Categories
Uncategorized

ปลูกต้นไม้ในห้องนอน เทคนิคการเลือกและดูแลให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

    /    บทความ    /    ปลูกต้นไม้ในห้องนอน เทคนิคการเลือกและดูแลให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ปลูกต้นไม้ในห้องนอน เทคนิคการเลือกและดูแลให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ปลูกต้นไม้ในห้องนอน
เทคนิคการเลือกและดูแลให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ปลูกต้นไม้ในห้องนอนมีอันตราย​หรือไม่? เทคนิคการเลื​อก​และดูแลต้นไม้ไม่ให้เป็นบ่อเกิดเชื้อราในบ้าน​ และเพิ่มอากาศ​บริสุทธิ์​

การปลูกต้นไม้ในบ้านไม่เพียงช่วยตกแต่งบ้านให้สวยงามและเพิ่มความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่น้อย สำหรับมือใหม่ที่สนใจการปลูกต้นไม้ บทความนี้คุณหมอพรีโมแคร์จะมาตอบคำถามที่หลายคนกังวล​ ว่าการปลูกต้นไม้ในห้องนอนนั้นเมื่อตกกลางคืนจะส่งผลต่อระดับออกซิเจนในอากาศจนเป็นอันตรายหรือไม่ และมีวิธีไหนบ้างที่จะป้องกันการเกิดเชื้อราในบ้านเพื่อไม่ให้มารบกวนสุขภาพ

ประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ภายในบ้าน

การศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ในบ้าน รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ในห้องนอนนั้นมีจำนวนไม่น้อย โดยมีงานวิจัยบางส่วนที่สนับสนุนว่าการมีต้นไม้ในบ้านอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านต่อไปนี้

ลดความเครียด คลายความวิตกกังวล 

การคลุกคลีอยู่กับต้นไม้ ทั้งในขั้นตอนการจัดแจงวางตำแหน่ง การเปลี่ยนกระถางต้นไม้ หรือการดูแลรดน้ำ เป็นงานอดิเรกที่ช่วยลดความตึงเครียดและเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายได้ไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าต้นไม้สามารถช่วยในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะสมองเสื่อม และภาวะทางสุขภาพจิตอื่นๆ ให้รู้สึกดีขึ้นได้

มีสมาธิจดจ่อกับการเรียน​มากขึ้น 

มีงานวิจัย​เล็กๆ​ งานหนึ่งชี้ว่าการมีต้นไม้จริงอาจส่งผลต่อระดับสมาธิและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ หลังจากทดลองเปรียบเทียบการเรียนของนักเรียนในห้องที่มีต้นไม้จริง​ ต้นไม้ปลอม​ และรูปภาพต้นไม้​​ แล้วพบว่านักเรียน​ที่อยู่​ในห้องที่มีต้นไม้จริงมีสมาธิ​จดจ่อกับการเรียนมากกว่านักเรียนในห้องอื่น

เพิ่มประสิทธิภาพ​ในการทำงาน 

ประโยชน์ข้อนี้ได้รับการสนับสนุนจากการศึกษา​หลายชิ้นที่พบว่าการปลูกต้นไม้รอบๆ​ พื้นที่ทำงาน​อาจช่วยให้มีศักยภาพ​และความคิดสร้างสรรค์​ในการทำงานมากขึ้น บางงานวิจัยยังกล่าวด้วยว่าการประดับต้นไม้ในห้องทำงานอาจมีส่วนช่วยลดความเครียดและลดอัตราการลาป่วยของพนักงานได้

เร่งการฟื้นฟูร่างกาย ช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น 

การได้มองต้นไม้หรือดอกไม้อาจช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น รวมไปถึงการฟื้นตัวในกรณีที่บาดเจ็บหรือหลังจากการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการศึกษาประโยชน์​ของต้นไม้​ด้าน​นี้​ส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นในโรงพยาบาล ทำให้อาจมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง 

เพิ่มคุณภาพอากาศและความสดชื่นภายในบ้าน 

ในปี 1980 องค์การนาซ่า (NASA) ได้นำพืชหรือต้นไม้มาใช้เพื่อลดการปนเปื้อนของอากาศในยานอวกาศ หลังจากพบว่าต้นไม้ช่วยฟอกอากาศผ่านทางรากและดินที่ปลูก แต่งานวิจัยในช่วงหลังก็ชี้ว่าประสิทธิภาพในการฟอกอากาศของต้นไม้ยังห่างไกลจากการใช้เครื่องฟอกอากาศ และอาจต้องใช้ต้นไม้จำนวนมากจึงจะเทียบเท่า

ปลูกต้นไม้ในห้องนอน อันตรายไหม? 

ในตอนกลางวันต้นไม้ส่วนใหญ่จะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงและคายก๊าซออกซิเจนออกมา ส่วนในตอนกลางคืนจะเป็นช่วงที่ต้นไม้คายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้หลายคนกังวลว่าการปลูกต้นไม้ในห้องนอนจะเป็นพิษต่ออากาศและมีอันตรายต่อสุขภาพ 

แท้จริงแล้วการมีต้นไม้ในห้องนอนเพียงไม่กี่ต้นไม่อาจทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากถึงระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ยังมีต้นไม้บางชนิดที่สามารถสังเคราะห์แสงได้แม้ในช่วงเวลากลางคืน จึงเกิดการคายก๊าซออกซิเจนออกมาแทน ซึ่งจะช่วยให้ห้องนอนมีคุณภาพอากาศที่ดีตลอดวันและนอนหลับสบายยิ่งขึ้น

ดังนั้น ใครที่อยากปลูกต้นไม้ในห้องนอนเพื่อเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ แนะนำให้ลองมองหาต้นไม้ที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซออกซิเจนในตอนกลางคืนมาปลูกในห้องนอน เช่น ต้นปาล์มหมาก ว่านหางจระเข้ ลิ้นมังกร เป็นต้น 

รวมถึงต้นไม้ที่มีคุณสมบัติฟอกอากาศ เช่น ต้นเดหลี ต้นแมงมุม และยางอินเดีย ซึ่งมีคุณสมบัติ​ช่วยดูดซับมลพิษและสารพิษประเภทฟอร์มาลดีไฮด์ที่อาจปนเปื้อนในอากาศ โดยเป็นสารพิษใกล้ตัวที่พบได้ในวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ แผ่นไม้อัด วัสดุเคลือบผิว และวัสดุทำฉนวนต่างๆ​ ในบ้าน

ข้อควรระวังด้านสุขภาพเมื่อปลูกต้นไม้ในบ้าน

การปลูกต้นไม้ในบ้านที่ไม่ถูกวิธีอาจตามมาด้วยปัญหาแมลง เชื้อรา และศัตรูพืชที่มาก่อกวนจนสร้างความเสียหายให้กับทั้งต้นไม้และสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัย จึงควรศึกษาให้ดีก่อนนำต้นไม้ชนิดใดๆ ก็ตามมาปลูกในห้อง ทั้งชนิดดิน อุณหภูมิ แสงแดดที่เหมาะสม ตลอดจนปริมาณน้ำที่ต้นไม้ต้องการ และหมั่นดูแลตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หากมีต้นไม้ในห้องมากเกินไป ควรวางถาดรองแล้วเจาะรูกระถางให้น้ำสามารถไหลออกมาได้ และหมั่นถ่ายน้ำทิ้งเป็นประจำ มิฉะนั้นอาจทำให้มีความชื้นสูงจนก่อให้เกิดเชื้อราสะสมและกระตุ้นอาการภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดได้ 
  • ไม่ควรรดน้ำมากเกินไป เพราะอาจเป็นบ่อเกิดของเชื้อราและตัวอ่อนของตัวบั่วราในดิน ที่จะกลายเป็นแมลงมาสร้างความรำคาญใจในบ้านได้
  • อาจใช้ต้นเคราฤาษีหรือหินทราย Aquarium gravel คลุมหน้าดินในกระถางเอาไว้ เพื่อเป็นการกำจัดและป้องกันเชื้อรา  
  • ควรตรวจดูใบของต้นไม้เป็นประจำว่ามีสัญญาณของแมลงกินพืชหรือไม่ เช่น มีไข่แมลง ใยแมลงตามต้น หรือรูโหว่ตามใบไม้ 
  • ต้นไม้ฟอกอากาศหลายชนิดอาจเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงในบ้าน ถ้าจะให้ดีควรสอบถามผู้ขายก่อนซื้อเพื่อเลือกต้นไม้ที่เป็นมิตรกับน้องหมาน้องแมวมากที่สุด

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เพื่อนร่วมทางสุขภาพ ออกแบบไลฟ์สไตล์สุขภาพ​ดีในแบบของคุณเอง คลิกดูบริการต่างๆ ที่นี่ หรือปรึกษาคุณหมอพรีโมแคร์ทุกเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

เป็นประจำเดือน ออกกำลังกายได้ไหม? มีข้อห้ามอะไรบ้าง?

    /    บทความ    /    เป็นประจำเดือน ออกกำลังกายได้ไหม? มีข้อห้ามอะไรบ้าง?

เป็นประจำเดือน ออกกำลังกายได้ไหม? มีข้อห้ามอะไรบ้าง?

เป็นประจำเดือน ออกกำลังกายได้ไหม?
มีข้อห้ามอะไรบ้าง?

เป็นประจำเดือน ออกกำลังกายได้ไหม? ออกกำลังกายแบบไหนได้บ้าง​ แบบไหนที่ควรเลี่ยง​ ตลอดจนวิธีวางแผนออกกำลังในแต่ละช่วงของรอบเดือน

หลายคนไม่แน่ใจว่าในช่วงที่เป็นประจำเดือนจะออกกำลังกายได้ไหม บางคนเข้าใจไปว่าไม่ควรออกกำลัง​กาย​ จนทำให้กระทบต่อแพลนการออกกำลังกายที่วางไว้ คุณหมอพรีโมแคร์ตอบเลยว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ความจริงแล้วแม้เป็นประจำเดือนก็ออกกำลังกายได้ แถมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย 

ทำไมการออกกำลังกายในช่วงวันนั้นของเดือนถึงดี การออกกำลังกายแบบไหนควรทำ และแบบไหนที่ควรเลี่ยงในช่วงมีประจำเดือน รวมถึงคำถามที่หลายคนสงสัย ออกกำลังกายแล้วประจำเดือนไม่มา ผิดปกติหรือไม่ หาคำตอบได้ในบทความนี้ 

ระดับพลังงานในแต่ละช่วงของรอบเดือน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในทุกๆ เดือนอาจส่งผลต่อระดับพลังงานในการทำสิ่งต่างๆ บางคนอาจรู้สึกไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงหรือพลังงานที่จะทำอะไรในระหว่างที่มีประจำเดือน แต่บางคนก็อาจรู้สึกตรงกันข้าม คือมีพลังงานมากกว่าเดิม 

โดยปกติแล้ว​ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบเดือนอาจแบ่งได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้

สัปดาห์ที่ 1 ในวันแรกของการมีประจำเดือนเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดต่ำที่สุด จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในช่วงนี้อาจรู้สึกมีพลังหรือกระฉับกระเฉงมากขึ้น

สัปดาห์ที่ 2 สัปดาห์หลังจากประจำเดือนหมด ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่ ทำให้ยิ่งรู้สึกมีพลังและกระฉับกระเฉงมากกว่าเดิม

สัปดาห์ที่ 3 ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังไข่ตก ในขณะเดียวกันฮอร์โมนโปสเจสเตอโรนก็เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อาจรู้สึกเหนื่อย เพลีย ไม่ค่อยอยากทำอะไร การออกกำลังกายในช่วงนี้อาจช่วยปรับอารมณ์และทำให้รู้สึกสดชื่นยิ่งขึ้น

สัปดาห์ที่ 4 ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนที่จะมีประจำเดือนอีกครั้ง เป็นช่วงที่จะยิ่งมีพลังงานน้อยลงไปอีก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลงทั้งคู่ การออกกำลังกายในช่วงนี้อาจช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน PMS (Premenstrual Syndrome) ได้

ทั้งนี้ ช่วงพลังงานน้อยและช่วงพลังงานมากของแต่ละคนอาจต่างกัน การจดบันทึกผลของการออกกำลังกายต่อระดับพลังงานในแต่ละช่วงของรอบเดือนจะช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เฉพาะตัวของตัวเอง เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

ประโยชน์ของการออกกำลังกายในช่วงมีประจำเดือน

การออกกำลังกายในช่วงมีประจำเดือนนั้นยังคงให้ประโยชน์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ไม่ต่างไปจากเดิม ทั้งยังไม่ได้ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียหรือส่งผลต่อการมีประจำเดือนอย่างที่เราคิด ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการในช่วงมีประจำเดือนดังต่อไปนี้ได้อีกด้วย

  • ลดอาการ PMS (Premenstrual Syndrome) ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน เช่น ความรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อารมณ์แปรปรวน​ หงุดหงิด​ง่าย​
  • ปรับอารมณ์ให้แจ่มใสและรู้สึกดีขึ้น เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเพิ่มการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน อีกทั้งอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ด้วย เพราะเป็นสารที่ขึ้นชื่อว่าช่วยลดความเจ็บปวด
  • เพิ่มการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดเกร็งท้อง ปวดหลัง หรือปวดศีรษะที่หลายคนต้องเผชิญในช่วงมีประจำเดือน
  • เพิ่มพลังงานและรู้สึกสดชื่นมากขึ้น จากที่มักรู้สึกอ่อนเพลียเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิงลดต่ำลง

ช่วงมีประจำเดือน ออกกำลังกายแบบไหนดี?

ในช่วงวันแรกๆ ของการมีประจำเดือน​ อาจมีความรู้สึกไม่สบายตัว บางคนมีประจำเดือนมามากในช่วงนี้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมจึงเป็นการออกกำลังกายเบาๆ ที่เคลื่อนไหวช้าลงกว่าปกติ เช่น

  • ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหรือแอโรบิกเบาๆ เช่น การเดิน นอกจากนี้การวิ่งเหยาะๆ การโดดเชือก ท่าสควอท และท่าดันพื้นที่ผสานกับแอโรบิก ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ควรทำในระยะเวลาสั้นที่ลง
  • ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ด้วยเวทเทรนนิ่งแบบเบาๆ ช่วงสั้นๆ เช่น ท่าเวทด้วยดัมเบล ท่าสคอทช้าๆ
  • เล่นโยคะและพิลาทิส เป็นการออกกำลังกายที่จะช่วยผ่อนคลายร่างกาย ลดอาการปวดเกร็งท้อง คัดหน้าอก และอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นในช่วงรอบเดือนได้เป็นอย่างดี

การออกกำลังกายแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง

การออกกำลังกายในช่วงมีประจำเดือนส่วนใหญ่ยังคงทำได้ เพียงแต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เช่น ลดการออกกำลังกายที่หนัก หรือลดระยะเวลาในการออกกำลังกายลงเล็กน้อย

สำหรับคนที่ออกกำลังกายในช่วงมีรอบเดือนแล้วรู้สึกเหนื่อยล้าผิดปกติ แนะนำให้ลดการออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโอหรือการฝึกความทนทานของกล้ามเนื้อลง และเน้นออกกำลังกายแบบง่ายๆ เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายอาจต้องออกแรงมากกว่าปกติ ส่งผลให้การออกกำลังกายที่มีความยากในระดับปานกลางกลายเป็นเรื่องยากกว่าเดิมไปอีก

ออกกำลังกายแล้วประจำเดือนไม่มา ผิดปกติไหม? 

การออกกำลังกายหนักเกินไปอาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนไม่มาหรือหยุดไปเลยได้ โดยมักจะพบได้ในนักกีฬาหรือคนที่เทรนร่างกายอย่างหนัก นอกจากนี้ในกรณีที่ขาดการออกกำลังไปเป็นเวลานานแล้วกลับมาโหมออกกำลังกายอย่างหนัก ก็อาจทำให้ประจำเดือนหยุดไปหรือมาไม่ปกติได้เช่นกัน​ จึงแนะนำให้วางแผนการออกกำลังกายอย่างพอดี​ ค่อยๆ​ ให้ร่างกายปรับตัวไปเรื่อยๆ​ ไม่ควรหักโหมออกกำลัง​การอย่างหนักในทันที

การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อร่างกายและช่วยปรับอารมณ์ให้สมดุลได้ทั้งในช่วงที่มีและไม่มีประจำเดือน โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาตร์ใดๆ ที่บอกว่าคุณไม่ควรออกกำลังกายในช่วงที่มีประจำเดือน เพียงแค่ต้องทำอย่างพอดี ลดการออกกำลังกายหนักๆ และหยุดพักเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าเกินไปเท่านั้น

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลทุกเรื่องสุขภาพ ปัญหาสุขภาพเพศหญิงและเพศชาย ปรึกษาได้เลยที่ LINE @primoCare หรือคลิกดูบริการของเราเพิ่มเติมที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

งีบกี่นาทีดีที่สุด? วิธีนอนกลางวันให้สดชื่น ตื่นมาไม่ปวดหัว

    /    บทความ    /    งีบกี่นาทีดีที่สุด? วิธีนอนกลางวันให้สดชื่น ตื่นมาไม่ปวดหัว

งีบกี่นาทีดีที่สุด? วิธีนอนกลางวันให้สดชื่น ตื่นมาไม่ปวดหัว

งีบกี่นาทีดีที่สุด?
วิธีนอนกลางวันให้สดชื่น ตื่นมาไม่ปวดหัว

นอนกลางวันดีจริงไหม? งีบกี่นาทีถึงจะดี? รวมเทคนิคการงีบหลับ​ฉบับโปร​ที่จะช่วยให้ตื่นมาสดชื่น​ ไม่ปวดหัว​ ไม่งัวเงียกว่าเก่า

‘งีบกี่นาทีดีที่สุด?’ และถ้าจะงีบ ‘ควรงีบหลับตอนไหนดี?’ คำถามยอดฮิตที่หลายคนมักสงสัย นั่นก็เพราะหลายครั้งเราอาจมีประสบการณ์การนอนกลางวันแตกต่างกันไป บางครั้งตื่นมารู้สึกสดชื่น แต่บางครั้งกลับปวดหัวหรืองัวเงีย​ ซึ่ง​ระยะเวลาและช่วงเวลาในการงีบนั้นก็สามารถส่งผลต่อความสดชื่นหลังตื่นจากการงีบหลับได้จริงๆ

คุณหมอพรีโมแคร์…ชวนมาหาคำตอบน่ารู้เกี่ยวกับการนอนกลางวันให้ได้ประโยชน์ เพราะมีปัจจัยไม่น้อยที่เป็นตัวกำหนดว่าหลังงีบหลับจะรู้สึกอย่างไร​ เพื่อการงีบหลับที่เต็มอิ่มสดชื่น และไม่ต้องกลัวว่าจะนอนไม่หลับในตอนกลางคืน 

ประโยชน์ของการนอนกลางวัน

การงีบหลับ​ (Power Nap) ​ช่วยลดความง่วงในระหว่างวันซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลานอนตามวงจรการนอนหลับในตอนกลางคืน การนอนกลางวันจึงเปรียบเหมือนการชาร์จพลังเพื่อให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และมีพลังงานในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น

นอกจากนี้​ มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการงีบหลับที่เชื่อว่าอาจช่วยได้จริง ได้แก่

  • เพิ่มประสิทธิภาพและความตื่นตัวในการทำงาน 
  • ลดอุบัติเหตุจากการขับรถและการทำงานกับเครื่องจักรที่อันตราย
  • เพิ่มทักษะการเรียนรู้ การมีสมาธิจดจ่อ จดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดีขึ้น
  • ลดความดันโลหิต และอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายไปด้วย
  • ปรับอารมณ์ให้แจ่มใสมากขึ้น ลดความอ่อนล้าและหงุดหงิดจากการนอนไม่เพียงพอ

โทษของการนอนกลางวัน

การงีบหลับอาจส่งผลตรงกันข้ามในบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับหรือนอนหลับยากในตอนกลางคืนอยู่แล้ว ซึ่งแนะนำให้หลีกเลี่ยงการงีบระหว่างวัน เพราะจะยิ่งทำให้หลับยาก ตื่นมาไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า แถมอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานยิ่งกว่าการไม่นอนกลางวัน

การนอนกลางวันที่นานเกินไปยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่มากขึ้นด้วย โดยมีงานวิจัยชี้ว่ากลุ่มที่งีบหลับนานกว่า 1 ชั่วโมงอาจมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่นอนกลางวัน นอกจากนี้ ในวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย การงีบหลับนานยังอาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น

งีบกี่นาทีถึงจะดีที่สุด?

ระยะเวลาการงีบหลับที่จะช่วยเพิ่มความสดชื่นและความตื่นตัวได้ดีที่สุด ไม่ควรเกิน 10-20 นาที ฉะนั้นทุกครั้งที่งีบหลับเราจึงควรจำกัดเวลาด้วยการตั้งนาฬิกาปลุก เพราะหากงีบหลับนานกว่านี้อาจทำให้ยิ่งรู้สึกง่วงหรือเพลียยิ่งกว่าเดิม ส่วนผู้ที่มีภาวะอดนอนหรือนอนน้อยนั้น แนะนำให้งีบหลับ 1.5-2 ชั่วโมง เพื่อคลายความอ่อนเพลียจากการนอนที่ไม่​เพียงพอ​

งีบตอนไหนดีที่สุด?

ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การงีบหลับของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตารางเวลาการนอนและอายุ ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงบ่าย 1-3 โมง หลังอาหารมื้อกลางวัน แต่ไม่ควรงีบหลังบ่าย 3 โมงเป็นต้นไป ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้

ทำไมถึงรู้สึกปวดหัวหลังงีบหลับหรือนอนกลางวัน?

เราอาจสังเกตว่าการนอนกลางวันในบางครั้งตามมาด้วยความรู้สึกมึนหรือปวดหัว อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาในการนอนหลับ โดยข้อมูลจากสถาบันการนอนแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนอยู่แล้วจะประสบกับอาการปวดหัวหลังงีบหลับมากกว่าคนปกติถึง 2-8 เท่า

นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพบางอย่างต่อไปนี้ก็อาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้มีอาการปวดหัวหลังนอนกลางวันหรือหลังตื่นนอนในตอนเช้าได้เช่นกัน 

  • ปัญหาการหายใจ เช่น นอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • การนอนกัดฟัน ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อตึงเกร็ง และตามมาด้วยอาการปวดหัว
  • การตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ อาการคัดจมูก หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ อาจเป็นตัวการทำให้รู้สึกปวดหัวหลังตื่นนอนได้
  • ท่าทางการนอน เช่น ท่านอนหรือหมอนที่นอนแล้วศีรษะและคออยู่ในท่าที่ไม่สบาย จนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวตึงตัว 
  • ระยะเวลาการนอน ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าช่วงเวลาการงีบหลับที่ไม่พอดีอาจทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม และยังกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการงีบหลับที่นานเกินไป​ หรือการงีบหลับ​ที่สั้นเกินไปในกรณีที่​มีการอดนอนในคืนก่อนก็ตาม

นอนกลางวันทำให้อ้วนขึ้นได้ไหม?

ไม่มีข้อพิสูจน์ชี้ชัดว่าการงีบหลับส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดน้ำหนักอย่างไร แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนคือการนอนน้อยหรือมีคุณภาพการนอนย่ำแย่ นอนหลับๆ ตื่นๆ นอนไม่เต็มอิ่ม เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคอ้วนได้

เคล็ดลับการงีบหลับฉบับโปร

  • จัดตารางการงีบหลับที่สม่ำเสมอและตรงเวลาทุกวัน
  • ควรงีบหลับในช่วงบ่าย 1-3 โมง หลังมื้ออาหารกลางวัน 
  • งีบหลับประมาณ 10-20 นาที และควรตั้งเวลาเตือนไม่ให้นอนนานกว่า 20 นาที
  • งีบหลับในห้องที่มืดสนิทหรือใช้ผ้าปิดตาจากแสง และใช้ที่อุดหูป้องกันเสียงรบกวน
  • รักษาอุณหภูมิห้องให้พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป

การงีบหลับช่วยคืนความสดชื่นให้ใครหลายคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับตอนกลางคืน การนอนกลางวันก็อาจไม่เหมาะกับคุณเท่าไหร่นัก โดยหากพบว่าตัวเองมีอาการนอนไม่หลับจากความเครียดหรือวิตกกังวล คุณควรปรึกษาแพทย์และนักจิตวิทยา​เพื่อระบุสาเหตุและรับแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นดีที่สุด

ทุกเรื่องสุขภาพ พรีโมแคร์ดูแลด้วยใจ คลิกดูบริการที่นี่ หรือปรึกษาทีมแพทย์ของเราได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง