/    บทความ    /    อาการ PCOS คืออะไร? ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบอันตรายมากแค่ไหน?

ภาวะข้อไหล่ติดรักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

อาการ PCOS คืออะไร? ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบอันตรายมากแค่ไหน?

ผู้ป่วย PCOS มักมีอาการหรือรู้สึกถึงความผิดปกติภายหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งภาวะนี้เป็นกลุ่มอาการที่ประกอบด้วยภาวะที่มีฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงร่วมกับภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง ภาวะแอนโดรเจนสูงทำให้เกิดภาวะขนดก ผิวหน้ามัน มีสิวมาก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การรับประทานอาหารและการออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ไขมันในเลือดสูง โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นต้น

ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome)

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือระบบฮอร์โมน ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ และมีอาการแสดงของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยภาวะนี้ถือเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง รวมถึงทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด และการเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อีกด้วย

สาเหตุของกลุ่มอาการ PCOS

 ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หรือหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า เกิดจากสาเหตุใดเป็นหลัก แต่พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจส่งผลให้เกิด PCOS ดังนี้ 

1. ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุ ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนอยู่ในภาวะไม่สมดุล แต่เป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง ต่อมผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย หรือสมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน รวมถึงภาวะดื้ออินซูลิน ที่ทำให้ฮอร์โมนมีปริมาณเปลี่ยนไป ความผิดปกติของฮอร์โมนที่มักพบในผู้ป่วย PCOS คือ

– ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมีปริมาณสูงกว่าปกติ เทสโทสเทอโรน คือฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่ง โดยปกติจะถูกผลิตขึ้นในร่างกายของเพศหญิงปริมาณเล็กน้อย ระดับเทสโทสเทอโรนที่สูงมากกว่าระดับทั่วไปส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้ อาทิ ขนดก ขนหนา หน้ามัน มีสิว เป็นต้น

ฮอร์โมนลูทิไนซิง หรือแอลเอชมีปริมาณสูงกว่าปกติ ลูทิไนซิง คือฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการตกไข่ ซึ่งหากมีปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลให้รังไข่ทำงานไม่ปกติ ส่งผลให้มีบุตรยาก

– Sex Hormone Binding Globulin หรือ SHBG มีปริมาณต่ำกว่าปกติ SHBG คือโปรตีนในเลือดชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ช่วยควบคุมปฏิกิริยาของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่มีต่อร่างกาย ปริมาณ SHBG ที่ต่ำลงจึงส่งผลให้ร่างกายผิดปกติจากการทำงานของฮอร์โมนเพศชายที่มากขึ้น

2. ภาวะดื้ออินซูลิน ภาวะดื้อต่ออินซูลินจะมีอาการคล้ายกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กล่าวคือ เมื่อร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง น้ำตาลในเลือดจึงสูง ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากขึ้น เมื่อระดับอินซูลินในร่างกายสูงกว่าปกติจะส่งผลให้รังไข่ถูกกระตุ้นและผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนออกมามากเกินไป ซึ่งจะไปรบกวนการตกไข่และทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ นอกจากนี้ภาวะดื้อต่ออินซูลินยังเป็นสาเหตุให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เกิดการสะสมไขมัน เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนอีกด้วย

3. พันธุกรรม บุคคลที่มีคนใกล้ชิดทางสายเลือดเป็น PCOS จะมีความเสี่ยงต่อการเป็น PCOS มากกว่าบุคคลอื่น ในปัจจุบัน นักวิจัยกำลังศึกษาถึงยีนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของ PCOS แต่ยังไม่มีผลลัพธ์ออกมาเป็นที่ชัดเจน

อาการกลุ่ม PCOS 

ผู้ป่วย PCOS มักมีอาการหรือรู้สึกถึงความผิดปกติภายหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลัก ดังนี้

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ (Irregular period) เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ รวมถึงกรณีมาสม่ำเสมอในรอบที่น้อยกว่า 21 วัน หรือ รอบที่มากกว่า 35 วัน
  • ขนดก (Hirsutism) ที่แขน ขา ตามลำตัว มีหนวด เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง
  • เป็นสิว ผิวมัน (Acne, Oily skin) เนื่องจากเป็นภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีการสร้างไขมันที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการอักเสบจึงกลายเป็นสิวตามมา
  • ศีรษะล้าน ผมบาง (Male-pattern baldness) จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชาย
  • ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน (Obesity) ป่วย PCOS อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเกิดความรู้สึกหดหู่ จากอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
  • ไข่ไม่ตก มีบุตรยาก (Infertility) เนื่องจากมีความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ ประกอบกับเป็นประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ จึงส่งผลให้มีบุตรยาก

การรักษากลุ่ม PCOS

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) แล้วผลลัพธ์มีค่ามากกว่า 25 เป็นต้นไป ซึ่งบ่งชี้ว่ามีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ควรหันมาออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมันและแป้ง เนื่องจากการลดน้ำหนักลงได้แม้เพียงเล็กน้อย จะช่วยบรรเทาอาการป่วยและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้
  • การออกกำลังกาย การศึกษาส่วนใหญ่จะแนะนำให้ออกกำลังกายควบคู่ไปกับการจำกัดอาหาร ส่วนมากแนะนำให้ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 120-150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยต้องออกกำลังกายแบบ Cardio Exercise with moderate intensity เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีภาวะอ้วนร่วมด้วย
  • ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่ รักษาภาวะดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาและป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ฯลฯ
  • รับประทานยา ชนิดของยาที่ต้องรับประทานจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาการที่ปรากฎในผู้ป่วยแต่ละราย

– ทานยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นส่วนประกอบ) เพื่อช่วยในเรื่องลดการเกิดขนใหม่ หน้ามันน้อยลง สิวน้อยลง และช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นรอบ ทำให้โอกาสเกิดโพรงมดลูกหนาตัวลดลง หรือยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียว (มีเพียงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นส่วนประกอบ) โดยช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 

– ยับยั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน ผู้ป่วยที่มีการตกไข่ผิดปกติ การตกไข่ที่ผิดปกติ เช่น ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่ ส่งผลให้มีบุตรยาก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานโคลมีฟีน หรือเลทโทรโซล โดยสูตินรีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมของคนไข้ตามรายบุคคล

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม การรับประทานอาหาร หรือการใช้อาหารเสริม เพื่อช่วยให้ควบคุมกลุ่มอาการของ PCOS ให้ดีขึ้น สามารถเข้ามารับคำแนะนำ หรือรับการรักษาโดยแพทย์ได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ด้วยบริการ Lifestyle Medicine ที่ให้คำแนะนำตามความต้องการของบุคคล ด้วยแพทย์จากพรีโมแคร์ที่พร้อมให้คำปรึกษาอย่างรอบด้าน ภายใต้การดูเเลอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการเเพทย์ของพรีโมเเคร์ สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่

Reference