โรคอ้วนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในทั่วโลก โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งนี้สาเหตุของการมีไขมันสะสม อาจเกิดจากร่างกายได้รับพลังงานเกินกว่าที่ต้องการ จึงทำให้มีการสะสมพลังงานในรูปของไขมันตามอวัยวะต่างๆ ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานและนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆอีกด้วย
โรคอ้วน (Obesity)
คือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ จนเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น หอบหืด เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ปวดหลัง รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหลอดเลือดตีบ โรคข้อเข่าเสื่อม และโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) เป็นต้น โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้กำหนดผู้ที่มีภาวะอ้วนในเบื้องต้น คือ การคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) ซึ่งเป็น ค่าความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักตัวกับส่วนสูง = น้ำหนักตัว (kg) / ความสูง² (m²) ตามที่องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดค่าดัชนีมวลกายไว้ดังนี้
- BMI น้อยกว่า 18.5 = น้ำหนักน้อย
- BMI 18.6 – 22.9 = น้ำหนักปกติ
- BMI 23 – 24.9 = อ้วน ระดับ 1
- BMI 25 – 29.9 = อ้วน ระดับ 2
- BMI 30 ขึ้นไป = อ้วน ระดับ 3
ชนิดของโรคอ้วน
โรคอ้วนเพิ่มโอกาสการป่วยเป็นโรคร้ายแรง รวมถึงปัญหาสุขภาพได้หลายประการ ทั้งนี้โรคอ้วนที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพมีอยู่ 2 ประเภท คือ
- โรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันบริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหารและอื่นๆ ไขมันที่อยู่ในอวัยวะภายในเหล่านี้ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
- โรคอ้วน คือภาวะที่มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ โดยไขมันที่เพิ่มขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดโดยเฉพาะ นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อน และโรคที่เกิดจากน้ำหนักเกินเกณฑ์ ได้แก่ โรคไขข้อ ปวดข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง ระบบหายใจทำงานติดขัด เป็นต้น
สาเหตุของโรคอ้วน
การสะสมไขมันของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันตามพฤติกรรมและสภาพร่างกาย ซึ่งการสะสมไขมันนั้นมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต โดยโรคอ้วนมักจะมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- พฤติกรรมการรับประทานอาหาร รับประทานอาหารที่มากเกินพอดี ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความต้องการ
- โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์ (Thyroid gland) ทำงานลดลง ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเนื่องจากร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง
- การรับประทานยา ยาบางชนิดทำให้ความอยากอาหารเพิ่ม เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
- กรรมพันธุ์
ภาวะแทรกซ้อนในโรคอ้วน
ในปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาทางสาธารณสุข เนื่องจากประชากรทั่วโลก รวมถึงประชากรในไทยมีปัญหาน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้โรคอ้วนนำมาซึ่งปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุสำคัญของโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ ดังนี้
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจ
- โรคเบาหวาน
- โรคข้อกระดูกเสื่อม
- โรคทางระบบทางเดินหายใจ
- โรคไขมันในเลือดสูง
วิธีป้องกันโรคอ้วน
ภาวะอ้วนที่เกิดจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมอาหารและปรับพฤติกรรมการทานอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ดังนี้
- รับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ลดลง โดยใช้วิธีการทยอยลด ไม่หักโหม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
- ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อปรับสมดุลและอุณหภูมิของร่างกาย
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน
- ทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่ทานช่วงกลางคืน หรือก่อนนอน เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างเต็มที่
- พบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยภาวะของโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนต่างๆ
หากท่านต้องการที่จะนัดหมายเพื่อตรวจสุขภาพประจำปี เช็คค่าไขมันในเลือด หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการเกี่ยวกับโภชนบำบัด สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่พร้อมดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของท่านอย่างครบถ้วน สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้า ที่นี่