/    บทความ    /    Toxic Positivity การคิดบวกที่ทำร้ายตัวเราและคนรอบข้าง

Toxic Positivity การคิดบวกที่ทำร้ายตัวเราและคนรอบข้าง

Toxic Positivity
การคิดบวกที่ทำร้ายตัวเราและคนรอบข้าง

Toxic Positivity คืออะไร? ทำไมการคิดบวกจึงเป็นพิษร้ายต่อตัวเราและคนรอบข้างได้? ตัวอย่าง Toxic positivity และวิธีการรับมือ

การ Work from home การกักตัว และสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในหลายๆ ด้าน จนทำให้เรารู้สึกเครียด หดหู่ และอดกังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงในอนาคตไม่ได้ ถึงอย่างนั้นเราก็มักจะได้ยินถ้อยคำให้กำลังใจจากคนรอบข้างและสื่อต่างๆ ที่คอยบอกให้คิดบวกอยู่เสมอ เช่น ‘โชคดีแล้วที่เรายังมีงานให้ทำจากที่บ้าน’ ‘มองโลกในแง่ดีเข้าไว้’ ‘มีคนอื่นที่แย่กว่าอีกเยอะ’ ‘เรื่องแค่นี้เอง เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป’ หรือแม้แต่ ‘ความสุขอยู่ที่ใจเราเอง’

‘คิดบวกเข้าไว้’ อาจไม่ได้ช่วยเยียวยาจิตใจหรือทำให้รู้สึกดีขึ้นอย่างที่เราเคยเชื่อเสมอมา เพราะอาจเป็นการปฏิเสธการมีอยู่ของอารมณ์ในแง่ลบ ทั้งความเศร้า ความหดหู่ ความเครียด ความวิตกกังวล หรือความโกรธ ด้วยการใช้คำพูดในแง่ดีทั้งหลายกดเอาไว้ หรือสร้างมายาคติว่าการแสดงออกถึงอารมณ์แง่ลบจะทำให้เราดูอ่อนแอหรือเป็นคนที่ไม่น่าเข้าใกล้ ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงถึงภาวะ “Toxic Positivity” หรือที่แปลว่าภาวะคิดบวกจนเป็นพิษนั่นเอง

ทำไมการคิดบวกถึงทำร้ายเราได้?

Toxic positivity เกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ อาจเป็นพ่อแม่เราที่ตำหนิหรือลงโทษเมื่อเราแสดงอารมณ์โกรธหรือก้าวร้าว แทนที่จะพยายามถามหาเหตุผลว่าทำไมเราถึงแสดงออกแบบนั้น หรือถ้อยคำให้กำลังใจที่ดูเหมือนปัญหาที่เรากำลังเผชิญเป็นเรื่องเล็กน้อย ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้รับการรับฟังจริงๆ อาจเป็นโพสต์ในโซเชียลมีเดียของบรรดาเพื่อนๆ และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ดูจะใช้เวลาในช่วงโควิด-19 อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ หรือจะเป็นความรู้สึกของคุณเองที่บอกว่าไม่ควรจมอยู่กับความเศร้าหมอง ความวิตกกังวล และความกลัวอย่างที่กำลังเป็นอยู่ก็ได้

เพราะในชีวิตจริงคงไม่มีใครที่จะมีความสุขได้ตลอดเวลา และในแต่ละวันมีทั้งเรื่องดีและร้ายที่ทำให้เกิดอารมณ์หลากหลายทั้งทางลบและทางบวกปะปนกันไปเป็นเรื่องธรรมดา การคาดหวังให้ตัวเองคิดบวกหรือถูกบอกให้กดอารมณ์และความคิดแง่ลบไว้ตลอดจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝืนความรู้สึกและขัดกับกลไกทางธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอารมณ์ลบซ้ำซ้อน เช่น ความอับอาย หรือการด้อยค่าตัวเอง ซึ่งจะยิ่งไม่เป็นผลดีและอาจนำไปสู่ภาวะสุขภาพจิตที่ย่ำแย่หรือก่อให้เกิดความวิตกกังวลและซึมเศร้าตามมาได้

มีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าคนเราจะตอบสนองอย่างไรเมื่อถูกบอกไม่ให้คิดถึงอะไรบางอย่าง ผลปรากฏว่ากลับยิ่งทำให้คิดถึงสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่มและให้ดูวิดีโอ โดยกลุ่มหนึ่งสามารถแสดงอารมณ์ได้ปกติ ในขณะที่อีกกลุ่มต้องทำเหมือนไม่รู้สึกอะไร ผลลัพธ์ชี้ว่ากลุ่มที่เก็บอารมณ์ความรู้สึกเกิดความเครียดมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนี่อาจนำไปสู่ปัญหานอนไม่หลับ และส่งผลต่อสุขภาพจิตโดยรวมได้

รับมือกับอารมณ์ด้านลบอย่างไรให้ห่างไกล Toxic Positivity

  • หมั่นพูดคุยกับตัวเองและยอมรับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น เตือนตัวเองว่าอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เราสามารถมองโลกตามความเป็นจริง โดยไม่จำเป็นต้องปิดกั้นหรือกดความรู้สึกแง่ลบไว้ เพราะยิ่งกดไว้เท่าไหร่ก็มีแต่จะยิ่งทำให้รู้สึกแย่นานขึ้นเท่านั้น
  • ซื่อสัตย์กับตัวเองให้มาก หากรู้สึกไม่ดีก็ไม่จำเป็นต้องฝืนทำตัวร่าเริง ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือกลัวว่าความรู้สึกแย่ของตัวเองจะรบกวนหรือทำให้คนอื่นไม่สบายใจ เพราะคนที่เราควรใส่ใจมากที่สุดคือตัวเราเอง นอกจากนี้การคิดถึงคนอื่นมากไปจนละเลยความรู้สึกตัวเองยังอาจทำให้ขาดความเคารพตัวเองและเห็นค่าในตัวเองน้อยลงได้ 
  • ระบายสิ่งที่อยู่ในใจ มีงานวิจัยที่พบว่าระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดสามารถช่วยลดความรุนแรงของอารมณ์ลงได้ ไม่ว่าจะอารมณ์โกรธ เศร้า หรือความเจ็บปวดทางใจก็ตาม โดยการพูดคุยกับใครสักคนที่พร้อมรับฟังหรือการเขียนลงในไดอารี่นั้นเป็นเหมือนการบอกสมองให้ปล่อยผ่านอารมณ์ลบ ทำให้เราคิดและพะวงถึงเรื่องนั้นๆ น้อยลงได้
  • ดูแลตัวเองให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานเหล่านี้ทำได้ทันทีและใช้ได้จริง เพราะเมื่อสุขภาพกายและใจเข้มแข็ง ปัญหาต่างๆ ก็พอจะเบาบางลงไม่มากก็น้อย
  • พักจากโลกโซเชียลที่อาจทำให้รู้สึกอ่อนล้า ในช่วงที่เราแทบไม่ได้พบปะกันข้างนอก แต่เปลี่ยนมาพูดคุยหรือติดตามชีวิตกันและกันผ่านโซเชียลมากขึ้น ทำให้ง่ายที่จะเกิดการเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนอื่นที่ดูจะรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ได้ดีกว่า จนกลายเป็นความรู้สึกแย่หรือผิดหวังในตัวเองขึ้น แต่ความจริงคือ ใครๆ ก็อยากโพสต์แต่สิ่งดีๆ และในสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้แบบนี้ เป็นเรื่องปกติที่เราทุกคนต่างกำลังต่อสู้ความรู้สึกโดดเดี่ยว ความวิตกกังวล ความกลัวในหลายๆ เรื่อง ความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ปกติที่สุด

หยุดยั้ง Toxic Positivity ด้วยพลังแห่งความเข้าใจ 

คำแนะนำหรือพฤติกรรมที่เกิดจากความหวังดีที่ขาดความเข้าอกเข้าใจอาจกลายเป็นการละเลยความรู้สึกของอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว ลองสังเกตตัวเองดูว่าคุณกำลังเผลอใช้ความคิดบวกที่เป็นพิษทำร้ายคนรอบข้างอยู่หรือไม่ เช่น 

  • ตอบกลับความทุกข์หรือปัญหาของคนอื่นด้วยประโยคคิดบวก ‘อย่าไปคิดถึงมันเลย’ ‘ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี’
  • การเอาตัวเข้าไปตัดสินแทนที่จะทำความเข้าใจว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร ‘ดีแค่ไหนแล้วที่…’ ‘ถ้าฉันผ่านมาได้ เธอก็ทำได้เหมือนกัน’
  • การกล่าวโทษเมื่ออีกฝ่ายแสดงอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจ เช่น ‘แค่นี้ไม่เห็นต้องโกรธ’ ‘ทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่’
  • การต่อว่าว่าอีกฝ่ายทำเสียบรรยากาศหรือไม่น่าอยู่ใกล้เมื่อพวกเขาเริ่มพูดถึงปัญหาหรือความเศร้าที่กำลังเผชิญ

อย่าลืมว่าเราทุกคนมีสิทธิที่จะรู้สึกอย่างไรก็ได้ ลองเริ่มต้นด้วยการรับฟังโดยไม่ตัดสิน ปล่อยให้พวกเขาได้ระบาย และให้กำลังใจด้วยคำพูดที่แสดงว่าคุณรับรู้และเห็นใจในสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ เช่น 

  • ‘รู้สึกยังไงพูดออกมาได้เลย ฉันยินดีรับฟัง’ 
  • ‘เธอต้องเครียดมากแน่ๆ ฉันพอจะช่วยอะไรได้ไหม’ 
  • ‘ชีวิตก็มีวันแย่ๆ แบบนี้ ยังไงฉันก็อยู่ข้างเธอเสมอ’ 
  • ‘เก่งมากที่ผ่านเรื่องพวกนั้นมาได้’
  • ‘ทุกคนก็มีเรื่องราวและข้อจำกัดในชีวิตต่างกัน อย่าฝืนตัวเองมากเกินไป’

เครียด กังวล หดหู่ เศร้า อย่าเก็บไว้คนเดียว ทุกอารมณ์ทุกความรู้สึก พูดคุยกับนักจิตวิทยาได้เสมอ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมรับฟังคุณด้วยหัวใจ ติดต่อ LINE @primoCare เพื่อนัดปรึกษาปัญหาสุขภาพใจแบบตัวต่อตัว หรือปรึกษาผ่านทาง Telemedicine กับเราได้เลย 

Reference