/    บทความ    /    จิตแพทย์ กับ นักจิตวิทยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์ VS นักจิตวิทยา เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์ VS นักจิตวิทยา
เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

นักจิตวิทยา กับ จิตแพทย์ ทำงานต่างกันอย่างไร? หาคำตอบว่าใครที่เหมาะจะช่วยแนะนำวิธีจัดการกับปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ของคุณที่สุด

เมื่อมีเรื่องให้เครียดหรือกังวลใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในครอบครัว ความเครียดจากการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้าง เรามักมองหาคนใกล้ตัวที่จะคอยรับฟังเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ลงไปบ้าง แต่บางครั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็ท่วมท้นเกินกว่าจะจัดการด้วยตัวเองได้ หรือมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายใจที่จะระบายกับคนใกล้ตัว การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจึงดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตนั้นมีหลากหลายสาขาและมีชื่อเรียกที่คล้ายกันจนทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตวิทยาบำบัด หรือนักจิตวิทยาการปรึกษา โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญสาขาหลักอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นดูจะเป็นเรื่องที่มีความคลุมเครืออยู่มาก วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เลยจะพาไปรู้จักกับทั้งสองวิชาชีพนี้ให้ชัดขึ้น ว่าทำงานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร พร้อมทั้งคำแนะนำเบื้องต้นในขั้นตอนการเริ่มปรึกษา

จิตแพทย์ และ นักจิตวิทยา ทำงานต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์และนักจิตวิทยาต่างก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสมอง รวมถึงการเกิดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกต่างๆ และมีทักษะการรักษาทางจิตวิทยาด้วยการพูดคุย เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจในความคิดและพฤติกรรมของตนเอง นอกจากนี้เป้าหมายของทั้งคู่คือการช่วยให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยดีขึ้น 

สิ่งที่แยกนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ออกจากกัน มีดังต่อไปนี้

การศึกษาและความเชี่ยวชาญ

  • จิตแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางแขนงหนึ่ง เส้นทางการเป็นจิตแพทย์จึงต้องเริ่มจากการเรียนแพทย์ทั่วไปในคณะแพทยศาสตร์ 6 ปี และต่อแพทย์เฉพาะทางในภาควิชาจิตเวชศาสตร์อีก 3 ปี ใช้เวลาทั้งหมดอย่างน้อย 9 ปี มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคทางจิต รวมถึงความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม โดยในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตจะพิจารณาความผิดปกติจากปัจจัยทางด้านประสาทและสมอง พันธุกรรม รวมถึงโรคอื่นๆ ร่วมด้วย
  • นักจิตวิทยา ไม่ใช่แพทย์ แต่จบจากคณะต่างๆ เช่น จิตวิทยา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ในหลักสูตรสาขาจิตวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ กระบวนความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจัยแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ใช้เวลาเรียน 4 ปีในระดับปริญญาตรี และหากต้องการเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชจะต้องต่อหลักสูตรอบรม 6 เดือนเพื่อสอบใบประกอบโรคศิลป์สาขาจิตวิทยาคลินิก

วิธีการรักษา

  • จิตแพทย์ สามารถตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตต่างๆ และให้การรักษาที่ครอบคลุมมากกว่านักจิตวิทยา โดยจะเน้นรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด ซึ่งบางครั้งในส่วนของการทำจิตบำบัดจะส่งต่อไปให้นักจิตวิทยาเป็นผู้ดูแล นอกจากนี้จิตแพทย์ยังอาจใช้การรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า รวมทั้งมีหน้าที่ในการตรวจสุขภาพกายและประเมินประสิทธิภาพของยาที่ผู้ป่วยใช้ 
  • นักจิตวิทยา ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ แต่สามารถใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อประกอบการวางแผนการบำบัดทางจิต การรักษาของนักจิตวิทยาจะเน้นวิธีการบำบัดทางจิต ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมโดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นหลัก เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและร่วมหาแนวทางการแก้ไข รวมถึงให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความคิดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือคาดว่าการใช้ยาอาจช่วยได้ นักจิตวิทยาจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังจิตแพทย์ พร้อมผลการประเมินสภาพจิตเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม 

โรคที่ให้การรักษา

  • จิตแพทย์ จะเน้นรักษาโรคที่ต้องใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน ทั้งการใช้ยา การบำบัดทางจิต และการใช้จิตสังคมบำบัด โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ผู้ป่วยที่มีโรคที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น โรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลชนิดรุนแรง โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท ภาวะออทิสติก มักต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ รวมไปถึงกรณีที่มีพฤติกรรมทำร้ายตนเองและคนรอบข้าง
  • นักจิตวิทยา มักดูแลปัญหาทางสภาวะจิตใจที่สามารถรักษาได้ด้วยการทำจิตบำบัด ปัญหาทั่วไปที่หลายคนพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่ไม่สามารถหาทางออกด้วยตัวเอง หรือไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ล้วนแล้วแต่ปรึกษานักจิตวิทยาได้ เช่น ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน ภาวะหมดไฟ ในการทำงาน (Burnout) ความวิตกกังวลต่อเรื่องต่างๆ ที่รู้สึกว่ามีมากเกินไป และปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อน หรือคนในที่ทำงาน รวมไปถึงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลที่ยังไม่รุนแรง ปัญหาอื่นๆ ในด้านพฤติกรรม การเรียนรู้ และการปรับตัวเข้ากับสังคม 

เริ่มต้นพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างไรดี?

การเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและการรักษาที่เหมาะสมกับภาวะทางจิตที่กำลังเผชิญไม่ต่างจากการหาหมอให้ถูกโรค เบื้องต้นแนะนำให้โทรสอบถามสถานพยาบาลและอาจอธิบายสาเหตุที่อยากขอคำปรึกษาเพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมว่าควรพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ในการพบกันครั้งแรก จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะพูดคุยถึงสาเหตุที่คุณคิดว่าตนเองต้องการรับการบำบัด และสอบถามว่ามีอาการอย่างไร รู้สึกอย่างไร เป็นมานานแค่ไหน หลังจากนั้นจะเริ่มพูดคุยในเรื่องต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจผู้ป่วยให้มากขึ้น เช่น ครอบครัว การทำงาน งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่ชอบทำ และอาจมีการทำแบบประเมินสุขภาพจิตร่วมด้วย เมื่อรู้จักกันมากขึ้นแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นการวางแผนการรักษาและเปิดโอกาสให้ถามคำถามที่คุณยังสงสัยหรือข้องใจเกี่ยวกับการรักษา 

คุณอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะคุ้นเคยกับการบำบัดจิตกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา หากผ่านไป 2-3 สัปดาห์แล้วยังรู้สึกว่าการรักษาไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ควรบอกให้ผู้ที่ให้การรักษาทราบเพื่อปรับวิธีการบำบัดให้เหมาะกับตัวเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการรักษา ไม่ควรฝืนทำต่อไปโดยที่รู้สึกไม่ใช่ เพราะนั่นเท่ากับผิดวัตถุประสงค์การรักษาของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ที่ต้องการช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ป่วยและส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดี

สุขภาพใจมีความสำคัญและต้องการการดูแลไม่ต่างจากสุขภาพกาย หมั่นสังเกตอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของตัวเอง ถ้าไม่ไหวก็ไม่ต้องฝืน ให้พรีโมแคร์ช่วยรับฟังและหาทางรับมือปัญหา นัดหมายปรึกษานักจิตวิทยาของเราได้ที่ LINE @primoCare หรือคลิกดูบริการเพิ่มเติมที่นี่

Reference