Categories
Uncategorized

โควิด-19 กับเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรต้องรู้

    /    บทความ    /    โควิด-19 กับเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรต้องรู้

โควิด-19 กับเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรต้องรู้

โควิด-19 กับเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์
หรือให้นมบุตรต้องรู้

เรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ วัคซีนโควิด-19 ถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ไหม ฉีดยี่ห้อไหนดี ติดเชื้อตอนคลอดควรทำยังไง? รู้พร้อมทุกสถานการณ์

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์กังวลใจและเต็มไปด้วยคำถามมากมาย มาเพิ่มความมั่นใจด้วยการเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ กับคู่มือการตั้งครรภ์ในยุคโควิด-19 ที่คุณหมอพรีโมแคร์นำมาฝากกันเลยในบทความนี้

โควิด-19 กับการตั้งครรภ์

การติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร? 

จากรายงานผลกระทบของการติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างตั้งครรภ์จนถึงปัจจุบัน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะอ้วน หรือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ รวมถึงมีความเสี่ยงต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู การใส่เครื่องหายใจ และมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่ตั้งครรภ์

เชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์หรือไม่?

มีบางกรณีที่พบว่าเชื้อโควิด-19 สามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ได้ แต่ก็เกิดขึ้นน้อยมาก โดยการศึกษาบางงานชี้ว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด (ก่อนสัปดาห์ที่ 37) และเสี่ยงมีปัญหาอื่นๆ ตามมามากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อ รวมถึงภาวะแท้งบุตร แต่ก็มีการศึกษาบางงานที่ไม่พบว่ามีความเสี่ยงดังกล่าวเช่นกัน

การฉีดวัคซีนโควิด-19

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันทารกในครรภ์จากความเสี่ยง โดยสามารถมั่นใจได้ว่าการรับวัคซีนโควิด-19 ขณะตั้งครรภ์นั้นมีความปลอดภัย ทั้งนี้หากเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป 

คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรหรือไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไหน?

ปัจจุบันยังไม่พบรายงานว่ามีวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อหรือชนิดใดที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงในหญิงที่ตั้งครรภ์มากไปกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด 

วัคซีน mRNA เช่น Pfizer/BioNTech หรือ Moderna ที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดความกังวลใจ แต่จากรายงานการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในหญิงตั้งครรภ์กว่า 130,000 คนในสหรัฐอเมริกา ไม่พบข้อควรกังวลด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ด้วยข้อมูลความปลอดภัยที่มีมากกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ การใช้ที่แพร่หลายทั่วโลก มีประสิทธิภาพลดอาการรุนแรงและป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในบางประเทศ เช่น อังกฤษ แนะนำให้เลือกรับวัคซีนชนิด mRNA มากกว่าวัคซีน Astrazeneca หรือวัคซีนอื่นๆ ในกรณีที่มีวัคซีนให้เลือกหลายชนิด

คุณแม่ที่ให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้ไหม?

แม้จะอยู่ในช่วงให้นมบุตรก็สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการให้นม และเป็นไปได้ว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด-19 อาจส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ทารกและช่วยป้องกันการติดเชื้อของเด็กได้

กำลังวางแผนตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนได้ไหม?

ผู้ที่กำลังเตรียมตัวหรือวางแผนตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที โดยไม่มีรายงานว่าวัคซีนมีผลข้างเคียงให้เกิดภาวะมีบุตรยากแต่อย่างใด

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ตอนตั้งครรภ์ มีผลข้างเคียงหรือไม่?

วัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดอาจมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อวัคซีนของแต่ละคน โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และท้องเสีย 

โควิด-19 กับการคลอดบุตร

เชื้อไวรัสโควิด-19 จะติดต่อไปยังทารกขณะคลอดไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าคุณแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถส่งผ่านไวรัสไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์หรือทารกแรกเกิด แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาโดยเก็บตัวอย่างของเหลวบริเวณรอบๆ ครรภ์ ไม่พบเชื้อบริเวณดังกล่าว และการตรวจน้ำนมคุณแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่พบเชื้อในน้ำนมแต่อย่างใด

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องผ่าคลอดไหม? 

การติดเชื้อโควิด-19 หรือมีอาการเจ็บป่วยก่อนคลอด ไม่จำเป็นต้องรับการผ่าคลอด การผ่าคลอดจะทำเมื่อมีเหตุผลทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ วิธีการคลอดของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ที่ตั้งครรภ์และปัจจัยบ่งชี้ทางการคลอดว่าควรคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอดด้วย

หากติดเชื้อโควิด-19 จะมีขั้นตอนการคลอดที่เปลี่ยนไปหรือไม่?

ระหว่างคลอดแพทย์อาจแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ระหว่างเบ่งคลอดการสวมหน้ากากอนามัยอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบาย อย่างไรก็ตาม ทีมแพทย์จะสวมหน้ากากอนามัย ชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว

ติดเชื้อโควิด-19 สามารถสัมผัสทารกหลังคลอดได้ไหม?

การสัมผัสและอุ้มทารกแรกเกิดดีต่อการสร้างสายสัมพันธ์และพัฒนาการของเด็ก คุณแม่สามารถอุ้มลูกและให้นมลูกได้แม้จะติดเชื้อโควิด-19 และไม่ต้องแยกห้องกับเด็ก เพราะปัจจุบันไม่มีรายงานพบว่าการอยู่ร่วมห้องกันของแม่และเด็กแรกเกิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของเด็ก 

เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ อาจตั้งเตียงของทารกห่างออกไปประมาณ 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมทั้งล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสทารก แต่หากคุณแม่มีอาการป่วยหนัก หรือทารกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง แพทย์อาจแนะนำให้แยกห้องและให้นมโดยการปั๊มนมแทน

บุคคลภายนอกสามารถมาเยี่ยมคุณแม่และเด็กหลังคลอดได้หรือไม่?

เกณฑ์การเยี่ยมและจำนวนคนที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมหลังคลอดของแต่ละโรงพยาบาลอาจแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง อาจทำให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ก่อนคลอดคุณแม่ควรสอบถามเรื่องนี้กับทางทีมแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ทำคลอดโดยตรง

การให้นมลูกในกรณีที่ติดเชื้อโควิด-19

เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถถ่ายทอดผ่านน้ำนมไปสู่ลูก โดยไม่พบรายงานการติดเชื้อของทารกที่ได้รับนมจากแม่ที่ติดเชื้อ จึงยังคงแนะนำให้คุณแม่ให้นมบุตร เพราะนมแม่เป็นแหล่งสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับทารก ทั้งยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อต่างๆ เช่น การติดเชื้อที่หู ปอด และระบบทางเดินหายใจอีกด้วย

ทั้งนี้ คุณแม่ควรป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดจากการสัมผัสระหว่างให้นมลูกน้อยตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะอุ้มหรือให้นมลูก แต่อย่าสวมหน้ากากอนามัยให้ทารก
  • ล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสทารก อุปกรณ์ปั๊มนม และขวดนม และควรทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกอย่างหลังใช้
  • หากเป็นไปได้ควรมีคนที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ช่วยดูแลทารกและช่วยป้อนนมที่คุณแม่ปั๊มสำหรับทารก โดยบุคคลนั้นควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ เช่นกัน

วิธีป้องกันตัวเองและลูกในท้องจากเชื้อโควิด-19

  • สวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่อออกจากบ้านและต้องพบปะผู้คน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้อื่นให้มากเท่าที่จะทำได้
  • เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัดและสถานที่ปิดที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี พยายามเปิดหน้าต่างและประตูเพื่อระบายอากาศให้มากที่สุด
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที หากไม่สะดวกให้ใช้เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% ขึ้นไป และควรถูเจลจนแห้งดีก่อนทุกครั้ง
  • ใช้ทิชชู่ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และรีบทิ้งทันทีเมื่อใช้เสร็จ
  • หลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสตามใบหน้า ปาก จมูก และดวงตา
  • เตรียมอาหาร ของใช้ที่จำเป็น และยารักษาโรคไว้สำหรับ 30 วัน เป็นอย่างน้อย เพื่อลดการออกจากบ้าน

เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกในครรภ์และสุขภาพที่ดีของคุณแม่ ควรไปตามนัดหมายการตรวจครรภ์และการตรวจหลังคลอดทุกครั้ง รวมถึงการฉีดวัคซีนของทารกตามช่วงเวลาที่เหมาะสม 

หากเป็นกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 สามารถสอบถามสูติแพทย์ในกรณีที่สามารถปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ (Telemedicine) โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ให้บริการปรึกษาผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลเคียงข้าง สร้างสุขภาพดีไปกับคุณ หลากเรื่องสุขภาพ ปรึกษาทีมแพทย์ของเราทางออนไลน์ได้ที่ Line @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

5 Stages of Grief วิธีรับมือกับการสูญเสีย ก้าวผ่านความเศร้าด้วยการเข้าใจตัวเอง

    /    บทความ    /    5 Stages of Grief วิธีรับมือกับการสูญเสีย ก้าวผ่านความเศร้าด้วยการเข้าใจตัวเอง

"5 Stages of Grief" วิธีรับมือกับการสูญเสีย ก้าวผ่านความเศร้าด้วยการเข้าใจตัวเอง

"5 Stages of Grief" วิธีรับมือกับการสูญเสีย
ก้าวผ่านความเศร้าด้วยการเข้าใจตัวเอง

วิธีเยียวยาตัวเองจากความสูญเสีย เมื่อคนที่รักจากไป หรือสัตว์เลี้ยงตาย กับทฤษฎี 5 ระยะความเศร้า รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง

เมื่อหนึ่งชีวิตจากไป คนที่เศร้าใจที่สุดคือคนข้างหลังที่ต้องรับมือกับความรู้สึกจากการสูญเสีย ยิ่งเมื่อเป็นการสูญเสียในช่วงโควิด-19 ทุกอย่างก็ยากขึ้นทวีคูณ ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ไม่มีเวลาไว้อาลัย ข่าวความสูญเสียและสถานการณ์ตึงเครียดในสื่อที่ตอกย้ำให้ยิ่งรู้สึกหดหู่ และการต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมหรือพบปะเพื่อนๆ เพื่อคลายความเศร้า กว่าจะผ่านทั้งหมดนี้ไปได้ก็ต้องใช้พลังใจอย่างมาก

ความเศร้าจากการสูญเสียคนที่รักโดยไม่ทันได้ตั้งตัว หรือแม้แต่การสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง เช่น งาน รายได้ สัตว์เลี้ยงที่รัก อาจทำให้เกิดหลากหลายความรู้สึกปนเป ทั้งเสียใจ วิตกกังวล สับสน และโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น หากคุณมีความรู้สึกเหล่านี้ การทำความเข้าใจตัวเองใน 5 ระยะความโศกเศร้า และเรียนรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกเสียใจต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณเยียวยาจิตใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้น 

เข้าใจตัวเองด้วยทฤษฎี 5 ระยะของความเศร้า (“5 Stages of Grief”)

อลิซาเบธ คุเบลอร์-รอสส์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมือกับการสูญเสีย ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘การตายและภาวะความสูญเสีย’ ได้แบ่งระยะของความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้นกับคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สิ่งที่รัก หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง เป็น 5 ขั้นด้วยกัน 

  1. ระยะปฏิเสธความจริง (Danial) เป็นช่วงเวลาที่ตกอยู่ในภาวะช็อคและปฏิเสธความจริงที่ว่าเราได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้ว ทุกสิ่งรอบข้างดูไร้ความหมาย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นท่วมท้นจนไม่สามารถรับมือได้ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสียทีเดียว เพราะการไม่ยอมรับความจริงเป็นหนึ่งในกลไกทางธรรมชาติที่จะช่วยปกป้องเราจากความรู้สึกที่มากเกินรับไหว ระยะนี้อาจเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงเวลาของความรู้สึกเสียใจ แต่จะค่อยๆ หายไปเมื่อเราเริ่มเข้มแข็งและพร้อมยอมรับความจริงมากขึ้น
  2. ระยะโกรธ (Anger) ความสูญเสียอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง หลงทาง และไม่รู้จะหันไปหาใคร สิ่งที่ตามมาก็คือความโกรธ ซึ่งบางคนใช้ห่อหุ้มความเจ็บปวดและหลากหลายอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการที่รองรับ เราจึงอยากระบายความโกรธกับใครสักคน อาจเป็นคนที่เราเพิ่งสูญเสียไป คนรอบข้าง หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยแม้สมองส่วนเหตุและผลของเราจะรู้ว่าไม่ควรกล่าวโทษใคร แต่ก็ไม่สามารถต้านทานความรู้สึกเสียใจที่รุนแรง จนกว่าจะกลับมามีสติมากพอที่จะตระหนักและควบคุมอารมณ์เหล่านี้ได้
  3. ระยะต่อรองกับความสูญเสีย (Bargaining) ช่วงเวลาแห่งการยื้อเวลาจากความเศร้า ความสับสน และความเจ็บปวดจากการสูญเสีย โดยการภาวนาให้ทุกอย่างย้อนกลับคืนมา หรือย้อนเวลากลับไปเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งต่างๆ ด้วยหวังว่าผลลัพธ์ของปัจจุบันจะต่างออกไปและไม่ต้องเผชิญความสูญเสีย เป็นช่วงที่อาจมีคำพูดหรือความคิดที่บอกกับตัวเองบ่อยๆ ว่า ‘ถ้า…ทุกอย่างคงไม่เป็นแบบนี้’ รวมถึงการวิงวอนภาวนาให้เกิดปาฏิหาริย์ หรือแม้แต่ความคิดที่ว่าจะยอมทำทุกอย่างเพื่อไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดจากการสูญเสียอีกต่อไป เป็นระยะที่คุณรู้สึกอ่อนแอและสิ้นหวังที่สุดเลยก็ว่าได้
  4. ระยะซึมเศร้า (Depression) เป็นช่วงที่เริ่มกลับมาโฟกัสที่ปัจจุบัน และมีความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจอย่างลึกซึ้ง มีความสงบของอารมณ์มากกว่า 3 ระยะข้างต้น จากการที่เริ่มตระหนักได้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงได้ ทำให้ซึมลง ปลีกตัวจากสังคม รวมทั้งเกิดความรู้สึกว่างเปล่าหรือหมดอาลัยในการใช้ชีวิต เป็นอีกช่วงที่ยากลำบาก และแม้จะเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียก็ต้องคอยสังเกตตัวเองด้วย หากอารมณ์จมดิ่ง รู้สึกไร้หนทาง ไม่สามารถดึงตัวเองกลับมาได้ ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเป็นดีที่สุด
  5. ระยะยอมรับความจริง (Acceptance) ช่วงของการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงว่าคนที่เรารักได้จากไปแล้ว มีความเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่จะช่วยย้อนคืนการสูญเสีย ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไปและต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยในช่วงแรกที่เริ่มกับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น อาจมีความรู้สึกผิดหรือรู้สึกเหมือนกำลังทรยศต่อคนที่จากไป แท้จริงแล้วไม่มีใครสามารถมาแทนที่คนที่จากไปได้ และการสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ กลับมาใช้ชีวิตอย่างที่ควรเป็น ไม่ใช่เรื่องที่คุณต้องรู้สึกผิด

5 ข้อที่ควรบอกตัวเอง เมื่อต้องรับมือกับการสูญเสีย

1 การไม่สนใจ ไม่นึกถึง ไม่ได้ช่วยให้รับมือกับความเศร้าได้ดีขึ้น

พายุอารมณ์และความรู้สึกท่วมท้นที่เกิดขึ้นหลังการสูญเสียเป็นเรื่องธรรมชาติ และการทำใจยอมรับก็เป็นเรื่องยาก สิ่งที่ทำได้คือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกความรู้สึก พยายามตระหนักรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยคอยเตือนตัวเองว่าความสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องพบและก้าวผ่านไปให้ได้ 

2 หันมารักตัวเอง และให้เวลาตัวเองได้อ่อนแอบ้าง

บ่อยครั้งที่การสูญเสียทำให้เกิดความคิดโทษตัวเองว่าไม่สามารถช่วยเหลือคนที่จากไปได้ หรือเก็บความรู้สึกไว้จนทนไม่ไหวและระเบิดออกมา การจมอยู่กับความรู้สึกผิดหรือฝืนตัวเองนั้นมีแต่จะยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลงและรับมือกับความสูญเสียได้ยากขึ้น

ลองหันมารักตัวเองให้มากและเลิกโทษตัวเอง โดยบอกกับตัวเองว่าเราก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่มีความรู้สึกนึกคิด มีสิทธิ์ที่จะเศร้าโศกเสียใจ และจะก้าวผ่านความเจ็บปวดนี้ไปได้ และอย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เหนือการควบคุมของเราเอง ไม่มีเหตุผลให้โทษตัวเองแต่อย่างใด

3 เราสามารถก้าวผ่านความสูญเสียไปได้โดยไม่ต้องลืมคนที่จากไป

การสูญเสียอย่างกะทันหัน ไม่ทันเตรียมใจ ไม่มีโอกาสได้ร่ำลา อาจทำให้รู้สึกสับสน เคว้งคว้าง จับต้นชนปลายไม่ถูก บางคนพยายามที่จะไม่นึกถึงคนที่จากไป แท้จริงแล้วการลืมไม่ได้ช่วยอะไร ตรงกันข้ามการนึกถึงความทรงจำต่างๆ ในช่วงเวลาที่ยังอยู่ด้วยกัน และแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับคนที่จากไปกับคนรอบตัว ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาจิตใจ ทั้งยังสร้างพลังบวกในการใช้ชีวิตต่อไปโดยมีความทรงจำต่างๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเป็นตัวเราในปัจจุบัน

ลองเขียนไดอารี่และชักชวนคนในครอบครัวและเพื่อนๆ มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวและความทรงจำที่มีต่อคนที่รักทางจดหมายหรือช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าเรื่องร้ายหรือดี สิ่งที่คนที่จากไปชอบ กิจกรรมที่เคยทำร่วมกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อรำลึกถึง เช่น ทำอาหารจานโปรด หรือสานต่อกิจกรรมประจำวันที่ผู้เสียชีวิตชอบทำ

4 การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องน่าอาย

ความรู้สึกเสียใจจากการสูญเสียอาจทำให้เศร้าจนอยากแยกตัวออกจากผู้อื่น ทว่าการมีคนคอยรับฟังและให้กำลังใจนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกที่เกิดจากการสูญเสีย เพราะฉะนั้นเมื่อไรที่รู้สึกอ่อนแอ รับมือกับความเศร้าที่เกิดขึ้นไม่ไหว ก็ควรที่จะขอความช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อน 

นอกจากคนรอบข้างแล้ว เราสามารถขอความช่วยเหลือจากกลุ่มพูดคุยให้กำลังใจที่มีอยู่ตามช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น บน LINE หรือ Facebook โดยเป็นกลุ่มที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสิน และมีคนมากมายที่คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการก้าวผ่านเรื่องราวต่างๆ หรืออีกทางหนึ่งก็คือการพูดคุยกับนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำและช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยเฉพาะ 

5 หมั่นเติมพลัง ดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแกร่ง

แม้การดูแลตัวเองในช่วงโควิด-19 จะมีข้อจำกัดในการออกไปข้างนอก แต่ก็มีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่สามารถทำที่บ้านเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย เช่น เดินเล่นรอบบ้าน วาดรูป อ่านหนังสือ ดูหนังและซีรี่ส์ โดยควรเลือกกิจกรรมที่ชอบและทำแล้วรู้สึกผ่อนคลายที่สุด 

นอกจากนี้สุขภาพกายก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน และออกกำลังอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับสมดุลอารมณ์ให้แจ่มใส แต่ถ้าวันไหนสภาพจิตใจไม่พร้อมก็ไม่ต้องฝืน ควรมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตาราง จะได้ไม่เป็นการกดดันตัวเองมากเกินไป

การรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเป็นเรื่องยากเสมอ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ขอเป็นกำลังใจให้คุณเข้มแข็งและผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ โปรดรู้ว่าคุณไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง และในวันที่อ่อนล้า รับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ไหว อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

คุณสามารถติดต่อสอบถามเพื่อรับบริการปรึกษาออนไลน์กับนักจิตวิทยาที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้ที่ LINE @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง