/ บทความ / การใช้คลื่นกระแทกรักษาอาการปวดเรื้อรัง ( Shockwave Therapy)
การใช้คลื่นกระแทกรักษาอาการปวดเรื้อรัง ( Shockwave Therapy)

การรักษาด้วยคลื่นกระแทก หรือ Shockwave Therapy เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ ในการรักษาทางกายภาพบำบัด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ Extracorporeal Shockwave Therapy (ESWT) และ Radial Shockwave Therapy (RSWT) ซึ่งทำการรักษาโดยส่งผ่านคลื่นกระแทกไปบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อกระตุ้นเนื้อเยื่อให้เกิดการบาดเจ็บใหม่, กระตุ้นการหลั่งสารลดอาการปวด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์ของ Shockwave Therapy
- ลดอาการปวดเรื้อรังบริเวณกล้ามเนื้อ, เอ็น และข้อต่อ
- กระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมของเยื้อเยื่อที่บาดเจ็บ
- กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ และเพิ่มไหลเวียนโลหิต
- กระตุ้นการสลายหินปูนในเส้นเอ็น
- เร่งการสมานตัวของกระดูก
กลุ่มอาการที่เหมาะสมในการรักษาด้วยคลื่นกระแทก
การรักษาโดยพลังงานคลื่นกระแทกกับการใช้ในการรักษาเนื้อเยื่อที่ได้รับการบาดเจ็บเรื้อรังและไม่ค่อยตอบสนองด้วยการรักษาด้วยเครื่องมืออื่นๆ ซึ่งส่วนมากจะเห็นผลทันทีหลังการรักษา โดยกลุ่มอาการที่เหมาะแก่การรักษาโดยพลังงานคลื่นกระแทก มีดังนี้
- โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือ อาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดเรื้อรัง (Myofascial pain syndrome) เนื่องจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
- เอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ (Tennis elbow) คือ อาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอก ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้ำๆของเอ็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือขึ้น จนเกิดการอักเสบ
- ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s disease) คือ อาการปวดบริเวณโคนนิ้วโป้ง ซึ่งเกิดจากการใช้งานของข้อมือและนิ้วหัวแม่มือในลักษณะเดิมซ้ำๆ จนเกิดการเสียดสีของเอ็นบริเวณนิ้วโป้งกับปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ จนเกิดการอักเสบ
- เอ็นหัวเข่าอักเสบ (Patellar tendinitis) คือ อาการปวดบริเวณรอบๆ กระดูกสะบ้า ซึ่งเกิดจากการฉีกขาดของเส้นเอ็นบริเวณเหนือลูกสะบ้า มักพบได้บ่อยในนักวิ่ง, นักกีฬากระโดดสูง
- เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles tendinitis) คือ อาการเจ็บบริเวณหลังส้นเท้า ขณะเดินลงน้ำหนัก, เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้ำๆของเอ็นร้อยหวาย จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ
- เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ รองช้ำ (Plantar fasciitis) คือ อาการปวดบริเวณใต้ฝ่าเท้า ซึ่งเกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อน่องและเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า จนเกิดการอักเสบ
- อื่นๆ ได้แก่ ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder), พังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (Carpal tunnel syndrome), นิ้วล็อค (Trigger finger), ข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis)
อย่างไรก็ตาม ควรได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์และนักกายภาพบำบัด เพื่อหาสาเหตุ, วินิจฉัยและพยากรณ์โรคได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด
Reference
- รู้จัก Shockwave การรักษาด้วยคลื่นกระแทก บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง
- ลดปวดด้วย Shock wave
- เครื่องรักษาด้วยคลื่นกระแทก