/    บทความ    /    ปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว” หยุดได้ ถ้าทุกคนเข้าใจ

ปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว” หยุดได้ ถ้าทุกคนเข้าใจ

ปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว”
หยุดได้ ถ้าทุกคนเข้าใจ

เด็กน้อยนั่งเศร้ากับของเล่น หันหน้าออกจากภาพความรุนแรงในครอบครัวเมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันโดยมีการบีบแขนและโต้เถียง

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เผยสถิติความรุนแรงในครอบครัว ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (ต.ค.63-ก.ย.64) มีเหยื่อมากถึง 2,177 ราย โดยเป็นเพศหญิงถึง 81% ซึ่ง 77% ไม่เคยมีการดำเนินคดีหรือร้องขอความช่วยเหลือ ส่วนผู้กระทำความรุนแรงนั้นส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยคิดเป็น 86% นอกจากนี้องค์กรสหประชาชาติ ยังระบุว่าประเทศไทยยังติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีสถิติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสูงอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้​ การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกตัวกระตุ้นสำคัญของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยพบสถิติเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% หลังจากมีมาตรการอยู่บ้านลดการติดเชื้อ ซึ่งปัจจัยร่วมส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องความเครียดทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้ในครอบครัวและการใช้สารเสพติด เช่น สุรา และบุหรี่

คำจำกัดความของ “ความรุนแรงในครอบครัว​”

ความรุนแรงในครอบครัว (Family violence หรือ Domestic violence) หมายถึงการใช้ความรุนแรงในรูปแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำร้าย ข่มขู่ บังคับ รวมถึงการพยายามควบคุมบงการให้เหยื่อทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งเหยื่อในที่นี้ก็คือบุคคลในครอบครัว โดยอาจเป็นคู่สามีภรรยา พ่อแม่ ลูก หลาน พี่น้อง ปู่ย่าตายาย หรือเครือญาติ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่จำกัดแค่การใช้กำลังทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงการใช้คำพูดและการบังคับบงการที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ อารมณ์ รวมถึงความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องรู้สึกหวาดกลัวหรือหวาดระแวง 

  • ความรุนแรงทางร่างกาย (Physical abuse) เป็นการใช้กำลังให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น​ ตบ ตี เตะ ต่อย หยิก การใช้อาวุธขู่หรือทำร้าย รวมไปถึงการห้ามไม่ให้เหยื่อได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น
  • ความรุนแรงทางอารมณ์หรือจิตใจ (Emotional abuse) เป็นการทำร้ายทางคำพูดหรือการกระทำ ที่แม้จะไม่มีร่องรอยเป็นหลักฐานชัดเจนเหมือนความรุนแรงทางร่างกาย แต่อาจสร้างบาดแผลทางจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ดูถูกเหยียดหยาม ด้อยค่า ทำลายข้าวของส่วนตัวของอีกฝ่ายหรือขู่ทำลาย ตะโกนด่าทอ ทำให้อับอายทั้งในที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ แสดงความหึงหวงเกินเหตุ พูดทำร้ายความรู้สึกแล้วอ้างว่าเป็นผลจากแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด พูดปั่นหัวให้เหยื่อสับสนหรือโทษตัวเอง สนับสนุนให้ลูกมีพฤติกรรมต่อต้านเหยื่อ รวมไปถึงการจับผิดบงการพฤติกรรม​ การทำให้กลัวหรือรู้สึกไร้หนทางที่จะก้าวออกจากความสัมพันธ์
  • ความรุนแรงทางเพศ (Sexual abuse) มักมีความรุนแรงทางร่างกายมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การสัมผัสทางเพศโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม เช่น ข่มขืน (ไม่เว้นกรณีที่สามีบังคับภรรยาให้มีเพศสัมพันธ์) บังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัยหรือคุมกำเนิดเมื่ออีกฝ่ายต้องการคุมกำเนิด บังคับให้ตั้งครรภ์ รวมถึงการวิจารณ์ว่าอีกฝ่ายไม่สามารถสร้างความพึงพอใจทางเพศให้ตน การกล่าวหาว่านอกใจ การตั้งใจลงโทษหรือบงการอีกฝ่ายด้วยการไม่มีเพศสัมพันธ์หรือไม่แสดงความรัก
  • การทารุณกรรมทางการเงิน (Financial abuse) คือการพยายามให้เหยื่อต้องพึ่งพาทางด้านการเงิน เช่น ควบคุมบงการการใช้เงิน บังคับให้แจกแจงการใช้เงินทุกอย่าง บังคับเก็บเงินของอีกฝ่ายไว้ที่ตนเอง ขโมยเงิน ไม่ให้เงินไปโรงเรียนหรือทำงาน ห้ามไม่ให้ไปทำงานหาเงินหรือพยายามทำให้งานเสียหาย ขู่ว่าจะไม่เลี้ยงดูลูกหากเหยื่อจบความสัมพันธ์ รวมถึงการห้ามไม่ให้อีกฝ่ายเข้าถึงทรัพยากรอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค และที่พักอาศัย
  • การล่วงละเมิดทางจิต (Spiritual abuse) คือการใช้ศาสนา ความเชื่อ หรือวัฒนธรรมมาเป็นข้ออ้างเพื่อบงการเหยื่อ เช่น ห้ามไม่ให้ปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนา
  • การล่วงละเมิดด้วยการสะกดรอย เป็นการติดตามความเคลื่อนไหวโดยละเมิดความเป็นส่วนตัวซึ่งเป็นได้ทั้งในแง่การติดตามในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์ เช่น ตามติดทุกที่โดยที่เหยื่อไม่เต็มใจ ติด GPS ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือสอดส่องความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ตลอดเวลา ติดตั้งกล้องสอดแนมในตุ๊กตาหรือของเล่น เป็นต้น

ลบความเชื่อผิดๆ ร่วมสร้างสังคมปลอดความรุนแรง

สังคมไทยของเรายังมีค่านิยมและความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอยู่มาก ซึ่งความเชื่อที่ผิดเหล่านี้ฝังรากลึกและบางครั้งก็เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ไปเสียอย่างนั้น พรีโมแคร์ชวนคุณมาทำความเข้าใจ และแบ่งปันความรู้ที่ถูกต้องแก่คนรอบข้างเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเปลี่ยนทัศนคติต่อความรุนแรงในครอบครัวของคนในสังคม ให้กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เช่นเดียวกับความรุนแรงในรูปแบบอื่น

ความเชื่อ #1 ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องไกลตัว

ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center: OSCC) กระทรวงสาธารณสุขในปี 2018 คาดการณ์ว่า 1 ใน 6 ของผู้หญิงไทยเคยเผชิญกับความรุนแรงในคู่รัก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี โดยส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงทางอารมณ์และจิตใจ ความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงทางร่างกาย นอกจากนี้ รายงานข้อมูลในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า 1 ใน 4 ของผู้หญิง และ 1 ใน 9 ของผู้ชาย ต่างเคยเผชิญความรุนแรงในครอบครัวมาในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

ความเชื่อ #2 ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นในครอบครัวที่ยากจนเท่านั้น

ความรุนแรงในครอบครัวไม่ขึ้นอยู่กับความยากดีมีจน สถานะทางสังคม ระดับการศึกษา เชื้อชาติ หรือศาสนา และเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก 

ความเชื่อ #3 ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นในคู่รักหญิง-ชายเท่านั้น

มีข้อมูลชี้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นกับคู่รักเพศเดียวกันได้มากพอกับคู่รักหญิงชาย โดยที่อาจมีอัตราเสี่ยงต่อความรุนแรงมากกว่าด้วยสาเหตุจากความเชื่อและทัศนคติผิดๆ ต่อความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกัน เช่น การใช้กำลังเป็นการแสดงอำนาจและแสดงความเป็นเจ้าของ หรือความเชื่อที่ว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ รวมถึงปัจจัยทางภายนอกอย่างแรงกดดันจากคนในสังคมและการถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เหยื่อลังเลที่จะเอาความหรือเปิดเผยเรื่องราวต่อสาธารณะ

ความเชื่อ #3 การดื่มสุราเป็นสาเหตุให้ขาดสติและใช้ความรุนแรง

การดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดอื่นๆ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง ผู้ใช้ความรุนแรงหลายคนมักอ้างว่าตนขาดสติจากการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้พ้นผิดหรือไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ตัวเองก่อ หรือบางทีก็อ้างว่าใช้ความรุนแรงเพราะไม่ได้ดื่มสุราตามต้องการ

ความเชื่อ #4 ความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากการใช้อารมณ์ชั่ววูบ

ความรุนแรงไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบหรือการบันดาลโทสะ แต่เป็นเพียงข้ออ้างในการกระทำรุนแรง โดยผู้ใช้ความรุนแรงมักมีสติมากพอที่จะเลือกใช้ความรุนแรงต่อคนรักหรือคนในครอบครัวเท่านั้น ไม่เคยคิดใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น เช่น หัวหน้า หรือเพื่อนบ้าน และหากมีคนมาเคาะประตูบ้านหรือมีคนโทรมาก็สามารถหยุดความรุนแรงนั้นได้ทันที นอกจากนี้ส่วนใหญ่มีสติคิดร้ายร่างกายเหยื่อในส่วนที่คนภายนอกมองไม่เห็น และมักลงมือเมื่ออยู่ในพื้นที่ลับตา ไม่มีพยานรู้เห็นเท่านั้น

ความเชื่อ #5 หากผู้ใช้ความรุนแรงสำนึกผิด และสัญญาว่าจะไม่ทำอีก ความรุนแรงก็จะสิ้นสุดลง

ผู้ใช้ความรุนแรงบางคนอาจมีท่าทีสำนึกและอ้อนวอนให้เหยื่อให้อภัยโดยสัญญาว่าจะไม่ทำอีก แต่นั่นอาจเป็นเพียงวิธีควบคุมบงการให้เหยื่อไม่สามารถหลุดพ้นไปจากความสัมพันธ์ได้ ผู้ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่จะไม่สามารถหยุดพฤติกรรมดังกล่าวได้จริง ทั้งยังมีแนวโน้มกระทำบ่อยขึ้นและเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเชื่อ #6 ความรุนแรงเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่มีผลต่อเด็ก

การเห็นพ่อหรือแม่ถูกทำร้ายโดยอีกฝ่ายและการเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดกลัวจากผู้กระทำความรุนแรงมีผลกระทบอย่างมากต่อเด็ก การศึกษาหลายงานยังชี้ว่าเด็กๆ สามารถรับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ได้กระทำต่อหน้า ซึ่งเด็กๆ ที่เผชิญความรุนแรงเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและมีปัญหาด้านพฤติกรรมและพัฒนาการ รวมถึงปัญหาในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงกับคู่ของตนเมื่อโตขึ้นมากกว่าเด็กทั่วไป

ความเชื่อ #7 เป็นตัวเหยื่อเองที่เลือกจะไม่เดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง

หลายครั้งที่ผู้ที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่อีกฝ่ายใช้ความรุนแรงไม่สามารถก้าวออกมาได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เหยื่ออาจยังไม่สามารถตัดใจได้เนื่องจากผู้ใช้ความรุนแรงมักไม่ได้แสดงด้านแย่ออกมาตั้งแต่ในช่วงแรก แต่เป็นเรื่องดีๆ ที่ทำให้ฝ่ายผู้ถูกกระทำเกิดความรักความผูกพันและพร้อมให้อภัยโดยเชื่อว่าจะไม่ถูกทำร้ายอีก และอาจเป็นเหตุผลด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เป็นห่วงความปลอดภัยของลูก ไม่สามารถนำลูกไปด้วยได้ ไม่มีที่ไป ไม่ได้ทำงานและไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในด้านการเงิน นอกจากนี้บ่อยครั้งที่มีการบงการให้เหยื่อแยกตัวออกห่างจากเพื่อนฝูงหรือครอบครัว ทำให้ยิ่งยากที่จะออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษได้

ความเชื่อ #8 เหยื่อมีนิสัยชอบความรุนแรง หรือเป็นฝ่ายกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง

หลายครั้งที่เหยื่อตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรงมากกว่า 1 ครั้ง ทำให้ถูกมองว่ามีลักษณะนิสัยที่ดึงดูดคนที่ชอบใช้ความรุนแรง หรือบางครั้งเป็นเหยื่อเองที่โทษตัวเอง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือข้อเท็จจริงที่ว่า “ไม่มีใครสมควรถูกใช้ความรุนแรง” ไม่ว่าเหยื่อจะมีลักษณะนิสัยอย่างไร หรือแม้แต่พฤติกรรมนอกใจ การทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงเพื่อลงโทษก็เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อยู่ดี

ความเชื่อข้อนี้ที่ว่าเหยื่อเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรง มีลักษณะของการโทษเหยื่อ หรือ Victim Blaming  ซึ่งมักมีรากฐานจากความเชื่อที่ว่าผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีสิทธิลงโทษภรรยาหรือลูกเมื่อมีพฤติกรรมไม่ตรงกับความต้องการหรือความคาดหวังของตนเอง

ความเชื่อ #9 ผู้ที่ใช้ความรุนแรงและ/หรือเหยื่อความรุนแรง เป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง (Low self-esteem)

ผู้ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่ไม่ได้มีภาวะเคารพตัวเองต่ำ แต่เกิดจากความเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจควบคุมบงการชีวิตและลงโทษคู่ของตนหรือลูกๆ หรือบางทีอาจใช้ลักษณะดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อซักฟอกตัวเองจากการใช้ความรุนแรงเท่านั้น ส่วนเหยื่อความรุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีความเคารพหรือเห็นค่าของตัวเองต่ำ แต่อาจถูกปั่นหัวจากผู้ใช้ความรุนแรงด้วยการดูถูก พูดให้เสียความมั่นใจ หรือโยนความผิดในเรื่องต่างๆ ให้ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เหยื่อโทษตัวเองและไม่กล้าเปิดโปงผู้กระทำ

ความเชื่อ #10 ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อมักโกหกเกี่ยวกับการถูกใช้ความรุนแรง

กรณีการใช้ความรุนแรงที่เกิดจากการกุเรื่องถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นจริง โดยมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังในปี 2013 พบว่าในช่วง 17 เดือน มีเคสความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด 111,891 เคส พบเพียง 6 เคสเท่านั้นที่เป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง ความเชื่อข้อนี้ยังเป็นดาบสองคมที่อาจทำให้เหยื่อความรุนแรงยิ่งไม่กล้าขอความช่วยเหลือเมื่อเผชิญความรุนแรง เนื่องจากกลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อ โดยจากสถิติของศูนย์พึ่งได้ พบว่ามีถึง 77% ที่เหยื่อตัดสินใจไม่แจ้งความดำเนินคดี

ความเชื่อ #11 ผู้ชายที่ใช้ความรุนแรง เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรง

เป็นความจริงที่ผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงบางส่วนมีพื้นฐานมาจากการเผชิญความรุนแรงในวัยเด็ก แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่ไม่ได้เลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงในวัยเด็ก ทั้งนี้การเผชิญความรุนแรงในวัยเด็กและพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในวัยผู้ใหญ่นั้นมีความซับซ้อนและยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสร้างบรรทัดฐานความเข้าใจใหม่ว่า ความรุนแรงคือทางเลือกและการตัดสินใจเฉพาะบุคคล ไม่ควรมีข้ออ้างที่ทำให้กลายเป็นเรื่องชอบธรรมได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเพศใดก็ตาม

เมื่อตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงหรือพบเห็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัว สามารถขอความช่วยเหลือจากสายด่วน 191 หรือสายด่วน 1300 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ช่วยเหลือสังคม One Stop Crisis Center (OSCC) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 

หากไม่แน่ใจว่ากำลังเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่ คุณสามารถทำแบบประเมินแบบวัดความสัมพันธ์/ความรุนแรงในชีวิตคู่ และค้นหาช่องทางขอความช่วยเหลือทั่วประเทศไทย ได้ในแอปพลิเคชัน icanplan ซึ่งจัดทำขึ้นโดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ความช่วยเหลือและแนะแนวทางการรับมือกับความรุนแรงโดยเฉพาะ