การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์กังวลใจและเต็มไปด้วยคำถามมากมาย มาเพิ่มความมั่นใจด้วยการเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ กับคู่มือการตั้งครรภ์ในยุคโควิด-19 ที่คุณหมอพรีโมแคร์นำมาฝากกันเลยในบทความนี้
การติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร?
จากรายงานผลกระทบของการติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างตั้งครรภ์จนถึงปัจจุบัน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะอ้วน หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ รวมถึงมีความเสี่ยงต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู การใส่เครื่องหายใจ และมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่ตั้งครรภ์
เชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์หรือไม่?
มีบางกรณีที่พบว่าเชื้อโควิด-19 สามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ได้ แต่ก็เกิดขึ้นน้อยมาก โดยการศึกษาบางงานชี้ว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด (ก่อนสัปดาห์ที่ 37) และเสี่ยงมีปัญหาอื่นๆ ตามมามากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อ รวมถึงภาวะแท้งบุตร แต่ก็มีการศึกษาบางงานที่ไม่พบว่ามีความเสี่ยงดังกล่าวเช่นกัน
ฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันทารกในครรภ์จากความเสี่ยง โดยสามารถมั่นใจได้ว่าการรับวัคซีนโควิด-19 ขณะตั้งครรภ์นั้นมีความปลอดภัย ทั้งนี้หากเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรหรือไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไหน?
ปัจจุบันยังไม่พบรายงานว่ามีวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อหรือชนิดใดที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงในหญิงที่ตั้งครรภ์มากไปกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด
วัคซีน mRNA เช่น Pfizer/BioNTech หรือ Moderna ที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดความกังวลใจ แต่จากรายงานการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในหญิงตั้งครรภ์กว่า 130,000 คนในสหรัฐอเมริกา ไม่พบข้อควรกังวลด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ด้วยข้อมูลความปลอดภัยที่มีมากกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ การใช้ที่แพร่หลายทั่วโลก มีประสิทธิภาพลดอาการรุนแรงและป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในบางประเทศ เช่น อังกฤษ แนะนำให้เลือกรับวัคซีนชนิด mRNA มากกว่าวัคซีน Astrazeneca หรือวัคซีนอื่นๆ ในกรณีที่มีวัคซีนให้เลือกหลายชนิด
คุณแม่ที่ให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้ไหม?
แม้จะอยู่ในช่วงให้นมบุตรก็สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการให้นม และเป็นไปได้ว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด-19 อาจส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ทารกและช่วยป้องกันการติดเชื้อของเด็กได้
กำลังวางแผนตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนได้ไหม?
ผู้ที่กำลังเตรียมตัวหรือวางแผนตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที โดยไม่มีรายงานว่าวัคซีนมีผลข้างเคียงให้เกิดภาวะมีบุตรยากแต่อย่างใด
ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตอนตั้งครรภ์ มีผลข้างเคียงหรือไม่?
วัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดอาจมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อวัคซีนของแต่ละคน โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และท้องเสีย
เชื้อไวรัสโควิด-19 จะติดต่อไปยังทารกขณะคลอดไหม?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าคุณแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถส่งผ่านไวรัสไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์หรือทารกแรกเกิด แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาโดยเก็บตัวอย่างของเหลวบริเวณรอบๆ ครรภ์ ไม่พบเชื้อบริเวณดังกล่าว และการตรวจน้ำนมคุณแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่พบเชื้อในน้ำนมแต่อย่างใด
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องผ่าคลอดไหม?
การติดเชื้อโควิด-19 หรือมีอาการเจ็บป่วยก่อนคลอด ไม่จำเป็นต้องรับการผ่าคลอด การผ่าคลอดจะทำเมื่อมีเหตุผลทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ วิธีการคลอดของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ที่ตั้งครรภ์และปัจจัยบ่งชี้ทางการคลอดว่าควรคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอดด้วย
หากติดเชื้อโควิด-19 จะมีขั้นตอนการคลอดที่เปลี่ยนไปหรือไม่?
ระหว่างคลอดแพทย์อาจแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ระหว่างเบ่งคลอดการสวมหน้ากากอนามัยอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบาย อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์จะสวมหน้ากากอนามัย ชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว
ติดเชื้อโควิด-19 สามารถสัมผัสทารกหลังคลอดได้ไหม?
การสัมผัสและอุ้มทารกแรกเกิดดีต่อการสร้างสายสัมพันธ์และพัฒนาการของเด็ก คุณแม่สามารถอุ้มลูกและให้นมลูกได้แม้จะติดเชื้อโควิด-19 และไม่ต้องแยกห้องกับเด็ก เพราะปัจจุบันไม่มีรายงานพบว่าการอยู่ร่วมห้องกันของแม่และเด็กแรกเกิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของเด็ก
เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ อาจตั้งเตียงของทารกห่างออกไปประมาณ 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมทั้งล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสทารก แต่หากคุณแม่มีอาการป่วยหนัก หรือทารกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง แพทย์อาจแนะนำให้แยกห้องและให้นมโดยการปั๊มนมแทน
บุคคลภายนอกสามารถมาเยี่ยมคุณแม่และเด็กหลังคลอดได้หรือไม่?
เกณฑ์การเยี่ยมและจำนวนคนที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมหลังคลอดของแต่ละโรงพยาบาลอาจแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง อาจทำให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ก่อนคลอดคุณแม่ควรสอบถามเรื่องนี้กับทางทีมแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ทำคลอดโดยตรง
เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถถ่ายทอดผ่านน้ำนมไปสู่ลูก โดยไม่พบรายงานการติดเชื้อของทารกที่ได้รับนมจากแม่ที่ติดเชื้อ จึงยังคงแนะนำให้คุณแม่ให้นมบุตร เพราะนมแม่เป็นแหล่งสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับทารก ทั้งยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อต่างๆ เช่น การติดเชื้อที่หู ปอด และระบบทางเดินหายใจอีกด้วย
ทั้งนี้ คุณแม่ควรป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดจากการสัมผัสระหว่างให้นมลูกน้อยตามคำแนะนำต่อไปนี้
เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกในครรภ์และสุขภาพที่ดีของคุณแม่ ควรไปตามนัดหมายการตรวจครรภ์และการตรวจหลังคลอดทุกครั้ง รวมถึงการฉีดวัคซีนของทารกตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
หากเป็นกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 สามารถสอบถามสูติแพทย์ในกรณีที่สามารถปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ (Telemedicine) โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ให้บริการปรึกษาผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลเคียงข้าง สร้างสุขภาพดีไปกับคุณ หลากเรื่องสุขภาพ ปรึกษาทีมแพทย์ของเราทางออนไลน์ได้ที่ Line @primoCare
Doing Business with Compassion
for the Development of Civilisation in Harmony with Nature.
Part of B.Grimm Group | bgrimmgroup.com
ให้พรีโมเเคร์ เมดิคอล ดูเเลทุกองค์ประกอบสุขภาพของคุณ ทั้งด้านรักษา ป้องกัน เเละส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้คุณมีสุขภาพเเข็งเเรงเเบบยั่งยืน
1 ซอยกรุงเทพกรีฑา 4 (บี.กริม) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 ประเทศไทย
โทร: +66 2038 5595
แฟกซ์: +66 2038 5542
LINE ID: @primocare
อีเมล: [email protected]
©2022 PrimoCare Medical Limited. All rights reserved.