/    บทความ    /    โภชนบำบัดดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

โภชนบำบัดดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

โภชนบำบัดดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ที่เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงจำเป็นจะต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถที่จะดูแลตนเอง เพื่อป้องกันภาวะโรคเบาหวาน หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานด้วยโภชนบำบัด พร้อมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

 

โรคเบาหวาน (Diabetes)

โดยปกติแล้วตับอ่อนจะทำหน้าที่สร้างอินซูลิน เพื่อที่จะนำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย และนำมาสร้างเป็นพลังงาน ซึ่งโรคเบาหวานนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายทำหน้าที่ผิดปกติ ดังนี้

  • เมื่อตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลินอีกต่อไป
  • เมื่อตับอ่อนผลิตอินซูลินในปริมาณที่น้อยมาก
  • เมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินอย่างเหมาะสม จะเกิดภาวะที่เรียกว่า “ภาวะดื้อต่ออินซูลิน”

ทั้งนี้ หากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้เต็มที่ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน จะมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น 

 

ประเภทของโรคเบาหวาน

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes mellitus) คือ ภาวะที่เกิดจากเซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายจนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1นั้นจะต้องใช้การฉีดอินซูลินเข้าช่วย เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
  2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes  mellitus) คือ ภาวะที่ร่างกายของผู้ป่วยยังสามารถที่จะผลิตอินซูลินเองได้ แต่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ร่างกายจะไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นผู้ป่วยจะต้องมีการรับประทานยาควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดน้ำหนัก การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3.  โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus) คือ โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์
  4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ(Specific types of diabetes mellitus) สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น

ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)

คือ ภาวะที่น้ำตาลในเลือดมีปริมาณที่สูงเกินค่าปกติ แต่ยังไม่สูงมากพอที่จะสามารถวินิจฉัยให้เป็นโรคเบาหวานได้ โดยผู้ป่วยที่มีภาวะก่อนเบาหวานนั้นจะไม่มีอาการข้างเคียง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถที่จะพัฒนาจากภาวะก่อนเบาหวาน เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ หรืออาจนำมาสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ของโรคเบาหวาน เช่น โรคหัวใจ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานด้วยเช่นกัน

โภชนบำบัด (Diet Therapy)

คือการนำความรู้ทางด้านอาหารมาช่วยในการรักษา และบรรเทาอาการผู้ป่วยจากโรค สภาวะต่างๆได้ โดยการคำนึงถึงความเหมาะสมของโรค หรือสภาวะในขณะเจ็บป่วย ตามความต้องการของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงในขณะนั้นให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

โภชนบำบัดกับโรคเบาหวาน

การนำโภชนบำบัดมาประยุกต์ใช้กับโรคเบาหวาน ไม่เพียงแต่จะช่วยในการควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันภาวะของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อีกด้วย เช่น โรคหัวใจ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ร่างกายสามารถผลิตอินซูลินเองได้นั้น มักจะใช้วิธีการบำบัดโดยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และดีต่อสุขภาพ โดยมีหลักในการเลือกทานอาหารเพียง 4  ประการ ดังนี้

 

  1. เลือกบริโภคอาหารที่มีแคลลอรีต่ำ
  2. เลือกบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbs) คืออาหารจำพวกแป้งและเส้นใยอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผักใบเขียว ถั่วต่าง ๆ ผลไม้ เป็นต้น
  3. เลือกบริโภคอาหารที่ประกอบไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated fats) เช่น น้ำมันมะกอก จะช่วยลดระดับไขมันคอเรสเตอรอลในเลือด
  4. ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนย ชีส และเนื้อสัตว์ที่มีไขมัน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์นั้น ควรที่จะควบคุมอาหาร เพื่อที่จะให้ร่างกายแข็งแรง และกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ ดังนี้
  • ควบคุมคาร์โบไฮเดรต : เป้าหมายของการควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ โดยการรับประทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เท่ากันในทุกวัน ตามปริมาณที่แพทย์แนะนำ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูง หรือต่ำกว่าปกติจากการทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรตที่แตกต่างกันในแต่ละวัน
  • จดบันทึกปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับในแต่ละวัน : วิธีการนี้จะช่วยให้การควบคุมคาร์โบไฮเดรตของคุณได้ผลมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการจดลงสมุดบันทึก และควบคุมไม่ให้ปริมาณของคาร์โบไฮเดรตในแต่ละมื้ออาหารเกินกว่า 45-60 กรัม ทั้งนี้ปริมาณของตาร์โบไฮเดรตที่คนไข้ควรได้รับจะแตกต่างกันไปตามที่แพทย์แนะนำขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย
  •  ทานอาหารให้ครบทุกมื้อ : การข้ามอาหารมื้อเช้า หรือมื้อกลางวันเพื่อที่จะสามารถลดปริมาณแคลอรี่ที่ควรบริโภคในแต่ละวันนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดตกแล้ว ยังจะทำให้ทานอาหารในมื้อถัดไปในปริมาณที่มากกว่าปกติอีกด้วย
  • เพิ่มการบริโภคผัก : การใส่ผักเพิ่มลงไปในมื้ออาหาร จะช่วยเพิ่มสีสันให้อาหารดูน่าทานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารของคุณทำงานดีขึ้นอีกด้วย เลือกผักที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น เห็ด หัวหอม มะเขือเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้หากท่านต้องการที่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถที่จะเข้ามารับคำปรึกษาได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่พร้อมดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของท่านอย่างครบถ้วน ด้วยโปรแกรมโภชนบำบัด ด้วยการให้คำปรึกษาทางด้านการบริโภคอาหารเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย ตามแนวทางการรักษาแบบองค์รวม สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้า ที่นี่ 

Reference