนัง และสารฟอร์มาลดีไฮด์ในพื้นหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้
    • แร่ใยหินที่ใช้เป็นส่วนประกอบของวัสดุต่างๆ ภายในอาคาร เช่น กระเบื้อง ท่อน้ำประปา ท่อซีเมนต์
    • ก๊าซเรดอนที่เป็นสารกัมมันตรังสีที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และอาจสะสมอยู่ในบ้านที่ไม่มีการระบายอากาศ
  • ความสว่างภายในอาคาร เช่น แสงไฟที่สว่างจ้าหรือมืดเกินไป ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น รวมถึงความชัดและความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่สบายตา
  • ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น
    • อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นเกินไป และระดับความชื้นในอากาศที่ต่ำ
    • มีเสียงรอบข้างดังเกินไป
    • มีแมลงหรือมูลของเสียจากสัตว์ เช่น หนู จิ้งจก เป็นต้น

ปัญหาการระบายอากาศและสภาพแวดล้อมภายในอาคารเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปรับแก้ด้วยตนเองได้ จึงควรแจ้งให้เจ้านายหรือผู้ว่าจ้างทราบเมื่อพบปัญหาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อหาวิธีจัดการร่วมกันอย่างเหมาะสมต่อไป

วิธีป้องกันและบรรเทาอาการจาก Sick Building Syndrome

ยากที่จะบอกได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไรกันแน่ การป้องกันโรคนี้จึงเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงข้างต้นรวมถึงการลดพฤติกรรมที่อาจนำมาซึ่ง Sick Building Syndrome โดยสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หากไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดหน้าต่างและใช้พัดลมเป่าเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ
  • หมั่นดูดฝุ่นและทำความสะอาดห้องหรืออาคาร 
  • เปลี่ยนหรือทำความสะอาดฟิลเตอร์เครื่องปรับอากาศทุก 2-3 เดือน
  • ใช้เครื่องกรองอากาศเพื่อลดฝุ่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และสิ่งสกปรกภายในห้อง
  • ปรับแสงไฟภายในอาคารให้สว่างพอดี ปรับแสงหน้าจอให้สบายตา และอัปเกรดจอแสดงผลต่างๆ ให้สามารถมองได้โดยไม่ต้องเพ่งสายตา
  • พยายามผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหรือมีอาการแย่ลงได้
  • หมั่นพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยมองออกไปไกลๆ ประมาณ 20 วินาที ทุกๆ 20 นาที และอย่าลืมกระพริบตาบ่อยๆ
  • หาโอกาสออกไปสูดอากาศข้างนอก เช่น ช่วงพักกลางวัน พักเบรค หรือระหว่างไปเข้าห้องน้ำ
  • ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายหรือทำท่ากายบริหารง่ายๆ เพื่อคลายความเมื่อยล้าที่อาจเกิดจากการนั่งนานเกินไป

หากปรับตามนี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ถึงเวลาที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด โดยหากไม่ได้เกิดจากโรคอื่น แพทย์อาจตรวจว่าอาการที่เกิดขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมการทำงานหรือไม่ เช่น การตรวจหาสารฟอร์มาลีนไฮด์ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน เชื้อราดำ และการตรวจโลหะหนัก

สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นคือ Sick Building Syndrome หรือไม่ สามารถปรึกษาคุณหมอที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เพื่อรับการตรวจให้แน่ชัดว่าไม่ได้เกิดจากโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกัน พร้อมรับการรักษาอย่างตรงจุด ตามสาเหตุที่พบต่อไป คลิกดูบริการของเราได้เลยที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

รับมือและป้องกันอย่างไร เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดต่อทางอากาศ

    /    บทความ    /    รับมือและป้องกันอย่างไร เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดต่อทางอากาศ

June 2021

เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้ในอากาศ จะมีวิธีป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากการติดเชื้ออย่างไร?

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2021 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้อัปเดตข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าสามารถติดต่อผ่านทางอากาศ (Airborne) จากเดิมที่กล่าวว่าไวรัสนี้สามารถติดต่อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่จากสารคัดหลั่งเป็นหลัก รองลงมาคือการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัส ส่วนการแพร่กระจายทางอากาศนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก

ก่อนหน้านี้นักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และประเทศต่างๆ รวมตัวกันเรียกร้องให้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และ CDC ทบทวนวิธีการติดต่อของเชื้อโควิด-19 และให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศ หลังจากพบหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายทางอากาศได้พอๆ กับการสัมผัสเชื้ออีก 2 ทาง และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในหลายกรณีจึงพบว่ามีการติดเชื้อทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

 

เชื้อโควิด-19 ติดทางไหนกันแน่?

ขณะที่เราพูด ร้องเพลง ไอ จาม ออกกำลังกาย หรือแม้แต่หายใจตามปกติ จะมีละอองสารคัดหลั่งกระจายออกจากช่องปากและจมูก โดยละอองเหล่านี้มีอนุภาคขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป และแต่ละขนาดมีการแพร่กระจายของเชื้อที่ติดออกมาด้วยต่างกัน

  • ละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่ที่สุด จะตกลงสู่พื้นภายในหลักวินาทีถึงหลายนาที ทำให้สามารถได้รับเชื้อที่ติดมากับละอองฝอยเหล่านี้ผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปากโดยตรง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะ 2 เมตร ซึ่งจะมีความเข้มข้นของละอองสูง และยังมีโอกาสติดเชื้อจากการนำมือที่ปนเปื้อนเชื้อจากละอองสารคัดหลั่งหรือพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสมาสัมผัสเยื่อบุบริเวณตา จมูก และปาก
  • ละอองสารคัดหลั่งขนาดเล็กที่สุด มีอนุภาคน้อยกว่า 5 ไมครอน ด้วยขนาดที่เล็กมากทำให้แห้งและกลายเป็นละอองลอยค้างในอากาศได้นานหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง ทำให้สามารถติดเชื้อได้จากการหายใจเอาเชื้อในอากาศเข้าไป โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะ 2 เมตร ที่มีความเข้มข้นของละอองสูง

 

แม้เว้นระยะห่าง ก็ยังเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ทางอากาศได้

โอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อทางอากาศจะลดน้อยลงเมื่ออยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 เมตรเช่นเดียวกับการแพร่เชื้อทางละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่ แต่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่าจะทำให้เสี่ยงเกิดการติดเชื้อมากขึ้นหากมีการสัมผัสเป็นเวลานาน (มากกว่า 15 นาที) ในสภาพแวดล้อมที่มีปริมาณไวรัสในอากาศเข้มข้นขึ้น จนสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลกว่า 2 เมตร หรือสามารถติดต่อกันได้หากเข้าไปยังพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่งออกไปไม่นาน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ 

  • พื้นที่ปิดที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อในอากาศมากยิ่งขึ้น
  • การทำกิจกรรมที่เพิ่มการปล่อยละอองสารคัดหลั่ง เช่น การใช้เสียงตะโกน การร้องเพลง การออกกำลังกาย เป็นต้น
  • การอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 15 นาที

 

รับมือกับการแพร่กระจายทางอากาศของเชื้อโควิด-19 อย่างไร?

CDC ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักฐานที่พบในตอนนี้ว่าการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนบนพื้นผิวสัมผัสต่างๆ เช่น เสื้อผ้า และสิ่งของต่างๆ แล้วนำมามาสัมผัสตามใบหน้า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อ ส่วนระดับความเสี่ยงของการติดเชื้อทางอากาศและการได้รับละอองสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรงก็ยังมีความคลุมเครือและต้องอาศัยผลการศึกษาเพิ่มเติม ในระหว่างนี้แนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่างๆ ตามเดิม ซึ่งยังคงช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในช่องทางต่างๆ อย่างครอบคลุม ได้แก่ 

  • เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • ใส่หน้ากากอนามัยให้มิดชิดเสมอเมื่อออกจากบ้าน
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ปิดที่มีคนแออัด และที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี หากจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • เพิ่มการถ่ายเทอากาศในห้องด้วยการเปิดหน้าต่าง หรือติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อลดการสะสมของไวรัส
  • งดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยละอองสารคัดหลั่งมากร่วมกับผู้อื่น เช่น การตะโกน การร้องเพลง รวมถึงการออกกำลังกายที่เพิ่มอัตราการหายใจ

ข้อมูลการแพร่ระบาดทางอากาศของไวรัสโควิด-19 ที่ CDC ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมนี้ แม้จะไม่ได้มีข้อปฏิบัติในการรับมือที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่ก็ถือเป็นแนวทางให้เราตะหนักถึงความอันตรายของเชื้อโควิด-19 และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดีกันมากขึ้น

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่อเนื่องและยาวนานทำให้เราต่างรู้สึกเหนื่อยล้า พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ขอเป็นกำลังใจพร้อมช่วยคุณดูแลสุขภาพกายใจให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับเคล็ดลับสุขภาพดีเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง