ข้อมูลการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดการกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์อินเดีย อังกฤษ แอฟริกาใต้ กำลังเป็นที่ตื่นตกใจในสังคม ซึ่งแม้จะคาดการณ์ว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ส่งผลให้เกิดโรคที่รุนแรงแบบฉับพลันทันที แต่ถึงอย่างนั้นในทางวิทยาศาสตร์ก็ยังมีเรื่องต้องศึกษาอีกมากมายเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้
มาดูกันว่าปัจจุบันเรามีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยตอนนี้มากแค่ไหน แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร จะส่งผลต่อความรุนแรงของโรค การรักษา และประสิทธิภาพของวัคซีนหรือไม่
ไวรัสทุกชนิดอยู่รอดด้วยการอาศัยอยู่ในโฮสต์และเพิ่มจำนวนโดยการคัดลอกรหัสพันธุกรรม ซึ่งในขั้นตอนการคัดลอกนี้เองที่อาจเกิดข้อผิดพลาด ทำให้บางส่วนของรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไปและกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในที่สุด
การกลายพันธุ์ในขั้นตอนการคัดลอกตัวเองของไวรัสนั้นเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแกร่งพอจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้น แต่ก็มีการกลายพันธุ์ในบางลักษณะที่ทำให้ไวรัสแพร่กระจายเร็วขึ้น ติดต่อกันง่ายขึ้น หรือมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม และกลายมาเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหนักแทนในที่สุด
เชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล หมายถึง สายพันธุ์ที่พบว่ามีอัตราการแพร่กระจายสูงขึ้น มีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเดิม หรือต่อต้านภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาและการป้องกันของวัคซีนลดน้อยลง
เชื้อโควิด 4 สายพันธุ์หลักที่ทั่วโลกวิตกกังวล และพบการแพร่ระบาดในประเทศไทย ได้แก่
สายพันธุ์อังกฤษ หรืออัลฟ่า (Alpha: B.1.1.7) พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ สามารถแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงและการเสียชีวิตมากขึ้น
สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือเบต้า (Beta: B.1.351) พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ แพร่ระบาดง่ายขึ้น และสามารถต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือการติดเชื้อในครั้งก่อนได้มากขึ้น ส่งผลให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง
สายพันธุ์บราซิล หรือแกมม่า (Gamma: P.1) พบครั้งแรกในประเทศบราซิล สามารถต้านทานภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งก่อนได้ ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง
สายพันธุ์อินเดีย หรือเดลต้า (Delta: B.1.617.2) พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย แพร่กระจายได้ง่าย และคาดว่าอาจต่อต้านภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดพบสายพันธุ์ย่อย เดลต้าพลัส (Delta Plus) ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในโปรตีนหนามของไวรัสที่ชื่อ K417N ที่พบเช่นเดียวกันในสายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นลักษณะการกลายพันธุ์ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่าน่าวิตกกังวลเพราะจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายและติดต่อได้มากขึ้นถึง 60%
เนื่องจากการพัฒนาวัคซีนมีขึ้นก่อนจะเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงทำให้วัคซีนโควิด-19 ที่มีในขณะนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาก็พบว่าวัคซีนบางชนิดยังคงป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ดี แม้จะมีประสิทธิภาพลดลงไปบ้างเล็กน้อยหรือทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงเร็วขึ้น เช่น Pfizer และ Moderna
ด้านวัคซีน Astrazeneca ป้องกันสายพันธุ์อังกฤษได้เท่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และมีแนวโน้มป้องกันสายพันธุ์อื่นๆ ได้ ยกเว้นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่มีประสิทธิภาพลดลงพอสมควร แต่คาดว่ายังคงป้องกันอาการรุนแรงได้ ส่วนวัคซีน Sinovac นั้นพบว่าอาจป้องกันสายพันธุ์บราซิลและแอฟริกาใต้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งมีแนวโน้มมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อินเดียลดน้อยลง
ทั้งนี้ทางผู้ผลิตวัคซีนหลายรายต่างก็กำลังเร่งผลิตวัคซีนสำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster shot) และปรับปรุงวัคซีนที่มีอยู่ให้สามารถต่อกรกับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น
วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับสายพันธุ์กลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ คือการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดในระยะเวลาที่รวดเร็ว และยังจำเป็นต้องระมัดระวังโดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และล้างมือเสมอแม้จะได้รีบวัคซีนครบแล้วก็ตาม
พรีโมแคร์ ดูแลคุณด้วยหัวใจ ในทุกเรื่องสุขภาพ ต้องการปรึกษาแพทย์หรือสนใจรับบริการสุขภาพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางแอปพลิเคชัน Line @primoCare
ให้พรีโมเเคร์ เมดิคอล ดูเเลทุกองค์ประกอบสุขภาพของคุณ ทั้งด้านรักษา ป้องกัน เเละส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้คุณมีสุขภาพเเข็งเเรงเเบบยั่งยืน
1 ซอยกรุงเทพกรีฑา 4 (บี.กริม) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 ประเทศไทย
โทร: +66 2038 5595
LINE ID: @primocare
อีเมล: [email protected]
©2022 PrimoCare Medical Limited. All rights reserved.