/    บทความ    /    ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19

ดูแลผู้สูงวัยอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19

ดูแลผู้สูงวัยอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19

วิธีป้องกันและดูแลผู้สูงอายุในบ้านให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ห่างไกลความเครียดและความเหงาในช่วงกักตัวอยู่ที่บ้าน

วิธีดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยในช่วงโควิด-19 นั้นแค่ดูแลทางร่างกายอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะเมื่อต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปไหน ก็อาจทำให้รู้สึกเหงา จึงต้องคอยดูแลสุขภาพใจไม่ให้เหี่ยวเฉาไปด้วย วันนี้พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก รวบรวม 6 เคล็ดลับการดูแลผู้สูงวัยในบ้านให้ห่างไกลจากเชื้อโควิด-19 แบบดีต่อสุขภาพใจมาฝาก รวมไปถึงคำแนะนำในการปกป้องคนในครอบครัว เมื่อคาดว่าตัวเองจะติดเชื้อหรือเพิ่งไปสัมผัสผู้ติดเชื้อมา  

ข้อแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงโควิด-19 

1 รักษาสุขภาพและป้องกันตัวเองให้ดีเป็นอันดับแรก

คนอายุน้อยมักจะมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่า หรือบางคนอาจไม่มีอาการใดๆ ที่บ่งบอกว่าติดเชื้อด้วยซ้ำ ทำให้แพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการปกป้องผู้สูงอายุก็คือการระมัดระวังตัวเองอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ ดังนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อใกล้ชิดผู้สูงอายุ
  • ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังจากสัมผัสพื้นผิวสิ่งของต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะ 
  • ล้างมือก่อนเข้าไปดูแลผู้สูงอายุ และทำความสะอาดหลังสัมผัสพื้นผิวของสิ่งของที่ผู้สูงอายุใช้
  • เช็ดทำความสะอาดสิ่งของในบ้านที่อาจมีการสัมผัสร่วมกันเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู โซฟา โต๊ะกินข้าว รวมถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ เช่น ราวจับกันลื่นในห้องน้ำ ไม้เท้า เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดหรือพื้นที่ปิดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและระวังอย่านำมือมาสัมผัสใบหน้า
  • พยายามเว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตรเมื่อออกไปนอกบ้าน
  • เมื่อกลับถึงบ้านควรรีบอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

2 เลื่อนนัดพบแพทย์ที่ไม่สำคัญออกไปก่อน

สำหรับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ในช่วงนี้หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรออกไปเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นนัดตรวจสุขภาพหรือการนัดหมายใดๆ ที่ยังไม่ต้องเร่งรีบ 

ส่วนผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังซึ่งต้องมีการติดตามอาการเป็นระยะนั้น เราสามารถสอบถามแพทย์ได้ว่ามีบริการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedicine) เช่น การโทรศัพท์ หรือการวิดีโอคอล เพื่อตรวจเช็กอาการเบื้องต้นจากการพูดคุยสอบถามอาการหรือไม่ รวมถึงการตรวจโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตนเองที่บ้าน เช่น การวัดความดันโลหิต การวัดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ควรสำรองยารักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุไว้อย่างน้อย 3 เดือน

3 ใช้เทคโนโลยีช่วยลดระยะห่าง สร้างกำลังใจให้ผู้สูงอายุ 

เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ ผู้สูงอายุจึงควรงดการพบปะหรือการไปเที่ยวกับเพื่อนๆ และลูกหลาน แต่นั่นก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว โดยมีงานวิจัยที่ชี้ว่าในสถานการณ์ปกติ 43% ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะรู้สึกเหงา ซึ่งความเหงานี้เป็นตัวการที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงและมีผลต่อสุขภาพจิต เมื่อรวมเข้ากับความวิตกกังวลและความเครียดในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถรับมือได้แบบนี้ ก็ยิ่งทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเรื่องยากและส่งผลในทางลบต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

การใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อผู้สูงอายุกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวจะช่วยคลายความเหงาลงไปได้บ้าง ซึ่งการสอนผู้สูงอายุใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะปัจจุบันมีฟังก์ชันมากมายที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานกลุ่มนี้ เช่น การปรับเพิ่มขนาดตัวอักษร การสร้างปุ่มลัดสำหรับวิดีโอคอลในการกดครั้งเดียว และการเปิดแคปชั่นคำพูดสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการได้ยิน เป็นต้น

นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้เราควรชักชวนให้เพื่อนๆ ของผู้สูงอายุ ลูกหลาน และญาติๆ ที่ไม่ได้อยู้บ้านเดียวกันโทรมาหาหรือส่งการ์ดทักทายบ่อยๆ เพื่อให้พวกท่านรู้สึกอุ่นใจและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป

4 หากิจกรรมทำร่วมกัน คลายความเหงาให้ชาวสูงอายุ

การต้องอยู่บ้านทุกวันโดยไม่ได้ใช้เวลาร่วมกับคนอื่นในบ้านจะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเหงา เบื่อ หรือถึงขั้นหดหู่ และอาจทำให้เกิดความเครียดตามมาได้ ลองหากิจกรรมง่ายๆ ทำร่วมกันในช่วงเวลาว่าง เช่น จัดระเบียบอัลบั้มรูปเก่าๆ ด้วยกันเพื่อรำลึกถึงความทรงจำในวันเก่าๆ ให้ผู้สูงอายุแสดงฝีมือทำอาหารหรือขอให้ช่วยสอนสูตรอาหารสุดอร่อย แนะนำเพลงและหนังเรื่องโปรดของกันและกัน หรือจะสอนวัยเก๋าถ่ายรูปเซลฟี่ ถ่ายวิดีโอแชร์เรื่องราวในแต่ละวันด้วยกันลงในโลกโซเชียลก็ฟังดูน่าสนุกไม่น้อย

5 วางแผนรับมือหากมีคนในครอบครัวติดเชื้อ

วางแผนและพูดคุยกับผู้สูงอายุตั้งแต่ตอนนี้ว่าจะต้องทำอย่างไรหากคนใดคนหนึ่งในครอบครัวติดเชื้อ การพูดกันอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้นจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกเครียดน้อยลง รวมทั้งเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในการวางแผนและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น นอกจากนี้หากคุณรับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเป็นหลักก็ควรมีแผนสำรองโดยหาคนที่จะรับช่วงดูแลแทนในระหว่างที่ตัวเองติดเชื้อด้วย

6 กักตัวหากสงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อ

เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุและคนอื่นๆ ในบ้าน หากมีอาการที่บ่งชี้หรือสงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากมีการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อตั้งแต่ในช่วง 48 ชั่วโมงก่อนผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการ ควรกักตัวอยู่แต่ในบ้านในระหว่างที่รอผลตรวจ ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • พยายามอยู่แต่ในห้องของตัวเองและปิดประตูไว้เสมอ
  • เปิดหน้าต่างภายในห้อง รวมถึงหน้าต่างภายในบ้านเท่าที่เปิดได้เพื่อช่วยเพิ่มการระบายอากาศและลดการสะสมของไวรัส
  • หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ภายในบ้านร่วมกับผู้อื่นในเวลาเดียวกัน และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากห้อง
  • ควรรับประทานอาหารในห้องตัวเองหรือในพื้นที่ที่แยกออกมาเพื่อกักตัว
  • แยกใช้ห้องน้ำแยกกับคนอื่นในครอบครัว หรือรอใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดตามพื้นผิวที่สัมผัสทุกครั้งหลังใช้

หากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดแนวทางว่าทางโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ตรวจเชื้อจะมีหน้าที่จัดการรับผู้ป่วยเข้ารักษาหรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายที่สามารถรับผู้ป่วยได้ทันที 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดปัญหาในการจัดหาเตียง แนะนำให้เตรียมเอกสารสำคัญของผู้ป่วย เช่น บัตรประจำตัว และผลตรวจโควิด-19 แล้วโทรแจ้ง 1330, 1668, 1669 เพื่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดและเบอร์โทรติดต่อกลับ หรือจะลงทะเบียนหาเตียงผ่าน @sabaideebot ในแอปพลิเคชัน LINE ก็ได้ 

ทั้งนี้หากมีอาการรุนแรงขึ้นในระหว่างที่รอรถมารับไปโรงพยาบาล เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้รีบติดต่อสายด่วน 1668 หรือ 1669 ทันที

การติดเชื้อโควิด-19 ในผู้สูงอายุสามารถป้องกันได้หากมีการเตรียมพร้อม รู้วิธีดูแลวัยเก๋าให้ปลอดภัยแบบไม่เหงาแล้ว ก็อย่าลืมดูแลตัวเองและหาเวลาผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นด้วย จะได้มีกำลังกายและกำลังใจที่ดีในการดูแลชาวสูงวัย เตรียมพร้อมรับมือและผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัยด้วยกัน