/    บทความ    /    วัยทองคืออะไร เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนมากแค่ไหน?

วัยทองคืออะไร เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนมากแค่ไหน?

วัยทองคืออะไร เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนมากแค่ไหน?

วัยทอง

วัยหมดประจำเดือน (Menopause) จะมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 45-55 ปี  ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศในระดับต่ำลง ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามกลไกธรรมชาติของร่างกายจากการที่ระดับฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เริ่มลดน้อยลง

ภาวะหมดประจำเดือนส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย

ภาวะวัยทองหรือภาวะหมดประจำเดือนเกิดจากร่างกายของผู้หญิงไม่มีการตกไข่ เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ไม่ผลิตฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีกต่อไป ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดจะส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้

  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน : เป็นฮอร์โมนสนับสนุนการพัฒนาของเต้านมและมดลูกควบคุมการตกไข่ และมีผลต่อสภาพร่างกายและอารมณ์ของเพศหญิง
  • ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน : เป็นฮอร์โมนควบคุมรอบประจำเดือน และเตรียมมดลูกให้เหมาะสมต่อการฟักตัวของไข่หากได้รับการปฏิสนธิ

ภาวะหมดประจำเดือนสามารถแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่

  1. วัยหมดประจำเดือนโดยธรรมชาติ เกิดเมื่อผู้หญิงมีรอบเดือนเป็นเดือนสุดท้าย และหยุดไปนาน 1 ปี อายุโดยเฉลี่ย 45-55 ปี
  2. วัยหมดประจำเดือนหลังการผ่าตัด เป็นการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหลังการผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง จะเป็นภาวะที่รอบเดือนหมดทันทีเนื่องจากขาดฮอร์โมนที่มาจากรังไข่

ภาวะหมดประจำเดือนก่อให้เกิดอาการแสดงหลายอย่าง อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ (hot flush) โดยเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนบน เช่น บริเวณหน้า คอ และอก มักเกิดอาการนานประมาณ 1-5 นาที ร่วมกับ อาการอื่น ได้แก่ เหงื่อออก หนาวสั่น ลำตัวเย็นชื้น วิตกกังวล หรือใจสั่นได้ 

นอกจากนี้อาจเกิดปัญหาทางระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เช่น  กลั้นปัสสาวะลำบาก ช่องคลอดแห้ง ติดเชื้อและคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ อาการวัยทองอื่นๆ ที่อาจพบได้อีก เช่น มีรอบเอวเพิ่มขึ้น มวลกล้ามเนื้อลดน้อยลง ผิวหนังบาง มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ เป็นต้น

อาการในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้ ในระยะเวลา 5-10 ปี หลังหมดประจำเดือน ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งจะเกิดภาวะกระดูกเปราะหักง่าย แม้เพียงอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นอาจเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง ความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

เคล็ดลับดูแลตัวเองของผู้ที่เข้าสู่วัยทอง

อาการของวัยทองเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายของผู้หญิงตามวัย แม้อาการวัยทองจะเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทองหรืออยู่ในวัยทองควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • อกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดอาการนอนไม่หลับ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น อีกทั้งทำให้กระดูกและสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลา ผัก และผลไม้ไม่หวาน เพื่อปรับร่างกายฮอร์โมนให้คงที่ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • เพิ่มเอสโตรเจนจากธรรมชาติ ด้วยอาหารจำพวกถั่วเหลือง หรือพืชผักใบเขียว เพื่อช่วยลดอาการหงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวน
  • ทานอาหารเสริม หรือวิตามิน แคลเซียม วิตามินดี และแมกนีเซียมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก
  • พักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกระชับช่องคลอด (Kegel Exercises)
  • ทาครีมบำรุงผิว มอยส์เจอไรเซอ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรเทาอาการผิวแห้ง
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และคัดกรองเบื้องต้น ในระหว่างและหลังวัยหมดประจำเดือน เช่น ตรวจเลือด ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจมะเร็งเต้านม เป็นต้น
ท่านสามารถปรึกษาอาการวัยทองและเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับฮอร์โมนได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก กับโปรแกรม Personalized Lifestyle Medicine
 

Reference: