/    บทความ    /    อันตรายใกล้ตัวในฤดูฝน ภัยสุขภาพที่ป้องกันได้

อันตรายใกล้ตัวในฤดูฝน
ภัยสุขภาพที่ป้องกันได้

อันตรายใกล้ตัวในฤดูฝน ภัยสุขภาพที่ป้องกันได้

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ คาดว่าจะเริ่มประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2566 การเปลี่ยนแปลงของอากาศอาจนำมาซึ่งการเกิดโรคต่างๆ หลายชนิดที่แพร่ระบาดง่าย พรีโมแคร์อยากให้ทุกท่านดูแลสุขภาพก่อนเกิดโรค มาทำความรู้จักภัยร้ายหน้าฝนกับโรคต่างๆ กันดีกว่า

ภัยสุขภาพอันตรายในหน้าฝน

หน้าร้อนที่แสนอบอ้าวผ่านไปแล้ว เข้าสู่ความอึมครึมของฤดูฝนที่อากาศเย็นลงกว่าเดิม เป็นฤดูกาลที่หลายคนชื่นชอบ แต่รู้หรือไม่ว่าสายฝนที่ชุ่มฉ่ำอาจมาพร้อมโรคได้เช่นกัน มารู้จักโรค 3 กลุ่มที่มากับหน้าฝน พร้อมคำแนะนำในการป้องกันตัวเองให้สุขภาพดีตลอดฤดูฝนนี้มาฝากกัน

 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ 

  • โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในเด็ก และอัตราการเสียชีวิต มักพบในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป, เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี,  ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร, และหญิงตั้งครรภ์ ติดต่อจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ หากได้รับเชื้อจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล 
  • โรคปอดอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคประจำตัว ติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ การหายใจนำเชื้อที่ปนเปื้อนในอากาศ ผ่านการไอหรือจาม หากได้รับเชื้อมักจะมีไข้ ไอ และหายใจหอบเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน 

ซึ่งทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน

 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ 

  • โรคอุจจาระร่วง ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคอาการที่อาจพบ ได้แก่ ปวดท้อง ถ่ายเหลว มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน

สามารถป้องกันได้ โดยการล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังประกอบอาหาร รับประทานอาหาร หรือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิท รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ หากต้องการรับประทานอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง 

โรคติดต่อนำโดยยุงลาย 

  • โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากมีอาการรุนแรงอาจช็อกได้
  • โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรคอาการของโรค ได้แก่ มีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ผื่นแดงตามตัวแต่ไม่คัน มักหายไปภายใน 7 – 10 วัน และมีอาการปวดข้อตามหลังอาการผื่น ภายใน 1 – 10 วัน

ป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายเป็นพาหะนำโรค ได้ด้วยการสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขังและร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบบ้านเก็บบ้าน ให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย ไม่ให้มีมุมอับทึบ เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

รักษาสุขภาพให้แข็งแรงป้องกันภัยร้ายหน้าฝน 
  • สวมหน้ากากอนามัย และเปลี่ยนทันทีเมื่อหน้ากากชื้น
  • อาบน้ำ สระผมทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน
  • สระผมแล้วต้องเช็ดหรือเป่าผมให้แห้ง
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 1.5 ลิตรต่อวัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
หากท่านต้องการที่จะนัดหมายรับคำปรึกษาจากแพทย์ สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่พร้อมดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของท่านอย่างครบถ้วน 

Reference: