/    บทความ    /    Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่ ยับยั้งโควิด-19 ได้จริงไหม?

Herd Immunity ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ความหวังในการควบคุมโควิด-19

Herd Immunity ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’
ความหวังในการควบคุมโควิด-19

Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19​ คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร มีความเป็นไปได้แค่ไหน และต้องใช้เวลานานเท่าไรถึงจะเกิดขึ้น

Herd Immunity (เฮิร์ด อิมมูนิตี้) หรือ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ คือการที่ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากพอ จนทำให้อัตราการแพร่กระจายของโรคถูกจำกัดให้น้อยลงในระดับที่ควบคุมได้ และยังเป็นการปกป้องกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ในทางอ้อมไปพร้อมกันด้วย

แม้ Herd immunity คือความหวังที่เราทุกคนจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ ทว่าในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รวดเร็วและไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองก็ต่างตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนและต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19 จึงจะเกิดขึ้น

Herd Immunity สำคัญต่อการควบคุมโรคติดต่ออย่างไร?

โดยทั่วไปภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นมีมากกว่าจำนวนคนที่จะติดเชื้อ หรือเป็นอัตราของประชากรอย่างน้อยที่สุดที่ต้องมีภูมิคุ้มกัน (Herd immunity threshold) ถึงจะทำให้การติดต่อของโรคลดน้อยลงเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น หาก 80% ของประชากรมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส นั่นหมายความว่าในทุกๆ 5 คน จะมี 4 คนที่จะไม่เกิดการเจ็บป่วยและไม่แพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น ส่งผลให้อัตราคนที่ป่วยลดน้อยลงมาก 

ทำยังไงถึงจะเกิด Herd Immunity?

ภูมิคุ้มกันหมู่นั้นเกิดขึ้นได้จาก 2 ทาง คือการติดเชื้อโดยธรรมชาติ และการฉีดวัคซีน

การติดเชื้อโดยธรรมชาติ ทำให้ร่างกายจดจำโรคและสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อสู้เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เพื่อป้องกันการติดซ้ำอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อจำนวนมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นนั้นไม่ใช่วิธีที่ยอมรับได้ทางวิทยาศาสตร์และทางศีลธรรม เพราะจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอและเกิดภาวะล้มเหลวจนมีคนล้มตายจำนวนมาก

นอกจากนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติยังมีข้อกำจัดตรงที่ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำอีกครั้งหลังหายจากอาการป่วยได้

การฉีดวัคซีนป้องกันโรค สามารถสร้าง Herd Immunity ขึ้นได้เมื่อมีคนจำนวนมากพอได้รับวัคซีนโควิด-19 และเกิดภูมิคุ้มกันต่อสู้โรคโดยไม่จำเป็นต้องติดเชื้อจริงๆ โดยเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จในการช่วยควบคุมโรคติดต่อมาแล้วมากมายในอดีต เช่น โปลิโอ อีสุกอีใส หัดเยอรมัน และโรคคอตีบ

วัคซีนโควิด-19 จะนำไปสู่ Herd immunity ได้หรือไม่? 

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือทางเลือกที่ดีที่สุดในการสร้างภูมิคุ้มกันทางอ้อมให้คนที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ เช่น เด็กแรกเกิด หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทั้งยังเป็นการช่วยยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันหมู่นี้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นได้ในไม่เร็วก็ช้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่น่ากังวลหลายอย่าง เช่น ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของวัคซีนที่ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นจนปฏิเสธการรับวัคซีน การกลายพันธุ์ของเชื้อที่ส่งผลให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง และปัญหาการขาดแคลนวัคซีนและการกระจายวัคซีนที่ไม่ครอบคลุม 

นอกจากนี้ แม้ประชาชนในพื้นที่หนึ่งจะได้รับวัคซีนในอัตราที่สูง แต่หากบริเวณรอบข้างยังไม่ได้รับวัคซีน เมื่อเกิดการรวมกันของคนต่างพื้นที่ ก็ง่ายที่จะเกิดการแพร่กระจายขึ้นอีกครั้งได้

ต้องมีภูมิคุ้มกันร้อยละเท่าไรถึงจะเกิด Herd Immunity? 

ตามหลักการแล้ว ยิ่งเป็นโรคที่ติดต่อง่ายเท่าไรก็ยิ่งต้องมีสัดส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นเท่านั้น เช่น การระบาดของโรคหัดในอดีตที่คาดการณ์ว่าต้องสร้างภูมิคุ้มกันถึงร้อยละ 94 ของประชากรจึงจะยับยั้งการแพร่ระบาดได้

สำหรับเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกาคาดว่าจำนวนผู้มีภูมิคุ้มกันอย่างน้อยที่สุดที่เพียงพอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 80% แต่หากเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดง่ายขึ้นหรือส่งผลให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้วยังคงติดเชื้อและแพร่เชื้อได้อยู่ การคาดการณ์นี้ก็อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

คาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดกับภูมิคุ้มกันหมู่

ในภาวะที่ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และไม่มีการฉีดวัคซีนมากพอ เราอาจต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นเรื่อยๆ 

โดยนอกจากการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกสิ่งที่น่ากังวลก็คือการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนของผู้ติดเชื้อ ทำให้เราต้องรับมือกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดต่อกันได้ง่ายขึ้น มีอาการรุนแรงกว่าเดิม หรือลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ลงไป

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เราสามารถฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากโดยเร็ว ในขณะที่ก็ยังคงเว้นระยะห่างและปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันขั้นพื้นฐาน และมีระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ แม้ Herd Immunity จะไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อไปได้มาก และย่อมมีความหวังในการเข้าใกล้การควบคุมการระบาดครั้งนี้มากขึ้น

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมดูแลทุกเรื่องสุขภาพ อ่านเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ตลอดจนวิธีการป้องกันตัวคุณเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัย พร้อมก้าวผ่านวิกฤติด้วยสุขภาพกายและใจที่ดีได้ที่นี่

Reference