/    บทความ    /    เช็คอาการ อาหารเป็นพิษ ต้องรีบพบแพทย์ด่วน!

เช็คอาการ อาหารเป็นพิษ ต้องรีบพบแพทย์ด่วน!

เช็คอาการ อาหารเป็นพิษ ต้องรีบพบแพทย์ด่วน!

โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษของแบคทีเรียก่อโรคเข้าไป โดยสารพิษเหล่านี้จะเรียกว่า enterotoxin  ซึ่งสารพิษเหล่านี้จะไปกระตุ้นการหลั่งของสารน้ำและเกลือแร่จากเยื่อบุลำไส้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมา สารพิษที่แบคทีเรียสร้างเหล่านี้มักทนต่อความร้อน แม้จะนำอาหารไปอุ่นให้ร้อนก็ไม่สารถทำลายสารพิษได้ โดยมากมักจะเกิดอาการภายใน 6-24 ชั่วโมง

อาการของโรคอาหารเป็นพิษ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนนำมาก่อนและเด่นกว่าอาการท้องเสีย อาการคลื่นไส้มีได้ทั้งรุนแรงไม่มากจนถึงรุนแรงมากจนไม่สามารถทานอาหารได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการหลังรับประทานอาหารที่สงสัยประมาณ 2-16 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะมีอาการปวดท้อง ท้องเสียถ่ายเหลวเป็นน้ำตามมา 

  • ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ 
  • ปวดมวนท้อง 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 

อาการของโรคอาหารเป็นพิษชนิดรุนแรง

หากเกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น ท้องเสียมาก อาเจียนมาก มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก ตามัวมองเห็นไม่ชัด ปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง กระหายน้ำมาก ลุกเดินไม่ไหว ปัสสาวะออกน้อย ควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้

ทั้งนี้ภาวะอาหารเป็นพิษอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายท้องและการอาเจียน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน

อาหารเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยที่เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการรับประทานอาหารอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ โดยหลีกเลี่ยงอาหารดังนี้

  • อาหารสด สุกๆ ดิบๆ หรือผ่านความร้อนไม่เพียงพอ
  • อาหารหมักดอง อาหารกระป๋องที่พบว่ามีรอยบุบ รอยรั่ว หรือขึ้นสนิม
  • อาหารที่ผลิตหรือปรุงไม่สะอาดเพียงพอ เช่น ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์สดกับผักลวกร่วมกัน
  • อาหารที่มีแมลงวันตอม
  • อาหารที่ปรุงสุกตั้งแต่เช้า โดยไม่มีการอุ่นร้อน
  • อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสมแล้วปรุงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง
  • น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ

เราสามารถป้องกันตนเองจากภาวะ “อาหารเป็นพิษ” ได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด เลือกร้านอาหารที่ไว้ใจได้ หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารค้างคืน หากทำกับข้าวเองควรเลือกวัตถุดิบที่เป็นของสดใหม่ เก็บใส่ตู้เย็นแยกเป็นหมวดหมู่ 

  • บริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ หรือผ่านความร้อน เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารก่อนรับประทาน
  • เก็บรักษาอาหารไว้ในที่เย็น เช่น ตู้เย็น เพื่อชะลอการเติบโตของเชื้อโรค หากเก็บอาหารนานเกิน 4 ชั่วโมงหลังปรุงเสร็จ ต้องอุ่นให้ร้อนจัด เพื่อให้ความร้อนฆ่าเชื้อโรคก่อนรับประทานอาหาร 
  • รู้จักเลือกซื้อ บริโภคอาหารที่ปลอดภัย หากต้องเดินทาง หรือสั่งอาหารกล่อง และอย่าปรุงล่วงหน้านาน 
  • เลือกชนิดอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย ไม่ควรเป็นอาหารประเภทกะทิ ยำ อาหารสุกๆดิบๆ 
  • มีพฤติกรรมอนามัยที่ดี รักษาความสะอาด เช่น ล้างมือฟอกสบู่ (ก่อนรับประทานอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร)
ทั้งนี้อาการของโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและหายได้ภายใน 1 – 2 วัน สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ ors และรับประทานอาหารอ่อนๆที่ปรุกสุกสะอาด แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที

หากท่านต้องการนัดหมายเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาจากทีมแพทย์พรีโมแคร์ สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เราพร้อมดูแลรักษาสุขภาพกายและใจของท่านอย่างครบถ้วน สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่ 

Reference: