/    บทความ    /    First Aid : การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยเหลือชีวิตอย่างเร่งด่วน

ภาวะข้อไหล่ติดรักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

First Aid : การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยเหลือชีวิตอย่างเร่งด่วน

การปฐมพยาบาลคือให้การช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อพบอุบัติเหตุแก่ผู้บาดเจ็บก่อนนำส่งโรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น พิการ หรือเสียชีวิต ในการช่วยเหลืออาจใช้อุปกรณ์เท่าที่หาได้ในขณะนั้น เพื่อประคับประคองอาการของผู้ป่วยจนกว่าจะได้รับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือถูกส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid)

การปฐมพยาบาล หมายถึง การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ณ สถานที่เกิดเหตุ โดยใช้อุปกรณ์เท่าที่จะหาได้ในขณะนั้น ก่อนที่ผู้บาดเจ็บจะได้รับการดูแลรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือส่งต่อไปยังโรงพยาบาล โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ

  • เพื่อช่วยชีวิต
  • เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย
  • เพื่อทำให้บรรเทาความเจ็บปวดทรมาน และช่วยให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
  • เพื่อป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง
ทั้งนี้ผู้ปฐมพยาบาลมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น จะหมดหน้าที่เมื่อผู้บาดเจ็บปลอดภัยหรือได้รับการรักษาจากแพทย์หรือสถานพยาบาลแล้ว ขอบเขตหน้าที่ของผู้ปฐมพยาบาลมี 2 ประการ ดังนี้

1. วิเคราะห์สาเหตุและความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือได้ถูกต้อง

1.1 ซักประวัติของอุบัติเหตุ จากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้บาดเจ็บที่รู้สึกตัวดี
1.2 ซักถามอาการผิดปกติหลังได้รับอุบัติเหตุ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมากที่บริเวณใด 
1.3 ตรวจร่างกายผู้บาดเจ็บทุกครั้งก่อนให้การปฐมพยาบาล โดยตรวจตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม บาดแผล กระดูกหัก เป็นต้น

2. ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยช่วยเป็นลำดับขั้นดังนี้

2.1 ถ้าผู้บาดเจ็บอยู่ในบริเวณที่มีอันตรายต้องเคลื่อนย้ายออกมาก่อน เช่น ตึกพังถล่มลงมา ไฟไหม้ในโรงภาพยนต์ เป็นต้น
2.2 ช่วยชีวิต โดยจะตรวจดูลักษณะการหายใจ ว่ามีการอุดตันของทางเดินหายใจหรือไม่ หัวใจหยุดเต้นหรือไม่ 
2.3 ช่วยมิให้เกิดอันตรายมากขึ้น โดยใช้วิธีการสังเกตุความผิดปกติของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ  

  • หากมีกระดูกหักต้องเข้าเฝือกก่อน เพื่อมิให้มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อมากขึ้น 
  • ถ้ามีบาดแผลต้องคลุมด้วยผ้าสะอาด เพื่อมิให้ฝุ่นละอองเข้าไปทำให้ติดเชื้อ 
  • ในรายที่สงสัยว่ามีการหักของกระดูกสันหลัง ต้องให้อยู่นิ่งที่สุด และถ้าจะต้องเคลื่อนย้ายจะต้องให้แนวกระดูกสันหลังตรง โดยนอนราบบนพื้นไม้แข็ง มีหมอนหรือผ้าประคองศีรษะมิให้เคลื่อนไหว 
หลักทั่วไปในการปฐมพยาบาล

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องดูตามอาการซึ่งแตกต่างกัน โดยผู้ที่ให้ความช่วยเหลือต้องมีสติ คิดหาวิธีรับมือ และตัดสินใจให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ โดยสามารถปฏิบัตืตามหลักการต่างๆ ดังนี้

  • เมื่อพบผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ ต้องรีบช่วยเหลือทันที ยกเว้นในกรณีที่มีอุปสรรคต่อการช่วยเหลือ เช่น มีแก็สพิษ มีวัสดุกีดขวาง ให้ย้ายผู้ป่วยออกมาในที่ปลอดภัยเสียก่อนจึงดำเนินการช่วยเหลือ
  • ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในกรณีที่จะมีอันตรายต่อชีวิตโดยรีบด่วนก่อน
  • หลีกเลี่ยงกลุ่มคนจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ป่วยมีอากาศปลอดโปร่ง มีแสงสว่างเพียงพอ และมีบริเวณกว้างขวางเพียงพอ อีกทั้งสะดวกในการให้การปฐมพยาบาลด้วย
  • จัดให้ผู้บาดเจ็บอยู่ในท่าที่เหมาะสมในการปฐมพยาบาล และไม่เพิ่มอันตรายแก่ผู้บาดเจ็บด้วย ควรจัดให้อยู่ในท่านอนหงายและทางเดินหายใจโล่ง พร้อมทั้งสังเกตอาการต่างๆ ของผู้บาดเจ็บ และวางแผนการให้การช่วยเหลืออย่างมีสติ ไม่ตื่นเต้นตกใจ สังเกตสิ่งแวดล้อมว่ามีสิ่งของอันตรายอยู่ใกล้เคียงหรือไม่ 
  • บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ อาการ ลักษณะของผู้บาดเจ็บเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลที่ได้ทำลงไป พร้อมทั้งนำติดตัวไปกับผู้บาดเจ็บเสมอเพื่อประโยชน์ในการรักษาต่อไป
  • อย่าทำการรักษาด้วยตนเอง ให้เพียงการปฐมพยาบาลที่จำเป็นอย่างถูกต้อง แล้วนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที
การช่วยเหลือเมื่อพบผู้ป่วยไม่หายใจและไม่มีชีพจร

Cardiopulmonary Resuscitation หรือ CPR คือ การปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ และมีการไหลเวียนออกซิเจนรวมทั้งเลือดกลับคืนสู่สภาพเดิม พร้อมทั้งป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร

  1. เปิดทางเดินหายใจกดหน้าผากยกคาง
  2. ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมในปากให้ล้วงออก
  3. ผายปอด 2 ครั้ง
  4. ตรวจพบไม่มีชีพจร ให้นวดหัวใจและผายปอด
  5. กดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการผายปอด 2 ครั้ง พร้อมตรวจชีพจรและการหายใจเป็นระยะ 
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก

บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยมากมักจะมีสาเหตุจากอุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับความร้อน อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ ดีกรีความลึกของบาดแผล และขนาดความกว้างพื้นที่ของบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

  1. ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ
  2. หลังจากนั้นซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์
  3. ไม่ควรใส่ตัวยา/สารใดๆ ทาลงบนบาดแผล ถ้าไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น  เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการเกิดบาดแผลติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น และไม่ควรเจาะตุ่มน้ำด้วยตนเอง
การปฐมพยาบาลหกล้มแผลถลอก

เมื่อหกล้มอาจมีแผลถลอกได้เช่น ที่บริเวณหัวเข่า ข้อศอก แผลลักษณะนี้จะมีผิวหนังลอกหลุด มีเลือดออกเล็กน้อย อาจมีสิ่งสกปรกที่แผล ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการติดเชื้อมีหนองได้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนพบแพทย์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

  1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เพื่อให้สิ่งสกปรกออกให้หมด
  2. ใช้ผ้าสะอาดกดแผลห้ามเลือดให้หยุดไหล
  3. ใส่ยาสำหรับแผลสด
  4. ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าสะอาด
หากท่านได้รับอุบัติเหตุ ต้องการที่จะทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถเข้ามารับคำแนะนำ หรือรับการรักษาโดยแพทย์ได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เรามีความชำนาญและมีความรู้ในด้านการดูแลสุขภาพ ภายใต้การดูเเลอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการเเพทย์ของพรีโมเเคร์  สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่ 

Reference