/    บทความ    /    เบาหวาน มีกี่ชนิด: สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษาเบาหวาน

เบาหวาน มีกี่ชนิด? สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษาเบาหวาน

เบาหวาน มีกี่ชนิด?
สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษาเบาหวาน

ผู้หญิงนั่งทำงานหน้าคอมพิเตอร์ มือหนึ่งจับเมาส์ อีกมือหยิบเยลลี่เคลือบน้ำตาลจากโหลขนมหวานที่อัดแน่นรับประทานไปพลาง

โรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ เบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้ใครหลายคน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งแม้จะส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ทั้งคู่ แต่ก็มีความแตกต่างกันในหลายด้าน 

เบาหวานชนิดที่ 1, 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต่างกันอย่างไร พรีโมแคร์จะพาไปหาคำตอบทุกเรื่อง ทั้งสาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกันในบทความนี้

กลไกการเกิดโรคเบาหวาน

เบาหวานจัดเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญอาหาร โดยปกติแล้วอาหารที่เรากินเข้าไปจะถูกเผาผลาญจนกลายเป็นน้ำตาลกลูโคสและปล่อยสู่กระแสเลือด ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นนี้จะเป็นตัวส่งสัญญาณให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อทำหน้าที่ส่งน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย

โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติที่ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้ตามปกติ จนเซลล์ต่างๆ ไม่ตอบสนองต่ออินซูลินอีกต่อไป ส่งผลให้มีน้ำตาลสะสมในเลือดมากเกินไป หรือที่เราเรียกกันว่า “ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง” ซึ่งจะเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคไต สูญเสียการมองเห็น และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาควบคุมให้น้ำตาลในเลือดกลับมาปกติ

เบาหวานมีกี่ชนิด แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร?

เบาหวานชนิดที่ 1 พบได้ไม่บ่อยเท่ากับเบาหวานชนิดที่ 2 โดยในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด จะพบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ประมาณ 5-10% เบาหวานชนิดนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้เกิดการทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อีกต่อไป ผู้ป่วยจึงต้องรักษาด้วยอินซูลินทุกวัน เบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถป้องกันได้ และมักตรวจเจอในเด็กและวัยรุ่น จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น

เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้อินซูลินที่ทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดทำงานได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้อย่างที่ควรและไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ กว่า 90-95% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะป่วยด้วยเบาหวานชนิดนี้ อาการของเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่จะค่อยเป็นค่อยไปและอาจไม่รู้ตัวแม้ผ่านไปหลายปี ทำให้มักตรวจเจอในวัยผู้ใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตาม เบาหวานชนิดที่ 2 มีแนวโน้มเกิดกับคนอายุน้อยมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมการกินและขาดการออกกำลังกายที่นำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกิน

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ที่ส่งผลให้เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง ทารกที่คุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ มากกว่าเด็กทั่วไป รวมทั้งมีแนวโน้มเกิดโรคอ้วนและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในภายหลัง และสำหรับตัวคุณแม่เอง แม้เบาหวานชนิดนี้มักจะหายไปหลังคลอดบุตรแล้วแต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาภายหลังได้เช่นกัน 

ภาวะก่อนเบาหวาน ระยะก่อนเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะก่อนเบาหวานนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมทางสุขภาพที่จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ควบคุมอาหาร เพิ่มการออกกำลังกาย และลดน้ำหนักที่มากเกิน แต่หากปล่อยไว้จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมองได้ 

ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวาน

เบาหวานชนิดที่ 1 คาดว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม การมีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือมียีนส์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง และมักตรวจพบในช่วงอายุ 4-7 ปีได้มากที่สุด รองลงมาคือช่วงอายุ 10-14 ปี

เบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเบาหวาน มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญเป็นน้ำหนัก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งทางด้านพันธุกรรมและพฤติกรรม ได้แก่ 

  • มีครอบครัวสายตรง เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 
  • มีอายุมากกว่า 45 ปี 
  • ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย 
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดนี้สูงขึ้นหากมีปัจจัยดังต่อไปนี้

  • มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน 
  • มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะน้ำหนักเกิน (BMI ≥ 27 กก./ม2)
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ครั้งก่อน 
  • เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป 
  • เคยมีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ครั้งก่อน

อาการของโรคเบาหวาน

อาการเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่อาการของเบาหวานชนิดที่ 1 จะปรากฏให้เห็นเร็วกว่าชนิดที่ 2 ในขณะที่เบาหวานชนิดที่ 2 นั้นจะเกิดขึ้นช้ากว่าและมักจะไม่มีอาการ โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก ส่วนเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นมักจะไม่มีอาการและมักทราบจากการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตามที่แนะนำในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนอยู่แล้ว

อาการของเบาหวานที่สังเกตุได้ มีดังนี้ 

  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
  • กระหายน้ำบ่อย
  • รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักลดลง
  • คันหรือเกิดเชื้อราที่อวัยวะเพศ
  • เป็นแผลแล้วหายช้ากว่าปกติ
  • ตาพร่ามัว 

การรักษาเบาหวาน

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยต้องรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยการฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนัง และจะต้องตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ทุก 3 เดือนเพื่อดูการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและประเมินว่ามีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์จะช่วยวางแผนอาหารการกิน รวมถึงแนะนำวิธีนับคาร์โบไฮเดรตในอาหารเพื่อคำนวนการฉีดอินซูลินด้วยตนเองอย่างเหมาะสม พร้อมกับการปรับพฤติกรรมเพิ่มการออกกำลังกายและเลือกกินอาหารที่ดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด

เบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เพื่อช่วยในการควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยหลายครั้งที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถลดความรุนแรงของโรคไปได้มากจากการพยายามลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำตามคำแนะนำจากแพทย์และนักโภชนาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่ไปด้วยหากการปรับพฤติกรรมอย่างเดียวไม่ได้ผล และแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถลดความเสี่ยงของปัญหาต่อครรภ์ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น การปรับอาหารการกินและเพิ่มการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หากการปรับพฤติกรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือมีการฉีดอินซูลินช่วย นอกจากนี้จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในระหว่างตั้งครรภ์จนถึงช่วงคลอดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และอาจแนะนำให้คลอดก่อนกำหนดหากมีข้อกังวลที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาสุขภาพของเด็กหรือคุณแม่ รวมถึงในกรณีที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี

ภาวะก่อนเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานสามารถปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ หรืออย่างน้อยก็คงให้อยู่ในระดับที่ยังไม่จัดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อไป โดยเน้นการควบคุมหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี

เบาหวาน ป้องกันได้หรือไม่

สำหรับเบาหวานชนิดที่ 1 ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันหรือชะลอระยะของโรคให้ช้าลงด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกิน กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายบ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัว จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี 

โรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน

ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงสามารถส่งผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ รวมถึงเส้นเลือดเล็กตามบริเวณดวงตา เส้นประสาท และไตเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในสมองตามมา โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2

ส่วนเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ควบคุมได้ไม่ดีอาจทำให้ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่จนคุณแม่รู้สึกอึดอัด ไม่สบายครรภ์ นำไปสู่ปัญหาการคลอดลำบากและอาจต้องผ่าคลอด ซึ่งจะต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังคลอดนานกว่าการคลอดธรรมชาติ รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูงที่เสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งแม่และบุตรได้

เรียนรู้วิธีปรับไลฟ์สไตล์ ดูแลและให้คำแนะนำการปรับพฤติกรรมแบบเฉพาะตัวให้เข้ากับปัจจัยเสี่ยง โรคประจำตัว และความชอบส่วนบุคคล โดยการร่วมมือกันของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด และนักกำหนดอาหาร ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายล่วงหน้าได้เลยที่ @primocare 
โทร 02-038-5595, 082-527-9924
คลิกดูหลากหลายบริการของเราที่นี่