/ บทความ / Home Isolation แยกตัวรักษาที่บ้าน ติดต่อที่ไหน ทำยังไงบ้าง?
สถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤตจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน ทำให้เริ่มมีการนำการรักษาในรูปแบบ Home Isolation หรือ Self Isolation ซึ่งเป็นการแยกตัวผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้รักษาตัวที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยอาการหนักมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น และลดปัญหาจำนวนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอรองรับจำนวนผู้ป่วย
Home Isolation ในประเทศไทยมีขั้นตอนการรับเข้าระบบอย่างไรบ้าง ใครสามารถทำได้ ใครที่ไม่ควรทำ และมีข้อปฏิบัติตัวอย่างไรในระหว่างที่แยกตัว คุณหมอพรีโมแคร์ชวนคุณมาหาคำตอบในบทความนี้
แยกตัวรักษา (Isolation) กับกักตัว (Quarantine) ต่างกันอย่างไร?
การกักตัวหลังมีความเสี่ยง (Quarantine) คือการแยกกักตัวเนื่องจากมีความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนการแยกตัวรักษา (Home Isolation) คือการรักษาผู้ที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าติดเชื้อ โดยให้แยกตัวจากคนอื่นในบ้าน อยู่ในพื้นที่ที่แยกจากกัน เพื่อไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ใครบ้างที่เหมาะกับการแยกรักษาตัวที่บ้าน?
ปัจจุบันมีการแบ่งผู้ป่วยตามอาการเป็น 3 ระดับ คือ ผู้ป่วยอาการสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยจะแนะนำให้พักรักษาตัวและสังเกตอาการที่บ้านก็ต่อเมื่อประเมินว่าแล้วเป็นผู้ป่วยในระดับอาการสีเขียว คือ
- ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเหมือนไข้หวัดปกติ
- ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ
ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับ Home Isolation?
- ผู้ป่วยอาการสีเหลือง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอายุ 60 ปีขึ้น มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ภูมิคุ้มกันต่ำ มีเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000
- มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกขณะทำกิจกรรม หายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ไอแล้วเหนื่อย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปอดอักเสบ หรือถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
- ผู้ป่วยอาการสีแดง คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย พูดแล้วเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยค คำพูดไม่ปะติดปะต่อฟังไม่รู้เรื่อง แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จะต้องรีบเข้ารับการเอกซเรย์ปอด
ขั้นตอนการเข้าระบบ Home Isolation
- ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อเข้าระบบ Home Isolation ในช่องทางต่อไปนี้
- ผู้มีสิทธิบัตรทอง โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 14
- ผู้มีสิทธิประกันสังคม โทรสายด่วน 1506 กด 6
- กรอกข้อมูลลงทะเบียนออนไลน์ทางเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/
- ติดต่อทีมบุคลากรทางการแพทย์อาสาทางแอปพลิเคชัน Line @FammedCoCare
- แจ้งจิตอาสาในชุมชนที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชนตามอาการและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยจะส่งรายละเอียดของผู้ป่วยให้กับทีมแพทย์พยาบาล จากนั้นซักประวัติ คัดกรองข้อมูล และสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยผ่านระบบ Telehealth
- หากแพทย์ประเมินว่าอาการของผู้ป่วยอยู่ในระดับสีเขียว จะนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระบบ Home Isolation ต่อไป ส่วนในกรณีที่มีระดับอาการเป็นสีเหลือง (รอเตียง) หรือสีแดง (ต้องเข้ารับการรักษาทันที) จะมีทีมพยาบาลและจิตอาสาประสานงานจัดหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาจากหน่วยพยาบาลในเครือข่ายโดยเร็วที่สุด
- เมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้ว จะมีทีมพยาบาลให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและคอยติดตามอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE และมีการโทรสอบถามอาการในช่วงเช้า และเย็นทุกวัน เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
- ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation ทั้งในเครือข่ายชุมชนและสปสช. จะได้รับอาหาร 3 มื้อทุกวัน รวมทั้งถุงยังชีพและของใช้ที่จำเป็น ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ จนกว่าจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือหายป่วย
- หากมีอาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในระหว่างประสานรอเตียงผู้ป่วย
- ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ทีมงานจะส่งต่อข้อมูลและรายชื่อผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย โดยการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยต้องผ่านทางแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อได้รับยาแล้ว จะมีทีมพยาบาลไปด้วยเพื่ออธิบายการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย
แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในช่วง Home Isolation
- อยู่แต่เฉพาะในบ้าน และงดให้คนอื่นมาเยี่ยม
- อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา และปิดประตูไว้เสมอ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนอื่นในบ้านให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และเด็กเล็ก
- เปิดหน้าต่างภายในห้องหากไม่ได้เชื่อมต่อกับห้องอื่นๆ ในบ้าน รวมถึงเปิดหน้าต่างภายในบ้านเพื่อเพิ่มการระบายอากาศและลดการสะสมของไวรัส
- ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรรอใช้เป็นคนสุดท้าย รวมทั้งทำความสะอาดตามโถสุขภัณฑ์และพื้นผิวที่สัมผัสทุกครั้งหลังใช้ด้วยน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 5% ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:99 หรือน้ำยาเข้มข้น 0.5% ในอัตราส่วน 1:9
- หากมีอาการไอ จาม ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้จะอยู่ในห้องส่วนตัว และควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แทนหน้ากากผ้า
- หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ภายในบ้านร่วมกับผู้อื่นในเวลาไล่เลี่ยกัน เว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตรและสวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อต้องเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ในห้องเดียวกัน
- ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และห้ามรับอาหารจากผู้ส่งอาหารโดยตรง
- หากไอจามขณะใส่หน้ากากอนามัย ไม่ต้องใช้มือปิดปากหรือถอดหน้ากาก เพราะอาจทำให้มือสัมผัสเชื้อ หากไม่ได้ใส่หน้ากากให้ใช้ทิชชู่ปิดปากแล้วทิ้งโดยมัดถุงทันที หรือยกต้นแขนด้านในขึ้นมาปิดปากและจมูกไว้
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% แทนในกรณีที่จำเป็น
- หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก และดวงตาโดยไม่ได้ล้างมือก่อน
- ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หรือทำความสะอาดทุกอย่างที่ใช้ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดก่อน
- เช็ดทำความสะอาดสิ่งของและบริเวณต่างๆ ในบ้านที่มีการสัมผัสร่วมกันเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู โซฟา โต๊ะกินข้าว
- มารดาที่ต้องให้นมบุตร สามารถให้นมได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีรายงานการพบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม แต่ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตรทุกครั้ง
ระหว่างนี้ อย่าลืมดูแลตัวเองโดยพักผ่อนให้มากและดื่มน้ำให้เพียงพอ และหากมีอาการแย่ลงควรโทรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที
เมื่อไหร่ถึงจะหยุด Home Isolation ได้?
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การหยุด Home Isolation ควรปรึกษาและให้แพทย์ประเมินก่อนเสมอ เนื่องจากมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลัง Home Isolation ดังนี้
ในกรณีที่คาดว่าติดเชื้อ/ตรวจพบว่าติดเชื้อ/มีอาการโควิด-19 อาจออกจากการ Home Isolation หากเข้าเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้
- แยกตัวครบ 10 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ และ
- ไม่มีไข้ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และ
- มีอาการดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย
ทั้งนี้บางอาการอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายสัปดาห์แม้จะไม่มีเชื้อแล้วก็ตาม เช่น ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าปลอดภัยแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้หยุดแยกตัวรักษาได้
ส่วนคนที่ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ สามารถหยุด Home Isolation ได้ หากยังคงไม่มีอาการอย่างต่อเนื่อง และแยกตัวครบ 10 วันแล้วหลังทราบผลตรวจ
มีปัญหาสุขภาพหรือความกังวลใจเรื่องใด ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้เลยที่ LINE @PrimoCare
Reference
ทำอย่างไร เมื่อต้องเข้าสู่ Home Isolation (www.thaihealth.or.th/Content/54962-ทำอย่างไร%20เมื่อต้องเข้าสู่%20Home%20Isolation.html)
คำแนะนำการปฏิบัติการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19). (https://www.gj.mahidol.ac.th/main/covid19/homeisolation/)
Home isolation and COVID-19. (https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000975.htm)
Image: www.freepik.com