คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
คือสารประกอบไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยการสังเคราะห์จากตับ และจากการรับประทานอาหาร ซึ่งระดับคอเลสเตอรอลมักจะแปรผันตามพฤติกรรมการรับประทาน เนื่องจากคอเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถละลายอยู่ในกระแสเลือดได้โดยลำพัง ต้องอาศัยการรวมตัวกับโปรตีนจึงจะอยู่ในกระแสเลือดได้ โดยการรวมตัวระหว่างไขมันและโปรตีน เรียกว่า ไลโพโปรตีน (Lipoprotein) ทั้งนี้คอเลสเตอรอลมี 2 ชนิด คือ
- HDL (High Density Lipoprotien) เป็นไลโพโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง หรือไขมันดี มีหน้าที่ช่วยจับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดที่ออกไปทำลายที่ตับ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไขมันชนิดนี้สร้างได้จากการออกกำลังกาย ทั้งนี้ระดับไขมัน HDL ในเลือดในผู้ชายควรมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และ มากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิง
- LDL (Low Density Lipoprotien) เป็นไลโพโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ หรือไขมันไม่ดี โดยไขมันชนิดนี้จะไปเกาะและพอกที่ผนังภายในหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดหนาและตีบ ส่งผลให้เลือดดีที่สูบฉีดออกจากหัวใจไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่สะดวก ทำให้อวัยวะขาดเลือดและเจ็บป่วย ทั้งนี้ระดับไขมัน LDL ในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
คือไขมันในเลือดอีกประเภทหนึ่ง เกิดจากไขมันที่ตับสังเคราะห์ขึ้น หรือการรับประทานอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ เช่น หมูสามชั้น น้ำมัน เนย หรือไขมันต่างๆ หากร่างกายได้รับมากเกินความจำเป็น สารอาหารดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ ทั้งนี้ระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดควรต่ำกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
การป้องกันโรคไขมันในเลือดสูง
การเปลี่ยนแปลงนิสัยการบริโภคและเลือกรับประทานอาหารที่มีสัดส่วนเหมาะสมจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ ซึ่งหากสามารถปฏิบัติตามนี้ได้อย่างครบถ้วนจะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคไขมันในเลือดสูงได้
- ตรวจไขมันในเลือดทุก 1 ปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของตัวเอง
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ช่วยในด้านการขับถ่าย และปรับสมดุลในร่างกาย
- ควบคุมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช เนื้อปลา
- บริโภคไขมันดี เปลี่ยนมาใช้ไขมันดีในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องใน เนย อาหารทอด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น กุ้ง ปลาหมึก มันปู เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานซ์ เช่น อาหารจานด่วน มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว
- เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ ที่มีใยอาหารทุกมื้อ เช่น คะน้า ฝรั่ง ส้ม เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยในการกักน้ำตาลและคอเลสเตอรอล
- ออกกำลังกาย การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง เช่น เดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เป็นต้น จะช่วยลดไขมันในเลือดและเพิ่มไขมันชนิดดีมากขึ้น
หากท่านต้องการที่จะนัดหมายเพื่อตรวจสุขภาพประจำปี เช็คค่าไขมันในเลือด หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่พร้อมดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของท่านอย่างครบถ้วน สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้า ที่นี่