/    บทความ    /    ท่านอนแก้โรค: ปวดหลัง​ ปวดคอ กรดไหลย้อน​ ภูมิแพ้ นอนกรน

ท่านอนแก้โรค: ปวดหลัง​ ปวดคอ กรดไหลย้อน​ ภูมิแพ้ นอนกรน

ท่านอนแก้โรค
ปวดหลัง ปวดคอ กรดไหลย้อน ภูมิแพ้ นอนกรน

ผู้หญิงกำลังนอนห่มผ้าในท่านอนตะแคงขวา สีหน้ายิ้มแย้มหลับสบาย มือซ้ายวางบนหมอน

นอกจากท่านอนที่ถูกต้องจะช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ ทำให้ตื่นมารับเช้าวันใหม่ได้อย่างสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เชื่อหรือไม่ว่าการปรับเปลี่ยนท่านอนเพียงเล็กน้อยยังอาจช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพบางอย่างได้อีกด้วย 

สำหรับใครที่กำลังมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ออฟฟิศซินโดรม กรดไหลย้อน คัดจมูก ภูมิแพ้ หรือแม้กระทั่งนอนกรน วันนี้พรีโมแคร์จะพาไปดูกันว่า ต้องนอนท่าไหนถึงจะช่วยรับมืออาการเหล่านี้ให้อยู่หมัด

ท่านอนคนท้อง

ท่านอนที่เหมาะสมกับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ที่สุดคือท่านอนตะแคงงอเข่า เนื่องจากจะช่วยลดแรงกดจากขนาดท้องที่โตขึ้น และทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดี และถ้าจะให้ดีควรนอนตะแคงข้างซ้ายเพื่อป้องกันแรงกดทับต่อตับ ช่วยให้เลือดดีไปเลี้ยงตัวอ่อน มดลูก ไต และหัวใจได้มากขึ้น

หากนอนตะแคงข้างซ้ายแล้วรู้สึกไม่สบาย สามารถสลับนอนตะแคงข้างขวาเพื่อคลายการลงน้ำหนักที่สะโพกด้านซ้าย และอาจใช้หมอนรองบริเวณใต้ท้อง ระหว่างขา และหนุนบริเวณกระเบนเหน็บให้นอนสบายยิ่งขึ้น

ท่านอนแก้ปวดหลัง

ท่านอนตะแคงเป็นท่าที่ดีที่สุดสำหรับป้องกันหรือลดอาการปวดหลัง รองลงมาคือท่านอนหงาย โดยมีงานวิจัยที่ให้ผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดหลัง ฝึกนอนในท่าตะแคงหรือนอนหงาย ผลลัพธ์พบว่าต่างมีอาการดีขึ้นมากภายใน 4 สัปดาห์

สำหรับคนที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง แนะนำให้นอนตะแคงโดยใช้หมอนหรือผ้าห่มที่มีความหนาพอประมาณหนุนระหว่างเข่าทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการปวดคอและปวดบ่าไหล่จากท่านอนตะแคง ควรนอนหนุนหมอนที่มีความสูงพอดีกับช่องว่างระหว่างไหล่และคอ เพื่อให้กระดูกคอวางตัวในแนวเดียวกับกระดูกสันหลัง 

ท่านอนแก้ปวดคอ ปวดไหล่

หากมีอาการปวดคอควรนอนหงาย เนื่องจากเป็นท่าที่ช่วยป้องกันท่าทางที่ผิดตำแหน่งของคอที่อาจเกิดจากการนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ โดยแนะนำให้ใช้หมอนที่ช่วยรองรับคอและมีความนุ่ม นอนแล้วศีรษะอยู่ต่ำลงไป อาจใช้หมอนยางพาราหรือหมอนเมมโมรีโฟมที่มีลักษณะโค้งเป็นรูปตัว S ซึ่งจะช่วยรองรับให้ศีรษะอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง หรือจะหนุนหมอนแบนๆ แล้วม้วนผ้าเช็ดตัวรองบริเวณคอขณะนอนหลับก็ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ระหว่างที่นอนควรให้แขนทั้งสองข้างอยู่ในท่าเดียวกัน เช่น วางไว้ข้างลำตัวทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันการวางตัวของกระดูกสันหลังที่ไม่เป็นแนวเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดไหล่หรือปวดคอได้เช่นกัน 

ท่านอนลดอาการคัดจมูก ภูมิแพ้

สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือผู้ที่มีอาการคัดจมูก ควรใช้หมอนหนุนบริเวณหลังส่วนบน เพื่อยกระดับศีรษะให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดออกและหายใจคล่อง ควรหลีกเลี่ยงการนอนราบระดับเดียวกับที่นอนเพราะจะทำให้ยิ่งคัดจมูกมากกว่าเดิม

ท่านอนลดกรดไหลย้อน

ควรนอนตะแคงซ้ายโดยใช้หมอนหนุนศีรษะและลำตัวส่วนบนให้ยกขึ้นสูงกว่าช่วงเท้า อาจใช้หมอนเมมโมรี่โฟมทรงเอียงหรือเตียงปรับระดับที่ช่วยยกลำตัวช่วงบนขึ้นป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะมาสู่หลอดอาหาร และไม่ควรนอนตะแคงขวาเพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง

ท่านอนแก้อาการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่ส่งผลให้ทางเดินหายใจหดตัวลงในระหว่างหลับ มักเกิดร่วมกับปัญหาการนอนกรน การนอนตะแคงหรือนอนคว่ำจะช่วยเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ลดอาการกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่รุนแรง ควรหลีกเลี่ยงท่านอนหงายเพราะอาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้

ท่านอนผู้ป่วยโควิด-19

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 บางรายอาจมีอาการหายใจลำบากเนื่องจากเชื้อไวรัสส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอด ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ท่านอนคว่ำโดยตะแคงศีรษะไปด้านข้างจะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น เนื่องจากช่วยลดแรงกดของหัวใจและท้องที่กระทำต่อปอด และในกรณีฉุกเฉินสามารถยื้อเวลาเพื่อรอการช่วยเหลือด้วยเครื่องช่วยหายใจ

ขณะนอนคว่ำ ผู้ป่วยควรอยู่ในท่าที่รู้สึกสบายที่สุด เพราะจะต้องนอนในท่านี้เป็นเวลานาน โดยสามารถขยับตัวเปลี่ยนท่าคลายเมื่อยทุก 1-2 ชั่วโมง ตัวอย่างท่านอนคว่ำที่สามารถทำตามได้ มีดังนี้

  • ท่าที่ 1 นอนคว่ำ ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง หดมือสองข้างเก็บใต้หน้าอกหรือหัวไหล่ อาจใช้หมอนเตี้ยๆ หนุนใต้คางเพื่อลดแรงกดต่อต้นขาและปลายเท้า
  • ท่าที่ 2 นอนคว่ำ ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง กางมือสองข้างออกมาวางระดับศีรษะ และใช้หมอนเตี้ยหนุนหน้าท้อง
  • ท่าที่ 3 นอนคว่ำ ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง ยกขาข้างเดียวกับฝั่งที่ตะแคงศีรษะขึ้นมาประมาณ 90 องศา และใช้หมอนรองใต้ขาข้างดังกล่าว
  • ท่าที่ 4 นอนคว่ำกึ่งตะแคงโดยใช้หมอนช่วยรองบริเวณลำตัว และสอดหมอนระหว่างเข่า 2 ข้างให้ขนานกัน

หากปรับได้ ปัญหาสุขภาพก็ไม่ใช่อุปสรรคการนอนหลับพักผ่อนอีกต่อไป แต่ถ้ารู้สึกไม่คุ้นเคยกับท่านอนเหล่านี้ ในช่วงแรกแนะนำให้ใช้หมอนวางรอบตัวเพื่อจัดตำแหน่งท่านอนที่ถูกต้อง เมื่อนานไปก็จะทำได้อย่างเคยชิน และอาจกลายมาเป็นท่านอนที่ดีและตอบโจทย์สุขภาพของเราที่สุดก็เป็นได้

พรีโมแคร์ ดูแลทุกเรื่องสุขภาพโดยมีคนไข้เป็นศูนย์รวมความใส่ใจ คลิกดูบริการของเราที่นี่ หรือสอบถามเพิ่มเติม/นัดหมายรับบริการล่วงหน้าที่ @primocare