ผลข้างเคียงอย่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีน Astrazeneca ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และประชาชนต่างเป็นกังวล ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนวัคซีน หลายประเทศจึงเริ่มหันมาทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ (Mix & Match) หรือการฉีดวัคซีน 2 เข็มที่ต่างยี่ห้อกัน ซึ่งแม้จะเป็นแผนการจำเป็นในสถานการณ์ที่บีบบังคับ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายังอาจช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าการฉีดวัคซีนตัวเดียวกันทั้ง 2 เข็มได้อีกด้วย
การฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อในเข็มต่างกันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะได้เคยมีการทดลองกับวัคซีนชนิดอื่นๆ มาแล้ว เช่น วัคซีนโรคอีโบล่า มาลาเรีย วัณโรค โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นต้น โดยการฉีดแบบสลับนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Heterologous prime-boost
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสาเหตุที่การฉีดวัคซีนแบบไขว้อาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรค เนื่องจากวัคซีนแต่ละตัวจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในบางส่วนที่ต่างกัน หรือสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำเชื้อโรคในส่วนที่ต่างออกไป ซึ่งก็ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้
การฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ เริ่มมีการทดสอบในหลายประเทศ ล่าสุดผลการทดลอง Com-Cov ของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดที่ลองสลับฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิดกัน โดยเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน พบว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนต่างชนิด ทั้ง Astrazeneca ตามด้วย Pfizer และ Pfizer ตามด้วย Astrazeneca มีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าการฉีด Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม
นอกจากนี้ ในกลุ่มที่ฉีด Astrazeneca เป็นเข็มแรก ตามด้วย Pfizer ยังพบการเพิ่มขึ้นของระดับ T-cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจจับและกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงที่สุด
Astrazeneca + Pfizer | ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มที่ฉีด Astrazeneca 2 เข็ม การตอบสนองของ T-cell สูงกว่ากลุ่มอื่น |
Astrazeneca + Pfizer | ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มที่ฉีด Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม |
Pfizer + Pfizer | ระดับแอนติบอดีสูงกว่ากลุ่มอื่น |
ผลการทดลอง Com-Cov นี้ค่อนข้างสอดคล้องกับการทดลองของนักวิจัยสเปนก่อนหน้าที่เผยว่าคนที่ได้รับวัคซีน Astrazeneca ในเข็มแรก ตามด้วย Pfizer ในเข็มที่ 2 มีภูมิคุ้มกันต่อโรคที่แข็งแรงและมากกว่าการฉีดวัคซีน Astrazeneca ทั้ง 2 เข็ม ซึ่งนับเป็นหลักฐานอีกขั้นที่สนับสนุนว่าการฉีดวัคซีนแบบไขว้นี้สามารถทำได้ในกรณีที่จำเป็น โดยยังคงประสิทธิภาพที่ดีไว้ แต่อาจยังไม่ใช่การทดลองที่ใหญ่พอจะยืนยันได้ว่าการฉีดวัคซีนสลับชนิดนั้นดีกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน
ทั้งนี้ การทดลองเกี่ยวกับวัคซีนตัวอื่นก็มีเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด เช่น งานวิจัยของรัสเซียที่ทดลองโดยการฉีดวัคซีนของตัวเองอย่าง Sputnik V กับ AstraZeneca ซึ่งปกติการฉีดวัคซีน Sputnik V นั้นก็ถือว่าเป็นวัคซีนเวกเตอร์ไวรัสอะดีโนที่ต่างชนิดกันใน 2 เข็มอยู่แล้ว
สำหรับประเทศไทย ทางคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เพิ่งเปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดระหว่าง Sinovac และ Astrazeneca โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ฉีด Sinovac เป็นเข็มแรก ตามด้วย Astrazenaca และกลุ่มที่ฉีด Astrazeneca ตามด้วย Sinovac เป็นเข็มที่ 2 ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป
ข้อมูลความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ของทางมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด สำหรับผลข้างเคียงในระยะสั้น พบว่าก่อให้เกิดผลข้างเคียงระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ ซึ่งไม่แน่ว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงนั่นเอง โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวนั้นยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ปัจจุบันการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบสลับได้รับอนุญาตให้ใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นในหลายๆ ประเทศ เช่น เยอรมัน สวีเดน แคนาดา ฝรั่งเศส อีตาลี และสเปน อนุญาตให้ผู้ที่รับวัคซีน Astrazaneca เข็มแรกแล้วมีอาการที่เชื่อมโยงกับภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ตัวอื่นได้
ด้านเกาหลีใต้ที่เผชิญปัญหาการจัดส่งวัคซีน Astrazeneca ล่าช้าก็ได้ประกาศให้บุคลากรทางการแพทย์ที่รับเข็มแรกไปแล้ว รับวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 2 ไปก่อนเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยนั้นมีคำแนะนำให้เปลี่ยนไปรับวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นในเข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงในเข็มแรก เช่น หากแพ้ Astrazeneca ก็ให้เปลี่ยนไปฉีด Sinovac ในเข็มที่ 2 เป็นต้น
มีคำถามข้องใจเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ กวนใจ ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ของเราได้เลยที่ Application LINE @primoCare
Doing Business with Compassion
for the Development of Civilisation in Harmony with Nature.
Part of B.Grimm Group | bgrimmgroup.com
ให้พรีโมเเคร์ เมดิคอล ดูเเลทุกองค์ประกอบสุขภาพของคุณ ทั้งด้านรักษา ป้องกัน เเละส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้คุณมีสุขภาพเเข็งเเรงเเบบยั่งยืน
1 ซอยกรุงเทพกรีฑา 4 (บี.กริม) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 ประเทศไทย
โทร: +66 2038 5595
แฟกซ์: +66 2038 5542
LINE ID: @primocare
อีเมล: [email protected]
©2022 PrimoCare Medical Limited. All rights reserved.