/    บทความ    /    แนวทางฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ ฉีดได้เลย หรือต้องรอ?

แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ ฉีดได้เลย หรือต้องรอ?

แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุ
ฉีดได้เลย หรือต้องรอ?

ผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เลยหรือไม่? เช็กกลุ่มเสี่ยงที่ควรและไม่ควรฉีด พร้อมคำแนะนำก่อนหลังฉีดวัคซีน

เป็นที่ทราบกันว่าผู้สูงอายุจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยจากสถิติการเสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา พบว่า 8 ใน 10 เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไป และยิ่งอายุมากเท่าไรก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงสวนทางกับอายุที่มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มักจะมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวที่ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงด้วย

นอกจากการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันผู้สูงอายุจากเชื้อโควิด-19 ที่ตัวผู้สูงอายุเองและคนรอบข้างพอจะทำได้ในเบื้องต้นแล้ว การฉีดวัคซีนคือหัวใจสำคัญที่จะขาดไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นที่สับสนกันมากว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ ควรฉีดหรือไม่ควรฉีด วันนี้คุณหมอพรีโมแคร์เลยมีแนวทางการปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุมาฝากกัน

ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ต้องดูตามกลุ่มเสี่ยง

สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทยได้ให้แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้สูงอายุโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้

1.  ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว/โรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ 

ควรได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้มาก มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดน้อย ไม่ต่างจากวัยอื่น เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ ซึ่งมักจะหายไปเองภายใน 1-2 วัน นอกจากนี้วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ฉีดให้ผู้สูงอายุในไทยขณะนี้ก็มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการฉีดในคนวัยหนุ่มสาว 

กลุ่มผู้ป่วยที่ควรฉีดวัคซีนหากมีอาการของโรคคงที่ ได้แก่

  • ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคในทางเดินอาหารและตับ
  • โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • โรคข้ออักเสบ แพ้ภูมิตัวเอง
  • สะเก็ดเงิน
  • ภาวะสมองเสื่อม
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคหิด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • โรคไขกระดูกฝ่อ โรคไขกระดูกทำงานผิดปกติ
  • มะเร็งเม็ดเลือด และโรคมะเร็งอื่นๆ
  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง คือมีความเสื่อมถอยหรืออ่อนแอทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

2. ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว/โรคเรื้อรังที่ยังควบคุมอาการไม่ได้/อาการไม่คงที่/ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลตามโรคและอาการ

3. ผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิตและคาดว่าจะเสียชีวิตในไม่กี่เดือน ต้องพิจารณาว่าควรฉีดหรือไม่ฉีดตามกรณี เนื่องจากคำแนะนำการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในตอนนี้ต้องฉีด 2 ครั้งโดยเว้นระยะห่าง 10-12 สัปดาห์ หรืออย่างน้อยที่สุด 4 สัปดาห์ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มนี้มากนัก

ข้อควรปฏิบัติก่อน-หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุ

  • ก่อนฉีดควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว หรือเคยมีประวัติแพ้วัคซีนโควิด-19 หรือวัคซีนอื่นๆ อย่างรุนแรงมาก่อน
  • สามารถทำกิจวัตรต่างๆ ได้ตามปกติทั้งก่อนและหลังฉีด แต่ไม่ควรหักโหมทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการพักผ่อนน้อยในช่วง 1-2 วันก่อนและหลังฉีดวัคซีน
  • กรณีที่ต้องรับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ งูสวัด แนะนำให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อน-หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่วนวัคซีนที่มีความเร่งด่วน เช่น บาดทะยัก พิษสุนัขบ้า สามารถฉีดได้ทันทีในตำแหน่งที่ต่างกันโดยไม่ต้องเว้นระยะ หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 สัปดาห์

การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันผู้สูงอายุจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และช่วยลดความรุนแรงหากติดเชื้อ ในทางกลับกัน หากผู้สูงอายุมีภาวะที่ควบคุมอาการไม่ได้หรือไม่สามารถรับวัคซีนได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่ควรทำก็คือการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายุและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับครอบครัว

พรีโมแคร์เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 สามารถนัดหมายปรึกษาคุณหมอพรีโมแคร์ หรือดูบริการอื่นๆ ของเราได้ที่นี่ 

Reference