/    บทความ    /    ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีทำงาน เมื่อ Multi-tasking ไม่ดีอย่างที่คิด

ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีทำงาน เมื่อ Multi-tasking ไม่ดีอย่างที่คิด

ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีทำงาน
เมื่อ Multi-tasking ไม่ดีอย่างที่คิด

Multi-tasking​ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือยิ่งทำให้พังกว่าเดิม​กันแน่? วิธีทำงานที่ถูกต้อง​คืออะไร? บทความนี้มีคำตอบ

ในยุคของการทำงานที่เร่งรีบและเน้น Productivity หลายคนคิดว่า Multi-tasking หรือการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน คือทักษะสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงาน 

แท้จริงแล้วมีงานวิจัยออกมาว่า คนประมาณ 2.5% เท่านั้นที่สามารถทำงานแบบ Multi-tasking ได้ดี เนื่องจากสมองของคนเราถูกออกแบบมาให้โฟกัสกับการทำงานทีละอย่างเท่านั้น นอกจากนี้เวลาส่วนใหญ่ที่เราคิดว่ากำลัง Multi-tasking นั้น ความจริงก็คือการทำทีละอย่างในอัตราที่เร็วขึ้น หรือสลับทำไปทีละอย่างนั่นเอง และไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้มากขึ้นแต่อย่างใด

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราทำงานแบบ Multi-tasking?

ความจำแย่ลง 

ลักษณะของการทำงานที่จดจ่อกับงานมากกว่าหนึ่งอย่างในเวลาเดียวกัน หรือการทำงานสลับไปมาระหว่างงาน 2 งานขึ้นไป ส่งผลให้เรามีสมาธิจดจ่อและมีประสิทธิภาพในการทำงานนั้นๆ น้อยลง ทั้งยังไม่สามารถรับข้อมูลต่างๆ ได้เท่าการทำงานเป็นอย่างๆ ไป ซึ่งสิ่งที่อาจตามมาก็คืออาการความจำสั้น หลงๆ ลืมๆ จำอะไรไม่ค่อยได้นั่นเอง

เกิดความเครียดสะสม 

สมองของคนเราต้องใช้เวลาและพลังงานอย่างมากในการปรับเปลี่ยนโฟกัสทุกครั้งที่สลับไปทำงานอย่างอื่น ทำให้ Multi-tasking กินเวลามากกว่าการเลือกจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งไปทีละอย่าง โดยมีงานวิจัยบางงานที่ชี้ว่าการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันทำให้เราทำงานได้น้อยลงถึง 40% และนี่อาจทำให้ชาว Multi-tasking หลายคนเสี่ยงเกิดความเครียดจากการต้องรับมือกับหลายงานพร้อมกัน รวมถึงความเครียดเรื้อรังสะสมจากการทำงานได้น้อยลงจนต้องชดเชยด้วยการทำงานล่วงเวลาในทุกๆ วัน

การจัดระเบียบความคิดปรวนแปร

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชี้ว่าคนที่ทำงานแบบ Multi-tasking จะมีทักษะในการแยกข้อมูลที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องออกจากกันได้น้อยลง ทั้งยังประสบปัญหาในการจัดระบบระเบียบความคิดหลังจากสลับไปทำงานอื่น ยิ่งไปกว่านั้นคนที่ทำงานในลักษณะนี้มาเป็นเวลานาน จะมีประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงแม้เมื่อจดจ่อกับงานเพียงงานเดียวก็ตาม

Multi-tasking ได้ แต่ต้องเลือกจับคู่สิ่งที่ทำให้ถูก

การการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันอาจทำได้ในกรณีที่เป็นการจับคู่งานที่ต้องอาศัยสมาธิจดจ่อ กับงานที่เน้นใช้กำลังมากกว่า เช่น 

  • การฟังเพลงหรือหนังสือเสียงไปพร้อมกับการออกกำลังกาย
  • การคุยโทรศัพท์ขณะทำงานบ้าน
  • การดูทีวีหรือฟังเพลงระหว่างพับผ้า

การเลือกทำงานที่ต้องใช้ความคิดเพียงงานเดียวจะทำให้ไม่ต้องสูญเสียเวลาและพลังงานในการสร้างสมาธิจดจ่อกับงานสลับไปมา แต่หากเราเลือกทำงาน 2 อย่างที่ต่างต้องใช้สมาธิทั้งคู่ เช่น ฟังเพลงระหว่างเขียนหรือพิมพ์งาน ทำงานอื่นระหว่างฟังประชุม คุยกับเพื่อนขณะทำการบ้าน หรือคุยโทรศัพท์ระหว่างขับรถ นั่นอาจทำให้เราไม่สามารถรับข้อมูลหรือจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งได้ดีพอ และยังเสี่ยงก่อให้เกิดความผิดพลาดได้สูงอีกด้วย

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยวิธีที่เห็นผลกว่า Multi-tasking

สำหรับคนที่ติดการทำงานแบบ Multi-tasking คุณหมอพรีโมแคร์มีทริคง่ายๆ ในการปรับการทำงานเพื่อโฟกัสทีละอย่าง ให้คุณกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง แถมบอกลาความเครียด มาฝากกัน

  • เลือกโฟกัสงานใดงานหนึ่งเป็นหลัก จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังเป็นอย่างๆ หากพะวงกับงานที่ 2 หรือ 3 ให้วางแผนจัดตารางการทำงานเพื่อบอกสมองว่าจะทำงานอื่นๆ ต่อหลังจากจบงานนี้
  • ใช้เทคนิค Chunking ซึ่งเป็นการจัดตารางในการทำงานใดงานหนึ่งโดยไม่วอกแวกไปทำงานอื่น และจัดกลุ่มงานที่คล้ายกันเข้าด้วยกันในเวลาเดียว เช่น กำหนดเวลาเช็กอีเมลในแต่ละวันแทนที่จะเช็กตลอดทั้งวัน เพื่อลดเวลาในการปรับโฟกัสไปทำงานอื่นไปมา และมีเวลาในการจดจ่อกับงานต่างๆ มากขึ้น
  • ใช้กฎ 20 นาที ใครที่ต้องทำงานสลับไปมาตลอดเวลา ลองจดจ่อกับแต่ละงานอย่างเต็มที่โดยไม่วอกแวกในเวลา 20 นาที ก่อนจะสลับไปทำงานอื่นต่อไป
  • ลองปรับลดงานที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ลองดูว่ามีงานไหนที่ไม่ได้สำคัญหรือมีแต่จะทำให้ตารางแน่นและรู้สึกว่าต้อง Multi-tasking เพื่อให้ได้งานมากขึ้นตลอดเวลา โดยที่แม้ตัดออกไปแล้วก็ไม่ได้มีผลกระทบในทางลบกับงานแต่อย่างใด หรืออาจต้องลองคุยกับหัวหน้าเพื่อหาแนวทางร่วมกันต่อไป

เมื่อวิทยาศาสตร์บอกเราว่า Multi-tasking ไม่ใช่สิ่งที่ส่งผลดีต่อการทำงานอีกต่อไป ครั้งหน้าที่ต้องเผชิญกับการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ให้ลองหยุด Multi-tasking แล้วพยายามโฟกัสงานใดงานหนึ่งไปทีละงานตามเคล็ดลับข้างต้น คุณอาจพบว่าตัวเองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เครียดน้อยลง และมีความสุขกับงานที่ทำมากกว่าเดิมก็เป็นได้

ต้องการเคล็ดลับการทำงานแบบสุขภาพดีและวิธีรับมือกับความเครียดจากการทำงาน หรือคำแนะนำเรื่องสุขภาพอื่นๆ เพิ่มเติม คลิกเลย

Reference