/    บทความ    /    เสี่ยงหรือไม่? สำรวจตัวเองกับมะเร็งเต้านม

ภาวะข้อไหล่ติดรักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

เสี่ยงหรือไม่? สำรวจตัวเองกับมะเร็งเต้านม

 มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมถึง 0.68 ล้านคน ดังนั้นการตรวจคัดกรองมีความสําคัญมาก เนื่องจากการค้นพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการรักษา และอัตราการเสียชีวิตลงได้

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer)

มะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์ของเต้านมที่มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติส่วนใหญ่มักเกิดที่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม และสามารถกระจายออกไปอวัยวะใกล้เคียงเช่นต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปอยู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ทั้งนี้มะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมีโอกาสพบได้น้อยมากเพียง1% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

  • อายุ ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 
  • ฮอร์โมน ฮอร์โมนเพศหญิงมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกําเนิดมากกว่า 5 ปี หรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนหลังหมดประจําเดือนเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมมากขึ้น
  • ประวัติโรคมะเร็ง ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง มีโอกาสเสี่ยงที่จะตรวจพบโรคมะเร็งได้ที่เต้านมอีกข้างหนึ่งได้มากขึ้น
  • พันธุกรรม มะเร็งเต้านมมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีน BRCA1, BRCA2 (บีอาร์ซีเอวัน, บีอาร์ซีเอทู) ผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์ของยีน จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 
  • พฤติกรรม การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกําลังกาย ภาวะอ้วนหลังหมดประจําเดือน น้ำหนักเกิน เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรทําอย่างน้อยเดือนละครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมสําหรับผู้ที่ยังมีประจําเดือน คือ 7-10 วัน หลังจากมีประจําเดือนวันแรก โดยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ท่านอาจตรวจได้ทั้งในท่ายืน ท่านั่ง หรือท่านอนก็ได้ โดยสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองด้วยวิธีการดังนี้

  • การดู โดยให้ท่านยืนหน้ากระจกเงา ปล่อยแขนแนบลําตัวทั้ง 2 ข้าง ตามด้วยท่ายกมือเท้าสะเอว และยกมือทั้ง 2 ข้างไว้เหนือศรีษะ
  • การคลํา หลังจากดูลักษณะเต้านม 2 ข้าง ครบเรียบร้อยแล้ว ให้ท่านคลําบริเวณรักแร้ บริเวณเหนือกระดูกไหปล้าร้าและคลําเต้านมทั้ง 2 ข้าง

สัญญาณผิดปกติ

  • พบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ 
  • มีอาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม
  • บริเวณเต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
  • ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป ไม่เท่ากันอย่างชัดเจน
  • มีรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านม หรือหัวนม
  • มีเลือด น้ำเหลือง หรือของเหลวไหลออกมาจากหัวนม 

ทั้งนี้ หากท่านคลำพบเจอสิ่งปกติ ควรที่จะเข้ารับการตรวจรักษาโดยแพทย์เพิ่มเติม เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง หากคุณต้องการปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับสุขภาพ ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล เราพร้อมให้บริการคุณอย่างครบถ้วน สามารถสอบถามเพิ่มเติม หรือทำการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อเข้ารับบริการได้ที่ Line Official @primocare หรือคลิกที่นี่  

Reference