/    บทความ    /    แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้มีโรคประจำตัว-โรคเรื้อรัง

แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้มีโรคประจำตัว-โรคเรื้อรัง

แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19
ในผู้มีโรคประจำตัว-โรคเรื้อรัง

วัคซีนโควิด-19 กับข้อควรระวังในผู้มีโรคประจำตัว คำแนะนำการฉีดวัคซีนของผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ตับ ไต เบาหวาน หอบหืด โรคผิวหนัง ฯลฯ

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมทั้งลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตในกรณีที่เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคเรื้อรั้ง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคหอบหืด โรคตับ โรคไตเรื้อรัง และภาวะอ้วน รวมไปถึงผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น 

บทความนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก รวบรวมแนวทางการรับวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยเรื้อรัง ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญโรคต่างๆ มาฝาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหรือญาติควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวที่ให้การดูแลรักษาด้วย เพื่อคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตัวเองมากที่สุด

คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยแต่ละโรค

ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังส่วนใหญ่สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย แต่สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงอาการกำเริบหรืออาการยังไม่คงที่ มักแนะนำให้รอจนกว่าจะควบคุมอาการได้

นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคหรืออยู่ในขั้นตอนรับการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนเสมอ เพราะยาหรือการรักษาบางชนิดอาจส่งผลต่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนแผนการรักษาหรือปริมาณยาที่ใช้ก่อนรับวัคซีน

ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที แต่มีข้อควรระมัดระวัง ดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการกำเริบ/อาการยังไม่คงที่/มีอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ให้รอจนกว่าอาการจะดีขึ้นและคงที่ ค่อยรับการฉีดวัคซีน
  • ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่จุดฉีดวัคซีนทราบ

ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที แต่ควรระมัดระวังในบางกลุ่ม ดังนี้

  • ผู้ที่ยังไม่ได้เริ่มรับการรักษา สามารถฉีดวัคซีนได้ในช่วงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มรักษา
  • ผู้ที่เพิ่งรับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือด ให้รออย่างน้อย 3 เดือน แล้วค่อยรับวัคซีนโควิด-19 
  • ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด ควรรออย่างน้อย 3 วันหลังวันผ่าตัด แล้วค่อยรับวัคซีนโควิด-19
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยา Rituximab ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนรับวัคซีน
  • ผู้ที่ปลูกถ่ายไขกระดูกและไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถรับวัคซีนได้หลังการปลูกถ่าย 3-6 เดือน

ผู้ป่วยโรคตับ

  • ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ตับอักเสบจากโรคแพ้ภูมิหรือมะเร็งตับ สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที โดยไม่ต้องหยุดยาต้านไวรัส ยากดภูมิคุ้มกัน หรือการรักษาอื่นๆ ไม่ว่าก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
  • ผู้ที่รับการปลูกถ่ายตับ ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังจากปลูกถ่ายอย่างน้อย 3 เดือน หรือเร็วที่สุดอย่างน้อย 1 เดือน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล

ผู้ป่วยโรคไต

  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้อง และผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรืออยู่ในระหว่างการได้รับยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนรับวัคซีน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน

  • หากมีอาการคงที่และควบคุมโรคได้สามารถรับวัคซีนได้ทันที
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ขาดยาหรือควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องฉีดอินซูลิน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนฉีดวัคซีน

ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง

(ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้น หรือโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี) 

  • สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่หากมีอาการกำเริบ ควรฉีดหลังจากมีอาการ 2-4 สัปดาห์

ผู้ป่วยโรคผิวหนังทั่วไป

  • ผู้ที่มีอาการคงที่และได้รับการรักษาด้วยยาทาภายนอกอย่างเดียว สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที
  • ผู้ที่มีอาการยังไม่คงที่หรือใช้ยาชนิดรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว

ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง

  • ควรปรึกษาและให้แพทย์ที่ดูแลประเมินก่อนรับวัคซีน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคนี้มากนัก

ผู้ป่วยโรคระบบประสาท 

  • สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ หากมีอาการทางระบบประสาทคงที่ หรือไม่อยู่ในภาวะอันตรายต่อชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์
  • ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยากดภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน

ผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

  • สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที โดยไม่ต้องหยุดยาต้านเอชไอวี ไม่ว่าก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนโควิด-19
  • หากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสรุนแรง ควรรักษาจนกว่าอาการจะคงที่ก่อน แล้วค่อยรับวัคซีน

ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ/รอปลูกถ่ายอวัยวะ

  • สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที โดยไม่ต้องหยุดยากดภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
  • หากเพิ่งได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ หรือรับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะและได้รับยากดภูมิคุ้มกันในปริมาณสูง ควรรออย่างน้อย 1 เดือน และควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อน

แม้จะรับวัคซีนโควิด-19 แล้ว ผู้ป่วยทุกคนก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ดี จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงพื้นที่ปิด/พื้นที่แออัด และเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร

นอกจากนี้ ญาติหรือผู้ดูแลที่ใกล้ชิดผู้ป่วยเหล่านี้ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นการลดโอกาสสัมผัสเชื้อของผู้ป่วย ช่วยป้องกันผู้ป่วยจากการติดเชื้อได้มากยิ่งขึ้น 

มีคำถามเรื่องสุขภาพหรือการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องการปรึกษาทีมแพทย์ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด หรือนักโภชนาการบำบัด สามารถส่งข้อความมาได้ที่ Line @primoCare

Reference
  • ข้อพิจารณาและคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ. (ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/pages/สื่อความรู้)
  • สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. คำแนะนำการรับวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง. (www.thairheumatology.org/wp-content/uploads)
  • สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย. แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยที่ได้รับหรือรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ. (http://www.transplantthai.org/newdetails.php?news_id=00135.jsp)
  • Image: Woman photo created by freepik – www.freepik.com