/    บทความ    /    อาการทางจิต 3 ประเภท ที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับภาวะซึมเศร้า

อาการทางจิต 3 ประเภท
ที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับภาวะซึมเศร้า

อาการทางจิต 3 ประเภท ที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับภาวะซึมเศร้า

ภาวะโรคซึมเศร้าจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน การทานอาหาร หรือ การนอนหลับ ทั้งนี้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักจิตวิทยา หรือคนรอบข้าง อาจก่อให้เกิดอาการทางจิตอื่นๆ ร่วมขึ้นด้วยที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยในระยะยาว ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรงจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

ภาวะซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) คืออะไร?

อาการเศร้า เสียใจ เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ในส่วนของภาวะซึมเศร้านั้น เป็นอาการที่จะรู้สึกเศร้าทั้งวัน โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงเช้า และนำมาซึ่งอาการเบื่อหน่าย หมดความสนใจในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นทุกวันติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 

อาการของภาวะซึมเศร้า

  • เหนื่อยล้า หรือหมดพลังเกือบทุกวัน
  • รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หรือรู้สึกผิดตลอดเวลา
  • สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้
  • นอนไม่หลับ หรือรู้สึกง่วงนอนตลอดทั้งวัน
  • ไม่มีความสุข หรือรู้สึกหมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ
  • หมดแรง เฉื่อยชา
  • น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น
  • มีความคิดอยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย

คำถามที่ใช้ในการคัดกรองด้วยตัวเอง

โดยคุณสามารถประเมินตัวเอง หรือคนในครอบครัวได้คร่าวๆ โดยใช้คำถามสองข้อ (ถ้ามีอย่างน้อย 1 ข้อ ถือว่าคุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า)

  1. ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงวันนี้คุณรู้สึกหดหู่ เศร้า หรือท้อแท้สิ้นหวังหรือไม่
  2. ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงวันนี้คุณรู้สึกเบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่ 

ภาวะซึมเศร้าและอาการทางจิตอื่นๆ

ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดร่วมกันกับอาการทางจิตอื่นๆ เช่น  โรควิตกกังวล โรคแพนิค โรคกลัวสังคม เป็นต้น โดยโรคต่างๆเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorders)

อาการวิตกกังวล เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความเครียด นำมาซึ่งอาการหัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อรัดเกร็ง โดยโรควิตกกังวลมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า นอกจากนี้ผลงานวิจัยยังบ่งชี้ว่า ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจะเคยประสบกับโรควิตกกังวลอยู่บ่อยคร้้ง โดยโรควิตกกังวลนั้นผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอาการวิตกกังวล และความเครียดได้ พร้อมกับมีอาการต่างๆ ดังนี้

 

  • ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้
  • เหนื่อยล้า หมดแรง
  • หงุดหงิดง่าย 
  • กล้ามเนื้อเกร็ง
  • นอนหลับยาก หรือง่ายผิดปกติ
 โรคแพนิค (Panic Disorder)

 

อาการแพนิคเป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นร่วมกับภาวะซึมเศร้า โดยผู้ที่เป็นโรคแพนิคนั้น จะมีอาการตกใจ หรือกลัวสุดขีดคล้ายภาวะหัวใจวาย หรือเป็นลม  ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความกังวลอย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิคจะมีอาการดังนี้ร่วมด้วยอย่างน้อย 4 อย่าง อาทิ

 

  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก และถี่
  • ปวดหัว หรือมึนงง
  • เหงื่อออก
  • หัวใจเต้นเร็ว และแรง
  • ตัวสั่น หรือเกิดอาการชาตามร่างกาย
  • ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

โรคกลัวสังคม (Phobic Disorder)

อาการกลัว ตื่นตระหนกถือเป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลัวนั้นอาจมีเหตุผลแอบแฝง หรือไม่มีเลยก็เป็นได้ เมื่อผู้ป่วยตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัวจะทำให้เกิดอาการ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ เหงื่อออก โดยอาการกลัวสังคมนั้นเป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะรู้สึกหวาดกลัวเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกล้อมไปด้วยผู้คนแปลกหน้า ทั้งนี้อาการที่เกิดขึ้นจะเหมือนกับโรควิตกกังวล และมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ดังนี้
  • พูดจาติดขัด
  • ปากแห้ง
  • เหงื่อออกมาก
  • คลื่นไส้
  • หัวใจเต้นแรง
  • ตัวสั่น

ลดอาการวิตกกังวลในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?

  • ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย จะช่วยให้อาการวิตกกังวลลดลง และสุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย เช่น การออกกำลังกาย หรือการเล่นโยคะเป็นประจำ จะช่วยฝึกจังหวะการหายใจ ทำให้สงบมากยิ่งขึ้น 
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากจะช่วยให้สุขภาพกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพจิตใจแข็งแรงด้วย หลีกเลี่ยงคาเฟอีน รวมถึงแอลกฮอล์ และสารเสพติด จะช่วยให้ร่างกายทำงานดียิ่งขึ้น ส่งผลให้จิตใจเบิกบาน
  • สังสรรค์กับเพื่อน การพบปะเพื่อนจะช่วยบรรเทาอาการเหงา หรือเบื่อหน่าย สามารถชวนเพื่อนทำกิจกรรมใหม่ๆด้วยกัน หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวเมื่อรู้สึกเครียด หรือกังวล จะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลได้
  • อย่าจมอยู่กับความเครียด หากเริ่มรู้สึกเครียด หรือกังวลเรื่องงาน ให้ลองพักจากงานและไปทำกิจกรรมอื่นเพื่อคลายเครียด เช่น การพูดคุยกับเพื่อน ออกกำลังกาย หรือนั่งสมาธิ เป็นต้น
หากทำครบตามที่แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ท่านสามารถลดความเครียด และความกังวลได้ ด้วยการมาพบนักจิตวิทยาเพื่อทำการพูดคุย ปรึกษา พร้อมรับคำแนะนำได้ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่จะคอยดูแลรักษาสุขภาพจิตของท่านให้แข็งแรง สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่ 
 

Reference

  • The Link Between Depression and Other Mental Illnesses (https://www.webmd.com/depression/guide/link-to-other-mental-illnesses)
  • Major Depression (Clinical Depression)(https://www.webmd.com/depression/guide/major-depression)
  • Generalized Anxiety Disorder                                      (https://www.webmd.com/anxiety-panic/guide/generalized-anxiety-disorder)