/    บทความ    /    ตอบลูกอย่างไรเมื่อคนใกล้ชิดจากไป และวิธีดูแลเด็กที่ผ่านการสูญเสีย

ตอบลูกอย่างไรเมื่อคนใกล้ชิดจากไป และวิธีดูแลเด็กที่ผ่านการสูญเสีย

ตอบลูกอย่างไรเมื่อคนใกล้ชิดจากไป
และวิธีดูแลเด็กที่ผ่านการสูญเสีย

เด็กเล็ก เด็กวัยประถม และวัยรุ่น ต่างรับรู้ได้ถึงการสูญเสีย และมีวิธีแสดงออกในแบบของตนเอง เรียนรู้วิธีสังเกตและการดูแลเด็กที่ถูกต้อง

เมื่อเด็กต้องเผชิญกับการสูญเสียบุคคลที่ใกล้ชิดไปอย่างไม่มีกลับมา หลายครั้งพ่อแม่หรือผู้ปกครองอาจคิดว่าเด็กดูไม่ได้เสียใจมากนัก เพราะเด็กยังคงเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ทำให้เข้าใจไปว่าเด็กยังไม่เข้าใจความหมายของการตายและการสูญเสีย

ในความจริงแล้วทั้งเด็กเล็ก เด็กวัยประถม และวัยรุ่น ต่างก็สัมผัสรับรู้ได้ถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้น และแสดงความรู้สึกเสียใจออกมาในแบบของตนเอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียในช่วงวัยไหน ก็จำเป็นต้องมีวิธีการดูแลเด็กให้ได้รับความใส่ใจอย่างใกล้ชิดเสมอ 

เด็กในแต่ละช่วงวัยมีวิธีแสดงออกและรับมือการสูญเสียอย่างไร?

เด็กแต่ละคนตอบสนองต่อความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดไม่เหมือนกัน โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวแปร เช่น 

  • อายุ เพศ ลักษณะนิสัย พัฒนาการ 
  • วิธีที่เด็กเลือกใช้รับมือกับความเครียดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น 
  • ระดับความใกล้ชิดกับคนที่จากไป 
  • การแสดงออก/การจัดการอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ใหญ่รอบตัว
  • สถานการณ์และความเป็นไปในครอบครัว 
  • วิธีการดูแลที่เด็กได้รับจากคนรอบข้าง 

เด็กบางคนอาจไม่รู้จะพูดความรู้สึกออกมาอย่างไร ผู้ดูแลสามารถปรับวิธีการดูแลเด็กที่เพิ่งผ่านการสูญเสียตามพัฒนาการและการแสดงออกที่แตกต่างกันตามช่วงอายุ ดังต่อไปนี้

เด็กวัยอนุบาล (อายุไม่เกิน 7 ปี) 

ในช่วงวัยนี้ เด็กยังไม่เข้าใจว่าการตายคือการจากไปอย่างถาวร และด้วยวัยที่มีจินตนาการสูง ทำให้อาจเข้าใจว่าผู้เสียชีวิตแค่หลับไปแล้วจะตื่นหรือฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้งได้ บางรายอาจรู้สึกเหมือนตัวเองถูกทอดทิ้งหรือเป็นสาเหตุของการจากไปของบุคคลดังกล่าว ดังนั้น ผู้ปกครองควรระมัดระวังการสื่อสาร โดยเลี่ยงการอธิบายด้วยภาษาที่กำกวม แต่ควรบอกอย่างตรงไปตรงมาและให้เป็นรูปธรรมที่สุด เช่น “เราไม่สามารถพบผู้เสียชีวิตได้อีกแล้ว เพราะร่างกายของผู้เสียชีวิตไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม”

  • ร้องไห้หรือแสดงท่าทีหงุดหงิดบ่อยขึ้น
  • ไม่ยอมห่างจากผู้ดูแล ต้องการความใกล้ชิด ร้องอยากให้อุ้มบ่อยขึ้น
  • อาจดูเศร้าซึมและมีพฤติกรรมที่แสดงออกว่าคิดถึงมาก มองหาหรือร้องหา แต่ในเวลาต่อมาก็อาจเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติ
  • แสดงความวิตกกังวลเมื่อถูกรายล้อมด้วยคนแปลกหน้า
  • แยกตัวจากคนอื่น หรือไม่ค่อยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคนรอบข้าง
  • พฤติกรรมการกินหรือการนอนเปลี่ยนแปลง เล่นน้อยลง
  • พัฒนาการถดถอยลงชั่วคราว เช่น ฉี่รดที่นอน เด็กเล็กอาจกลับไปคลานแทนเดิน ดูดนิ้ว ร้องงอแง หรือต้องการดูดขวดนม
  • ให้ความรักและความใส่ใจด้วยการกอด สัมผัส จับมือ และกล่าวชมเมื่อทำดี หรือพูดให้กำลังใจบ่อยๆ
  • สร้างความมั่นใจว่าผู้ปกครองยินดีรับฟังและพูดคุยด้วยหากเด็กต้องการระบาย
  • อาจให้เด็กมีตุ๊กตาตัวโปรดหรือผ้าห่มที่ชอบไว้เป็นเพื่อนปลอบใจ 
  • ทำกิจกรรมต่างๆ กับเด็กให้คล้ายเดิมที่สุดเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าทุกอย่างยังเป็นปกติจะได้ไม่เกิดความกังวล
  • ในวัยนี้เด็กบางคนอาจยังไม่สามารถพูดออกมาอย่างที่ต้องการได้ จึงควรสังเกตความรู้สึกของเด็กที่แสดงผ่านพฤติกรรม การเล่นกับของเล่น หรือรูปที่วาดออกมา และพยายามใช้คำแสดงความรู้สึกกับเด็กเพื่อให้เด็กเรียนรู้การแสดงความรู้สึกผ่านคำพูด
  • ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในงานศพ เพื่อเป็นการระลึกถึงและสร้างความรู้สึกดีๆ ว่าได้ทำบางอย่างเพื่อผู้ตาย
  • พยายามให้เด็กใกล้ชิดกับผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในครอบครัวมากขึ้นเพื่อลดความกลัวหรือกังวลเมื่ออยู่ร่วมกับคนที่ไม่คุ้นชินมาก่อน 
  • หากต้องออกไปทำธุระและปล่อยเด็กไว้ที่บ้านกับคนอื่น ควรบอกล่วงหน้าและพูดสร้างความมั่นใจว่าจะกลับมาหาเพื่อให้เด็กคลายกังวล 
  • หากิจกรรมสร้างสรรค์ให้เล่นเพื่อไม่ให้เด็กจมกับความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้น และอาจสร้างกล่องแห่งความทรงจำที่มีรูปและสิ่งของของผู้ที่จากไป เพื่อเป็นการเยียวยาด้วยการระลึกถึง
  • เด็กในวัยนี้สามารถเริ่มสัมผัสถึงอารมณ์และความเครียดของผู้ใหญ่รอบข้างได้แล้ว จึงควรแสดงออกและพูดคุยกับเด็กอย่างนุ่มนวลและใจเย็น
  • ควรตอบคำถามตามความจริงให้เหมือนเดิมทุกครั้ง แต่ไม่ต้องลงรายละเอียดหรือบรรยายภาพที่อาจทำให้เด็กหวาดกลัว 
  • หลีกเลี่ยงการใช้คำที่อาจทำให้เข้าใจผิดหรือสับสน เช่น หายตัวไป หรือ ไม่อยู่
  • บอกให้เด็กทราบว่าการตายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่สิ่งที่บุคคลดังกล่าวสมัครใจ เพื่อยืนยันว่าเด็กไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
  • อาจอธิบายโดยยกตัวอย่างการตายของสัตว์และแมลงต่างๆ การชำรุดของของเล่น พร้อมทั้งบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ หรืออ่านหนังสือนิทานที่มีเรื่องของความตายและการสูญเสียเพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจมากขึ้น

 

เด็กวัยประถม (อายุ 8-12 ปี)

เป็นวัยที่เริ่มเข้าใจว่าการตายนั้นเป็นสิ่งถาวร ผู้เสียชีวิตไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ และมีความรู้สึกของการสูญเสียหรือรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง เด็กบางคนอาจรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองเมื่อจินตนาการไปว่าคำพูดหรือการกระทำบางอย่างของตนเองอาจเป็นสาเหตุของการตาย และบางคนอาจกังวลเกี่ยวกับการตาย/ความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการได้พบเจอและเข้าใจการสูญเสีย

  • พยายามมองหา หรือยังรู้สึกเหมือนว่าผู้ที่เสียชีวิตยังอยู่ใกล้ๆ
  • ไม่อยากห่างจากผู้ดูแล แสดงความวิตกกังวล ไม่อยากไปโรงเรียน
  • มีอาการทางร่างกายหรืออารมณ์ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย ขี้ลืม
  • ไม่สนใจหรือไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยทำเป็นปกติ
  • เงียบลงหรือดูเหมือนไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการจากไปของผู้เสียชีวิต
  • บางคนอาจพยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเองหรือทำตัวเป็นเด็กดี รับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ แทนผู้ใหญ่เพื่อให้ผู้ใหญ่พอใจ
  • แสดงออกด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ค่อนข้างที่รุนแรง เช่น โกรธ รู้สึกผิด หรือคิดว่าคนรอบตัวไม่รัก
  • มีปัญหาทางพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว งอแง ต่อต้าน หรือมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งที่โรงเรียน
  • พฤติกรรมการกินหรือการนอนเปลี่ยนแปลง และอาจมีพัฒนาการถดถอยลงชั่วคราว
  • สร้างความมั่นใจให้กับเด็กโดยบอกว่าจะอยู่เคียงข้าง และพร้อมรับฟังหากเด็กต้องการระบายสิ่งที่อยู่ในใจ อาจบอกด้วยว่าใครจะเป็นผู้ดูแลเด็กเมื่อคุณไม่อยู่ ในกรณีที่เด็กสงสัยและดูเป็นกังวลว่าจะทำอย่างไรหากคุณจากไปอีกคน
  • พยายามทำกิจกรรมทุกอย่างให้ใกล้เคียงตามเดิมมากที่สุด แม้เด็กจะมีพฤติกรรมที่ต่างออกไปก็ตาม 
  • บอกเด็กว่าคุณรู้ว่าเขาเสียใจ และกระตุ้นให้ใช้คำแสดงความรู้สึกเพื่อระบายความรู้สึกดังกล่าวออกมา
  • ให้เด็กมีส่วนร่วมในงานศพ โดยอาจลองถามว่าอยากช่วยทำอะไรเพื่อระลึกถึงหรือมอบให้ผู้ที่จากไปเป็นครั้งสุดท้ายไหม
  • สร้างกล่องแห่งความทรงจำที่มีรูปและสิ่งของต่างๆ ของผู้ที่จากไปเพื่อเยียวยาจิตใจเด็กด้วยการระลึกถึง
  • ชักชวนเล่นสนุกหรือทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อกระชับควาามสัมพันธ์และกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารร่วมกัน รวมทั้งถือเป็นการเยียวยาความรู้สึกของเด็กตามขั้นตอนธรรมชาติ
  • ให้เวลาในการรับฟังความคิดของเด็กและตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา โดยตอบให้เหมือนเดิมทุกครั้ง เพื่อให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้และเกิดความเข้าใจ
  • ยืนยันกับเด็กว่าการจากไปของบุคคลที่รักไม่ใช่ความผิดของเขา
  • อธิบายว่าความตายและการสูญเสียเป็นเรื่องธรรมชาติ อาจยกตัวอย่างจากสัตว์เลี้ยง หรือใช้การอ่านหนังสือที่มีเรื่องราวของการตายร่วมกับเด็ก

 

เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป

ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เด็กมีความเข้าใจว่าการตายเป็นธรรมชาติของชีวิต แต่ด้วยวัยที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ทำให้อาจตอบสนองต่อการสูญเสียแบบในกลุ่มเด็กวัยประถมสลับกับการตอบสนองที่ดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น หรืออาจทำให้เด็กพัฒนาไปในทางที่พึ่งพาตนเองและต้องการมีอิสระมากกว่าเดิม จากที่เคยใกล้ชิดครอบครัวก็อาจกลายเป็นติดเพื่อนหรือต้องการระบายความรู้สึกกับเพื่อนมากกว่า

ทั้งนี้ ในช่วงวัยรุ่น เด็กๆ มักต้องการอยู่กับเพื่อนมากกว่าครอบครัวเป็นปกติอยู่แล้ว บางคนเยียวยาตัวเองโดยการหันไปใช้เวลากับกลุ่มเพื่อนมากขึ้นหรือนัดเล่นเกมออนไลน์ในเวลาว่าง ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่กังวล แต่พฤติกรรมเหล่านี้ก็ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยให้วัยรุ่นได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อน 

การถามไถ่เมื่อมีโอกาส เช่น ในระหว่างที่กินข้าวด้วยกัน หรือช่วงที่ไปรับ-ส่งที่โรงเรียน อาจช่วยให้ผู้ปกครองได้พูดคุยกับเด็กมากขึ้นและประเมินว่าเขายังรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นอยู่หรือไม่ ทั้งนี้การเผชิญการสูญเสียในช่วงวัยนี้อาจทำให้เด็กบางคนแยกตัวจากสังคม และเลือกจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ได้เช่นกัน

 

  • แยกตัว เก็บตัว ต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น
  • พยายามทำตัวให้คนอื่นพอใจหรือชื่นชอบ บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น หรือผันตัวมาเป็นผู้ดูแล คอยปลอบใจน้องๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ในครอบครัวก็ตาม
  • แสดงพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่บ่งบอกว่าไม่พอใจ เสียใจ กลัว หรือไม่มีความสุขอย่างชัดเจน
  • มีความรู้สึกคุกรุ่นที่อาจไม่แสดงออกมา หรือไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร เช่น ความโกรธ ความรู้สึกผิด ความกลัว หรือการปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับการสูญเสีย 
  • กังวลถึงความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง เนื่องจากหวาดกลัวต่อความตายและการสูญเสีย
  • ครุ่นคิดหรือเกิดคำถามเกี่ยวกับความตาย จุดจบของชีวิต และโลกหลังความตาย
  • พยายามกลบเกลื่อนความรู้สึกด้วยมุกตลกหรือใช้อารมณ์ขัน 
  • อาจรู้สึกอาย จึงพยายามปกปิดหรือไม่บอกผู้อื่นเกี่ยวกับการสูญเสีย
  • บางรายรู้สึกอยากสนิทและใกล้ชิดกับครอบครัวและเพื่อนๆ มากขึ้น
  • ฝันถึงหรือรู้สึกว่าผู้ที่เสียชีวิตยังอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้จากไปไหน
  • มีอาการทางร่างกาย เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง รวมถึงการไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมการกินและการนอน อาจกินหรือนอนมากขึ้นหรือน้อยลงก็ได้
  • มีพฤติกรรมต่อต้าน ท้าทาย ขี้หงุดหงิด ทะเลาะเบาะแว้ง มีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • แสดงการถดถอยทางพัฒนาการ เช่น ขาดความมั่นใจในตัวเอง เคารพตัวเองน้อยลง หรือกลับไปปัสสาวะรดที่นอน
  • ตั้งใจรับฟังความรู้สึกและตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ให้เด็กมีส่วนร่วมรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น 
  • พูดคุยเกี่ยวกับความตายและการสูญเสียด้วยกัน โดยบอกให้รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา และแต่ละคนย่อมตอบสนองต่อการสูญเสียต่างกันไป เด็กๆ มีสิทธิจะแสดงออกอย่างที่รู้สึก
  • พูดความรู้สึกของตัวคุณเองเพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมาบ้าง และบอกให้เด็กทราบว่าคุณเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ
  • หากเด็กปฏิเสธที่จะคุย ควรเปลี่ยนวิธีการสื่อสารโดยแปะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้รอบบ้าน หรืออาจสื่อสารด้วยการส่งเป็นข้อความออนไลน์
  • อาจขอความช่วยเหลือจากญาติหรือคนอื่นในครอบครัว รวมถึงคุณครูและเพื่อนที่เด็กไว้ใจให้คอยช่วยดูแล
  • หมั่นกล่าวชมและให้กำลังใจในสิ่งต่างๆ ที่เด็กทำ
  • ทำกิจกรรมทุกอย่างร่วมกับเด็กให้เป็นปกติเหมือนก่อนหน้า 
  • ไม่ควรคาดหวังให้เด็กมีพฤติกรรม การแสดงออก หรือความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่ 

 

เด็กๆ ที่ต้องเผชิญการสูญเสียล้วนต้องการการปลอบโยนหรือให้กำลังใจ อีกทั้งความรู้สึกเหล่านี้สามารถย้อนกลับมาได้ทุกเมื่อในระหว่างที่เด็กเติบโตขึ้น การรับมือกับการสูญเสียจึงเป็นพื้นฐานที่ครอบครัวต้องช่วยกันดูแลให้เด็กก้าวผ่านไปอย่างมีความเข้มแข็งทางจิตใจ ซึ่งอาจต้องทำอย่างต่อเนื่องหลายปี 

ทั้งนี้ หากความสูญเสียเป็นสาเหตุให้เด็กมีพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่น่ากังวลอย่างต่อเนื่องและไม่ดีขึ้น เช่น ดื้อหรือเกเรผิดปกติ ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยทำ ไม่อยากอาหาร มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน ดูกังวล ซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง มีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย ผู้ดูแลควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยาเด็ก ซึ่งสามารถช่วยให้คำแนะนำในการดูแลให้เด็กก้าวผ่านความรู้สึกจากการสูญเสียหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปได้

ดูแลเด็กๆ อย่างเข้าใจพัฒนาการและการแสดงออกของเด็กในแต่ละช่วงวัย ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก สร้างรากฐานสุขภาพดีในทุกด้านตั้งแต่วันนี้ ที่ @primoCare หรือโทร 02-038-5595, 082-527-9924 

Reference