/    บทความ    /    เอ็นหัวไหล่อักเสบ

ภาวะข้อไหล่ติดรักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

เอ็นหัวไหล่อักเสบ

การอักเสบของเส้นเอ็นข้อไหล่เกิดจากการใช้งานไหล่ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน โดยการใช้งานหัวไหล่หนักเกินไป จะทำให้เอ็นรอบข้อไหล่อักเสบ หรือฉีกขาดได้ ทั้งนี้หากเริ่มมีอาการปวดไหล่ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะเอ็นหัวไหล่อักเสบนั้น เส้นเอ็นหัวไหล่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ หากฉีกขาดแล้วปล่อยทิ้งไว้ จะนำไปสู่ภาวะ ข้อไหล่เสื่อมจนต้องผ่าตัดได้ 

เอ็นหัวไหล่อักเสบ (Rotator cuff tendinitis)

อาการเอ็นหัวไหล่อักเสบ เป็นการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อ โรเทเตอร์ คัฟฟ์ (Rotator cuff) หรือเอ็นรอบข้อไหล่ ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 4 มัด มีหน้าที่ช่วยพยุงหัวกระดูกต้นแขนให้อยู่ในเบ้าข้อไหล่ โดยโรคนี้มักจะใช้เวลาในการเกิด สาเหตุอาจเกิดมาจากการใช้งานซ้ำๆ การใช้งานที่หนักเกินไป หรืออุบัติเหตุไหล่กระแทก เป็นต้น

อาการของโรคเอ็นหัวไหล่อักเสบ

  • มีอาการปวดตำแหน่งชัดเจน ปวดเฉพาะบางท่าหรือแค่บางช่วงของการเคลื่อนไหว
  • ขยับได้ลดลงในทิศที่มีอาการปวด
  • ปวดและบวมที่ด้านหน้าหัวไหล่และด้านข้างของต้นแขน
  • อาการบวมด้านหน้าของหัวไหล่
  • มีเสียง “คลิก” จากหัวไหล่เมื่อยกแขนขึ้นเหนือหัว

การรักษาโรคเอ็นหัวไหล่อักเสบ

 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการปวดและทำให้กลับไปใช้งานข้อไหล่ได้ โดยการรักษาขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น สุขภาพ อายุ และการใช้งานที่ต้องการ ทั้งนี้วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค มีได้ 2 กรณี คือ การผ่าตัด และไม่ผ่าตัด

1. กรณีไม่ผ่าตัด เริ่มต้นการรักษาด้วยการให้ทานยา ฉีดยา การทำกายภาพบำบัด ซึ่งจะพิจารณาตามความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • การพักและปรับเปลี่ยนการใช้งาน เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงงานที่ต้องยกแขนสูง
  • การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ จะช่วยลดการอักเสบ ลดอาการบวมและอาการปวดได้
  • การทำกายภาพบำบัด โดยการฝึกยืดเยื่อหุ้มข้อเพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ให้สามารถกลับไปขยับและใช้งานได้เหมือนปกติ เมื่ออาการปวดลดลงแล้วจะเริ่มฝึกการเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่
  • การฉีดยาสเตียรอยด์  ในส่วนของบริเวณรอบๆเส้นเอ็นที่อักเสบ สามารถลดการอักเสบและอาการปวดได้ ใช้ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการพัก การรับประทานอาหารและการทำกายภาพบำบัด

2. กรณีผ่าตัด การผ่าตัดที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Endoscope) ซึ่งมีการพัฒนาไปถึงขั้นการยึด ซ่อม แม้กระทั่งการสร้างเส้นเอ็นใหม่ และยังรวมไปถึงการรักษาข้ออื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันได้อีกด้วย โดยการผ่าตัดจะใช้วิธีส่องกล้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นไหล่และ/หรือกรอหินปูน ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดค่อนข้างน้อย ผู้ป่วยสามารถเริ่มกายภาพหลังผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว

การรักษาทางกายภาพบำบัด 

ในระยะแรกนั้นจะเป็นการยืดกล้ามเนื้อและเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้แรงเพื่อทำให้กลับมาสามารถเคลื่อนไหวได้เท่าเดิมและลดอาการปวด ร่วมกับการใช้เครื่องมือ ทั้งนี้การกายภาพบำบัดเอ็นข้อไหล่อักเสบอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้วางแผนการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วย ดังนี้
  • การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ (Strengthening) นักกายภาพบำบัดจะแนะนำท่าออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวดบริเวณที่บาดเจ็บ นอกจากนี้หากบริเวณดังกล่าวแข็งแรงขึ้น ก็จะช่วยลดโอกาสบาดเจ็บซ้ำแบบเดิมอีกด้วย
  • การขยับเคลื่อนข้อต่อ (Joint mobilization) เป็นท่าทางการเคลื่อนไหวเพิ่มความยืดหยุ่นของเยื่อหุ้มข้อ (Joint capsule) เพื่อให้หัวไหล่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) จะวางแผนการเคลื่อนไหวให้
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasound) การอัลตราซาวด์เพื่อบำบัดรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นข้อไหล่ และเนื้อเยื่ออื่นๆ เป็นการใช้ความร้อนเข้าไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไหล่ติดร่วมด้วย ช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นได้มากขึ้น และเพิ่มขอบเขตการเคลื่อนไหว
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Activity modification) นอกจากนักกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการให้กับคุณแล้ว ยังช่วยคุณวางแผนป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วย โดยแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้หัวไหล่ไม่ทำงานหนักเกินไป
  • ปรับปรุงพื้นที่ทำงานให้เหมาะกับสรีระของตัวเอง เพราะหลายคนอาจต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำสัดส่วนที่เหมาะสม หรือแนะนำท่าออกกำลังกายง่ายๆ ที่ทำได้ที่โต๊ะทำงาน
  • การออกกำลังกายที่บ้าน การกายภาพบำบัดหัวไหล่ที่ทำกับนักกายภาพบำบัดนั้น ควรทำอย่างสม่ำเสมอ นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้คุณออกกำลังกายต่อที่บ้านเป็นประจำเพื่อให้การรักษาได้ผลตามต้องการที่สุด
ตัวอย่างท่าออกกำลังกาย 

การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด และการใช้เครื่องมือรักษาเพื่อลดอาการปวด อาการอักเสบ 

  • Lateral raise : ยืนตรงจับยางยืดข้างลำตัว กางแขนขึ้นโดยให้รู้สึกถึงแรงตึงจากยาง ไม่เกิน 45 องศา
  • Shoulder external rotation with band : ผูกยางยืดระดับเดียวกับหัวไหล่ ดึงแขนไปด้านหลัง จากนั้นหมุนแขนขึ้นให้นิ้วโป้งชี้ไปด้านหลัง
  • Prone W,T,Y raise : นอนคว่ำ หนีบสะบักและยกแขนขึ้นจากพื้นในท่า W,T,Y ทำ 12-15 ครั้งต่อเซต 2-3 เซตต่อวัน

หากท่านต้องการที่จะนัดหมายเพื่อปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เราพร้อมดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย และจิตใจของท่านให้แข็งแรงอย่างครบถ้วน ส่งเสริม ป้องกันเเละรักษา สุขภาพกาย โดยใช้การบริหาร ออกกำลังกาย ไปจนถึงการใช้เครื่องมือเฉพาะทาง สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่ 

References