เคยสงสัยไหมว่าวัคซีนที่เราฉีดกันตั้งแต่เด็กจนโตนั้น ทำไมถึงต้องฉีด ฉีดแล้วป้องกันโรคได้จริงไหม และมีความปลอดภัยแค่ไหน วันนี้ พรีโมแคร์จะพาไปหาคำตอบของทุกข้อสงสัย เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนรับการฉีดวัคซีนชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แบบนี้ ที่ทุกคนต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นระยะ
ในทุกๆ วัน ร่างกายของคนเราสัมผัสเชื้อโรคมากมายที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคตามมา แต่ถึงอย่างนั้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็มีกลไกต่อสู้กับเชื้อโรคที่เป็นตัวการ ทั้งยังสามารถจดจำเชื้อโรคดังกล่าวและสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อชนิดนั้นซ้ำในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม มีเชื้อโรคบางชนิดที่มีความรุนแรงถึงขั้นอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหรือถึงแก่ชีวิต เช่น เชื้อโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ การรอให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นเองตามธรรมชาติหลังติดเชื้อจึงไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัย
วัคซีนคือเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรค โดยเป็นการจำลองการติดเชื้อโดยใช้เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อาจเป็นเชื้อที่ตายแล้ว ที่ยังไม่ตายแต่ถูกทำให้อ่อนแอลง หรือบางส่วนของเชื้อที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้แล้ว ฉีดเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างภูมิขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรคดังกล่าวโดยไม่ต้องมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นจริง
การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันตัวคุณเองและคนรอบข้างจากการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต โดยในแต่ละปีวัคซีนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ได้ถึงประมาณ 3 ล้านคน
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd immunity ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนจำนวนมากพอที่ได้รับวัคซีน ทำให้ป้องกันการติดเชื้อไปยังผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน และมีกรณีที่วัคซีนช่วยกำจัดโรคให้สูญพันธุ์จนไม่ต้องมีการฉีดวัคซีนอีกต่อไป ได้แก่ โรคฝีดาษที่ในอดีตเคยคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยล้านคน
วัคซีนที่ผลิตขึ้นมาจะต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยจนมั่นใจได้ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่ฉีดวัคซีน ซึ่งมักต้องใช้เวลาหลายปีในการทดลองขั้นต่างๆ จนกว่าจะได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งยังมีการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามในกรณีเกิดโรคระบาดรุนแรงที่ไม่เคยพบมาก่อน อาจมีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน แต่วัคซีนเหล่านี้ก็ยังต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางความปลอดภัยและประสิทธิภาพในเบื้องต้นอยู่ดี รวมทั้งการพิจารณาชั่งน้ำหนักอย่างถี่ถ้วนว่าการอนุมัติใช้ฉุกเฉินนี้จะมีประโยชน์ในการป้องกันมากกว่าความเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดจากการฉีดวัคซีน
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในตอนนี้ ทางองค์การอนามัยโลกก็ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิดหลายชนิดเป็นกรณีฉุกเฉินตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 และวัคซีนหลายชนิดก็ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันและมีความปลอดภัย และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรน่าไวรัส
ความเชื่อที่ว่าการฉีดวัคซีนทำให้เกิดโรคได้นั้นไม่เป็นความจริง ส่วนประกอบต่างๆ ของวัคซีนมีความปลอดภัยสูง โดยมีส่วนผสมหลักเป็นแบคทีเรีย ไวรัส หรือบางส่วนของเชื้อโรคจำนวนน้อยมากที่ตายแล้วหรือถูกทำให้อ่อนแอลง จึงมั่นใจได้ว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ก่อให้เกิดโรคขึ้นแต่อย่างใด และการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า การฉีดวัคซีนนั้นปลอดภัยมากกว่าการไม่ฉีดวัคซีน
อาการข้างเคียงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนส่วนมากไม่รุนแรงและจะดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยในหลายวัคซีน คืออาการแดง บวม หรือปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ส่วนในทารกหรือเด็กเล็กอาจรู้สึกไม่ค่อยสบาย หรือมีไข้ต่ำประมาณ 1-2 วัน
วัคซีนแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพและระยะเวลาการป้องกันที่แตกต่างกันไป วัคซีนบางโรคสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต แต่วัคซีนบางโรคอาจมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จึงต้องฉีดกระตุ้นเป็นประจำตามกำหนด เช่น วัคซีนบาดทะยักที่ควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี หรือโรคที่เชื้อไวรัสจะเปลี่ยนสายพันธ์ุที่รุนแรงไปในแต่ละปีอย่างไข้หวัดใหญ่ ที่ควรมีการฉีดวัคซีนป้องกันทุกปี
การฉีดวัคซีนช่วยลดการติดเชื้อจนทำให้โรคบางโรคพบได้น้อยลงแล้วในปัจจุบัน เช่น โรคโปลิโอ หรือโรคคอตีบ แต่การฉีดวัคซีนก็ยังจำเป็นอยู่ดี เพราะหากไม่ฉีดก็จะมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการแพร่กระจายต่อกันไปในวงกว้าง ถึงตอนนั้นเราอาจต้องกลับมาเริ่มต่อสู้กับโรคที่มีอัตราการติดเชื้อน้อยมากในขณะนี้แบบเริ่มนับหนึ่งใหม่ก็เป็นได้
ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่นเมื่อครั้งอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน โดยในปี 1974 มีการฉีดครอบคลุมในเด็กแล้วถึงร้อยละ 80 มีรายงานพบโรคไอกรนเพียง 393 รายทั่วประเทศ และไม่มีรายงานการเสียชีวิต แต่ต่อมาเกิดความเข้าใจผิดในวงกว้างว่าวัคซีนนี้ไม่ปลอดภัยและไม่จำเป็นต้องฉีดแล้ว
ผลปรากฏว่าในปี 1976 มีทารกที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 10 ทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการระบาดของโรคไอกรนครั้งใหญ่ในปี 1979 โดยพบผู้ป่วยมากกว่า 13,000 ราย และเสียชีวิต 41 ราย จนเมื่อเริ่มมีการกลับมาฉีดวัคซีนในวงกว้างอีกครั้ง อัตราของโรคไอกรนในญี่ปุ่นจึงค่อยๆ ลดลงในที่สุด
สร้างภูมิคุ้มกันปกป้องตัวเองและคนที่คุณรักได้ตั้งแต่วันนี้ สอบถามรายละเอียดและนัดฉีดวัคซีนที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่นี่
Reference
ให้พรีโมเเคร์ เมดิคอล ดูเเลทุกองค์ประกอบสุขภาพของคุณ ทั้งด้านรักษา ป้องกัน เเละส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้คุณมีสุขภาพเเข็งเเรงเเบบยั่งยืน
1 ซอยกรุงเทพกรีฑา 4 (บี.กริม) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 ประเทศไทย
โทร: +66 2038 5595
LINE ID: @primocare
อีเมล: [email protected]
©2022 PrimoCare Medical Limited. All rights reserved.