/ บทความ / ไขมันในเลือดสูงป้องกันได้
ไขมันในเลือดสูงป้องกันได้

โรคไขมันในเลือดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรหรือพิการได้ ทั้งนี้การป้องกันก่อนเกิดโรคสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
ไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)
ไขมันชนิดหลักที่พบในเลือดมี 2 ชนิด ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) และคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย โดยไขมันจะสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการตีบตันของเส้นเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดตีบอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต และเป็นอันตรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สาเหตุของโรคไขมันในเลือดสูงเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ การบริโภคอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นต้น
- HDL (High Density Lipoprotien) เป็นไลโพโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง หรือไขมันดี มีหน้าที่ช่วยจับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดที่ออกไปทำลายที่ตับ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไขมันชนิดนี้สร้างได้จากการออกกำลังกาย ทั้งนี้ระดับไขมัน HDL ในเลือดในผู้ชายควรมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และ มากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง
- LDL (Low Density Lipoprotien) เป็นไลโพโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ หรือไขมันไม่ดี โดยไขมันชนิดนี้จะไปเกาะและพอกที่ผนังภายในหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดหนาและตีบ ส่งผลให้เลือดดีที่สูบฉีดออกจากหัวใจไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่สะดวก ทำให้อวัยวะขาดเลือดและเจ็บป่วย ทั้งนี้ระดับไขมัน LDL ในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว
- ตรวจไขมันในเลือดทุก 1 ปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของตัวเอง
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ช่วยในด้านการขับถ่าย และปรับสมดุลในร่างกาย
- ควบคุมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช เนื้อปลา
- บริโภคไขมันดี เปลี่ยนมาใช้ไขมันดีในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องใน เนย อาหารทอด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น กุ้ง ปลาหมึก มันปู เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานซ์ เช่น อาหารจานด่วน มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว
- เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ ที่มีใยอาหารทุกมื้อ เช่น คะน้า ฝรั่ง ส้ม เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยในการกักน้ำตาลและคอเลสเตอรอล
- ออกกำลังกาย การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง เช่น เดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เป็นต้น จะช่วยลดไขมันในเลือดและเพิ่มไขมันชนิดดีมากขึ้น
Reference