/    บทความ    /    ค่าความดันโลหิต ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากแค่ไหน?

ค่าความดันโลหิต ส่งผลกระทบ
ต่อร่างกายมากแค่ไหน?

ค่าความดันโลหิต ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากแค่ไหน?

ความดันโลหิตเป็นค่าความดันของกระแสเลือดที่ส่งแรงกระทบกับผนังหลอดเลือดแดง โดยเกิดขึ้นจากการกระบวนการสูบฉีดเลือด ทั้งนี้หากมีค่าความดันโลหิตสูง หรือค่าความดันโลหิตต่ำอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อตรวจรักษาได้ทันท่วงที และหาวิธีดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยผู้ป่วยสามารถตรวจหาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากค่าความดันได้ด้วยการวัดค่าความดันโลหิต หรือตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ความดันโลหิต (Blood Pressure)

ความดัน หรือความดันโลหิต คือ ค่าความดันของกระแสเลือดที่ส่งแรงกระทบกับผนังหลอดเลือดแดงโดยเกิดขึ้นจากกระบวนการสูบฉีดเลือดของหัวใจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ค่า ได้แก่ ความดันตัวบน และความดันตัวล่าง ซึ่งทั้งสองค่านั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • ความดันตัวบน หรือตัวเลขค่าบน (Systolic Blood Pressure) ค่าแรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวหรือสูบฉีดเลือดส่งเลือดเข้าหลอดเลือดต่างๆไปเลี้ยงทั่วร่างกาย
  • ความดันตัวล่าง หรือตัวเลขค่าล่าง (Diastolic Blood Pressure) ค่าแรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว เป็นผลจากความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
ทั้งนี้ในประเทศไทยกำหนดค่าความดันโลหิตปกติ คือค่าความดันโลหิตตัวบนไม่เกิน 140 และตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท โดยการอ่านค่าความดันโลหิต สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
 
  • ค่าความดันปกติ (normal) ตัวเลขค่าบนอยู่ในช่วง 120-129 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างอยู่ในช่วง 80-84 มิลลิเมตรปรอท (120-129 / 80-84 มิลลิเมตรปรอท) 
  • ค่าความดันที่เหมาะสม (optimal) ตัวเลขค่าบนอยู่ในช่วง 90-120 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างอยู่ในช่วง 60-80 มิลลิเมตรปรอท (90-120 / 60-80)
  • ค่าความดันสูง (hypertension) ตัวเลขค่าบนสูงกว่า 180 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างสูงกว่า 110 มิลลิเมตรปรอท (180 / 110 มิลลิเมตรปรอท)
  • ค่าความดันต่ำ (hypotension) ตัวเลขค่าบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท และตัวเลขค่าล่างต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท (90 / 60 มิลลิเมตรปรอท) 
ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
ความดันโลหิตปกติ ไม่ควรเกิน 130/85 มิลลิเมตรปรอท โดยความดันโลหิตที่สูงเกินกว่า 140/85 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเริ่มผิดปกติ ผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูงมักจะตรวจไม่พบสาเหตุมากกว่าร้อยละ 90 แต่หากมีการตรวจพบมักมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น กรรมพันธุ์ โรคไต หลอดเลือดแดงตีบ นอกจากนี้ยังเกิดจากพฤติกรรมหรือสาเหตุเสี่ยง ได้แก่ การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น 
 
ทั้งนี้ผู้ป่วยความดันสูงส่วนใหญ่จะมักไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด และมักตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยผู้ป่วยความดันสูงอาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ ซึ่งมักจะเป็นตอนตื่นนอนใหม่ๆ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบๆ แบบไมเกรน ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยทันที เนื่องจากอาจเสี่ยงเป็นโรคที่อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต รวมถึงปัญหาทางด้านสายตาได้
 
การรักษาความดันสูงให้อยู่ในค่าปกติ 
ความดันโลหิตเป็นภาวะที่สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย หากพบว่าค่าความดันโลหิตผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และปฏิบัติตนให้ถูกต้องอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกัน ติดตามอาการและหาทางรักษาให้ค่าความดันกลับมาเป็นปกติ โดยผู้ป่วยที่มีภาวะความดันสูง สามารถปรับพฤติกรรมให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ ดังนี้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • รักษาสุขภาพจิตให้เป็นปกติ หลีกเลี่ยงความเครียด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ตรวจวัดความดันโลหิตให้สม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารและยาตามแพทย์สั่งและมาพบแพทย์ถ้ามีอาการผิดปกติ
ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
เป็นภาวะความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท โดยสาเหตุที่อาจทำให้ความดันต่ำ ได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุที่เพิ่มมากขึ้น การใช้ยาบางชนิด รวมไปถึงโรคหรือภาวะที่มีผลต่อระดับความดันโลหิต เช่น การตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ การป่วยติดเชื้อ เป็นต้น อีกทั้งอาจมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน วิตามินซีทำให้ผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรง จนเกิดการคลายตัวมากเกินไป
 
ปกติแล้วความดันโลหิตต่ำจะไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่หากอยู่ในภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะมีอาการชั่วคราวดังนี้ เวียนศีรษะ มองเห็นไม่ชัด คลื่นไส้ ใจสั่น เสียการทรงตัว เป็นลม หรืออาจเกิดอาการช็อกได้หากมีภาวะความดันต่ำรุนแรง ซึ่งอาการจากภาวะความดันต่ำเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและชีวิตของผู้ป่วยได้ 
 
การรักษาความดันต่ำให้อยู่ในค่าปกติ
อาการหน้ามืดเมื่อมีการเปลี่ยนท่านั่ง หรือท่ายืนกะทันหัน คืออาการของภาวะความดันต่ำ ผู้ป่วยควรหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่กำลังทำอยู่ ให้นั่งพักหรือนอนลง ดื่มน้ำและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการแย่ลง ดังนี้
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมช่วยเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย 
  • นั่งพักหรือนอนลงทันทีหากมีอาการหน้ามืด หรือวิงเวียน โดยพยายามยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงได้
การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยให้ค้นพบความผิดปกติของร่างกายได้ รวมถึงค่าความดันที่สูง หรือต่ำผิดปกติ หากท่านมีอาการต่างๆตามข้างต้น ต้องการที่จะนัดหมายเพื่อตรวจสุขภาพ หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะความดัน สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่พร้อมดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของท่านอย่างครบถ้วน สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้า ที่นี่ 
 

Reference