Categories
Uncategorized

Primary Care บริการสุขภาพใกล้บ้าน ดูแลเคียงข้างตั้งแต่ต้นจนจบ

    /    บทความ    /    Primary Care บริการสุขภาพใกล้บ้าน ดูแลเคียงข้างตั้งแต่ต้นจนจบ

Primary Care บริการสุขภาพใกล้บ้าน ดูแลเคียงข้างตั้งแต่ต้นจนจบ

Primary Care บริการสุขภาพใกล้บ้าน
ดูแลเคียงข้างตั้งแต่ต้นจนจบ

Primary Care คืออะไร สำคัญยังไง ระบบสุขภาพปฐมภูมิ​ในไทย หน้าตาเป็นอย่างไร​ กับทิศทาง​การเปลี่ยนแปลง​เพื่อระบบที่ดีขึ้น

Primary Care หรือ “การบริการปฐมภูมิ” เป็นคำที่หลายคนอาจฟังแล้วไม่เข้าใจ หรืออาจเข้าใจว่าหมายถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แต่แท้จริงแล้วในหลายประเทศ บริการสุขภาพแบบ Primary Care มีบทบาทสำคัญในฐานะบริการสุขภาพด่านแรกที่ทุกคนจะได้รับเมื่อมีความต้องการทางสุขภาพที่ไม่ฉุกเฉิน 

กล่าวได้ว่า Primary Care เป็นบริการหลักที่ช่วยดูแล รักษา และให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เปรียบเสมือนหมอประจำครอบครัวที่คุ้นเคยและรู้จักคนไข้ในแง่มุมรอบด้านไม่ว่าจะเป็นอาการหนักหรือเบา 

ทำความรู้จักกับระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ 

สถานบริการสุขภาพแต่ละแห่งนั้นจะมีการแบ่งขอบเขตของการบริการสุขภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งมีตั้งแต่การดูแลรักษาทั่วไปจนถึงการดูแลรักษาแบบเฉพาะทาง โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ 

การบริการปฐมภูมิ (Primary Care) คือ บริการสุขภาพที่ใกล้ชิดชุมชนที่สุดและควรเป็นบริการระดับแรกที่ผู้ป่วยนึกถึงเมื่อมีความเจ็บป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน หรือมีความกังวลใจไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจ

บุคลากรในระบบ Primary Care จึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคที่พบบ่อย สามารถให้การวินิจฉัยและดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของความเจ็บป่วย โดยประกอบด้วยหมอเวชศาสตร์ครอบครัว หมอเวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาล และทีมสหวิชาชีพ เช่น ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา เป็นต้น มักอยู่ในลักษณะคลินิกหรือศูนย์สุขภาพในชุมชนต่างๆ

Primary Care เน้นการดูแลแบบองค์รวมและดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคทั่วไป อาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน การติดตามดูแลอาการโรคเรื้อรัง การฟื้นฟูสุขภาพอย่างการทำกายภาพบำบัด โภชนบำบัด รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน การตรวจสุขภาพ และมีระบบการปรึกษาและส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งเป็นบริการสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ

การบริการทุติยภูมิ (Secondary Care) คือ บริการสุขภาพที่รองรับผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากคลินิกหรือศูนย์สุขภาพต่างๆ ในกรณีที่ต้องรับเข้าเป็นผู้ป่วยใน เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเฉพาะทางที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ

การบริการตติยภูมิ (Tertiary Care) บริการสุขภาพเฉพาะทางที่มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการตรวจรักษาอย่างครบถ้วน ซึ่งมักต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ สถาบันเฉพาะทางต่างๆ และโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ ผู้ป่วยอาจได้รับการส่งต่อมาจากหน่วยทุติยภูมิหรือหน่วยปฐมภูมิโดยตรงก็ได้ ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค

หลักการของบริการสุขภาพแบบ Primary Care

ระบบ Primary Care เป็นการดูแลสุขภาพตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว และการประยุกต์ความรู้ด้านการแพทย์ จิตวิทยา สังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยรวมมีหลักการทำงานที่เป็นหัวใจสำคัญ ดังต่อไปนี้ 

  • ดูแลรักษาทุกอาการในเบื้องต้น รวมถึงให้คำแนะนำในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ในฐานะบริการสุขภาพด่านแรกที่ใกล้ชิดชุมชนที่สุด 
  • เข้าถึงทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยอย่างเท่าเทียมกัน โดยประยุกต์เทคโนโลยีมาช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และให้คำปรึกษา  
  • ดูแลแบบองค์รวมโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มองเห็นทุกมิติที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย โดยผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการค้นหาแนวทางการดูแลส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การรักษาโรค นอกจากนี้ยังมองภาพรวมในระดับครอบครัวและชุมชนไปพร้อมกัน เช่น ความสัมพันธ์และปัญหาในครอบครัว วัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา เพื่อให้เข้าใจภาพรวมทั้งหมดที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
  • ดูแลต่อเนื่องในทุกด้านและตลอดเส้นทางสุขภาพ ตั้งแต่การให้ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในตอนที่ยังไม่เจ็บป่วย การตรวจสุขภาพ การพบความเสี่ยง การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพไม่ให้เสื่อมถดถอยหรือพิการ รวมถึงการให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพดีที่ยั่งยืน
  • มีระบบการปรึกษาและส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เหมาะสม ทำงานอย่างเชื่อมโยงกับระบบบริการทางการแพทย์ในระดับอื่นๆ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของ Primary Care ต่อระบบสุขภาพและระบบสาธารณสุขไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการแพทย์ไทยในปัจจุบันมีลักษณะพึ่งพาโรงพยาบาลเป็นหลัก เมื่อเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเบาหรือหนัก คนส่วนมากมักเลือกไปโรงพยาบาลไว้ก่อน ยิ่งโรงพยาบาลใหญ่ที่มีหมอเฉพาะทางหลากหลายด้านยิ่งดี ผลที่ตามมาก็คือปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล ต้องรอคิวนาน คุณภาพและความพึงพอใจต่อการบริการลดลงเนื่องจากความเร่งรีบและเวลาในการปรึกษาหมอที่สั้นลง 

ในความเป็นจริง หมอในระบบ Primary Care ซึ่งได้แก่ หมอเวชศาสตร์ครอบครัว และหมอเวชปฏิบัติทั่วไป เป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญไม่น้อยไปกว่าหมอเฉพาะทาง แต่เป็นความเชี่ยวชาญในลักษณะรอบด้าน สามารถให้การตรวจรักษาเบื้องต้นได้ทุกโรค

นอกจากนี้ยังมีทักษะในการเข้าถึงประชาชนและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่เป็นการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นดูแลที่คน ในทุกมิติที่ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ ไม่ใช่แค่อาการเจ็บป่วยทางกายและทางใจเท่านั้น 

ปัญหาสำคัญที่ควรต้องผลักดันและแก้ไขในปัจจุบัน คือยังไม่มีการปรับใช้ระบบดูแลสุขภาพที่เป็นฐานหลักอย่าง Primary Care ในวงกว้างเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนจำนวนมากขาดการได้รับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

ในขณะเดียวกัน หมอเฉพาะโรคในโรงพยาบาลก็กลายมาเป็นฐานหลักโดยไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเหล่านี้มีหน้าที่รับผู้ป่วยที่ส่งต่อจากหมอ Primary Care หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและต้องรับการรักษาอย่างฉุกเฉิน โดยเน้นดูแลรักษาแบบแยกส่วน ตามโรค ตามอวัยวะที่มีปัญหาเท่านั้น 

พรีโมแคร์ มุ่งมั่นสร้างรากฐานสุขภาพที่แข็งแรงไปพร้อมคนไทย

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก (PrimoCare Medical Clinic) มองเห็นความสำคัญและทิศทางของระบบสุขภาพไทยที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นรากฐานที่แข็งแรงตามหลักบริการปฐมภูมิ เราพร้อมเริ่มต้นก้าวแรกในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มอบการดูแลใส่ใจในทุกมิติของความเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมทางที่คุณสามารถไว้วางใจให้ดูแลสุขภาพในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งชีวิต โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันระบบบริการสุขภาพเพื่อคนไทยที่มั่นคงและยั่งยื

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Q&A ถามตอบเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    /    บทความ    /    Q&A ถามตอบเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

Q&A ถามตอบเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

Q&A ถามตอบเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใครควรฉีด คนท้องฉีดได้ไหม มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ฉีดตอนไหนดีที่สุด ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้นานแค่ไหน

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีอาการคล้ายโรคหวัดทั่วไป แต่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้มากกว่า โดยจากการคาดการณ์ของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีโรคไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึงประมาณ 2.9-6.5 แสนคนทั่วโลก ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงแนะนำให้ทุกคนรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากการติดเชื้อและช่วยลดความรุนแรงของโรค

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันได้แค่ไหน ควรฉีดเมื่อไหร่ ฉีดได้ทุกคนหรือไม่? พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ชวนคุณมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เตรียมพร้อมเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อสู้เชื้อไข้หวัดใหญ่ประจำปีนี้

Q: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร?

A: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำจากเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้แล้ว โดยจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เมื่อมีการสัมผัสเชื้อในอนาคต

Q: ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี?

A: ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ประกอบกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จึงต้องมีการอัปเดตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อปรับเปลี่ยนส่วนประกอบให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์ของปีนั้นๆ มากขึ้น แน่นอนว่ามีโอกาสที่คุณจะสัมผัสและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ส่วนประกอบหลักของวัคซีนได้ แต่การฉีดวัคซีนก็ยังจำเป็นและมีประโยชน์ในการช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อได้อยู่ดี

Q: ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?

A: ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ดังต่อไปนี้

  • หญิงตั้งครรภ์
  • เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรับเคมีบำบัด 
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กก. ขึ้นไป
  • บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย

กลุ่มเสี่ยงข้างต้นสามารถสอบถามกับทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อจองคิวนัดหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยจะเปิดจองในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปีทางช่องทางต่างๆ ได้แก่ หน่วยบริการสุขภาพประจำชุมชน สายด่วน 1330 (กด 1 และกด 8) กระเป๋าสุขภาพในแอปพลิเคชันกระเป๋าตัง หรือทางแอปพลิเคชัน LINE @UCBKK กรณีอาศัยอยู่ในกทม. หรือมีสิทธิบัตรทอง

Q: ใครที่ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?

A: บุคคลต่อไปนี้ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งหากคุณแม่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขณะตั้งครรภ์ เด็กก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้
  • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง

บุคคลต่อไปนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดวัคซีนทุกครั้ง

  • มีอาการแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่บางชนิดอาจทำมาจากไข่ไก่ 
  • มีประวัติเป็นโรค GBS (Guillain-Barré Syndrome)
  • มีไข้ รู้สึกไม่สบาย เจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือมีโรคประจำตัวที่อาการกำเริบหรือยังควบคุมไม่ได้ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
Q: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันได้แค่ไหน?

A: เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อที่ติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย การฉีดวัคซีนไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงที่อาจทำให้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิต ทั้งยังช่วยปกป้องคนรอบข้างจากการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนและผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

Q: ฉีดแล้วป้องกันได้ทันทีหรือไม่?

A: หลังจากฉีดวัคซีนแล้วยังต้องรอเวลาให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้โรคอย่างเต็มที่ ประมาณ 2 สัปดาห์ 

Q: ควรฉีดเมื่อไหร่?

A: สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดปี แต่ถ้าจะให้ดีควรฉีดก่อนช่วงที่เริ่มมีการระบาด คือ ช่วงก่อนฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม และก่อนฤดูหนาวในเดือนตุลาคม

Q: ฉีดวัคซีน 2 ครั้งในปีเดียวกัน ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้หรือไม่?

A: การฉีดวัคซีนก่อนฤดูแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้งนั้นเพียงพอแล้ว และจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่พบว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากกว่าปีละ 1 ครั้งในช่วงการแพร่ระบาดเดียวกันจะช่วยป้องกันได้มากกว่าเดิม เว้นแต่เป็นการฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นปีแรกเท่านั้น ซึ่งจะแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะเข็มที่ 2 จากเข็มแรก 4 สัปดาห์

Q: ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมีอะไรบ้าง?

A: วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดบริเวณรอบๆ ที่ฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน 

เพื่อลดอาการปวดแนะนำให้หมั่นขยับและเคลื่อนไหวแขนตามปกติ หากมีอาการปวดมากสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง

Q: สังเกตอาการแพ้วัคซีนอย่างไร?

A: อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) จากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นพบได้น้อยมาก ส่วนมากหลังฉีดวัคซีนแพทย์หรือพยาบาลจะแนะนำให้นั่งรอสังเกตอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที หากมีสัญญาณของการแพ้ ได้แก่ อาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลำคอ มีผื่นลมพิษขึ้นตามตัว หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

Q: การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่?

A: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำจากไวรัสที่ตายแล้ว ซึ่งไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด โดยอาการไข้อ่อนๆ หรืออาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนเป็นสัญญาณทั่วไปที่บ่งบอกว่าร่างกายของคุณกำลังสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้โรคนั่นเอง

Q: ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?

A: โรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรควิด-19 ได้ และมีความเป็นไปได้ที่คุณจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และเชื้อโควิด-19 พร้อมกัน ซึ่งมีแนวโน้มทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันไว้จึงเป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ยังถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของระบบสุขภาพ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และจำนวนเตียงในโรงพยาบาล ที่ในขณะนี้ต้องแบ่งมาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นจำนวนมากอีกด้วย 

Q: ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม?

A: ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดพร้อมกัน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่าควรเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ โดยหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้ว ควรรออย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือหากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน ก็ควรรออย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 

โรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไปพร้อมกัน ยิ่งฝนตก อากาศชื้นแบบนี้ ยิ่งวางใจไม่ได้

อุ่นใจไว้ก่อน ปกป้องตัวคุณเองและคนที่คุณรักจากไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่วันนี้ สอบถามและนัดหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีกับทีมแพทย์ของเราได้เลยที่นี่ 

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

13 ท่าบริหาร ออฟฟิศซินโดรม ทำง่าย ระหว่าง Work from home

    /    บทความ    /    13 ท่าบริหาร ออฟฟิศซินโดรม ทำง่าย ระหว่าง Work from home

13 ท่าบริหาร ออฟฟิศซินโดรม ทำง่าย ระหว่าง Work from home

13 ท่าบริหาร ออฟฟิศซินโดรม
ทำง่าย ระหว่าง Work from home

พิชิตออฟฟิศซินโดรมในช่วง Work from home ด้วยท่าบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อง่ายๆ ที่บ้าน พร้อมวิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรมแบบตรงจุด

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นโรคที่พบมากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่มักจะนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อตึงหรือเกร็งจนเกิดอาการปวดเมื่อยตามคอ ไหล่ สะบัก หลัง และอาจลามไปถึงแขน ข้อมือ นิ้วมือ ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ต้อง Work from home แบบนี้ หากไม่ดูแลตัวเองให้ดีและนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ประสบปัญหาออฟฟิศซินโดรมได้ แม้จะไม่ได้นั่งทำงานในออฟฟิศก็ตาม

สำหรับใครที่มีอาการปวดเมื่อยหรือล้าจากการนั่งนานหรือใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมซ้ำๆ วันนี้คุณหมอที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิกของเรามีท่าบริหารกล้ามเนื้อแก้ออฟฟิศซินโดรมที่ทำได้ด้วยตนเองง่ายๆ ใช้เวลาไม่มาก มาให้ลองทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การทำงานในแต่ละวันของคุณมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ท่าบริหารแก้อาการออฟฟิศซินโดรม ป้องกันภาวะเรื้อรัง
ท่าที่ 1 ยืดกล้ามเนื้อแขนและข้อมือ

นั่งในท่าที่สบายและผ่อนคลาย ยืดหลังตรง ประสานมือเข้าด้วยกัน ยืดแขนออกไปข้างหน้าให้สุด โดยหันฝ่ามือออกนอกตัว ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที แล้วจึงค่อยยกแขนชูขึ้นจนสุด ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำเช่นนี้สลับกัน 3-5 ครั้ง หรือจนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลาย

ท่าที่ 2 บริหารแขนและนิ้วมือ

กำมือ แบมือ สลับกันไปมา 5 วินาที แล้วยืดแขนตรง แบมือ แล้วพลิกข้อมือคว่ำและหงาย สลับไปมา 5 วินาที ทำเช่นนี้สลับกันไปมา

ท่าที่ 3 บริหารมือ 

เหยียดแขนทั้งสองไปข้างหน้า ใช้มือซ้ายจับฝ่ามือขวา แล้วดัดข้อมือขวาเข้าหาตัว จนรู้สึกตึงบริเวณด้านในของข้อศอกขวา ทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วจึงสลับข้างด้วยการเหยียดแขนทั้งสองไปข้างหน้า ใช้มือขวาจับฝ่ามือซ้าย แล้วดัดข้อมือซ้ายเข้าหาตัว จนรู้สึกตึงบริเวณด้านในของข้อศอกซ้าย ทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที

ท่าที่ 4 ยืดกล้ามเนื้อคอ

ยกแขนขวาขึ้น พับข้อศอกนำฝ่ามือไปแนบที่ใบหูและด้านข้างของศีรษะด้านซ้าย ดันศีรษะไปด้านขวาช้า ๆ จนรู้สึกตึงที่ต้นคอ ทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ก่อนที่จะสลับไปทำอีกข้าง

ท่าที่ 5 ยืดกล้ามเนื้อสะบักและต้นแขนด้านหลัง

ยกแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะ งอแขนขวาลง ให้ฝ่ามือแตะบริเวณต้นคอด้านหลัง ยกมือซ้ายไปจับบริเวณข้อศอกของแขนขวาโดยทำมุม 90 องศา จากนั้นรั้งข้อศอกแขนซ้ายกับข้อศอกแขนขวาให้ตึง ทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ก่อนที่จะสลับไปทำอีกข้าง

ท่าที่ 6 ยืดกล้ามเนื้อไหล่

นั่งหลังตรง ยืดแขนขวาตรง พับแขนข้างขวามาชิดไหล่ด้านซ้าย งอข้อศอกซ้ายล็อคบริเวณข้อศอกขวาไว้ หันศีรษะไปทางด้านขวา ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาที แล้วค่อยปล่อยแขนลงตามสบาย ทำเช่นนี้สลับกันทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 5 ครั้ง

ท่าที่ 7 บริหารกล้ามเนื้อไหล่ 

นั่งหลังตรง ยกไหล่ทั้งสองข้างขึ้นไปจนสุด แล้วเกร็งค้างไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วจึงกดไหล่ทั้งสองข้างลงไปให้สุด เกร็งค้างไว้ ประมาณ 10 วินาที

ท่าที่ 8 ยืดกล้ามเนื้อหลัง

ทิ้งแขนทั้งสองลงแนบลำตัว เอนตัวไปทางซ้าย ยืดแขนซ้ายลงไปแตะใกล้พื้นมากที่สุด ทำค้างไว้ 10 วินาที แล้วสลับไปทำอีกข้าง ด้วยการเอนตัวไปทางขวา ยืดแขนขวาลงไปแตะใกล้พื้นมากที่สุด ทำค้างไว้ 10 วินาที ทำสลับไปมาทั้งสองข้าง

ท่าที่ 9 บริหารกล้ามเนื้อด้านหลัง

นั่งหลังตรง โอบแขนทั้งสองข้างกอดตัวเองให้แน่นที่สุด ขยับมือแตะหลังตัวเองให้ได้มากที่สุด ค้างท่านี้เอาไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยคลาย ทำแบบนี้ซ้ำประมาณ 3-4 ครั้ง

ท่าที่ 10 บริหารกล้ามเนื้อหน้าอก 

ลุกขึ้นยืน ประสานมือไว้ด้านหลัง แล้วค่อย ๆ ยกแขนขึ้นจนถึงระดับที่รู้สึกว่าตึง ค้างท่านี้เอาไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยคลาย ทำแบบนี้ซ้ำประมาณ 3-4 ครั้ง

ท่าที่ 11 บริหารบริเวณสะโพก 

นั่งหลังตรง ยกเท้าข้างซ้ายขึ้นมาวางทับบนเข่าขวา จากนั้นเอนตัวมาด้านหน้า จนรู้สึกตึงบริเวณต้นขาด้านซ้าย ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วจึงสลับมาบริหารอีกข้างแบบเดียวกัน

ท่าที่ 12 บริหารกล้ามเนื้อลำตัวด้านข้าง 

ลุกขึ้นยืน ประกบมือเป็นท่าพนมมือ แล้วยืดมือขึ้นบนสุด เอนตัวไปทางด้านซ้ายจนรู้สึกตึงบริเวณด้านข้างลำตัว ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที จากนั้นเอนตัวมาด้านขวา ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที  

ท่าที่ 13 บริหารขา

ลุกขึ้นยืน ไขว้ขาซ้ายไว้ข้างหน้าขาขวา แล้วค่อยๆ ก้มนำมือไปแตะที่หน้าขา ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที แล้วจึงสลับมาบริหารอีกข้างด้วยการไขว้ขาขวาไว้ข้างหน้าขาซ้าย แล้วค่อยๆ ก้มนำมือไปแตะที่หน้าขา ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที

ออฟฟิศซินโดรม ป้องกันได้ แค่ปรับพฤติกรรม

หลายคนอาจคิดว่าการนั่งทำงานบนเตียงหรือบนโซฟานุ่มๆ อยู่ที่บ้านเป็นท่าที่สบาย คงไม่ปวดเมื่อยเหมือนการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ในออฟฟิศ แต่หารู้ไม่ว่าหากนั่งไม่ถูกท่า หรือมีพฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม จะนั่งทำงานที่ไหนก็เสี่ยงมีอาการออฟฟิศซินโดรมได้ทั้งนั้น

ดังนั้น นอกจากการหมั่นคลายกล้ามเนื้อด้วยท่าบริหารกล้ามเนื้อดังข้างต้นแล้ว ควรป้องกันและบรรเทาอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยการปรับเปลี่ยนท่านั่งและพฤติกรรมตามคำแนะนำต่อไปนี้ด้วย

  • นั่งทำงานในท่าที่เหมาะสม โดยควรนั่งโดยวางคอมพิวเตอร์ไว้บนโต๊ะ ปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสรีระ ให้เข่าอยู่ในระดับเดียวกับสะโพก แขนและข้อศอกงอทำมุมตั้งฉากกัน ข้อมือและแขนอยู่ในระนาบเดียวกัน ใช้ที่รองเท้าหากเท้าไม่ติดพื้น เวลานั่งควรแนบหลังไปกับพนักพิง
  • ตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ให้คออยู่ในท่าธรรมชาติ ไม่ก้มหรือเงยมากเกินไป และมีในระยะสายตาที่เหมาะสม
  • พยายามอย่าเผลอเกร็งกล้ามเนื้อส่วนไหนเป็นเวลานาน หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ ขยับร่างกายเมื่อเมื่อยล้า หรือลุกขึ้นเดินไปมาอย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานานจนเกินไป
  • ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ รวมถึงการยืดคลายกล้ามเนื้อตามท่าบริหารเบื้องต้น
  • หมั่นผ่อนคลายจากความเครียด ไม่ควรเคร่งเครียดกับการทำงานมากจนเกินไป

โรคออฟฟิศซินโดรม ป้องกันและบำบัดได้ด้วยตนเอง เพียงหมั่นบริหารร่างกายคลายกล้ามเนื้อตามขั้นตอนเหล่านี้เป็นประจำ คุณก็จะทำงานได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องกังวลกับอาการปวดเมื่อยที่แสนทรมานและน่ารำคาญใจจากโรคนี้ 

หากกังวลใจกับอาการปวดเมื่อยจากออฟฟิศซินโดรม ลองเข้ามารับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก โดยสามารถจองนัดล่วงหน้าได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง