/    บทความ    /    เครียด นอนไม่หลับ ทำยังไงดี? วิธีแก้นอนไม่หลับช่วงโควิด-19

เครียด นอนไม่หลับ ทำยังไงดี? วิธีแก้อาการนอนไม่หลับช่วงโควิด-19

เครียด นอนไม่หลับ ทำยังไงดี?
วิธีแก้อาการนอนไม่หลับช่วงโควิด-19

ผู้หญิงนอนอยู่บนเตียง พยายามใช้นิ้วนวดบริเวณหัวคิ้ว เพื่อคลายความตึงเครียดที่เป็นสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องทำงานจากที่บ้าน หลายคนติดการทำงานไม่เป็นเวลาหรือทำงานจนดึก ประกอบกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำให้เกิดความเครียดจนนอนไม่หลับ ผลที่ตามมาคือความรู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวัน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความเครียดสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาการนอนไม่หลับก็รุนแรงขึ้นไปตามกัน 

จะมีวิธีไหนที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากวงจรเครียดจนนอนไม่หลับที่ไม่รู้จบนี้ได้บ้าง ลองมาเรียนรู้สาเหตุและวิธีคลายเครียดด้วยตัวเองที่คุณหมอพรีโมแคร์ เมดิคอล แนะนำกัน

ทำไมเราจึงรู้สึกเครียดเมื่อต้องทำงานที่บ้าน?

บางคนอาจคิดว่าการทำงานที่บ้าน หรือ Work from home นั้นน่าจะสะดวกสบายดี เพราะไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปเผชิญรถติดและมลภาวะข้างนอก ไม่ต้องกังวลเรื่องความวุ่นวายในออฟฟิศ และคงมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น 

แท้จริงแล้วการทำงานที่บ้านเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการสะสมความเครียดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทั้งจากการที่ต้องพยายามควบคุมตนเองในการทำงาน การที่เวลาในการทำงานและพักผ่อนทับซ้อนกันจนไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างแท้จริง ความไม่สะดวกสบายจากการทำงานที่บ้าน เนื่องจากงานบางอย่างต้องมีการระดมความคิดระดมสมองร่วมกัน หรือต้องการใครสักคนที่คอยให้คำแนะนำพูดคุยกันอยู่ตลอด

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงทำให้การทำงานที่บ้านอาจก่อให้เกิดความเครียดตามมาได้ ซึ่งความเครียดนี้เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ กลางดึก และพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยผลสำรวจในหลายๆ ประเทศทั่วโลก พบว่าจำนวนคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหรือนอนไม่หลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงโควิด-19 นี้

สาเหตุอาการนอนไม่หลับ

คุณหมอที่พรีโมแคร์ เมดิคอล ของเราอธิบายถึงสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ ว่าเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 

  • สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแก่การนอน เช่น อุณหภูมิห้องที่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป มีแสงสว่างหรือเสียงดังรบกวนการนอน เป็นต้น
  • อาหารและยาบางชนิด เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กระตุ้นทำให้นอนหลับไม่สนิท การดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนซึ่งเป็นสารกระตุ้นที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว การได้รับสารนิโคตินจากการสูบบุหรี่ รวมถึงการรับประทานยาลดน้ำหนัก ยาแก้แพ้ ยาแก้หอบหืด และยาลดน้ำมูกบางชนิด
  • การทำงานที่มีเวลานอนไม่สม่ำเสมอ เช่น ทำงานเป็นกะ ทำงานที่ต้องเปลี่ยนเวลาเข้างานอยู่ตลอด จนทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ได้ 
  • การไม่ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายน้อยเกินไป อาจทำให้นอนหลับยาก นอกจากนี้การออกกำลังกายในช่วงเวลาที่ใกล้กับเวลาเข้านอนเกินไปก็อาจทำให้ร่างกายตื่นตัวจนนอนไม่หลับได้เช่นกัน
  • อาการต่างๆ ทางร่างกาย เช่น ความหิว ความเจ็บปวด ความปวดเมื่อย ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เป็นต้น
  • ความเครียดและความวิตกกังวล หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายๆ คนนอนไม่หลับ โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องเคร่งเครียดกับการทำงาน ความเครียดทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อทั้งร่างกายและจิตใจตามมา เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้อแท้ หมดกำลังใจ มีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการทั้งหมดนี้ยิ่งเสริมให้โรคนอนไม่หลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

วิธีแก้อาการนอนไม่หลับ คลายความเครียดก่อนเข้านอน

อย่าปล่อยให้ความเครียดมาบั่นทอนคุณภาพในการนอนของเรา มาเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนนอนเพื่อผ่อนคลายความเครียดและเตรียมความพร้อมต่อการนอนให้ร่างกายและสมอง ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • วางแผนการทำงานให้เหมาะสมกับเวลาที่มีอยู่ แยกเวลาในการทำงานและพักผ่อนออกจากกัน เมื่อถึงเวลาเลิกงาน ควรหยุดคิดเรื่องงาน และให้เวลาตัวเองได้พักผ่อน
  • พยายามเข้านอนให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ และเข้านอนทันทีที่รู้สึกง่วง เพื่อให้ร่างกายจดจำเวลานอน ปรับนาฬิกาชีวภาพในร่างกายให้สมดุล
  • จัดสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้เหมาะสม ปรับอุณหภูมิให้ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ปิดแสงและเสียงรบกวนต่างๆ
  • รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง อัลมอนต์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อช่วยผ่อนคลายระบบประสาท ลดอาการซึมเศร้า
  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ บีบนวด บิดขี้เกียจ หรือแช่น้ำอุ่น เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
  • จิบเครื่องดื่มอุ่นๆ ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ชาคาโมมายล์ เป็นต้น
  • สร้างบรรยากาศในการนอนด้วยการใช้กลิ่นที่ช่วยในการนอนหลับ เช่น ลาเวนเดอร์ คาโมมายล์ เป็นต้น เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้รู้สึกสงบ และปลอดโปร่ง
  • ทำกิจกรรมเบาๆ ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง วาดภาพ นั่งสมาธิ เป็นต้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ไม่ควรออกกำลังกายในช่วง 4 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัวและนอนหลับยากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ก่อนนอน ควรวางโทรศัพท์ไว้ในตำแหน่งที่ไกลจากเตียงเพื่อป้องกันแสงจากหน้าจอโทรศัพท์รบกวนการนอน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนนอน หากรู้สึกหิว ควรรับประทานอาหารเบาๆ เช่น ขนมปัง น้ำผลไม้ นม เป็นต้น
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน
  • หยุดนึกถึงเรื่องที่ทำให้รู้สึกเครียด กังวล เศร้า เสียใจ พยายามไม่คิดพะวงถึงเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง 

หากทำตามคำแนะนำข้างต้นนี้แล้วอาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้รับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ รับการรักษา และวางแผนการนอนตามที่แพทย์แนะนำ เพราะหากปล่อยไว้จนเรื้อรังนอกจากจะส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ยังอาจก่อให้เกิดโรควิตกกังวล ซึมเศร้า รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจเนื่องจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพออีกด้วย

ให้ช่วงเวลาในการนอนหลับเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่แท้จริง ด้วยการเริ่มใส่ใจดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงตั้งแต่วันนี้ หรือรับคำปรึกษาเพิ่มเติมกับคุณหมอที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก โดยเข้าไปดูบริการของเราหรือนัดล่วงหน้าได้ที่นี่

Reference