Categories
Uncategorized

เครียดเรื่องงานเกินไปไหม? ถึงเวลาเช็กตัวเอง พร้อมวิธีแก้เครียด

    /    บทความ    /    เครียดเรื่องงานเกินไปไหม? ถึงเวลาเช็กตัวเอง พร้อมวิธีแก้เครียด

เครียดเรื่องงานเกินไปไหม? ถึงเวลาเช็กตัวเอง พร้อมวิธีแก้เครียด

เครียดเรื่องงานเกินไปไหม?
ถึงเวลาเช็กตัวเอง พร้อมวิธีแก้เครียด

ค้นหาสัญญาณความเครียดเรื่องงานที่ร่างกายกำลังบอกเรา เรียนรู้วิธีแก้เครียด พร้อมฝึกรับมือกับความเครียดจากการทำงานในทุกๆ วัน

เหล่าวัยทำงานแทบทุกคนต่างเคยเผชิญกับความเครียดเรื่องงานกันมาบ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป ความเครียดนิดหน่อยอาจทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและมีสมาธิจดจ่อกับงานมากขึ้น หรือสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงานได้ดี ทว่าเมื่อไรที่ความเครียดเริ่มก่อตัวสะสมเรื้อรังจนรู้สึกเหนื่อยล้าและกังวลกับงานตลอดเวลา นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสุขภาพกายและใจของเรากำลังได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจลุกลามไปถึงประสิทธิภาพในการทำงาน และความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างได้

ความเครียดส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร?

การเผชิญความเครียดในระยะสั้นๆ เช่น กำหนดส่งงานที่กระชั้นชิด หรือความผิดพลาดในงานที่ต้องแก้ไข จะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายที่เรียกว่า “การตอบสนองโดยสู้หรือหนี” ซึ่งจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ขึ้น และกล้ามเนื้อตึงเครียด 

กลไกที่ว่านี้เป็นกลไกทางธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนมีไว้เพื่อปกป้องตนเองจากอันตรายต่างๆ ด้วยความกลัวว่าหากทำงานไม่เสร็จ ทำงานไม่ดี จะถูกตำหนิหรือถึงขั้นถูกไล่ออก ทำให้เราตื่นตัวและต้องการทำงานนั้นให้สำเร็จแม้จะต้องทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่นก็ตาม แต่เมื่อเราต้องเผชิญความเครียดติดต่อกันทุกวัน แทนที่จะส่งผลดี ความเครียดที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกวันๆ นี้ก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม 

  • ทางร่างกาย 
    • ปวดหัว ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ 
    • เหนื่อยล้า มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน 
    • แรงขับทางเพศลดน้อยลง
  • ทางอารมณ์ 
    • หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน 
    • รู้สึกหดหู่ วิตกกังวล 
    • ไม่มีสมาธิ หมดความกระตือรือร้นในการทำงาน 
  • ทางพฤติกรรม 
    • มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ อาจกินมากขึ้นหรือน้อยลง 
    • แยกตัวจากสังคม ไม่อยากพบปะเพื่อนฝูง 
    • มีพฤติกรรมหันไปพึ่งแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือสารเสพติดอื่นๆ

ภาวะความเครียดที่เรื้อรังและการเผชิญกับอาการข้างต้นเป็นเวลานานยังอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรควิตกกังวล ซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคทางระบบเผาผลาญ รวมถึงภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อไวรัสหวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟ ซึ่งจะมีความเหนื่อยล้าทางกายและทางใจ หดหู่ ไร้กำลังใจในการทำงาน และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง 

เทคนิคการรับมือความเครียดเรื่องงาน 

  • เริ่มต้นวันดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ลองตื่นให้เช้าขึ้นเพื่อเผื่อเวลาเตรียมตัวก่อนทำงาน เพราะการตื่นสายจนต้องเร่งรีบในตอนเช้า บวกกับการจราจรที่ติดขัด และปัญหาจุกจิกอีกมากมายนั้นอาจเป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกหงุดหงิดตั้งแต่เช้า และส่งผลต่ออารมณ์ในวันนั้นไปทั้งวัน 
  • กำหนดความรับผิดชอบของตัวเองให้ชัดเจน อย่ารอให้เกิดความเครียดสะสมจากการทำงานที่นอกเหนือจากหน้าที่มากเกินไป หากไม่แน่ใจในขอบเขตงานของตัวเอง ควรพูดคุยกับหัวหน้าให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น และเมื่อมีปัญหาในการทำงานก็อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ
  • จัดระเบียบการทำงานในแต่ละวัน สำหรับคนที่ชอบทำงานแบบไม่ต้องมีกฎเกณฑ์หรือวางแผนมากนัก จนบางครั้งความไม่เป็นระบบระเบียบก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ลองแก้ด้วยการเริ่มวางแผนการทำงานแต่ละวันคร่าวๆ เพื่อให้มีงานส่งตรงเวลา ไม่ต้องเร่งรีบในนาทีสุดท้ายหรือทำงานล่วงเวลา ซึ่งในระยะยาวจะกลายเป็นความเครียดสะสมเรื้อรังได้
  • ตั้งเป้าหมายบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง แบ่งงานที่สามารถทำในแต่ละวันโดยไม่เกินความสามารถ การคิดว่าจะทำทุกอย่างให้เสร็จในวันเดียวนั้นอาจเป็นการกดดันตัวเองมากเกินไป และไม่ควรยึดติดกับการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เพราะการพยายามจะโฟกัสทุกอย่างนั้น ที่จริงแล้วอาจหมายถึงการไม่สามารถโฟกัสอะไรสักอย่างได้ดีพอเลยก็ได้
  • อย่ายึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินพอดี การพยายามทำงานอย่างดีที่สุดเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องไม่เคร่งเครียดหรือตึงเกินไปจนไม่มีช่องว่างสำหรับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง ควรหมั่นชื่นชมตัวเองที่ได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว
  • หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาความไม่ลงรอยเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความรู้สึกในการทำงานได้ เมื่อต่างคนต่างนิสัย การกระทบกระทั่งกันจึงเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ซึ่งถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงไว้เป็นดีที่สุด หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรพูดคุยหรือถกเถียงกันอย่างใจเย็นและยึดตามหลักเหตุผล
  • จัดสภาพแวดล้อมให้น่าทำงาน สภาพการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยหรือเก้าอี้ที่นั่งไม่สบายอาจทำให้รู้สึกไม่อยากทำงานและเกิดความเครียดตามมา ลองจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เป็นระเบียบ หาเก้าอี้ที่นั่งสบาย และตกแต่งโต๊ะทำงานให้สวยงาม เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายในการทำงานมากขึ้น
  • หาจังหวะคลายเครียดระหว่างวัน พยายามลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายทุกๆ ชั่วโมง เพื่อคลายความล้าจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ป้องกันออฟฟิศซินโดรม และหมั่นออกไปสูดอากาศภายนอกในช่วงพักเที่ยงหรือช่วงบ่ายเพื่อให้ร่างกายและสมองตื่นตัวมากขึ้น
  • ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายรับมือสถานการณ์ความเครียด เช่น เทคนิคการหายใจเข้าออกช้าๆ และการทำท่าบริหารเหยียดคลายกล้ามเนื้อส่วนที่เกิดการเกร็งจากความเครียดจากการทำงาน

อีกหนึ่งวิธีในการจัดการกับความเครียดที่สำคัญไม่แพ้วิธีอื่นๆ ก็คือการพูดคุยปรึกษาคนรอบข้างเพื่อระบายความเครียดและความทุกข์ใจ หากเก็บทุกอย่างไว้คนเดียว ความเครียดก็จะไม่ได้รับการปลดปล่อยและมีแต่จะทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลง

สำหรับใครที่มีอาการของภาวะเครียดที่รู้สึกว่าไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ หรือต้องการพูดคุยกับใครสักคนที่พร้อมรับฟัง คุณสามารถทำแบบประเมินความเครียดและรับความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้ทุกเมื่อ หากสนใจสามารถคลิกดูบริการและจองคิวออนไลน์ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

จิตแพทย์ กับ นักจิตวิทยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

    /    บทความ    /    จิตแพทย์ กับ นักจิตวิทยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์ VS นักจิตวิทยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์ VS นักจิตวิทยา
เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

นักจิตวิทยา กับ จิตแพทย์ ทำงานต่างกันอย่างไร? หาคำตอบว่าใครที่เหมาะจะช่วยแนะนำวิธีจัดการกับปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ของคุณที่สุด

เมื่อมีเรื่องให้เครียดหรือกังวลใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในครอบครัว ความเครียดจากการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้าง เรามักมองหาคนใกล้ตัวที่จะคอยรับฟังเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ลงไปบ้าง แต่บางครั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็ท่วมท้นเกินกว่าจะจัดการด้วยตัวเองได้ หรือมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายใจที่จะระบายกับคนใกล้ตัว การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจึงดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตนั้นมีหลากหลายสาขาและมีชื่อเรียกที่คล้ายกันจนทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตวิทยาบำบัด หรือนักจิตวิทยาการปรึกษา โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญสาขาหลักอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นดูจะเป็นเรื่องที่มีความคลุมเครืออยู่มาก วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เลยจะพาไปรู้จักกับทั้งสองวิชาชีพนี้ให้ชัดขึ้น ว่าทำงานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร พร้อมทั้งคำแนะนำเบื้องต้นในขั้นตอนการเริ่มปรึกษา

จิตแพทย์ และ นักจิตวิทยา ทำงานต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์และนักจิตวิทยาต่างก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสมอง รวมถึงการเกิดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกต่างๆ และมีทักษะการรักษาทางจิตวิทยาด้วยการพูดคุย เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจในความคิดและพฤติกรรมของตนเอง นอกจากนี้เป้าหมายของทั้งคู่คือการช่วยให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยดีขึ้น 

สิ่งที่แยกนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ออกจากกัน มีดังต่อไปนี้

การศึกษาและความเชี่ยวชาญ

  • จิตแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางแขนงหนึ่ง เส้นทางการเป็นจิตแพทย์จึงต้องเริ่มจากการเรียนแพทย์ทั่วไปในคณะแพทยศาสตร์ 6 ปี และต่อแพทย์เฉพาะทางในภาควิชาจิตเวชศาสตร์อีก 3 ปี ใช้เวลาทั้งหมดอย่างน้อย 9 ปี มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคทางจิต รวมถึงความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม โดยในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตจะพิจารณาความผิดปกติจากปัจจัยทางด้านประสาทและสมอง พันธุกรรม รวมถึงโรคอื่นๆ ร่วมด้วย
  • นักจิตวิทยา ไม่ใช่แพทย์ แต่จบจากคณะต่างๆ เช่น จิตวิทยา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ในหลักสูตรสาขาจิตวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ กระบวนความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจัยแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ใช้เวลาเรียน 4 ปีในระดับปริญญาตรี และหากต้องการเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชจะต้องต่อหลักสูตรอบรม 6 เดือนเพื่อสอบใบประกอบโรคศิลป์สาขาจิตวิทยาคลินิก

วิธีการรักษา

  • จิตแพทย์ สามารถตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตต่างๆ และให้การรักษาที่ครอบคลุมมากกว่านักจิตวิทยา โดยจะเน้นรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด ซึ่งบางครั้งในส่วนของการทำจิตบำบัดจะส่งต่อไปให้นักจิตวิทยาเป็นผู้ดูแล นอกจากนี้จิตแพทย์ยังอาจใช้การรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า รวมทั้งมีหน้าที่ในการตรวจสุขภาพกายและประเมินประสิทธิภาพของยาที่ผู้ป่วยใช้ 
  • นักจิตวิทยา ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ แต่สามารถใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อประกอบการวางแผนการบำบัดทางจิต การรักษาของนักจิตวิทยาจะเน้นวิธีการบำบัดทางจิต ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมโดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นหลัก เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและร่วมหาแนวทางการแก้ไข รวมถึงให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความคิดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือคาดว่าการใช้ยาอาจช่วยได้ นักจิตวิทยาจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังจิตแพทย์ พร้อมผลการประเมินสภาพจิตเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม 

โรคที่ให้การรักษา

  • จิตแพทย์ จะเน้นรักษาโรคที่ต้องใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน ทั้งการใช้ยา การบำบัดทางจิต และการใช้จิตสังคมบำบัด โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ผู้ป่วยที่มีโรคที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น โรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลชนิดรุนแรง โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท ภาวะออทิสติก มักต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ รวมไปถึงกรณีที่มีพฤติกรรมทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง
  • นักจิตวิทยา มักดูแลปัญหาทางสภาวะจิตใจที่สามารถรักษาได้ด้วยการทำจิตบำบัด ปัญหาทั่วไปที่หลายคนพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่ไม่สามารถหาทางออกด้วยตัวเอง หรือไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ล้วนแล้วแต่ปรึกษานักจิตวิทยาได้ เช่น ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน ภาวะหมดไฟ ในการทำงาน (Burnout) ความวิตกกังวลต่อเรื่องต่างๆ ที่รู้สึกว่ามีมากเกินไป และปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อน หรือคนในที่ทำงาน รวมไปถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลที่ยังไม่รุนแรง ปัญหาอื่นๆ ในด้านพฤติกรรม การเรียนรู้ และการปรับตัวเข้ากับสังคม 

เริ่มต้นพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างไรดี?

การเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและการรักษาที่เหมาะสมกับภาวะทางจิตที่กำลังเผชิญไม่ต่างจากการหาหมอให้ถูกโรค เบื้องต้นแนะนำให้โทรสอบถามสถานพยาบาลและอาจอธิบายสาเหตุที่อยากขอคำปรึกษาเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมว่าควรพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ในการพบกันครั้งแรก จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะพูดคุยถึงสาเหตุที่คุณคิดว่าตนเองต้องการรับการบำบัด และสอบถามว่ามีอาการอย่างไร รู้สึกอย่างไร เป็นมานานแค่ไหน หลังจากนั้นจะเริ่มพูดคุยในเรื่องต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจผู้ป่วยให้มากขึ้น เช่น ครอบครัว การทำงาน งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่ชอบทำ และอาจมีการทำแบบประเมินสุขภาพจิตร่วมด้วย เมื่อรู้จักกันมากขึ้นแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นการวางแผนการรักษาและเปิดโอกาสให้ถามคำถามที่คุณยังสงสัยหรือข้องใจเกี่ยวกับการรักษา 

คุณอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะคุ้นเคยกับการบำบัดจิตกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา หากผ่านไป 2-3 สัปดาห์แล้วยังรู้สึกว่าการรักษาไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ควรบอกให้ผู้ที่ให้การรักษาทราบเพื่อปรับวิธีการบำบัดให้เหมาะกับตัวเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการรักษา ไม่ควรฝืนทำต่อไปโดยที่รู้สึกไม่ใช่ เพราะนั่นเท่ากับผิดวัตถุประสงค์การรักษาของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ที่ต้องการช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ป่วยและส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดี

สุขภาพใจมีความสำคัญและต้องการการดูแลไม่ต่างจากสุขภาพกาย หมั่นสังเกตอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของตัวเอง ถ้าไม่ไหวก็ไม่ต้องฝืน ให้พรีโมแคร์ช่วยรับฟังและหาทางรับมือปัญหา นัดหมายปรึกษานักจิตวิทยาของเราได้ที่ LINE @primoCare หรือคลิกดูบริการเพิ่มเติมที่นี่

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

กายภาพบำบัด กับ นวดแผนไทย ต่างกันอย่างไร? เลือกรักษาแบบไหนดี?

    /    บทความ    /    กายภาพบำบัด กับ นวดแผนไทย ต่างกันอย่างไร? เลือกรักษาแบบไหนดี?

กายภาพบำบัด VS นวดแผนไทย ต่างกันอย่างไร อาการแบบนี้รักษาแบบไหนดี?

กายภาพบำบัด กับ นวดแผนไทย
ต่างกันอย่างไร? เลือกรักษาแบบไหนดี?

กายภาพบำบัด หรือ นวดแผนไทย อาการแบบนี้ถ้าจะให้ดีควรเลือกอย่างไหน? นักกายภาพบำบัดกับหมอนวดต่างกันยังไง? เช็กให้รู้ เลือกการรักษาที่ใช่

การกายภาพบำบัดและการนวดแผนไทย ต่างเป็นศาสตร์แห่งการฟื้นฟูร่างกายที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ โดยการทำกายภาพบำบัดนั้นจัดเป็นการรักษาทางการแพทย์ ส่วนการนวดบำบัดทั่วไปจะอยู่ในหมวดแพทย์ทางเลือก ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็ยังเป็นที่สับสนกันมากว่าการนวดแผนไทยและการทำกายภาพบำบัดนั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร บทความนี้เราจะมาดูกันชัดๆ ว่าอาการแบบไหนควรรักษาอย่างไรถึงจะดีที่สุด 

อาการแบบนี้ นวดแผนไทยช่วยได้

การนวดบำบัดทั่วไปและการนวดแผนไทย มีจุดประสงค์ในการช่วยคลายกล้ามเนื้อ โดยอาจใช้เทคนิคการนวดคลึง การกดเน้นตามจุด และการเหยียดยืดกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดเมื่อยและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้รู้สึกดีขึ้นในขณะที่เคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตในด้านการลดความเครียดและความวิตกกังวลได้อีกด้วย

ในกรณีต่อไปนี้ การนวดบำบัดทั่วไปถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์

  • มีอาการตึงหรือปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย
  • มีอาการปวดเมื่อยที่ไม่เรื้อรังจากการทำงานหรือกิจวัตรประจำวันอื่นๆ 
  • ต้องการผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวล
  • ต้องการฟื้นฟูร่างกายหลังจากออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา

อาการแบบนี้ ควรกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด มีจุดประสงค์เพื่อทำการรักษาอาการบาดเจ็บ รวมถึงความเจ็บป่วยรุนแรงหรือเรื้อรัง โดยเป็นหน้าที่ของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดในการตรวจร่างกาย วินิจฉัย และออกแบบการรักษาตามอาการและสาเหตุการเจ็บป่วย

สำหรับกรณีต่อไปนี้ การรักษาด้วยกายภาพบำบัดจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่าการนวดบำบัดทั่วไป

  • มีอาการปวดเรื้อรังหรือปวดรุนแรงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลต่อการทำงานและการทำกิจกรรมต่างๆ 
  • มีอาการที่เคยรักษาด้วยการนวดบำบัดมาก่อน แต่อาการไม่ดีขึ้นหรือยังคงเป็นอย่างต่อเนื่อง
  • มีอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา เช่น ข้อเท้าพลิก แล้วต้องการตรวจประเมินและรับคำแนะนำในการรักษา รวมถึงวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง 
  • ได้รับคำแนะนำส่งต่อจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอื่นๆ ให้รับการรักษาโดยทำกายภาพบำบัด

หลายครั้งที่เรามักละเลยการพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพราะคิดว่าอาการจะดีขึ้นเองในไม่ช้า แต่กลายเป็นว่าอาการกลับยิ่งเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นตามคำแนะนำที่ถูกต้อง เราควรรับการตรวจรักษาทันทีที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการปวดตามร่างกายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

การทำงานของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด

ในการรักษาทางกายภาพบำบัด เราจะพบกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของร่างกาย รวมถึงทางด้านระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่สามารถส่งผลถึงระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะทำหน้าที่ตรวจประเมิน วินิจฉัย และรักษา ไปจนถึงการตรวจรักษาสุขภาพโดยรวมและโรคประจำตัวอื่นๆ ของคนไข้

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูทำงานร่วมกับนักกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะเกี่ยวกับการป้องกันรักษาและจัดการการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติที่เกิดขึ้น สามารถตรวจประเมินการเคลื่อนไหว อาการบาดเจ็บ ช่วงมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ความแข็งแรงและความยาวของกล้ามเนื้อ รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บหรืออาการจากโรคที่เกิดขึ้น เช่น ท่าทางในการนั่ง การทำงาน (ออฟฟิศซินโดรม) หรือการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่องช็อคเวฟ เป็นต้น 

โดยหลังจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูส่งต่อผู้ป่วยมาทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ตรวจประเมิน และทำการรักษาผู้ป่วยจนสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ หรือสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น การกลับไปเล่นกีฬา รวมถึงให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการกลับไปเป็นซ้ำ

ทั้งนี้ ในคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกำกับ การรักษาของนักกายภาพบำบัดจะรวมถึงการวินิจฉัยประเมินอาการ และพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อซักประวัติอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว อาการ และพฤติกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้มีอาการดังกล่าว 

ในด้านขั้นตอนการรักษา นักกายภาพบำบัดจะใช้เทคนิคที่หลากหลายตามความเหมาะสม เช่น การบำบัดด้วยมือ ซึ่งรวมถึงเทคนิคการดัด ดึง และขยับข้อต่อ การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย การใช้เครื่องช็อคเวฟ คลื่นอัลตราซาวด์ ความร้อน และความเย็น เป็นต้น

การนวดนั้นเหมาะสำหรับอาการปวดนิดตึงหน่อยหรือในวันที่เครียดและต้องการผ่อนคลาย แต่หากมีอาการที่เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ที่รบกวนใจหรือขัดขวางการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างราบรื่น การกายภาพบำบัดคือคำตอบของคุณ 

สนใจคลิกดูรายละเอียดบริการกายภาพบำบัดที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่นี่ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้เลยที่ LINE @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Sick Building Syndrome โรคแปลกของชาวออฟฟิศ คือโรคอะไรกันแน่?

    /    บทความ    /    Sick Building Syndrome โรคแปลกของชาวออฟฟิศ คือโรคอะไรกันแน่?

Sick Building Syndrome โรคแปลกของชาวออฟฟิศ คือโรคอะไรกันแน่?

Sick Building Syndrome
โรคแปลกของชาวออฟฟิศ คือโรคอะไรกันแน่?

ไปออฟฟิศทีไรอาการไม่ดีตลอด แต่พอกลับถึงบ้านก็ดีขึ้น คุณกำลังมีภาวะ Sick Building Syndrome อยู่หรือเปล่า? เช็กตัวเองได้ที่นี่

Sick Building Syndrome (SBS) เป็นภาวะความเจ็บป่วยที่เชื่อว่าอาจเกิดจากการทำงานภายในอาคารและสถานที่ปิด ซึ่งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร อาการของภาวะนี้ค่อนข้างกว้างและอาจดูคล้ายโรคอื่น ทำให้การตรวจวินิจฉัยทำได้ยาก โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นในห้องใดห้องหนึ่งหรือกินบริเวณกว้างทั้งอาคารก็ได้

หากคุณมีอาการผิดปกติที่หาสาเหตุไม่ได้บ่อยครั้งในที่ทำงานหรือที่พักอาศัย พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก อยากชวนคุณมาทำความรู้จักโรคนี้เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบอาการและสภาพแวดล้อมของอาคารที่ใช้ชีวิตเป็นประจำ ว่าเข้าข่าย Sick Building Syndrome หรือไม่

วิธีสังเกตอาการ Sick Building Syndrome

อาการของ Sick Building Syndrome ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง หรือระบบประสาทก็ได้ และมักทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคอื่น เช่น หวัด หรือภูมิแพ้ วิธีสังเกตเบื้องต้นให้ดูว่าอาการต่อไปนี้ดีขึ้นหรือหายไปเมื่อออกจากอาคารหรือไม่ และมีอาการอย่างไรเมื่อกลับไปอยู่ภายในอาคารอีกครั้ง

  • ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล 
  • ระคายเคืองตา ตาแห้ง
  • เจ็บคอ ระคายเคืองคอ ไอ 
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังหวีด
  • ผิวหนังแห้ง คัน มีผื่นขึ้น
  • อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิทำงาน สมองล้า
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ อาการของ Sick Building Syndrome อาจรุนแรงขึ้นได้หากเกิดขึ้นพร้อมกับอาการภูมิแพ้หรือโรคทางระบบทางเดินหายใจ และอาจส่งผลให้อาการของโรคอื่นกำเริบได้เช่นกัน นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่บางคนอาจมีอาการหลังจากออกจากอาคารไปแล้ว เนื่องจากภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการอยู่ในอาคารนั้นเป็นประจำหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน

อะไรคือสาเหตุของ Sick Building Syndrome?

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไรกันแน่ แต่คาดว่าสภาพแวดล้อมภายในอาคารต่อไปนี้อาจเป็นปัจจัยที่ให้เกิดอาการของ Sick Building Syndrome ตามมาได้

  • การถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมของมลพิษ ฝุ่นควัน สารพิษ และเชื้อโรคต่างๆ ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพ
  • มลพิษจากภายนอก เช่น ฝุ่น ผง ควันบุหรี่ หรือควันจากรถยนต์ที่ลอยเข้ามาในอาคาร
  • มลพิษ สารพิษ และสารเคมีต่างๆ จากภายในอาคาร ได้แก่
    • เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรียที่สะสม
    • ควันบุหรี่ ควันจากเตาอาหาร 
    • น้ำยาทำความสะอาด สีทาผนัง และสารฟอร์มาลดีไฮด์ในพื้นหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้
    • แร่ใยหินที่ใช้เป็นส่วนประกอบของวัสดุต่างๆ ภายในอาคาร เช่น กระเบื้อง ท่อน้ำประปา ท่อซีเมนต์
    • ก๊าซเรดอนที่เป็นสารกัมมันตรังสีที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และอาจสะสมอยู่ในบ้านที่ไม่มีการระบายอากาศ
  • ความสว่างภายในอาคาร เช่น แสงไฟที่สว่างจ้าหรือมืดเกินไป ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น รวมถึงความชัดและความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่สบายตา
  • ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น
    • อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นเกินไป และระดับความชื้นในอากาศที่ต่ำ
    • มีเสียงรอบข้างดังเกินไป
    • มีแมลงหรือมูลของเสียจากสัตว์ เช่น หนู จิ้งจก เป็นต้น

ปัญหาการระบายอากาศและสภาพแวดล้อมภายในอาคารเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปรับแก้ด้วยตนเองได้ จึงควรแจ้งให้เจ้านายหรือผู้ว่าจ้างทราบเมื่อพบปัญหาที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อหาวิธีจัดการร่วมกันอย่างเหมาะสมต่อไป

วิธีป้องกันและบรรเทาอาการจาก Sick Building Syndrome

ยากที่จะบอกได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไรกันแน่ การป้องกันโรคนี้จึงเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงข้างต้นรวมถึงการลดพฤติกรรมที่อาจนำมาซึ่ง Sick Building Syndrome โดยสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หากไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดหน้าต่างและใช้พัดลมเป่าเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ
  • หมั่นดูดฝุ่นและทำความสะอาดห้องหรืออาคาร 
  • เปลี่ยนหรือทำความสะอาดฟิลเตอร์เครื่องปรับอากาศทุก 2-3 เดือน
  • ใช้เครื่องกรองอากาศเพื่อลดฝุ่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และสิ่งสกปรกภายในห้อง
  • ปรับแสงไฟภายในอาคารให้สว่างพอดี ปรับแสงหน้าจอให้สบายตา และอัปเกรดจอแสดงผลต่างๆ ให้สามารถมองได้โดยไม่ต้องเพ่งสายตา
  • พยายามผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหรือมีอาการแย่ลงได้
  • หมั่นพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยมองออกไปไกลๆ ประมาณ 20 วินาที ทุกๆ 20 นาที และอย่าลืมกระพริบตาบ่อยๆ
  • หาโอกาสออกไปสูดอากาศข้างนอก เช่น ช่วงพักกลางวัน พักเบรค หรือระหว่างไปเข้าห้องน้ำ
  • ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายหรือทำท่ากายบริหารง่ายๆ เพื่อคลายความเมื่อยล้าที่อาจเกิดจากการนั่งนานเกินไป

หากปรับตามนี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ถึงเวลาที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด โดยหากไม่ได้เกิดจากโรคอื่น แพทย์อาจตรวจว่าอาการที่เกิดขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมการทำงานหรือไม่ เช่น การตรวจหาสารฟอร์มาลีนไฮด์ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน เชื้อราดำ และการตรวจโลหะหนัก

สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นคือ Sick Building Syndrome หรือไม่ สามารถปรึกษาคุณหมอที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เพื่อรับการตรวจให้แน่ชัดว่าไม่ได้เกิดจากโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกัน พร้อมรับการรักษาอย่างตรงจุด ตามสาเหตุที่พบต่อไป คลิกดูบริการของเราได้เลยที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Burnout Syndrome ต่างจากซึมเศร้ายังไง? วิธีแก้ภาวะหมดไฟในการทำงาน

    /    บทความ    /    Burnout Syndrome ต่างจากซึมเศร้ายังไง? วิธีแก้ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome ต่างจากซึมเศร้ายังไง? วิธีแก้ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome ต่างจากซึมเศร้ายังไง?
วิธีแก้ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome หรือซึมเศร้ากันแน่? สังเกตความต่าง รู้วิธีป้องกันภาวะหมดไฟ ก่อนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพจิต

ความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงาน การเรียน หรือแม้แต่ภาระความรับผิดชอบในชีวิต เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้และแต่ละคนก็มีวิธีรับมือในแบบของตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรงจนรู้สึกว่าเกินความสามารถที่จะจัดการได้ และส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงาน นั่นอาจเข้าข่าย Burnout Syndrome (ภาวะหมดไฟ) หรือภาวะซึมเศร้าได้

Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟ คือความรู้สึกเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้าเรื้อรังที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการทำงานหรือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งในปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ Burnout Syndrome เป็นภาวะจากการทำงาน โดยนิยามว่าเป็นผลของความเครียดจากการทำงานที่ยาวนานและไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม แม้ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่ด้วยความรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่าย ไร้เรี่ยวแรงและกำลังในการทำงาน จึงทำให้หลายคนอาจสับสนระหว่าง Burnout Syndrome กับภาวะซึมเศร้าได้ง่าย 

Burnout Syndrome กับซึมเศร้า ต่างกันอย่างไร?

Burnout Syndrome คืออาการที่สามารถส่งผลต่อทั้งทางอารมณ์ ร่างกาย และสภาพจิตใจ โดยมีสาเหตุมาจากความเครียดที่มีมากเกินไปหรือเครียดสะสมเรื้อรัง สัญญาณของภาวะหมดไฟแบ่งได้เป็น 3 ข้อหลักๆ ต่อไปนี้

  • รู้สึกไร้เรี่ยวแรงหรือหมดพลังงาน เกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและใจ บางทีอาจมีอาการทางร่างกายจากความเครียดร่วมด้วย เช่น ปวดตามร่างกาย ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • หมดกำลังใจในการทำงาน เกิดความรู้สึกในแง่ลบต่องานที่ทำ มีพฤติกรรมห่างเหินหรือไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง ไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน สำหรับคนที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิดอาจส่งผลให้คิดอะไรไม่ออก หรือขาดความคิดสร้างสรรค์ได้

ภาวะซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่ส่งผลให้มีอาการของความรู้สึกหดหู่ ขาดความสนใจในเรื่องต่างๆ ในชีวิต หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อ่อนเพลีย ไร้พลังงาน รู้สึกสิ้นหวัง หรือคิดว่าตัวเองไร้ค่า ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันในด้านที่ไม่ใช่เฉพาะการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานอดิเรก ความชอบ การเข้าสังคม และความสัมพันธ์ต่อเพื่อนหรือครอบครัว 

แม้อาการดังข้างต้นจะเกิดขึ้นได้เป็นบางครั้งบางคราวในบางช่วงของชีวิตเป็นปกติ แต่อาการที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 สัปดาห์นั้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ล่วงเลยจนเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ทันที

จะเห็นได้ว่าอาการภาวะ Burnout Syndrome มีส่วนคล้ายคลึงอาการของภาวะซึมเศร้า แต่ก็มีข้อสังเกตง่ายๆ คือภาวะ Burnout Syndrome อาจดีขึ้นหรือหายไปในช่วงสุดสัปดาห์หรือช่วงที่หยุดพักผ่อนจากงานและความรับผิดชอบต่างๆ ฉะนั้นถ้าสงสัยว่าตัวเองอาจมีอาการของภาวะนี้ก็ลองพักผ่อนและสำรวจตัวเองว่ารู้สึกดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีอาการในระดับที่รุนแรง ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

วิธีแก้และวิธีป้องกัน Burnout Syndrome

หากคุณมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ หรือมีอาการเข้าข่ายตามที่กล่าวมา เบื้องต้นให้ลองผ่อนคลาย ลดความเครียดและความล้าจากการทำงาน ตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • อย่าโหมงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน ให้เวลาร่างกายและจิตได้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า ป้องกันความเครียดที่อาจสะสมเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะสังเกตได้จากการคิดถึงเรื่องงานตลอดเวลา นอนไม่หลับ อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย และประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง
  • ฝึกพูดคำว่า “ไม่” รู้จักปฏิเสธงานที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบหรืองานที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานช่วงนอกเวลาจนเบียดบังเวลาส่วนตัว
  • ขีดเส้นแบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อน หยุดคุยเรื่องงานหลังเวลาเลิกงานหรือช่วงสุดสัปดาห์ การติดต่องานหรือเช็กงานตลอดเวลาแม้กระทั่งในช่วงเวลาของการพักผ่อนเมื่อนานไปจะให้เกิดความเหนื่อยล้าและเครียดจนเกิดเป็นภาวะ Burnout ได้ง่ายๆ
  • หยุดพักร้อนเพื่อชาร์จพลังให้ตัวเองบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สังเกตว่าเริ่มมีอาการหมดไฟในระดับปานกลางถึงรุนแรง การมีช่วงเวลาให้พักผ่อนหย่อนใจจะช่วยเพิ่มพลังกายและใจให้กลับมาลุยงานได้อย่างกระฉับกระเฉงมากขึ้น
  • แบ่งเวลานอนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง การพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟขึ้นได้ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่มีสมาธิทำงาน หรืออาจส่งผลให้อาการทั้งหมดนี้แย่ลงกว่าเดิมได้ 
  • ใช้เวลากับคนรอบข้างให้มากขึ้น อาจนัดกินข้าวมื้อเย็นกับเพื่อน หากิจกรรมทำร่วมกับคนในครอบครัว และหากกลุ่มเพื่อนที่ใช้เวลาด้วยกันส่วนใหญ่เป็นคนในที่ทำงาน ก็ควรตกลงกันว่าจะไม่พูดเรื่องงานในช่วงพักหรือหลังเลิกงานแล้ว

Burnout Syndrome อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมา ในขณะเดียวกันภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หมดไฟในการทำงานได้เช่นกัน อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เรื้อรังจนบ่อนทำลายสุขภาพ พยายามตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่ารู้สึกอย่างไร ไม่ว่าจะรักงานแค่ไหนก็ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองด้วย 

เมื่อไหร่ที่รู้สึกไร้หนทาง ติดอยู่ในวังวนของความเครียดและความเหนื่อยล้า นักจิตวิทยาพรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมรับให้คำปรึกษาทุกเมื่อ ให้เรารับฟังและร่วมหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะงานและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณที่สุด สอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการนัดหมายบริการ ติดต่อ @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดทางอากาศ ควรรับมือและป้องกันอย่างไร

    /    บทความ    /    เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดทางอากาศ ควรรับมือและป้องกันอย่างไร

เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดทางอากาศ ควรรับมือและป้องกันอย่างไร

เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดทางอากาศ
ควรรับมือและป้องกันอย่างไร

Airborne คืออะไร เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้ในอากาศ จะมีวิธีป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากการติดเชื้ออย่างไร ข้อควรหลีกเลี่ยงที่ควรรู้อย่างไร?

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2021 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้อัปเดตข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าสามารถติดต่อผ่านทางอากาศ (Airborne) จากเดิมที่กล่าวว่าไวรัสนี้สามารถติดต่อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่จากสารคัดหลั่งเป็นหลัก รองลงมาคือการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัส ส่วนการแพร่กระจายทางอากาศนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก

ก่อนหน้านี้นักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และประเทศต่างๆ รวมตัวกันเรียกร้องให้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และ CDC ทบทวนวิธีการติดต่อของเชื้อโควิด-19 และให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศ หลังจากพบหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายทางอากาศได้พอๆ กับการสัมผัสเชื้ออีก 2 ทาง และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในหลายกรณีจึงพบว่ามีการติดเชื้อทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

เชื้อโควิด-19 ติดทางไหนกันแน่?

ขณะที่เราพูด ร้องเพลง ไอ จาม ออกกำลังกาย หรือแม้แต่หายใจตามปกติ จะมีละอองสารคัดหลั่งกระจายออกจากช่องปากและจมูก โดยละอองเหล่านี้มีอนุภาคขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป และแต่ละขนาดมีการแพร่กระจายของเชื้อที่ติดออกมาด้วยต่างกัน

  • ละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่ที่สุด จะตกลงสู่พื้นภายในหลักวินาทีถึงหลายนาที ทำให้สามารถได้รับเชื้อที่ติดมากับละอองฝอยเหล่านี้ผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปากโดยตรง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะ 2 เมตร ซึ่งจะมีความเข้มข้นของละอองสูง และยังมีโอกาสติดเชื้อจากการนำมือที่ปนเปื้อนเชื้อจากละอองสารคัดหลั่งหรือพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสมาสัมผัสเยื่อบุบริเวณตา จมูก และปาก
  • ละอองสารคัดหลั่งขนาดเล็กที่สุด มีอนุภาคน้อยกว่า 5 ไมครอน ด้วยขนาดที่เล็กมากทำให้แห้งและกลายเป็นละอองลอยค้างในอากาศได้นานหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง ทำให้สามารถติดเชื้อได้จากการหายใจเอาเชื้อในอากาศเข้าไป โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะ 2 เมตร ที่มีความเข้มข้นของละอองสูง

แม้เว้นระยะห่าง ก็ยังเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ทางอากาศได้

โอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อทางอากาศจะลดน้อยลงเมื่ออยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 เมตรเช่นเดียวกับการแพร่เชื้อทางละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่ แต่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่าจะทำให้เสี่ยงเกิดการติดเชื้อมากขึ้นหากมีการสัมผัสเป็นเวลานาน (มากกว่า 15 นาที) ในสภาพแวดล้อมที่มีปริมาณไวรัสในอากาศเข้มข้นขึ้น จนสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลกว่า 2 เมตร หรือสามารถติดต่อกันได้หากเข้าไปยังพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่งออกไปไม่นาน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ 

  • พื้นที่ปิดที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อในอากาศมากยิ่งขึ้น
  • การทำกิจกรรมที่เพิ่มการปล่อยละอองสารคัดหลั่ง เช่น การใช้เสียงตะโกน การร้องเพลง การออกกำลังกาย เป็นต้น
  • การอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 15 นาที

วิธีรับมือกับการแพร่กระจายทางอากาศของเชื้อโควิด-19

CDC ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักฐานที่พบในตอนนี้ว่าการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนบนพื้นผิวสัมผัสต่างๆ เช่น เสื้อผ้า และสิ่งของต่างๆ แล้วนำมามาสัมผัสตามใบหน้า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อ ส่วนระดับความเสี่ยงของการติดเชื้อทางอากาศและการได้รับละอองสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรงก็ยังมีความคลุมเครือและต้องอาศัยผลการศึกษาเพิ่มเติม ในระหว่างนี้แนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่างๆ ตามเดิม ซึ่งยังคงช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในช่องทางต่างๆ อย่างครอบคลุม ได้แก่ 

  • เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • ใส่หน้ากากอนามัยให้มิดชิดเสมอเมื่อออกจากบ้าน
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ปิดที่มีคนแออัด และที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี หากจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • เพิ่มการถ่ายเทอากาศในห้องด้วยการเปิดหน้าต่าง หรือติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อลดการสะสมของไวรัส
  • งดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยละอองสารคัดหลั่งมากร่วมกับผู้อื่น เช่น การตะโกน การร้องเพลง รวมถึงการออกกำลังกายที่เพิ่มอัตราการหายใจ

ข้อมูลการแพร่ระบาดทางอากาศของไวรัสโควิด-19 ที่ CDC ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมนี้ แม้จะไม่ได้มีข้อปฏิบัติในการรับมือที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่ก็ถือเป็นแนวทางให้เราตะหนักถึงความอันตรายของเชื้อโควิด-19 และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดีกันมากขึ้น

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่อเนื่องและยาวนานทำให้เราต่างรู้สึกเหนื่อยล้า พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ขอเป็นกำลังใจพร้อมช่วยคุณดูแลสุขภาพกายใจให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับเคล็ดลับสุขภาพดีเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Checklist อาการออฟฟิศซินโดรม รักษา ป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด?

    /    บทความ    /    Checklist อาการออฟฟิศซินโดรม รักษา ป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด?

Checklist อาการออฟฟิศซินโดรม รักษา ป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด?

Checklist อาการออฟฟิศซินโดรม
รักษา ป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด?

เช็กอาการออฟฟิศซินโดรม สาเหตุ การรักษา พร้อมวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่านั่งในการทำงาน เพื่อป้องกันออฟฟิศซินโดรม

อาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) มักแวะเวียนมารบกวนใจใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนทำงานในออฟฟิศที่มักนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานและไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นได้กับคนที่นั่งทำงานในออฟฟิศเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะทำงานที่ออฟฟิศ ทำงานที่บ้าน หรือแค่ใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นประจำทุกวัน หากนั่งไม่ถูกท่า นั่งนานเกินไป หรือมีการใช้กล้ามเนื้อบางส่วนต่อเนื่องซ้ำๆ ก็ล้วนเสี่ยงเป็นโรคนี้กันได้ทั้งนั้น

อย่าให้อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมทำลายสุขภาพและทำให้ต้องทำงานอย่างทุกข์ทรมาน พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีวิธีสังเกตอาการออฟฟิศ การป้องกัน และท่าทางการนั่งทำงานที่ถูกต้องจากคุณหมอและนักกายภาพบำบัดมาให้ลองทำตามเพื่อพิชิตอาการออฟฟิศซินโดรมกันในบทความนี้

อาการของออฟฟิศซินโดรม

ผู้ป่วยโรคนี้มักเริ่มจากมีอาการที่ไม่รุนแรง ทำให้คิดไปว่าเป็นอาการปวดเมื่อยธรรมดา ซึ่งหากไม่ได้รักษาอาจเรื้อรังและมีอาการรุนแรงขึ้น มาลองสังเกตอาการตัวเองกันดูว่ามีสัญญาณต่อไปนี้หรือไม่

  • ปวดเมื่อยหรือปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น คอ ไหล่ บ่า สะบัก แขน ข้อมือ รวมไปถึงหลังส่วนล่าง และอาจรู้สึกปวดร้าวไปถึงบริเวณใกล้เคียง 
  • ชาหรือมีอาการอ่อนแรงตามแขน มือ และนิ้ว ซึ่งเกิดจากการถูกกดทับของเส้นประสาท
  • มีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความรู้สึกซ่าๆ มีเหงื่อออก หรือเป็นเหน็บชาบริเวณที่ปวด หากเป็นบริเวณคออาจมีอาการตาพร่า มึนงง หูอื้อร่วมด้วย
  • ปวดตา ตาล้า ตาแห้ง ปวดศีรษะ โดยอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณตาหรือมีอาการคล้ายไมเกรน เนื่องจากการใช้สายตาจ้องหน้าจอนานเกินไป ซึ่งมักมีปัจจัยประกอบคือความเครียดสะสม และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ  
  • มีปัญหานอนไม่หลับ เหนื่อยล้า มีอาการซึมเศร้า

ออฟฟิศซินโดรม เกิดจากอะไรกันแน่?

  • สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์การทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่เหมาะกับสรีระร่างกาย ระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ต้องเงยหรือก้มหน้ามากเกินไป ระยะของแป้นพิมพ์ แสงจากหน้าจอและแสงภายในห้องที่ไม่สมดุลกัน เป็นต้น
  • การนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานานโดยไม่มีการขยับปรับเปลี่ยนท่าหรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย 
  • การนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งหลังงอ ไหล่ห่อ ไขว่ห้าง
  • การเพ่งสายตาจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนานๆ โดยไม่พักสายตา
  • การทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน ความเครียดจากการทำงาน การได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา

ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรมแค่นั่งผิดท่านิดเดียวก็เป็นได้ วิธีป้องกันและรักษาด้วยตนเองง่ายๆ ต่อไปนี้จะช่วยให้คุณห่างไกลจากอาการออฟฟิศซินโดรมและสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขในทุกๆ วัน

  • นั่งในท่าที่เหมาะสม ไม่ควรนั่งหลังงอ ไหล่ห่อ ไขว่ห้าง ไม่นั่งเอนตัวไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป และควรนั่งให้เต็มก้น หากที่นั่งลึกควรหาหมอนมารองหลังไว้
  • หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ ควรลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายทุกๆ ชั่วโมง อาจไปเดินเล่นข้างนอกหรือลุกไปเข้าห้องน้ำบ้าง อย่านั่งทำงานติดต่อกันนานเกินไป
  • ปรับระดับโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระ โดยให้เท้าจรดพื้น หากเท้าอยู่สูงกว่าพื้นควรมีอะไรมารอง และให้หัวเข่าอยู่ระดับเดียวกับสะโพกหรือต่ำกว่าเล็กน้อย 
  • วางแป้นพิมพ์ให้อยู่ในระดับเดียวกับข้อศอก โดยเว้นระยะห่างให้ข้อศอกอยู่ในท่าตั้งฉากขณะพิมพ์งาน เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณบ่าไหล่ และควรเลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงและมีที่วางแขน 
  • อย่าจ้องหน้าจอใกล้เกินไป ควรเว้นระยะห่างจากหน้าจอประมาณ 1 ช่วงแขน 
  • ให้หน้าจออยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย เพื่อให้คออยู่ในท่าปกติขณะมองจอ ไม่ต้องก้มหรือเงยหน้ามากเกินไป
  • ไม่ควรทำงานโดยวางแล็ปท็อปไว้บนตัก เพราะจะทำให้ต้องก้มมองจอตลอดเวลา หากจำเป็นจริงๆ ควรหาเบาะหรือกระเป๋ามาวางเสริมให้จออยู่สูงขึ้นจนคออยู่ในท่าที่สบาย
  • ปรับขนาดตัวอักษรและความสว่างหน้าจอให้สบายตา โดยมีความสมดุลกับแสงไฟในห้องและแสงจากภายนอก
  • หมั่นพักสายตา หมั่นมองไกลออกไปข้างนอกหรือบริเวณอื่นที่ไม่ใช่หน้าจอ และเตือนตัวเองให้หมั่นกระพริบตาเสมอ เพื่อป้องกันอาการตาล้าจากการเพ่งจ้องหน้าจอนานเกินไป 
  • ปรับสภาพแวดล้อมให้น่าทำงาน ที่ทำงานควรมีอากาศถ่ายเท สะอาด ไม่มีกลิ่นอับ เพื่อให้รู้สึกสดชื่นและหายใจได้สะดวก
  • อย่าโหมงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน โดยเฉพาะในช่วง Work from home แบบนี้ที่หลายคนมักเผลอทำงานจนเลยเวลา ควรแบ่งเวลาทำงานให้ชัดเจน หมั่นหาเวลาผ่อนคลายจากความเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และรับประทานให้ตรงเวลาทุกวัน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความทนทาน และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงต่ออาการปวดเมื่อยจากการนั่งทำงานในท่าเดิมนานเกินไป นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดและทำให้จิตใจแจ่มใสขึ้นได้อีกด้วย

นอกจากนี้การทำท่าบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เป็นประจำทุกวันก็เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะช่วยลดความเมื่อยล้าและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อส่วนที่ถูกใช้งานซ้ำๆ ได้มาก ซึ่งนักกายภาพของเราได้แนะนำท่าง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตนเองไว้ ตามไปดูกันได้ที่บทความนี้: สอน 13 ท่าบริหารที่ทำได้เองง่ายๆ ระหว่างช่วง Work from home

หากทำทั้งหมดนี้แล้วยังไม่ดีขึ้นหรือสังเกตว่ามีอาการเรื้อรัง อย่าปล่อยไว้นาน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้คุณตรวจประเมินโครงสร้างร่างกาย (Physical Analysis) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และระบบประสาทหรือไม่

ส่วนใครที่มีอาการของการกดทับของเส้นประสาท เช่น มือชา อ่อนแรงตามแขนขาและมือ มีอาการปวดรุนแรง ปวดแม้กระทั่งตอนนอน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งส่วนมากมักจะต้องรักษาโดยใช้ยาบรรเทาอาการปวด ร่วมกับวิธีทางกายภาพบำบัดและปรับพฤติกรรมควบคู่กันไป 

หากมีคำถามที่อยากรู้เพิ่มเติม ต้องการนัดหมายตรวจอาการ หรือดูรายการการทำกายภาพบำบัดที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก คลิกที่นี่ได้เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ไม่มีสมาธิ ทำยังไง? 5 วิธีฝึกสมาธิ ทำงานราบรื่นช่วง WFH

    /    บทความ    /    ไม่มีสมาธิ ทำยังไง? 5 วิธีฝึกสมาธิ ทำงานราบรื่นช่วง WFH

ไม่มีสมาธิ ทำยังไง? วิธีฝึกสมาธิ ทำงานอย่างราบรื่นช่วง WFH

ไม่มีสมาธิ ทำยังไง?
วิธีฝึกสมาธิ ทำงานอย่างราบรื่นช่วง WFH

ทำงานที่บ้านแต่ไม่มีสมาธิ ลองวิธีฝึกสมาธิง่ายๆ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในช่วง Work from home แบบสุขภาพดี

เมื่อต้อง Work from home ในช่วงโควิด-19 หลายคนคงเห็นภาพตัวเองนั่งทำงานอย่างราบรื่นในบรรยากาศเงียบสงบ โดยเฉพาะกับงานที่ต้องมีสมาธิจดจ่อ ซึ่งหากทำงานที่ออฟฟิศก็มักจะมีสิ่งรบกวนให้ไม่มีสมาธิ แต่ถึงเวลาจริงกลับพบว่าการทำงานที่บ้านนั้นใช่ว่าจะไม่มีสิ่งรบกวน เพราะมีทั้งสัตว์เลี้ยง คนในครอบครัว และสิ่งยั่วยุมากมาย เช่น รายการโปรดในทีวี หรือเสียงแจ้งเตือนจากแอปต่างๆ ในมือถือ ไหนจะความยากลำบากในการจัดสรรเวลาทำงานให้เป็นระเบียบและการต้องบังคับตัวเองให้ทำงานให้เสร็จอีก

การบังคับตัวเองในช่วง Work from home ที่มีอิสระมากกว่าการทำงานที่ออฟฟิศเป็นเรื่องยากไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ วันนี้ คุณหมอที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิกของเรา จะมาแนะนำ 5 เคล็ดลับเพิ่มสมาธิง่ายๆ ที่ทำได้จริงในทุกวัน ให้คุณสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุขภาพดีไปพร้อมๆ กัน

1 จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน

  • เลือกมุมสงบๆ ในบ้านที่มีความเป็นส่วนตัวและมีการแบ่งสัดส่วนกั้นเป็นพื้นที่สำหรับทำงานโดยเฉพาะ 
  • จัดโต๊ะทำงานและพื้นที่บริเวณรอบๆ ให้เป็นระเบียบสะอาดตา ไม่มีของระเกะระกะ ซึ่งก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่าภาพห้องหรือโต๊ะทำงานที่ไม่เป็นระเบียบสามารถทำให้สมองด้านการเรียนรู้ของเราอ่อนล้าและจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้น้อยลงจริงๆ
  • ตกแต่งพื้นที่การทำงานให้สวยงามด้วยรูปภาพสวยๆ รูปคนที่เรารัก รูปศิลปินดาราคนโปรด หรือของเล่นที่ชื่นชอบเพื่อเพิ่มความผ่อนคลายและทำให้รู้สึกอยากทำงานมากขึ้น
  • ลองสลับไปใช้โต๊ะแบบยืนทำงาน หรือถ้าไม่มี จะใช้ชั้นวางของที่มีระดับความสูงพอดีตัวเป็นที่วางแลปท็อปแทนโต๊ะก็ได้ เพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถและเพิ่มการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ลดความเมื่อยล้าและป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมที่มักเกิดจากการนั่งทำงานทั้งวันโดยไม่ค่อยได้ลุกไปไหน

2 ทำทุกอย่างให้เป็นกิจวัตรเหมือนตอนทำงานที่ออฟฟิศ

  • ลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวทุกเช้าให้เหมือนเตรียมพร้อมไปทำงานที่ออฟฟิศ วิธีนี้จะช่วยให้เรารู้สึกว่าได้เริ่มทำงานในทุกวันจริงๆ
  • แบ่งขอบเขตการทำงานและการพักผ่อนให้ชัดเจน โดยควรกำหนดเวลาเริ่มงาน เวลาพักกลางวัน และเวลาเลิกงานให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพราะเวลาพักผ่อนและทำงานที่ไม่ชัดเจนอาจทำให้รู้สึกเหมือนต้องทำงานตลอดเวลา เมื่อนานไปจะเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าและมีความเครียดสะสมจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในที่สุด
  • หาเวลาออกไปเดินสูดอากาศรอบบ้านหรือออกกำลังกายเบาๆ ในตอนเช้าก่อนเริ่มงานและช่วงพักกลางวันหลังรับประทานอาหาร เพื่อยืดเส้นยืดสายและผ่อนคลายสมอง
  • หมั่นพักเบรคสั้นๆ ประมาณ 10 นาที ทุกชั่วโมง เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายและมีพลังในการทำงานมากขึ้น เพราะการ Work from home มักทำให้เราเผลอทำงานจนลืมพัก ไม่เหมือนที่ออฟฟิศที่มีเพื่อนร่วมงานแวะมาพูดคุยหรือมีเหตุให้ได้ละสายตาจากการทำงานบ้าง ซึ่งถือเป็นการรีเฟรชร่างกายและสมองไปในตัว

3 จัดตารางเวลาและวางแผนการทำงานทุกวันล่วงหน้า

  • จดสิ่งที่ต้องทำในแต่วันลงในโพสต์อิทแล้วแปะไว้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อคอยเตือนให้ทำงานตามรายการที่เขียน หรืออาจเพิ่มความสะดวกสบายด้วยการใช้แอปพลิเคชันจดบันทึกบนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ที่มีกำหนดการแจ้งเตือนอัตโนมัติในช่วงเวลาต่างๆ 
  • ใช้แอปพลิเคชันปฏิทิน บันทึกตารางการประชุมและกำหนดส่งงานต่างๆ รวมทั้งตั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเผื่อเวลาสำหรับเตรียมตัว เท่านี้ก็จะไม่พลาดกำหนดการสำคัญต่างๆ แล้ว
  • วางแผนการทำงานในแต่ละวันล่วงหน้าและทบทวนรายการงานที่ต้องทำทุกเช้า หลังจบวันให้อัปเดตสิ่งที่ทำไปแล้วและยังไม่ได้ทำ การได้เห็นว่ามีงานที่ทำสำเร็จแล้วจะช่วยกระตุ้นให้รู้สึกดีและมีกำลังใจในการทำงานต่อๆ ไปมากขึ้น

4 กำจัดตัวก่อกวนที่ส่งผลต่อสมาธิในการทำงาน

  • ปิดเสียงโทรศัพท์ ปิดการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็น หรือวางไว้ให้ไกลจากโต๊ะทำงาน แต่หากทำงานที่ต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงานตลอดเวลาอาจเปิดโหมดโฟกัสในโทรศัพท์ หรือใช้แอปพลิเคชันที่จำกัดการใช้งานแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่เป็นต้นเหตุให้วอกแวกหรือเสียสมาธิได้ง่าย เช่น แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียและความบันเทิงต่างๆ 
  • กำหนดเวลาที่เพื่อนหรือคนในครอบครัวห้ามติดต่อหรือโทรมารบกวน ยกเว้นเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น

5 อย่าขาดการพูดคุยสื่อสารกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน

  • ทุกวันนี้เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้การเชื่อมต่อกันเป็นเรื่องง่ายและการ Work from home ก็ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป การสื่อสารกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมทีมเป็นระยะจะช่วยให้เราทราบความเป็นไปของกระบวนการทำงาน ทำให้เห็นภาพรวมสิ่งที่ทุกคนกำลังทำอยู่ และยังช่วยให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไปในช่วงเวลาของการ Work from home แบบนี้
  • เมื่อมีปัญหาหรือพบอุปสรรคในการทำงาน ควรใช้ช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นโทรคุย ส่งอีเมล หรือส่งข้อความ

ใครจะคิดว่าแค่กระดาษโน้ตสักแผ่น หรือพื้นที่ทำงานที่สะอาดสวยงาม ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ และนอกจากเทคนิคข้างต้นนี้ อีกหนึ่งข้อที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงพร้อมลุยงานในทุกๆ วัน เพราะฉะนั้นห้ามละเลยการดูแลตัวเองเป็นอันขาด ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าลืมหาเวลาทำกิจกรรมคลายเครียดจากการทำงานเป็นประจำด้วย

พอแล้วกับการทำงานที่บ้านแบบอ่อนล้า ไม่มีสมาธิ Work from home รอบนี้ถ้าอยากสุขภาพดีแบบมี Work-life balance แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน เริ่มที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ปรึกษาและขอเคล็ดลับสุขภาพจากคุณหมอของเราได้ที่นี่เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

คู่มือวัคซีนโควิด-19 ตอบข้อสงสัย เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

    /    บทความ    /    คู่มือวัคซีนโควิด-19 ตอบข้อสงสัย เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

คู่มือวัคซีนโควิด-19 ตอบข้อสงสัย เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

คู่มือวัคซีนโควิด-19
ตอบข้อสงสัย เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

หลากหลายคำถามเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มียี่ห้ออะไรบ้าง ข้อมูลประสิทธิภาพ ความปลอดภัย วิธีรับมือผลข้างเคียง-อาการแพ้เบื้องต้น

ประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงไปแล้ว รวมทั้งตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างให้เร็วที่สุดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ถ้าคุณมีคำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่ได้รับคำตอบ วันนี้เรารวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนจากคุณหมอที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มาเป็นคู่มือฉบับย่อให้คุณอุ่นใจก่อนฉีดวัคซีน

วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร?

เมื่อร่างกายของเราสัมผัสเชื้อโรคใดๆ ก็ตาม จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคนั้นในครั้งต่อไป การฉีดวัคซีนเป็นการจำลองให้ร่างกายคิดว่าเกิดการติดเชื้อขึ้นโดยใช้เชื้อที่อ่อนแอหรือบางส่วนของเชื้อที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ฉีดเข้าไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างภูมิขึ้นมาต่อสู้โรคนั่นเอง

วัคซีนโควิด-19 มีกี่ชนิด?

วัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการอนุมัติจากอย. ไทยไปแล้วในตอนนี้ ได้แก่ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca, Sinovac, Johnson & Johnson, Moderna, Sinopharm และ Pfizer

ทั้งนี้ วัคซีนแต่ละยี่ห้ออาจเป็นวัคซีนต่างชนิดกันและมีกลไกการทำงานเฉพาะตัว โดยหลักๆ มี 4 ชนิดดังต่อไปนี้

  • วัคซีนเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้วหรือทำให้อ่อนแอจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Sinovac, Sinopharm, และ Bharat Biotech
  • วัคซีนแบบใช้โปรตีน เป็นการใช้ส่วนประกอบของโปรตีนหรือเปลือกหุ้มโปรตีนที่มีความคล้ายคลึงกับไวรัสโควิด-19 เข้าไปช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Novavax
  • วัคซีนแบบเวกเตอร์ไวรัส ที่มีการดัดแปลงไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้มาเป็นตัวส่งโปรตีนไวรัสโควิด-19 เข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ได้แก่ วัคซีนของ AstraZeneca, Johnson & Johnson และ Sputnik V
  • วัคซีน mRNA เป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบใหม่ ทำงานโดยส่งส่วนประกอบทางพันธุกรรมของไวรัสเข้าไปสร้างโปรตีนที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไว้ต่อสู้ไวรัส ได้แก่ วัคซีนของ Pfizer และ Moderna

คำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19

Q: ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน?
A: ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิดได้อย่างปลอดภัย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง และโรคติดเชื้อเรื้อรังที่ควบคุมอาการได้ดี 

ทั้งนี้ในกรณีที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด เป้าหมายการฉีดวัคซีนจะมุ่งไปที่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ที่เสี่ยงมีโอกาสสัมผัสโรคสูง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นอันดับแรก

เพื่อความปลอดภัยบุคคลต่อไปนี้ควรปรึกษาหรือแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับการฉีดวัคซีน

  • ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้รุนแรง

Q: เด็กฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่?
A: เนื่องจากเด็กมีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าผู้ใหญ่ การทดลองวัคซีนส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นอันดับแรก ทำให้วัคซีนที่มีในตอนนี้โดยมากจะแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 

วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กในตอนนี้มีแค่วัคซีนของ Pfizer ที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อและองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ให้สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนวัคซีนของ Moderna นั้นทางบริษัทก็ชี้ว่าผลการทดลองพบมีประสิทธิภาพสูงในเด็กอายุ 12-17 ปี ซึ่งน่าจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในเด็กเร็วๆ นี้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ ก็ได้เริ่มทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนในเด็กไปบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ถึงขั้นที่จะยืนยันผลได้

Q: ฉีดวัคซีนเข็มแรก กับเข็มที่ 2 คนละชนิดได้หรือไม่? 
A: สำหรับวัคซีนที่ต้องมีการฉีดมากกว่า 1 เข็ม ปัจจุบันทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่แนะนำให้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดหรือต่างยี่ห้อกัน โดยขณะนี้มีการศึกษาว่าการฉีดวัคซีนต่างชนิดในเข็มแรกและเข็มที่ 2 จะส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยหรือไม่ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองที่ไม่สามารถให้ข้อสรุปได้

Q: ฉีดวัคซีนชนิดหนึ่งครบแล้ว ฉีดวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าภายหลังได้ไหม?
A: กรณีที่รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดใดชนิดหนึ่งครบโดสแล้ว แต่มีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและต้องการรับวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นภายหลัง ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเองก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ได้รับวัคซีน Johnson & Johnson แล้ว แต่มีความกังวลในประสิทธิภาพและผลข้างเคียง จึงต้องการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอย่าง Pfizer และ Moderna ในภายหลัง 

กรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า เนื่องจากวัคซีนแต่ละชนิดอาจต้องมีการอัปเดตเพิ่มประสิทธิภาพในทุกปีเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดเดิมอาจฟังดูเข้าท่ามากกว่า แต่ก็น่าจะสามารถรับวัคซีนชนิดอื่นได้เช่นกันโดยไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและไม่มีอันตรายใดๆ และมีข้อกังวลน้อยกว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกันใน 1 โดส 

Q: เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังต้องฉีดไหม?
A: แม้ว่าคุณจะเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน ก็ควรรับการฉีดวัคซีน เพราะแม้การติดเชื้อจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ในอนาคต แต่ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเองโดยกลไกธรรมชาตินั้นอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ยากที่จะรู้ได้ว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันมากแค่ไหนและจะคงอยู่นานเท่าไหร่ จึงยังต้องอาศัยภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนอยู่ดี

Q: ฉีดวัคซีนระหว่างที่ยังมีเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่?
A: ไม่ควรรับการฉีดวัคซีนหากคุณยังไม่หายจากการติดเชื้อดีและยังไม่ได้กักตัวหลังติดเชื้อครบกำหนด โดยคุณสามารถปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาเกี่ยวกับเวลาที่เหมาะสมที่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 

Q: ฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนโรคอื่นได้หรือไม่?
A: จากข้อมูลในตอนนี้ ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนอื่นพร้อมกัน โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่าหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทั้ง 2 เข็มแล้ว ควรรออย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะฉีดวัคซีนชนิดอื่น หรือหากฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่นมาก่อนหน้า ก็ควรรออย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่นกัน 

แต่ในกรณีที่คุณฉีดวัคซีน 2 ชนิดโดยไม่ได้เว้นระยะห่าง 2-4 สัปดาห์ไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นฉีดวัคซีนใหม่ ขอแค่ตรวจเช็กให้มั่นใจว่าได้ฉีดวัคซีนครบโดสตามที่กำหนด

ประสิทธิภาพการป้องกันโรคของวัคซีนโควิด-19

Q: วัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องการติดเชื้อได้ 100% หรือไม่?
A: ไม่มีวัคซีนใดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน 100% ดังนั้น แม้จะได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว บางคนอาจติดเชื้อและมีอาการจากโรคได้อยู่ดี แต่การฉีดวัคซีนจะช่วยปกป้องคุณจากอาการรุนแรง การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโรค รวมทั้งช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนรอบข้างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้

Q: วัคซีนช่วยป้องกันโรคได้นานแค่ไหน?
A: จากการศึกษาตอนนี้ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันในการต่อสู้โรคโควิด-19 จากการฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้นานแค่ไหน สำหรับวัคซีน Pfizer และ Moderna นั้นเบื้องต้นคาดว่าจะคงประสิทธิภาพการป้องกันที่สูงอย่างต่ำ 6 เดือน ซึ่งแม้จะฉีดวัคซีนครบตามที่แนะนำแล้วก็ยังต้องเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันตัวคุณเองและคนที่คุณรัก

Q: ทำไมบางคนติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนทันที?
A: โดยปกติแล้วการฉีดวัคซีนมักต้องใช้เวลาในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ประมาณ 14 วัน ในระหว่างนี้จึงมี
ความเป็นไปได้ที่คุณจะป่วยจากการติดเชื้อในช่วงก่อนหน้าหรือแม้แต่หลังจากฉีดวัคซีน เนื่องจากในช่วงเวลานั้นร่างกายยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่มากพอ 

Q: ฉีดวัคซีนทำให้ผลตรวจเชื้อเป็นบวกได้หรือไม่?
A: การฉีดวัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อและไม่สามารถทำให้ผลตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ PCR ที่เป็นการตรวจการติดเชื้อที่แม่นยำโดยเก็บสารคัดหลั่งเป็นบวก 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัคซีนจะกระตุ้นให้มีภูมิคุ้มกันต่อต้านโรค จึงเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อจากการตรวจหาแอนติบอดีในเลือด ซึ่งเป็นวิธีการตรวจเพื่อดูว่ามีภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหรือจากการฉีดวัคซีนหรือไม่

Q: มีวัคซีนแล้ว เมื่อไหร่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะหมดไป?
A: การยับยั้งการแพร่ระบาดจำเป็นต้องอาศัยภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคในคนจำนวนมากพอ โดยภูมิคุ้มกันสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติจากการที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน หรือได้รับการฉีดวัคซีนนั่นเอง 

เมื่อมีคนจำนวนมากที่มีภูมิคุ้มกัน การแพร่กระจายของไวรัสจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งจะเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงอย่างมาก และยังช่วยปกป้องผู้ที่ไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เช่น ทารกแรกเกิด และผู้ที่แพ้วัคซีนรุนแรง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบจำนวนการฉีดวัคซีนของประชากรโลกที่จะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้

การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจะเร็วหรือช้า จึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น จำนวนคนที่ได้รับวัคซีน ความรวดเร็วในการอนุมัติใช้วัคซีน กำลังการผลิต การกระจายวัคซีนให้ประชาชน รวมไปถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่อาจส่งผลให้วัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง

Q: วัคซีนแต่ละชนิดป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์หรือไม่?
A: วัคซีนส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์อื่นด้วย โดยอาจมีประสิทธิภาพลดลงไปแต่ก็ยังสามารถช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้อยู่ดี เนื่องจากวัคซีนมักจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในวงกว้าง แต่หากมีวัคซีนใดที่มีประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ลดลงอย่างมาก ก็เป็นไปได้มากที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของวัคซีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันจากสายพันธุ์นั้นด้วย

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19

Q: วัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัยแค่ไหน?
A: เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโรคที่ไม่เคยพบมาก่อนและมีความรุนแรง จึงมีการประกาศใช้วัคซีนอย่างฉุกเฉิน แต่วัคซีนเหล่านี้ก็ยังต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางความปลอดภัยและประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากข้อมูลและผลการทดลองในระยะต่างๆ รวมทั้งจะมีการติดตามผลข้างเคียงและความปลอดภัยของการใช้วัคซีนเป็นระยะ ซึ่งการอนุมัติใช้วัคซีนแต่ละชนิดในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไป

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้อย่างฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ในตอนนี้ ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer, AstraZeneca/Oxford, Johnson & Johnson, Moderna, Sinopharm, และ Sinovac

Q: มีผลข้างเคียงจากการฉีดหรือไม่?
A: วัคซีนโควิด-19 มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ คือ ปวด บวม หรือแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ในช่วง 1-2 วันหลังฉีด เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น โดยอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มักจะรุนแรงกว่าเข็มที่ 1

อาการทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ก็ไม่ได้น่ากังวล เพราะเป็นสัญญาณปกติที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาปกป้องคุณจากโรคนี้ ทั้งนี้สามารถบรรเทาอาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีนด้วยการประคบเย็น และหากมีไข้หรือรู้สึกอ่อนเพลียควรดื่มน้ำแล้วนอนพักผ่อนให้มาก 

คุณสามารถสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบหากมีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้รับประทานยาดักไว้เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากวัคซีน เว้นแต่ว่ามีความจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคบางชนิดเป็นประจำอยู่แล้ว

Q: สังเกตอาการผิดปกติหลังฉีดวัคซีนอย่างไร?
A: อาการไม่สบายตัวหรือปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีนมักจะหายไปเองในเวลาไม่นาน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่ผิดปกติหรือกังวลใจ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีสัญญาณของอาการแพ้รุนแรง เช่น บวมที่หน้า ริมฝีปาก คอ หายใจลำบาก มีผื่นลมพิษขึ้นตามตัว เป็นต้น 

Q: มีอาการแพ้ สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?
A: หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) แนะนำว่าผู้ที่มีประวัติแพ้ยา อาหาร แมลง หรือสารก่อภูมิแพ้ทั่วไปสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้วัคซีนชนิดอื่นๆ อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) มาก่อนควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง และทุกครั้งหลังจากฉีดวัคซีนแล้วควรนั่งรอดูอาการประมาณ 30 นาทีเพื่อสังเกตอาการแพ้

Q: การฉีดวัคซีนส่งผลต่อ DNA ของเราได้หรือไม่?
A: มีวัคซีนบางชนิด ได้แก่ วัคซีน mRNA และวัคซีนเวกเตอร์ไวรัส ที่ทำงานโดยส่งสารพันธุกรรมของไวรัสเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 แต่ส่วนประกอบของวัคซีนเหล่านี้จะไม่เข้าไปยังนิวเคลียสของเซลล์ที่มี DNA บรรจุอยู่ จึงวางใจได้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อ DNA ของเราไม่ว่าทางใดก็ตาม

“คุณจะไม่มีวันปลอดภัยอย่างแท้จริงถ้าคนอื่นไม่ปลอดภัย” นี่คือหนึ่งข้อความที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนในการปกป้องตัวคุณเองและคนรอบข้างจากโรคติดต่อทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงโรคที่ร้ายแรงและเป็นปัญหาระดับโลกอย่างโควิด-19 ด้วย 

ฉีดวัคซีนแบบมั่นใจ ไม่กลัวพลาด ปรึกษาคุณหมอที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เพื่อเตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน หรือกดดูบริการอื่นๆ ของเราได้เลยที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

5 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ แบบสุขภาพดี ในช่วง Work from home

    /    บทความ    /    5 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ แบบสุขภาพดี ในช่วง Work from home

5 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ แบบสุขภาพดี ในช่วง Work from home

5 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ แบบสุขภาพดี
ในช่วง Work from home

5 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ ลดพุง ระหว่าง Work from home คำแนะนำการเพิ่มแรงจูงใจในการลดน้ำหนักในช่วงโควิด-19 เพื่อผลลัพธ์ที่เห็นผลทันใจ

เมื่อการ Work from home ในสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้สะดวกสบายไปทั้งหมด แต่มาพร้อมปัญหาอ้วน ลงพุง น้ำหนักขึ้น เพราะเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงและออกไปไหนมาไหนไม่สะดวก ไหนจะรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา กินจุบจิบระหว่างมื้อมากขึ้น บางคนเกิดความเครียดสะสมจากการทำงานโดยไม่รู้ตัวจนทำให้รู้สึกหิวกว่าปกติ แถมพอนึกจะไปวิ่งออกกำลังกายหรือไปฟิตเนสก็กลัวเชื้อโควิดอีก

ถึงอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งถอดใจ วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มี 5 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ แบบสุขภาพดีที่ทำได้ที่บ้านมาฝากกัน

1. ปรับพฤติกรรมการบริโภค ช่วยลดน้ำหนักได้มากกว่าที่คิด

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินมีผลอย่างมากต่อการลดน้ำหนัก และอย่างที่รู้กันดีว่าถ้าไม่อยากน้ำหนักขึ้นเราก็ควรกินอาหารให้เป็นเวลา เน้นผักผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และอาหารไขมันต่ำ ไม่กินจุบจิบระหว่างวัน รวมถึงลดขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว น้ำหวานที่มีน้ำตาลและแคลอรี่สูงทั้งหลาย ฟังดูเหมือนง่ายแต่พอถึงเวลาก็พังไม่เป็นท่า นั่นก็เพราะการทำงานที่บ้านทำให้เรามีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ มากกว่า การหักห้ามใจไม่ให้กินของอ้วนจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ

สำหรับใครที่รู้สึกว่าการฝืนใจตัวเองเป็นเรื่องยากและสุดท้ายมักต้องพ่ายแพ้ต่อความอยาก แนะนำให้ลองเปลี่ยนพฤติกรรมตามทฤษฎีผลักดัน หรือ Nudge Theory ที่กล่าวว่าคนเรามักมีพฤติกรรมเอนเอียงไปตามสิ่งแวดล้อมและความรู้สึกส่วนตัว ดังนั้นหากต้องการลดพฤติกรรมการกินที่ส่งผลให้อ้วน เราจึงควรออกแบบสิ่งแวดล้อมหรือสร้างสถานการณ์ที่จะผลักดันให้ตัวเองกินอาหารที่เป็นมิตรต่อน้ำหนักโดยอัตโนมัติ เช่น วางขนมไว้ให้ห่างสายตาเพื่อลดการบริโภค วางอาหารที่มีประโยชน์และไม่อ้วนไว้ในตู้เย็นให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อกระตุ้นให้บริโภค หรือเปลี่ยนภาชนะใส่อาหารและช้อนให้มีขนาดเล็กลงเพื่อปรับปริมาณการกินแต่พอดี

2. แยกเวลาพักผ่อนและเวลาทำงานให้ชัดเจน

การทำงานที่บ้านอาจทำให้มีปัญหาในการแบ่งแยกเวลาพักผ่อนออกจากเวลาทำงาน ประกอบกับอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานที่อาจทำให้เกิดการสะสมของความเครียดจนนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท และรู้หรือไม่ว่าการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอยังสามารถส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักได้ โดยมีงานวิจัยหลายงานชี้ว่าผู้ที่นอนน้อยหรือนอนดึกจะมีความอยากกินขนมขบเคี้ยวมากขึ้น และมักจะเลือกขนมที่มีแป้งหรือไขมันสูงอีกด้วย ระหว่างทำงานที่บ้านจึงควรเตือนตัวเองให้แบ่งเวลาพักผ่อนกับเวลาทำงานไม่ให้ทับซ้อนกัน และนอนหลับให้เพียงพออย่างเป็นเวลาทุกวัน

3. ขยับตัวนิด เคลื่อนไหวร่างกายหน่อย

อย่าเผลอนั่งทำงานเพลินตลอดทั้งวันจนแทบไม่ได้ขยับร่างกายลุกไปไหนเลย ลองตั้งเวลาหรือคอยเตือนตัวเองทุก 1 ชั่วโมงให้ลุกขึ้นมาเดินยืดเส้นยืดสายหรือขยับตัวออกกำลังกายเบาๆ หรือจะใช้โอกาสที่ได้ทำงานอยู่บ้านแบ่งเวลาช่วงพักกลางวันมาทำงานบ้านหรือทำงานสวนเล็กๆ น้อยก็ได้ เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ นอกจากจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันส่วนเกิน และป้องกันอาการปวดเมื่อยจากโรคออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย

4. ออกกำลังกาย เพิ่มการเผาผลาญไขมัน

การออกกำลังกายนั้นไม่จำเป็นต้องไปที่ฟิตเนสหรือสวนสาธารณะเสมอไป ยังมีวิธีการออกกำลังลายลดไขมันที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมายและทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน อย่างเช่นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio) ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของหัวใจและปอดและช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ดี เช่น วิ่งจ๊อกกิ้งอยู่กับที่ กระโดดเชือก กระโดดตบ เต้นแอโรบิก เดินขึ้นลงบันได ปั่นจักรยาน เป็นต้น

รวมถึงการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง (Weight training) ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและช่วยเร่งอัตราการเผาผลาญแคลอรี่ เหมาะกับคนที่ต้องการลดน้ำหนักและกระชับสัดส่วนต่างๆ ให้กลับมาเข้ารูป เช่น การทำท่าแพลงค์ (Plank) การทำท่าสควอท การวิดพื้น และการยกดัมเบล

สำหรับคนที่ไม่ชอบออกกำลังกายแบบจริงจังและชื่นชอบการเล่นเกม อาจลองเล่นเกมที่ได้ทั้งความสนุกเพลิดเพลินและได้ออกกำลังกายไปในตัวบนแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Playstation, Nintendo Switch และ Xbox ที่มีเกมต่างๆ ให้ผู้เล่นได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างเล่นมากมาย เช่น Beat Saber, Ring Fit Adventure, Burn It Up, Just Dance 2020 หรือจะออกกำลังกายตามคลิปใน Youtube ที่สอนท่าออกกำลังกายกึ่งเต้นตามจังหวะเพลงเพิ่มความสนุกสนาน ก็น่าจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการออกกำลังกายได้ไม่น้อย

5. อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดเกินไป

ความกดดันและความเครียดเป็นอีกตัวการสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกหิวและกินมากผิดปกติโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อความเครียดโดยคิดว่าต้องชดเชยพลังงานที่ถูกใช้ไปในการต่อสู้กับความเครียด ดังนั้นถ้าอยากลดความอ้วน เราจึงควรเริ่มต้นจากการทำจิตใจให้แจ่มใส พยายามผ่อนคลายความเครียด ทำงานด้วยความสบายใจ อย่ากดดันตัวเอง เพื่อลดพฤติกรรมที่จะทำให้อ้วนและช่วยให้การลดน้ำหนักของเราได้ผลดีอย่างที่ตั้งเป้าไว้

เคล็ดลับผ่อนคลายจากความตึงเครียดที่ทำได้ด้วยตนเองมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ การนั่งสมาธิ การทำกิจกรรรมผ่อนคลายสมอง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง วาดรูป และยังรวมถึงการขอความช่วยเหลือหรือระบายกับคนใกล้ชิดเมื่อมีปัญหาหรือเรื่องทุกข์ใจ เพราะการเก็บปัญหาทุกอย่างไว้คนเดียวนั้นมีแต่จะทำให้เครียดมากกว่าเดิม

การปฏิบัติตามวิธีลดน้ำหนักง่ายๆ ทั้งหมดนี้พร้อมกันในคราวเดียวก็อาจเป็นเรื่องที่ยากไปสักหน่อย ลองค่อยๆ ปรับให้เกิดความเคยชินไปทีละอย่าง ให้รางวัลตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว และพยายามอย่ากดดันตัวเองว่าจะต้องลดน้ำหนักให้ได้ในเร็ววัน เป้าหมายการลดน้ำหนักก่อนกลับไปทำงานออฟฟิศก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคุณอย่างแน่นอน

Work from home ทั้งทีสุขภาพต้องดี รับคำปรึกษาและเทคนิคดีๆ ในการควบคุมน้ำหนักเพิ่มเติมได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก คลิกดูรายละเอียดบริการของเราได้เลยที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง