/    บทความ    /    งีบกี่นาทีดีที่สุด? วิธีนอนกลางวันให้สดชื่น ตื่นมาไม่ปวดหัว

งีบกี่นาทีดีที่สุด? วิธีนอนกลางวันให้สดชื่น ตื่นมาไม่ปวดหัว

งีบกี่นาทีดีที่สุด?
วิธีนอนกลางวันให้สดชื่น ตื่นมาไม่ปวดหัว

นอนกลางวันดีจริงไหม? งีบกี่นาทีถึงจะดี? รวมเทคนิคการงีบหลับ​ฉบับโปร​ที่จะช่วยให้ตื่นมาสดชื่น​ ไม่ปวดหัว​ ไม่งัวเงียกว่าเก่า

‘งีบกี่นาทีดีที่สุด?’ และถ้าจะงีบ ‘ควรงีบหลับตอนไหนดี?’ คำถามยอดฮิตที่หลายคนมักสงสัย นั่นก็เพราะหลายครั้งเราอาจมีประสบการณ์การนอนกลางวันแตกต่างกันไป บางครั้งตื่นมารู้สึกสดชื่น แต่บางครั้งกลับปวดหัวหรืองัวเงีย​ ซึ่ง​ระยะเวลาและช่วงเวลาในการงีบนั้นก็สามารถส่งผลต่อความสดชื่นหลังตื่นจากการงีบหลับได้จริงๆ

คุณหมอพรีโมแคร์…ชวนมาหาคำตอบน่ารู้เกี่ยวกับการนอนกลางวันให้ได้ประโยชน์ เพราะมีปัจจัยไม่น้อยที่เป็นตัวกำหนดว่าหลังงีบหลับจะรู้สึกอย่างไร​ เพื่อการงีบหลับที่เต็มอิ่มสดชื่น และไม่ต้องกลัวว่าจะนอนไม่หลับในตอนกลางคืน 

ประโยชน์ของการนอนกลางวัน

การงีบหลับ​ (Power Nap) ​ช่วยลดความง่วงในระหว่างวันซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงเวลานอนตามวงจรการนอนหลับในตอนกลางคืน การนอนกลางวันจึงเปรียบเหมือนการชาร์จพลังเพื่อให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และมีพลังงานในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น

นอกจากนี้​ มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการงีบหลับที่เชื่อว่าอาจช่วยได้จริง ได้แก่

  • เพิ่มประสิทธิภาพและความตื่นตัวในการทำงาน 
  • ลดอุบัติเหตุจากการขับรถและการทำงานกับเครื่องจักรที่อันตราย
  • เพิ่มทักษะการเรียนรู้ การมีสมาธิจดจ่อ จดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดีขึ้น
  • ลดความดันโลหิต และอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายไปด้วย
  • ปรับอารมณ์ให้แจ่มใสมากขึ้น ลดความอ่อนล้าและหงุดหงิดจากการนอนไม่เพียงพอ

โทษของการนอนกลางวัน

การงีบหลับอาจส่งผลตรงกันข้ามในบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับหรือนอนหลับยากในตอนกลางคืนอยู่แล้ว ซึ่งแนะนำให้หลีกเลี่ยงการงีบระหว่างวัน เพราะจะยิ่งทำให้หลับยาก ตื่นมาไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า แถมอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานยิ่งกว่าการไม่นอนกลางวัน

การนอนกลางวันที่นานเกินไปยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่มากขึ้นด้วย โดยมีงานวิจัยชี้ว่ากลุ่มที่งีบหลับนานกว่า 1 ชั่วโมงอาจมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่นอนกลางวัน นอกจากนี้ ในวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย การงีบหลับนานยังอาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น

งีบกี่นาทีถึงจะดีที่สุด?

ระยะเวลาการงีบหลับที่จะช่วยเพิ่มความสดชื่นและความตื่นตัวได้ดีที่สุด ไม่ควรเกิน 10-20 นาที ฉะนั้นทุกครั้งที่งีบหลับเราจึงควรจำกัดเวลาด้วยการตั้งนาฬิกาปลุก เพราะหากงีบหลับนานกว่านี้อาจทำให้ยิ่งรู้สึกง่วงหรือเพลียยิ่งกว่าเดิม ส่วนผู้ที่มีภาวะอดนอนหรือนอนน้อยนั้น แนะนำให้งีบหลับ 1.5-2 ชั่วโมง เพื่อคลายความอ่อนเพลียจากการนอนที่ไม่​เพียงพอ​

งีบตอนไหนดีที่สุด?

ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การงีบหลับของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตารางเวลาการนอนและอายุ ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงบ่าย 1-3 โมง หลังอาหารมื้อกลางวัน แต่ไม่ควรงีบหลังบ่าย 3 โมงเป็นต้นไป ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้

ทำไมถึงรู้สึกปวดหัวหลังงีบหลับหรือนอนกลางวัน?

เราอาจสังเกตว่าการนอนกลางวันในบางครั้งตามมาด้วยความรู้สึกมึนหรือปวดหัว อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาในการนอนหลับ โดยข้อมูลจากสถาบันการนอนแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนอยู่แล้วจะประสบกับอาการปวดหัวหลังงีบหลับมากกว่าคนปกติถึง 2-8 เท่า

นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพบางอย่างต่อไปนี้ก็อาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้มีอาการปวดหัวหลังนอนกลางวันหรือหลังตื่นนอนในตอนเช้าได้เช่นกัน 

  • ปัญหาการหายใจ เช่น นอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • การนอนกัดฟัน ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อตึงเกร็ง และตามมาด้วยอาการปวดหัว
  • การตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ อาการคัดจมูก หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ อาจเป็นตัวการทำให้รู้สึกปวดหัวหลังตื่นนอนได้
  • ท่าทางการนอน เช่น ท่านอนหรือหมอนที่นอนแล้วศีรษะและคออยู่ในท่าที่ไม่สบาย จนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวตึงตัว 
  • ระยะเวลาการนอน ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าช่วงเวลาการงีบหลับที่ไม่พอดีอาจทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม และยังกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการงีบหลับที่นานเกินไป​ หรือการงีบหลับ​ที่สั้นเกินไปในกรณีที่​มีการอดนอนในคืนก่อนก็ตาม

นอนกลางวันทำให้อ้วนขึ้นได้ไหม?

ไม่มีข้อพิสูจน์ชี้ชัดว่าการงีบหลับส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดน้ำหนักอย่างไร แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนคือการนอนน้อยหรือมีคุณภาพการนอนย่ำแย่ นอนหลับๆ ตื่นๆ นอนไม่เต็มอิ่ม เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคอ้วนได้

เคล็ดลับการงีบหลับฉบับโปร

  • จัดตารางการงีบหลับที่สม่ำเสมอและตรงเวลาทุกวัน
  • ควรงีบหลับในช่วงบ่าย 1-3 โมง หลังมื้ออาหารกลางวัน 
  • งีบหลับประมาณ 10-20 นาที และควรตั้งเวลาเตือนไม่ให้นอนนานกว่า 20 นาที
  • งีบหลับในห้องที่มืดสนิทหรือใช้ผ้าปิดตาจากแสง และใช้ที่อุดหูป้องกันเสียงรบกวน
  • รักษาอุณหภูมิห้องให้พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป

การงีบหลับช่วยคืนความสดชื่นให้ใครหลายคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับตอนกลางคืน การนอนกลางวันก็อาจไม่เหมาะกับคุณเท่าไหร่นัก โดยหากพบว่าตัวเองมีอาการนอนไม่หลับจากความเครียดหรือวิตกกังวล คุณควรปรึกษาแพทย์และนักจิตวิทยา​เพื่อระบุสาเหตุและรับแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นดีที่สุด

ทุกเรื่องสุขภาพ พรีโมแคร์ดูแลด้วยใจ คลิกดูบริการที่นี่ หรือปรึกษาทีมแพทย์ของเราได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference