/    บทความ    /    นอนกระตุก​ เหมือนตกเหว​ อันตรายไหม​ สาเหตุและวิธีแก้แบบตรงจุด

นอนกระตุก​ เหมือนตกเหว​ อันตรายไหม​ สาเหตุและวิธีแก้แบบตรงจุด

นอนกระตุก​ เหมือนตกเหว​ อันตรายไหม​
สาเหตุและวิธีแก้แบบตรงจุด

อาการนอนกระตุกเหมือนตกเหว นอนแล้วสะดุ้งตื่นตอนกลางคืน​ เกิดจากอะไรกันแน่ นอนกระตุกบ่อยๆ อันตรายไหม และจะมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง?

หลายคนคงเคยมีอาการนอนกระตุก (Hypnic Jerk) หรือความรู้สึกที่เหมือนตกจากที่สูงขณะนอนหลับจนสะดุ้งตื่น ซึ่งเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติขณะนอนหลับ และจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอาการสะอึก อาการประหลาดนี้เกิดจากอะไรกันแน่ นอนกระตุกบ่อยๆ เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพหรือเปล่า บทความนี้คุณหมอพรีโมแคร์มีคำตอบ

อาการนอนกระตุกเป็นอย่างไร?

อาการนอนกระตุก นอนแล้วสะดุ้งตื่นเพราะรู้สึกเหมือนตกจากเหวหรือที่สูงมักเกิดขึ้นกับร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง เช่น แขนซ้าย หรือขาซ้าย โดยอาจเป็นการกระตุกเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ก่อนที่กล้ามเนื้อจะผ่อนคลายลงจนค่อยๆ หายกระตุกไปเอง 

ในระหว่างที่มีการกระตุก เรามักจะมีความรู้สึกอื่นๆ หรือมองเห็นภาพในสมองไปพร้อมกัน เช่น การฝัน หรือความรู้สึกถึงสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง มึหลายคนที่กล่าวตรงกันว่ารู้สึกเหมือนตกจากเหว เห็นแสงสว่างวาบ บางคนได้ยินเสียงทุบ เสียงของแตก หรือเสียงดังฉับพลัน 

ปกติการนอนกระตุกจะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกเจ็บหรือมีอาการชาคล้ายโดนของแหลมทิ่ม ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดขึ้นเบามาก เราอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่านอนกระตุก​ แต่หากอาการกระตุกแรงมากพอ เราก็จะรู้สึกเหมือนตกจากที่สูงและสะดุ้งตื่นขึ้นมา

อาการนอนกระตุก เกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกระตุกนั้นยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่มีทฤษฎีที่เชื่อว่าอาการกระตุกระหว่างนอน และอาการกระตุกชนิดอื่นที่คล้ายกันอย่างการสะอึกนั้นเกิดจากสมองส่วนเดียวกับที่ทำหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาสะท้อนกลับของร่างกาย 

จากการศึกษากลไกของอาการกระตุกขณะนอนหลับ นักวิจัยคาดว่าสาเหตุอาจมาจากการปล่อยสารสื่อประสาทที่ผิดพลาดของเส้นประสาทที่อยู่ในก้านสมองเรติคิวลาร์ โดยเกิดขึ้นในระหว่างที่กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวอย่างเต็มที่ แต่สมองดันเข้าใจไปเองว่าเรากำลังตกจากลงมาจากพื้นต่างระดับหรือที่สูงจริงๆ จึงสั่งการให้กล้ามเนื้อหดตัวและกระตุกขึ้น 

ส่วนอีกข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้เช่นกันคือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อความฝันที่เรามักเห็นขณะมีอาการกระตุกนั่นเอง

ปัจจัยกระตุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าไม่อยากนอนกระตุก

อาการนอนกระตุกเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย และไม่ได้บ่งบอกถึงภาวะสุขภาพที่ดีหรือไม่ดี โดยส่วนมากจะพบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งอาจเพราะเป็นช่วงอายุที่มีปัจจัยกระตุ้นมากขึ้น เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือการเผชิญกับความเครียด เป็นต้น 

หากมีปัญหานอนกระตุกที่มาขัดจังหวะการนอนบ่อยๆ คุณหมอพรีโมแคร์แนะนำให้ลองเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ 

งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 

คาเฟอีนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกิดการกระตุก ทั้งยังมีฤทธิ์ทำให้สมองตื่นตัว โดยสามารถค้างอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานานจนส่งผลต่อวงจรการนอนหลับ ดังการศึกษาหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมหยุดดื่มกาแฟเป็นเวลา 6 ชั่วโมงก่อนนอน พบว่าคาเฟอีนที่ตกค้างยังคงมีผลทำให้นอนไม่หลับหรือนอนไม่เต็มอิ่มอยู่ ดังนั้นทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการได้รับคาเฟอีนในช่วงเย็นหรือใกล้เวลานอนมากเกินไป 

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายมีระยะการนอนหลับที่ไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่านอนหลับไม่ลึก หลับไม่สนิท ผลที่ตามมาก็คือการรับรู้ถึงการกระตุกหรือการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะนอนหลับมากขึ้น และพลอยให้สะดุ้งตื่นง่ายขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ภาวะถอนแอลกอฮอล์ที่มักเกิดขึ้นเมื่อพยายามเลิกดื่มก็กระตุ้นให้กล้ามเนื้อตอบสนองด้วยการกระตุกได้เช่นกัน 

การออกกำลังกายที่ใช้พลังมากเกินไปในช่วงเย็น

การออกกำลังกายมีประโยชน์ในการช่วยให้รู้สึกเพลียและนอนหลับได้ดีขึ้น แต่การออกกำลังกายที่ใช้พลังงานมากหรือกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวอาจส่งผลตรงกันข้าม เพราะแทนที่จะทำให้รู้สึกเหนื่อย กลับอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่อาการนอนกระตุกในคืนนั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังในช่วงเย็นหรือหัวค่ำที่ใกล้กับเวลาเข้านอน

ภาวะอดนอน (Sleep Deprivation)  

การอดนอนหรือนอนไม่เต็มอิ่มที่เกิดจากโรคนอนไม่หลับหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคภูมิแพ้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่เพียงแต่ส่งผลให้หงุดหงิดง่ายหรือไม่มีสมาธิ แต่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวการที่เพิ่มความเสี่ยงให้มีอาการนอนกระตุกมากขึ้น

ความเครียดและความวิตกกังวล

เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้นอนหลับยาก หรือนอนหลับๆ ตื่นๆ เมื่อการนอนถูกขัดจังหวะ จึงเป็นเหตุให้อาการกระตุกถามหาได้ง่ายขึ้น ก่อนนอนจึงควรหากิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด อาจฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ รวมทั้งสร้างบรรยากาศในการนอนด้วยกลิ่นน้ำมันหอมระเหย และเสียงดนตรีที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย

นอนกระตุก อันตรายหรือไม่ ต้องรักษาไหม?

อาการนอนกระตุกอาจขัดจังหวะการนอนไปบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นอันตราย โดยถือเป็นกลไกปกติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงรอยต่อระหว่างการตื่นและการนอนหลับ และจากสถิติพบว่ามีคนมากถึง 70% ที่เคยมีอาการนอนกระตุก ก็เหมือนกับอาการสะอึกที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม อาการกระตุกที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพบางอย่างที่มีอาการคล้ายกันได้ เช่น ภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (Periodic limb movements) ซึ่งเป็นการหดและงอตัวของกล้ามเนื้อในขาส่วนล่างที่เกิดขึ้นได้ทั้งในขณะหลับและตื่น และภาวะขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) ที่จะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่บริเวณขา น่อง และเท้า โดยมีอาการรุนแรงขึ้นในช่วงเย็นถึงกลางคืนและอาจรบกวนการนอนได้

นอกจากนี้ อาการกระตุกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อาจเป็นอาการของโรคลมชักหรือความผิดปกติทางระบบประสาท การได้รับบาดเจ็บของศีรษะหรือกระดูกสันหลัง หรือบ่งบอกถึงภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวในกรณีที่ร้ายแรงก็เป็นไปได้

หากกังวลว่าอาการนอนกระตุกที่เป็นอยู่อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ แต่เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและหาแนวทางรักษาตามสาเหตุต่อไปพรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลด้วยใจ ให้คุณมีสุขภาพดีในทุกด้าน สอบถามบริการหรือปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference